Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
สามก๊กกับทหาร ติดต่อทีมงาน

ผู้เฒ่าเล่าอดีต

สามก๊กกับทหาร

เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๓ อีก ๒ ปีจะเกษียณอายุราชการ เป็นธรรมดาที่จะต้องคิดว่า ออกจากร่าชการที่ทำมา ๓๐-๔๐ ปีแล้วจะไปทำอะไร เรามีงานเขียนหนังสือมาตลอดชีวิต เมื่อหนุ่มสมัยเริ่มต้นก็อยากเป็นนักประพันธ์ แต่สิบปีแล้วก็ไม่สำเร็จ เขียนได้แต่เรื่องเบ็ดเตล็ด เป็นน้องใหม่ตลอดกาล

ครั้นเมื่อรับราชการ ก็เป็นงานประเภทธุรการ สารบรรณ แถมเป็นเจ้าหน้าที่จัดทำนิตยสารของหน่วยด้วย ก็เขียนทั้งหนังสือราชการ และเรื่องต่าง ๆ ที่สามารถจะลงพิมพ์ในนิตยสารได้ แทบทุกประเภท จนได้เป็น ผู้ช่วยบรรณาธิการอยู่สามปี จึงพ้นหน้าที่ เหลือแต่การเขียนเรื่องส่งให้เขาเป็นประจำทุกปีจนบัดนี้

แล้วจะให้ออกไปทำสวน ทำไร่ ค้าขาย ออกเงินให้กู้ ก็ไม่มีทุน จะเล่นหุ้นก็กลัวหมดตัว นายคนสุดท้ายเคยชวนให้เป็นลูกจ้างต่อ ในสถานีวิทยุโทรทัศน์ ก็เบื่อเต็มที นายอีกคนที่เกษียณแล้วไปเป็นที่ปรึกษาบริษัท ก็ชวนให้ไปช่วยกัน ก็ไม่ชอบทำงานตามบริษัท จึงมีหนทางเดียว คือเขียนหนังสือขาย

แล้วเขียนเรื่องอะไรจึงจะมีสำนักพิมพ์ยอมซื้อ เรื่องสั้นเรื่องยาว กว่าจะเขียนได้แต่ละชิ้น ก็แสนลำบาก เพราะความรู้น้อย ประสบการณ์น้อย วิสัยทัศน์แคบ แล้วจะเอาอะไรมาเป็นข้อมูล เขียนเรื่องขนาด ๕๐ตอนจบได้

เมื่อทดลองอ่านสามก๊ก หลาย ๆ สำนวนที่มีอยู่ในตู้สมุด เอามาเขียนเปรียบเทียบกันดูเป็นการทดลอง ก็พบว่าฉบับนายทุนเขียนไว้เพียงสองคน คือ โจโฉ กับ เบ้งเฮ็ก ฉบับวนิพก เขียนไว้หลายคนและก็ไม่ถึงสิบคน แล้วนอกนั้นล่ะ มีใครเขียนอีกบ้าง ปรากฏว่าหาสามก๊กมาอ่านแล้ว ฉบับไหน ๆ ก็เขียนวนเวียนอยู่แต่ เล่าปี่ โจโฉ       ซุนกวน ขงเบ้ง กวนอู เตียวหุย  จูล่ง และสุมาอี้ เท่านั้นจริง ๆ แล้วตัวละครอีกหลายร้อยคนล่ะทำไมไม่มีใครเขียน

ก็เกิดความคิดขึ้นมาว่า ถ้าเราจะเขียน แล้วเราจะเอาไปให้ใครพิมพ์ ชื่อผู้เขียนก็ไม่มีคนเคยได้ยิน ชื่อตัวละครที่เขียน ก็ไม่มีใครเคยจำได้ ยังไงเสียก็ไม่มีสำนักพิมพ์ไหนพิมพ์เป็นเล่มให้ อย่างแน่นอน

มีหนทางเดียวคือเขียนเป็นตอนสั้น ๆ หาที่ลงพิมพ์ในวารสาร รายสัปดาห์ รายเดือน เสียก่อน พอมีคนได้รู้จักนามปากกาแล้ว จึงค่อยคิดต่อไป ถ้าเขียนไปไม่ตลอดก็ค่อยหาหนทางใหม่ แล้วจะเริ่มที่วารสารฉบับไหนล่ะ พวกสัปดาห์วิจารณ์ ก็มักจะมีคอลัมน์ประจำครบทุกหน้าแล้ว อีกพวกหนึ่งก็เป็นหนังสือผู้หญิงและเด็ก หนังสือแฟชั่น หนังสือการบ้านการเรือน หนังสือตำรับตำรา ฯลฯ ที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องจีนเลย

ความคิดก็วาบขึ้นมาว่า สามก๊ก เป็นเรื่องสงคราม ยุทธวิธี กลศึกกลยุทธ ที่ทหารเขาเรียนกันอยู่ในหลายหลักสูตร คงจะสนใจสามก๊กของเราบ้างเป็นแน่ อย่างกระนั้นเลย ทดลองส่งให้ทหารสื่อสาร อดีตที่ทำมาหากินของเราก่อนดีกว่า บรรณาธิการคนใหม่ลงให้ทันที แน่นอนเขาเกรงใจเรานี่

ถ้างั้นต้องลองกับนิตยสารที่เขาไม่รู้จักเราดูบ้าง เหยื่อรายแรกคือ เสนาสาร ของ สำนักงานเลขานุการกองทัพบก บังเต๊ก ตอนแรกลงทันทีเมื่อ กันยายน ๒๕๓๔ ต่อไป อ้องอุ้น ตอนแรก ให้ ฟ้าหม่น วารสารของทหารม้า สังกัดศูนย์การทหารม้า สระบุรี เมื่อ พฤศจิกายน ๒๕๓๔ แล้วก็เลยเข้าไปเสนอกับ วารสาร กองพลทหารราบ    ที่ ๔ พิษณุโลก ลิฉุย – กุยกี ตอนแรก เมื่อ มกราคม ๒๕๓๕

จนเมื่อพ้นจากราชการมาอยู่บ้าน ก็นั่งเขียนสามก๊กด้วยคอมพิวเตอร์เป็นการใหญ่ วันละหกชั่วโมงเหมือนทำราชการ เริ่มด้วย อ้วนสุด ให้วารสาร กองพลทหารราบที่ ๓ นครราชสีมา ฉบับ ตุลาคม ๒๕๓๕ สรรพาวุธทหารบก เรื่องสั้นนำไปก่อน ตั้งแต่ มกราคม ๒๕๓๖ แล้วก็ตามด้วย เตียวก๊ก เมื่อ มกราคม ๒๕๓๗ จนถึง ยุทธโกษ นิตยสารเก่าแก่อายุร่วม ๑๐๐ ปี ของกองทัพบก ด้วยเรื่อง ชีซี เมื่อ กรกฎาคม ๒๕๓๗

ตอนนี้ออกไปนอกกองทัพบก วารสารหลักเมือง ของสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม เตียวเลี้ยว ตอนแรก เมื่อ ธันวาคม ๒๕๓๖ แล้วกลับมา นิตยสารทหารปืนใหญ่ หนังสือเก่าแก่ตั้งแต่สมัย พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา กำเหลง ตอนแรก เมื่อ มกราคม ๒๕๓๘ แล้วก็ถึง สุรสิงหนาท วารสารของ กองพลทหารราบที่ ๙ กาญจนบุรี ด้วย เตียวคับ ตอนแรก เมื่อ มีนาคม ๒๕๓๘

คราวนี้ทะลุออกไปถึงวารสารดังของ สยามสมาคม ฯ ชื่อวารสาร สยามอารยะ เริ่มด้วย สามก๊กฉบับฮ่องเต้ ตอนที่หนึ่ง เลนเต้ เมื่อ พฤษภาคม ๒๕๓๘ กลับมาวารสาร รักษาดินแดน ตอนสงครามล้างแค้น เมื่อ กรกฎาคม ๒๕๓๘

แล้วก็เริ่มเรื่องใหม่ คือ เปาบุ้นจิ้น ตอนแรก เงินปลอมเป็นเหตุ ให้นิตยสาร โล่เงิน ของวงการตำรวจ เมื่อ ธันวาคม ๒๕๓๘

วารสารทั้งหมดที่เอ่ยชื่อมานั้น ส่วนใหญ่ออกเป็นรายเดือน สองเดือน และสามเดือนเล่ม จึงต้องทยอยส่งต้นฉบับ แยกไปแทบทุกเดือนติดต่อกันมาอีหลานปี และมีนิยายอิงพงศวดารจีนเพิ่มขึ้นอีกหลายเรื่อง ทั้งหมดรวมประมาณกว่า ๔๐๐ ตอน     จนถึง พ.ศ.๒๕๔๑ สำนักพิมพ์ ประพันธ์สาส์น จึงเริ่มพิมพ์ สามก๊ก เป็นพ็อกเก็ตบุ๊คส์ ครั้งแรก ๓ ชุด ชื่อของ “เล่าเซี่ยงชุน” จึงปรากฏขึ้นในวงการหนังสือของไทย

ซึ่งต่อมา ก็มีผู้อ่านรู้จักมากขึ้นเป็นลำดับ แต่ก็ได้ยุติการเขียนลงเมื่อประมาณ พ.ศ.๒๕๕๑ ซึ่งได้ตรากตรำมาถึง ๗๗ ปี และเขียนหนังสือมาทั้งหมด ๖๐ ปี

หลังจากนั้น ก็อาจจะมีเรื่องปรากฏในวารสารบางฉบับอยู่ประปราย
                               
                               แต่ที่ปรากฏในเวปพันทิป ไม่ว่าวันเสาร์อาทิตย์ วันพระวันโกน นั้น ไม่ใช่ชื่อ "เล่าเซี่ยงชุน" เสียแล้ว.

############

 
 

จากคุณ : เจียวต้าย
เขียนเมื่อ : 14 ก.ย. 55 10:07:39




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com