Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
๛ ภูษาโยง ๛ (บทที่ 9 : น้ำเป็นสื่อ ดินเป็นพยาน) ติดต่อทีมงาน

ตอนก่อนหน้า (บทที่ 8) : ปากเหว



ยะถา วาริวหา ปูรา ปะริปูเรนติ สาคะรัง

(ห้วงน้ำที่เต็มด้วยน้ำ ย่อมไหลไปสู่สมุทรสาครให้เต็มฉันใด)


เอวะเมวะ อิโต ทินนัง เปตานัง อุปะกัปปะติ

(ทานที่ให้แล้วแต่ในโลกนี้ ย่อมสำเร็จแก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วฉันนั้น)


อิจฉิตัง ปัตถิตัง ตุมหัง ขิปปะเมวะ สะมิชฌะตุ

(ขอสิ่งที่ท่านมุ่งมาดปรารถนาตั้งไว้ จงสำเร็จโดยพลันทันที)


สัพเพ ปูเรนตุ สังกัปปาจันโท ปัญณะระโส ยะถา มะณี โชติระโส ยะถา

(ความดำริทั้งปวงของท่าน จงเต็มบริบูรณ์เหมือนดวงจันทร์ในวันเพ็ญ 15 ค่ำ
และเหมือนแก้วมณีโชติ อันให้สำเร็จประโยชน์ทั้งปวงฉันนั้น)

...

...

...


เสียงพระสวดให้พรดังกังวานอยู่ในศาลา ตรงทางเข้าวัดมีรถของมูลนิธิกู้ภัยจอดอยู่คันหนึ่ง หากแต่เจ้าหน้าที่ประจำรถมิได้มาด้วยเหตุด่วนเหตุร้าย แต่เป็นภารกิจขนภัตตาหารและเครื่องไทยทานมาถวายวัด


ก่อนหน้านั้นนพพรมาที่บ้านของลัดดาแต่เช้าตรู่ พบว่าเจ้าของร้านยาดองคนสวยทำหมี่ผัดเตรียมไว้ใส่หม้อใบใหญ่ กะประมาณว่าจัดสำรับได้ไม่ต่ำกว่าสิบที่


“วันเกิดฉันน่ะพี่ อยากทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้พี่เรืองเขาด้วย”

ลัดดาหมายถึงบุญเรือง สามีที่เป็นตำรวจและเสียชีวิตไปเมื่อห้าปีก่อน นางแย้มยิ้มดีใจที่นพพรมาช่วยจัดแจงข้าวของทำบุญตามคำเชิญชวน รอยยิ้มแย้มนั้นไม่ใช่รอยยิ้มของสาวน้อยวัยแรกรุ่นที่ยิ้มหวานโปรยเสน่ห์ให้กับชายที่ผูกใจปฏิพัทธ์ หากแต่เป็นรอยยิ้มของสตรีที่ผ่านชีวิต ผ่านโลกมาแล้วช่วงหนึ่ง จนสัมผัสถึงความทุกข์ระทมที่ส่งผ่านริ้วรอยแห่งวัยของชายตรงหน้า นางหวังเพียงจะเป็นเพื่อนคิด เพื่อนคุย และช่วยกันเยียวยาชีวิตที่คล้ายไม้ใกล้ฝั่งเข้าไปทุกทีในบั้นปลาย


“เตรียมอาหารเสียตั้งมากมาย เอาไปถวายพระที่ศาลาเลยจะดีกว่า จะได้รับศีลรับพรด้วย”


นพพรเข้ามาสำรวจข้าวของแล้วออกความเห็น ไอ้หงุนมาด้อมๆ มองๆ ด้วยคาดว่ามันคงได้พลอยฟ้าพลอยฝน ได้ส่วนบุญเป็นอาหารอร่อยๆ ตกถึงท้องกับเขาด้วย


“สะ ใส่บาตรรับพรไม่ได้เหรอเฮีย”


มันหวั่นใจว่าเฮียจะยกไปถวายพระหมด ไม่เหลือตกถึงท้องมันสักแอะ แต่นพพรมองโลกในดี ว่าหงุนมันกลัวบาปกลัวอกุศล เลยต้องรีบให้ทางสว่าง


“ก็ไม่ได้น่ะสิ หงุนเอ๋ย ที่เห็นเขาทำกันคือใส่บาตรแล้วนั่งยองๆ รอฟังพระสวดให้พรน่ะ ทำให้พระท่านผิดวินัยรู้ไหม”

“ยังไงหรือพี่”

ลัดดาตั้งคำถาม

“ก็ในพระวินัย มีข้อหนึ่งกำหนดว่า ไม่ให้พระยืนแสดงธรรมกับคนที่นั่ง โดยคนที่นั่งนั้นไม่ได้ป่วยไข้ แต่คนไทยเวลาใส่บาตรพระ อยากแสดงความนอบน้อมก็มักจะย่อตัวไหว้แล้วนั่งลงขอพร พระท่านจะไม่ให้ก็เสียน้ำใจอย่างไรอยู่ ต้องกลับวัดไปปลงอาบัติเอา”

“โอ้”

ไอ้หงุนตกตะลึงกับความรู้ใหม่

“จริงหรือพี่”

ลัดดาทวนถามซ้ำอีกระลอก

“จริงสิ ฉันจะโกหกทำไมล่ะแม่”

นพพรพูดแล้วก็ไพล่ไปนึกถึงอีกคนขึ้นมาได้


“จริงสิ ฉันจะโกหกทำไมล่ะนายแว่น”

เด็กสาวถักเปียยาวที่เขาแทบไม่เคยได้คุยด้วยในห้องเรียน กลับมานั่งคุยจ้อเรื่องพระวินัยในช่วงพักระหว่างการเข้าค่ายอบรมจริยธรรมของชมรมพุทธศาสนา ลลิตานั่นเองเป็นคนบอกเขา เรื่องราวผ่านมาตั้งหลายสิบปี จู่ๆ นพพรก็นึกถึงเรื่องนี้ขึ้นมาได้

"แล้วที่ถูกต้องทำยังไงล่ะ"

นพพรซักต่อ

"ก็ใส่บาตรเสร็จก็รีบกลับเลย ไม่ต้องขอพรพระ หรือถ้าพระท่านให้พรก็ยืนรับพรและไหว้ท่าน"

ลลิตาอธิบายอย่างฉะฉาน

"แล้วทำไมยืนรับพรพระถึงไม่ผิด"

"เพราะสมัยโบราณ และที่จริงสมัยนี้ก็ด้วย ผู้มีตำแหน่งสูงกว่าจะได้นั่ง ผู้น้อยต้องยืนใช่ไหมล่ะ พระวินัยกำหนดไว้เพื่อให้พระอยู่ในตำแหน่งสูงกว่า เว้นแต่คนป่วยไข้จนยืนไม่ได้ ถึงยกเว้นให้นั่งได้ พวกเราไม่ป่วยไม่ไข้ แต่นั่งลง เป็นการไปอยู่ตำแหน่งสูงกว่าพระเชียวนะ"

"อย่างนี้นี่เอง... ขอบใจนะที่บอก"

"เล็กน้อยน่า"


ลลิตายิ้มให้เขาอย่างอารมณ์ดี รอยยิ้มนั้นประทับใจเขามานานแสนนานจนแม้กระทั่งวันนี้...


“โธ่เอ๋ย นี่ฉันทำพระอาบัติไปกี่หนนี่ ใส่บาตรทีก็ขอพรที”

ลัดดายิ้มเขินๆ ไม่ได้ซักไซ้เรื่องมากเหมือนเขาในอดีต

“เหมือนกันเลยเจ้”

ไอ้หงุนทำหน้าที่เป็นลูกขุนพลอยพยักที่ดีมาก ขณะที่นพพรนึกถึงเรื่องราวเก่าๆแล้วไม่รู้ว่าจะหัวเราะหรือร้องไห้ มันเป็นความทรงจำที่ดี แต่นึกถึงทีไรก็รู้สึกเจ็บปวด ชายวัยกลางคนกดความรู้สึกหม่นเศร้าลงไปในส่วนลึกของหัวใจอีกครั้งหนึ่ง


“พี่นพ หงุน ฉันขอแรงอีกทีเถิด พาฉันไปถวายอาหารที่ศาลาพระในวัดกันนะ”


ไอ้หงุนรีบพยักหน้า แต่นพพรหลุบเปลือกตาลงต่ำคล้ายกำลังใคร่ครวญอะไรสักอย่างแล้วไม่ได้ยินที่ลัดดาพูด

“พี่นพจ๊ะ”

แม่ม่ายขายยาดองเรียกด้วยเสียงอันดังขึ้น

“จ้ะ”

นพพรคล้ายถูกดึงออกจากภวังค์เล็กๆ หันมาสบตาลัดดาใหม่

“ไปวัด เอาอาหารไปถวายพระ ฟังพระให้พรกับฉันนะจ๊ะ เสร็จแล้วเราจะได้ต่างคนต่างอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้เจ้ากรรมนายเวรกัน”


ลัดดาพูดช้าๆ ชัดถ้อยชัดคำ ด้วยน้ำเสียงวิงวอนส่วนหนึ่ง เจือด้วยแววตาปลอบโยนอีกหลายส่วน ลัดดาพอจะรู้ว่านพพรมีความ ‘ไม่ธรรมดา’ ด้วยทักษะการช่วยชีวิตผู้เคราะห์ร้ายในที่เกิดเหตุที่ดูรวดเร็วและฉับไวเกินหน่วยกู้ภัยทั่วๆไป นางเห็นได้จากตอนที่เขามาช่วยคนบาดเจ็บจากการขับรถชนเสาไฟฟ้าที่หน้าปากซอย รวมถึงเรื่องเล่าที่ว่ากันว่า ตอนสามีของเธอถูกคนร้ายยิงเข้าหน้าอกสองนัด รถกู้ภัยของนพพรนี้เองที่ไปช่วยพาร่างของพ.ต.ต.บุญเรืองไปส่งโรงพยาบาล และยังทำท่าทีกระวนกระวายคล้ายจะขอเข้าไปในห้องผ่าตัดด้วย แน่นอนว่านอกจากหมอและพยาบาล ห้องผ่าตัดก็ไม่ให้ใครเข้า นพพรเองก็ทำหน้าที่ได้ดีที่สุดแล้ว แม้สามีของเธอจะเสียชีวิตไป ก็ไม่ใช่ความผิดของเขาเลยสักนิด


แต่แล้วทำไม แววตาหม่นเศร้าจนปิดไม่มิดนั้น ต้องปรากฏทุกคราเวลาเจ้าตัวเผลอ และไม่รู้ว่าทำไม เวลาเธอเคี่ยวเข็ญให้เขากินเหล้า เพื่อจะหลอกถามความหลังของนักกู้ภัยรายนี้ เขาจะต้องบ่ายเบี่ยงทุกที จนเป็นที่รู้กันแล้วว่า เขาจะมาที่ร้านของเธอเพื่อกินน้ำใบเตยกับมะยมดองเท่านั้น


บางทีอาจเป็นเรื่องที่เขาไม่อยากเล่า เธอก็ไม่ควรถาม แต่ในฐานะที่เป็นเพื่อน เป็นพี่ และเป็นลูกค้าขาประจำกันมายาวนาน เธอก็อยากให้เขายิ้มอย่างมีความสุขที่แท้จริงบ้าง


…

…

…


สัพพีติโย วิวัชฌันตุ

(ขอความเสนียดจญฺไรทั้งหลาย จงผ่านพ้นไป)


สัพพะโรโค วินัสสะตุ

(ขอโรคทั้งปวงของท่านจงพินาศหายไป)


มา เต ภะวัตวันตะราโย

(ขออันตรายอย่าได้มีแก่ท่าน)


สุขี ทีฆายุโก ภะวะ

(ขอท่านจงมีความสุขยืนนาน)


อะภิวาทะนะสีลิสสะ นิจจัง วุฒาปะจายิโน
จัตตาโร ธัมมาวัฑฒันติ อายุ วัณโณ สุขัง พลัง

(พรทั้งสี่ประการ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ
ย่อมเจริญแก่ผู้มีปกติกราบไหว้ และเคารพต่อผู้ใหญ่เป็นนิจ)


นพพรวางที่กรวดน้ำลงข้างตัวและประนมมือไหว้รับพรท่อนหลังจากพระสวดคำว่า ‘สัพพี’ และคำบาลีต่อๆมาที่ลัดดาไม่รู้ความหมาย แต่นพพรช่วยขยายความให้ในเวลาต่อมาว่า ‘ยะถาให้ผี สัพพีให้คน’ นั่นคือตั้งแต่วรรค ‘ยะถา...’ ไปจนถึง ‘มะณี โชติระโส ยะถา’ มีความหมายในแง่ของการเปรียบเทียบห้วงน้ำจากแม่น้ำที่เปี่ยมล้นแล้ว จึงไหลลงสู่มหาสมุทร เหมือนทานจากผู้ตั้งใจดีแล้ว ซึ่งจะเผื่อแผ่อุทิศส่วนบุญส่วนกุศลนั้นให้กับผู้ล่วงลับสมกับความปรารถนา ส่วน ‘สัพพี’ และคำบาลีต่อๆ มา คือคำอวยพรที่พระจะให้แก่ผู้ถวายทาน ก็ให้ตั้งใจประนมมือรับพรที่พระจะให้แก่ตน


‘อย่างนี้นี่เอง...’


ไอ้หงุนพยักหน้านึกในใจและทำตามลูกพี่ใหญ่ทุกขั้นตอน ลัดดาก็ด้วย เมื่อพระเริ่มให้พร นางพยายามนึกถึงสามีที่ตายไป พร้อมกับหลั่งน้ำอุทิศส่วนกุศลไปให้ แต่พอวางที่กรวดน้ำเมื่อพระขึ้นสัพพี นางกลับลอบถอนใจและชายตามองไปทางนพพรชั่วแวบหนึ่ง เมื่อพระให้พรจบ ม่ายสาวก้มลงกราบครบสามครั้งแล้วสะท้อนใจวูบวาบเมื่อนึกขึ้นได้ว่า ช่วงอึดใจที่ผ่านมา เธอเผลอคิดใคร่ครวญถึงนพพรมากกว่าภวังค์ที่ระลึกถึงสามีที่ตายไปเสียอีก...


“เดี๋ยวเอาน้ำในขันที่กรวดกัน ไปรดลงพื้นดินใต้ต้นไม้ใหญ่ทางโน้นนะโยม”


เมื่อพระสวดพรเสร็จเรียบร้อย ก็บอกกล่าวแก่ผู้มาทำบุญทั้งสามถึงขั้นตอนสุดท้ายในการถวายทาน ไอ้หงุนปฏิบัติการเป็นเจ้าหนูจำไมตั้งคำถามที่ค้างคาใจมาเนิ่นนานก่อนจะลาจาก 

“หลวงพ่อขอรับ”

“เจริญพร”

“กระผมสงสัยขอรับ”

“สงสัยอะไร ถามมาได้ทุกข้อ เจริญพร”

“โอ...หลวงพ่อตอบได้ทุกข้อเลยหรือขอรับ”

“ถามได้ทุกข้อ แต่อาจตอบไม่ได้ทุกข้อ ต้องรู้จักแยกแยะนะโยม”

“ขะ... ขอรับ”

ไอ้หงุนอยากกระโดดกัดหูตัวเอง เพราะหลวงพ่อท่านตอบถูก มันนั่นแหละถามผิด


“คืออาตมาก็ตั้งใจตอบข้อสงสัยของโยมนั่นแหละ แต่ขอให้ถามในขอบเขตของพระพุทธศาสนา เพราะถ้าเป็นเรื่องทางโลก ขอเลขขอหวย อาตมาตอบไม่ได้หรอกนะโยม”


คำตอบของพระ ทำเอาลัดดาและนพพรอมยิ้ม ทั้งสองคนก็อยากรู้เหมือนกันว่าหงุนจะถามอะไร


“ไม่ได้จะขอหวยขอรับ หงุนแค่อยากรู้ว่า ทำไมต้องกรวดน้ำลงดิน ถ้าไม่กรวดลงดิน บุญจะสำเร็จไหมขอรับ”

“บุญน่ะ สำเร็จตั้งแต่ถวายทานแล้วล่ะโยม สำเร็จที่ใจ เพราะใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน ส่วนกรวดน้ำให้ถือเป็นเคล็ด ว่าน้ำเป็นสื่อ ดินเป็นพยาน”

หลวงพ่อปล่อยคำคมทีละประโยค โดนใจไอ้หงุนเป็นช่วงๆ แม้มันจะซาบซึ้งแต่ก็ไม่ได้เข้าใจทั้งหมดในคราวเดียว


“น้ำเป็นสื่อ ดินเป็นพยาน ก็มาจากพุทธประวัติเมื่อครั้งพระพุทธเจ้าผจญพญามาร พระแม่ธรณีได้ปรากฏกายขึ้นมาเป็นพยานว่าที่ประทับเป็นของพระพุทธพระองค์มาแต่ต้น จากนั้นพระแม่ธรณีก็บีบน้ำจากมวยผมที่หลั่งไหลท่วมท้นจนขับไล่พญามารและเหล่าสมุนกระจัดกระจายไปคนละทิศทาง มวลน้ำมหาศาลนั้นไม่ได้มาจากไหน แต่เป็นน้ำที่พระพุทธเจ้าในแต่ละชาติหลั่งไว้หลังจากการทำบุญ โดยให้พระแม่ธรณีเป็นพยานนั่นเอง”


หลวงพ่ออธิยายต่อโดยประยุกต์เป็นเรื่องเล่าคล้ายนิทาน ไอ้หงุนฟังแล้วรีบยกมือสาธุอย่างซาบซึ้ง นพพรและลัดดาหันมามองหงุนพร้อมกันแล้วอมยิ้ม นึกยินดีว่า ไอ้หงุนท่าทางจะติดใจคำพระมากกว่ายาดองในร้านเธอเสียแล้ว


ทั้งสามลาพระมากรวดน้ำลงดินด้วยใจสว่าง ต่างคนต่างคิดเรื่องของตนไปคนละทางแต่ก็ด้วยสภาวะที่เบาและโล่งจากผลแห่งบุญที่ได้กระทำ นับเป็นก้าวเล็กๆ ที่จะพาพวกเขาเดินหน้าไปในหนทางที่ดีขึ้น


* •..,..,..• * * •..,..,..• * * •..,..,..• ** •..,..,..• *

…
…
…

- โปรดติดตามตอนต่อไป –

จากคุณ : รุริกะ
เขียนเมื่อ : 8 ส.ค. 55 19:53:32




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com