 |
เรื่องการขอไฟฟ้าใช้ในบ้านคลองหวะ กำนันวร ได้ไปติดต่อกับทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และวิ่งเต้นกับส่วนราชการที่รู้จักด้วยส่วนหนึ่ง จนได้ข้อสรุปว่าทางการไฟฟ้ายินยอมขยายเขตให้ แต่ทางหมู่บ้านต้องลงเสาไฟฟ้าให้การไฟฟ้า
แต่เสาไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจะเป็นเสาปูน ต้นละแปดร้อยบาทแต่ชาวบ้านไม่มีกำลังซื้อ ต่อรองว่าขอเป็นเสาไม้ได้หรือไม่ ทางการไฟฟ้าก็ยินยอมให้ใช้เสาไม้ได้ ชาวบ้านจึงรวบรวมเงินคนละ350.-บาท ไปจ้าง ครูเพ้ง รับเหมาตัดชักลากมาจากเขาวังชิง ด้านทิศตะวันตกของตลาดทุ่งลุง เป็นพวกไม้ตะเคียนไม้หลุมพอ ขายส่งต้นละ 350.-บาท ขนาดความยาว 8 เมตร 4 นิ้วปลาย
แล้วทยอยติดตั้งในหมู่บ้านไปเรื่อยๆ โดยมี นายลัพท์ หนุประดิษฐ์กับเพื่อนอีกคน เป็นคนเก็บเงินชาวบ้านผ่อนจ่ายบ้างเต็มจำนวนบ้าง ลงบัญชีไว้ทุกรายและทุกเย็น จะไปหากำนันวร ที่บ้านต้นหนุน รายงานความคืบหน้าให้ทราบ
ส่วนกำนันก็แจ้งให้การไฟฟ้าทราบเช่นกัน เวลาว่าง ๆกำนันก็จะขี่จักรยาน เข้ามาในหมู่บ้านดูความคืบหน้าของงาน กับดูแลผลไม้กับสวนดอกไม้ของกำนันเช่นกัน
เมื่อการไฟฟ้ามาลงสายไฟฟ้าให้ แต่เป็นแบบสายเปลือย ปรากฏว่าทางทิศใต้ของหมุ่บ้าน ไม่อยู่ในเขตขยายไฟฟ้าไปถึงได้ ทำให้ต้องมีการหารือกำนันวรว่าจะอย่างไรดี เงินของชาวบ้านก็เก็บมาแล้ว ถ้าไม่ขยายเขตไปถึงเป็นเรื่องแน่
กำนันเลยไปคุยกับการไฟฟ้าอีกครั้ง ทางการไฟฟ้าบอกว่า ทำให้ได้แต่ต้องจ่ายสายไฟฟ้าเอง ค่าสายไฟฟ้าแบบเปลือย สั่งซื้อจากโรงงานในกรุงเทพ ถ้าพอขยายเขตไฟฟ้าจะเป็นเงินรวม 7,000.-บาท
ตกลงงานนี้เข้าเนื้อกำนันวรคือ กำนันวรตัดสินใจขายควายไปสองตัว ราคารวมทั้งสองตัว7,000.-บาท แกต้องจำใจขายควายไปสองตัว หรือขายไปตัวละ 3,500.-บาท
ขายให้กับเถ้าแก่รับซื้อวัวกับควาย โดยเถ้าแก่รับซื้อวัวกับควายสมัยก่อน น่าจะเป็นแขกสะดาหยีโพกหัว บ้านอยู่ใกล้กับสุเหร่าปากีสถาน แต่แกทำบุญตักบาตรทุกเช้า วิธีตักบาตรของแกไม่เหมือนคนไทย คือกอบเอาข้าวหรืออาหารใส่บาตรพระ แบบคนอินเดียหรือลังกาทำบุญกัน
ควายสมัยก่อนจะแพงกว่าวัวมาก วัวสมัยนั้นอย่างแพงสุดตัวละ700.-บาท ทองบาทละไม่เกิน800.-บาท เรียกว่าจอบตราจระเข้ทองราคาพอ ๆ กับวัวทีเดียว จอบนี้เป็นของเยอรมันนี เหนียวคมและแข็งมาก หาดใหญ่สมัยก่อนมี ร้านวูตุงปัก ขายอยู่เจ้าหนึ่ง ตรงข้ามกับสมาคมจีนไหหลำ สินค้าของร้านนี้แต่ละชิ้นราคาจับจิต คือแพงมากในสมัยนั้น ที่จำได้เพราะสมัยเด็กนักเรียนเดินผ่านอยุ่ทุกวัน เห็นราคาขายและราคาปิดแล้วเดินผ่านเลย เพราะเงินค่าขนมไปโรงเรียนอย่างมาก วันละไม่เกินหนึ่งบาท
ควายมักจะซื้อมาจากสุราษฏธานีหรือพัทลุง มาลงที่ด่านกักกันสัตว์ที่ใกล้อุโมงค์รถไฟหาดใหญ่ เวลามาถึงจะมีลูกเด็กเล็กแดงหรือชาวบ้าน มาจองขอเลี้ยงควายกำนันตัวละสองบาทต่อวัน โดยพาไปกินหญ้าหรือให้น้ำให้ท่าแถวใกล้ๆ ก่อนจะขุนขายส่งขายให้กับมาเลเซียต่อไป โดยส่งไปที่ด่านปาดังเบซาร์เข้าปัตเตอร์เวอธ์-ปีนังต่อไป
ครั้นการไฟฟ้ามาดูสถานที่ติดตั้งไฟฟ้าขยายเขต ก็เห็นว่าชาวบ้านทำกันจริงและมีความตั้งใจจริง มีเจ้าหน้าที่คนหนึ่งแนะว่ามีเงินคงคลังอีก20,000.-บาท ที่การไฟฟ้าเขตยะลา ให้ลองไปขอดูก่อนโอนเข้าส่วนกลาง ลุงลัพท์ กับเพื่อนเลยตีรถยนต์ฝ่าทางลูกรังในหมู่บ้าน ไปออกสายคลองแงะนาทวี(ถนนเกาหลี) เข้าโคกโพธิ์ผ่านนาประดู่ เข้าตัวเมืองยะลา ทำเรื่องขอเงินดังกล่าวมาพัฒนาไฟฟ้าในหมู่บ้าน โดยทางการไฟฟ้าที่หาดใหญ่วิทยุไปแจ้งล่วงหน้าก่อนแล้ว ทางการเงินของการไฟฟ้าเขตก็ทำเรื่องอนุมัติ และให้เงินมา20,000.-บาท เพื่อใช้ในการขยายเขตไฟฟ้าได้
การไฟฟ้าเลยบอกว่าเงินจำนวนนี้เหลือเฟือขยายเขต และให้ใช้สายหุ้มแทนสายเปลือยก็แล้วกัน ลุงลัพย์เลยถามกำนันวรว่า แล้วสายเปลือยทำยังไง กำนันวรบอกขายคืนไปเลยยอมขาดทุน ทางผู้ขายรับซื้อคืนในราคา3,500.-บาท เรียกว่าขาดทุนครึ่งต่อครึ่ง
แต่กำนันวรไม่ยอมรับเงินคืน บอกให้สมทบกับการก่อสร้างขยายเขตไฟฟ้า ต่อมาการไฟฟ้าบอกว่า รู้สึกน่าเกลียดที่ใช้เสาไม้แบบนี้ อายชาวบ้านว่าการไฟฟ้าทำอะไรสะเหร่อ ๆ ขอซื้อคืนจากชาวบ้านเสาไม้ต้นละ700.-บาท โดยแลกเปลี่ยนกับเสาปูนต้นละ800.-บาท หรือมีส่วนต่างที่ต้นละ100.-บาท ทางชาวบ้านและกำนันก็ตกลงโอเคเลย
โดยการนำเงินค่าขายควายกำนัน และเงินสดอีก20,000.-บาทมาชดในการนี้ จึงมีการเปลี่ยนเป็นเสาไฟฟ้าปูนจนถึงทุกวันนี้ ภายในหมู่บ้านคลองหวะ
เขียนขึ้นจากความทรงจำลุงลัพย์ หนูประดิษฐ์ ก่อนที่จะเลือนหายไปเหมือนเสาไฟฟ้าไม้
ขอบคุณภาพประกอบจาก Internet
แก้ไขเมื่อ 17 ก.ย. 55 00:23:22
จากคุณ |
:
ravio
|
เขียนเมื่อ |
:
16 ก.ย. 55 23:53:41
|
|
|
|
 |