Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
สั น ด า น 01 ติดต่อทีมงาน

สันดานวิทยา



สันดานในความหมายทั่วไป


เมื่อเราได้ยินคำว่าสันดาน มักทึกทักเอาว่าเป็นคำติเตียนว่ากล่าวที่ปราศจากความเกรงใจและห่างไกลมารยาท อาจเพราะผู้พูดไม่ค่อยรำลึกถึงการอบรมแต่วัยเด็ก หรือไม่เคยแวะผ่านการสั่งสอนมาก่อน บางทีอาจขาดการระงับยับยั้งช่างใจต่อพฤติกรรมที่เห็นตรงหน้าของใครคนหนึ่งแล้วหลุดปากออกมา ซึ่งมักถูกตีความในด้านลบของคนที่ถูกว่ากล่าว ที่ลึกลงไปถึงสิ่งที่อยู่เบื้องลึกในใจ ที่ฝังรากอยู่กับคนๆ นั้นมาตั้งแต่แรกเกิด เผลอๆ ไกลไปถึงวันปฏิสนธิ และหนักมากขึ้นด้วยคนจะตีความลึกลงไปถึงเทือกเถาเหล่ากอ การอบรมเลี้ยงดูของญาติผู้ใหญ่ทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย



สันดานคืออะไร


คำว่าสันดานนี้ บางที่เขียนว่า สันดาร เมื่อสืบค้นคำแปลจากหลายแหล่งที่เชื่อถือได้ เช่น ราชบัณฑิตสถาน จะพบความหมายประมาณว่า อุปนิสัย ลักษณะพิเศษ นิสัยถาวร อุปนิสัยที่มีมาแต่กำเนิด อัธยาศัยที่มีติดต่อกันมา ความสืบแห่งจิต คือกระแสจิตที่เกิดดับต่อเนื่องกันมา  
ความหมายอีกอย่างคือ ชื่อของโรคลมอย่างหนึ่งมีอาการจุกเสียดเรื้อรังอยู่เสมอ เรียกว่า”ลมสันดาน” ศัพท์พุทธศาสนา ใช้คำว่า สันตนะ แปลว่าการสืบต่อ เปลื้อง ณ นครให้ความหมายของคำสันดานว่า (สนฺตาน = สั่งสม) พื้นเพของจิต จิตที่ได้รับการอบรมมาเป็นเวลาช้านานหลายภพ หลายชาติ จะมีพื้นฐานโน้มเอียงไปในทางดีก็ได้ เสียก็ได้ ตามแต่ชนิดของการอบรมพื้นฐานของจิต การสืบเนื่องติดต่ออุปนิสัยที่มีมาแต่กำเนิด ชื่อลมอย่างหนึ่ง มีอาการให้จุกเสียดเรื้อรังอยู่เสมอ เรียกว่า ลมสันดาน



ในความหมายทั่วไปที่ใช้กันทุกวันนี้มักเน้นไปทางด้านไม่ดี เช่น “สันดานเอ๊ย” “ไอ้สันดาน” เท่านี้ก็เป็นที่รู้กันว่า ความหมายของผู้พูดคือต้องการตำหนิ ด่าว่าคนที่พูดด้วยหรือพูดถึง



มีผู้พยายามแปลให้ตรงกับภาษาอังกฤษว่า Inborn trait, character, personality, kind, inherent quality และพยายามแปลข้ามไปถึงความหมายด้านลบ เช่น แปลว่าคำสันดานดิบว่า Raw instinct, bad instinct, bad character.



กตัญญู สว่างศรีตีความความหมายของสันดานด้วยเรื่องเล่าของตัวเองว่า
หากสันดานคืออุปนิสัยที่มีมาแต่กําเนิดจริง แล้วเราจะบอกได้อย่างไร ว่านี่คืออุปนิสัยที่มีมาแต่กําเนิดของคนๆ นี้จริง เราจะบอกได้อย่างไรว่าคนๆ นี้มีอุปนิสัยแบบนี้ตั้งแต่เกิดได้อย่างไร แล้วอะไรคือกฎเกณฑ์ของการที่จะบอกว่านี่คือสันดานมนุษย์ นี่คืออุปนิสัยที่มีมาแต่กําเนิด     แล้วอย่างไหนร้ายอย่างไหนดี เพราะหากเรื่องร้ายของคนนี้ไปดีกับอีกคนหนึ่งล่ะ หากเรื่องดีของคนๆ หนึ่งไปทำร้ายใครอีกคนหนึ่งขึ้นมาละ สันดานไหนควรดีหรือเลว และ/หรือมันอาจเป็นได้ทั้ง 2 สถานะ



ชายคนหนึ่งอาจโดนเพื่อนแฟนเก่าด่าว่ามีสันดานเลว นิสัยเลวได้เพราะเพียงเขาตัดสินใจบอกเลิกกับเธอเพราะว่าเขาได้เจอกับคนใหม่ที่ดีกว่าและเขารักมากกว่า ชายคนนี้ทำดีกับเขามากๆ จนหญิงสาวคนใหม่และเพื่อนของหญิงสาวคนใหม่ต่างก็บอกว่าเขาคนนี้ช่างนิสัยดีเสียจริง
มองจากเรื่องที่ผมยกตัวอย่างนี้อาจบ่งบอกได้ว่า เวลา คือส่วนหนึ่งที่จะบอกว่าสันดานของแต่ละคนนั้นมีลักษณาการอย่างไร แต่หากเรามองความเป็นจริงของชีวิตที่กว้างกว่าความหมายเหล่านี้ คำอธิบายคมๆ สั้นๆ ว่า


เวลาเปลี่ยนคนเปลี่ยน คนเราเคลื่อนที่ตลอดทั้งภายในภายนอก จะถูกนำมาใช้กับคำว่าสันดานได้ไหม หากเวลาเปลี่ยนคนเปลี่ยน เราจะเปลี่ยนสันดานได้ไหม ผมเองไม่รู้คำตอบแท้จริงเลยหรอก คงต้องไปถามคนที่ออกตัวว่าเขาได้กลับตัวกลับใจแล้ว แต่คุณอาจหน้าหงายได้หากเขาคนนั้นบอกว่า



"เขามิได้กลับใจจากสันดานหรอกนะเธอ"    
สันดานในความหมายที่ผมได้รับรู้และเข้าใจจึงยังไม่ชัดเจนต่อตนเองมากเท่าใด หากสันดานของแต่ละคนล้วนแตกต่าง และสันดานดีเลวในความหมายของปัจเจกบุคลลก็มิเหมือนทั้งคนอื่นและต่อตนเองในเวลาที่เปลี่ยนผ่านไป ความสรุปของเรื่องราวที่ไม่ชัดเจนนี้ แท้จริงอาจมาจากสันดานอันโง่เขลาของผมเอง ที่สะท้อนความคิดต่อสิ่งที่เรียกว่า สันดาน ออกมาด้วยท่าทีที่ไร้ซึ่งความรู้ ความเข้าใจและหาไม่มีซึ่งคำตอบในคำถามของตนเอง    



ธนวัฒน์ สวัสดิ์แก้ว อธิบายคำสันดานว่า “สันดาน เป็นนิสัยถาวรซึ่งอยู่ในสมอง ได้รับการถ่ายทอดอนุสัยจากจิตลงสู่สมอง ผ่านทางมโนทวาร (มโนทวาร ; ประตูรับส่งข้อมูลเข้าออกระหว่างจิตกับจิต หรือจิตกับสมอง หรือสมองกับจิตก็ได้) กลายเป็นสันดานในสมอง แล้วถูกความคิดในสมองผลักดันออกมาเป็นพฤติกรรมในที่สุด



กระบวนการที่เกิดขึ้นระหว่างจิตกับสมอง เกิดเป็นวงจรซ้ำแล้วซ้ำอีกได้ดังนี้ อนุสัยในจิตก่อให้เกิดตัณหา (ตัณหา ; ความอยากในจิต) ถ่ายทอดลงสู่สมองกลายเป็นสันดานในสมองทำให้เกิดกิเลส (กิเลส ; สันดานที่อยู่ในสมอง) ก่อให้เกิดวิบาก (วิบาก ; กรรมทันตาเห็น) วิบากทำให้เกิดกรรม (กรรม ; ผลจากการกระทำ) แล้วผลจากการกระทำซึ่งเป็นพลังงานที่ถูกสมองผลิตขึ้น จะถูกถ่ายทอดกลับไปยังจิตผ่านทางมโนทวารกลับไปอยู่ในรูปของอนุสัยในจิตอีกที แล้วก็เริ่มกระบวนการที่จิตจะถ่ายทอดอนุสัยลงสู่สมองกลายเป็นสันดานอย่างไม่มีวันจบสิ้น



ถ้าหากอนุสัยในจิตดีถ่ายทอดลงสู่สมอง ย่อมถ่ายทอดลงสู่สมองกลายเป็นสันดานที่ดีได้ เมื่อสันดานดีแล้วผลลัพธ์ก็คือเราก็แสดงพฤติกรรมที่ดีออกมา หากแต่เป็นอนุสัยที่บริสุทธิ์ย่อมถ่ายทอดลงสู่สมองกลายเป็นสันดานที่บริสุทธิ์ ผลคือการแสดงพฤติกรรมอันบริสุทธิ์นั่นเอง



โดยธรรมชาติแล้ว เมื่ออนุสัยถ่ายทอดลงสู่สมอง จะถูกขยายความเข้มข้นของเจตนาให้แรงขึ้นด้วยสภาพของสังขารของแต่ละคนที่ลำบากต่างกัน ยิ่งลำบากความเข้มข้นของเจตนายิ่งมาก เมื่อถ่ายทอดลงสู่สมองกลายเป็นสันดานก็มีความเข้มข้นมากกว่าอนุสัยหลายเท่า เช่นความโลภอยู่ในจิตของเราเป็นอนุสัย พอถ่ายทอดลงสู่สมองกลายเป็นสันดานจะทวีเป็นสันดานแห่งความโลภหลายเท่า ยิ่งสภาพร่างกายผิดปกติมากเท่าใด สันดานโลภที่เกิดขึ้นในสมองจะมีกำลังมากเท่านั้น


โอกาสที่จะแสดงพฤติกรรมแห่งความโลภอย่างรุนแรงย่อมเป็นไปได้สูง หรืออาจจะแสดงความโลภออกมาไม่มาก ส่วนที่เหลือจะถูกจิตดูดเอาสันดานไปไว้ในจิต แล้วควบแน่นเป็นอนุสัยอันฝังแน่นเกรอะกรังอยู่ในจิต พร้อมจะถูกถ่ายทอดลงสู่สมองกลายเป็นสันดานได้ทุกเมื่อหากมีสิ่งเร้าเข้ามากระทบ



เมื่อได้คำแปลสันดานบวกกับบทความสั้นๆ อย่างมึนๆ ของทั้ง 2 ท่านที่กล่าวมาแล้ว นำมาตีความตามความเห็นของผู้เขียน น่าจะสรุปคำว่าสันดานได้ว่า


ความหมายที่แท้จริงของ สันดาน


สันดานคือ สิ่งที่ปรากฏขึ้นทางใจ ความคิด วาจา และการปฏิบัติของคนๆ หนึ่ง ที่มีผลมาจากการฝังรากลึกจากบรรพบุรุษก็ได้ จากพันธุกรรมก็ได้ จากขณะอยู่ในครรภ์แม่ก็ได้ จากการเลี้ยงดูก็ได้ จากสภาพแวดล้อมก็ได้ ที่ฝังรากลึกมานาน หรือเกิดขึ้นซ้ำๆ จนฝังลึกในใจ ส่งต่อถึงความคิด และส่งต่อสู่วาจาและพฤติกรรมของคนนั้นๆ อย่างเคยชิน อย่างอัตโนมัติ



เมื่อได้ข้อสรุปอย่างนี้ ทำให้เกิดความสงสัยว่า แล้วคำว่า “นิสัย” มันต่างจากสันดานอย่างไร ราชบัณฑิตสถาน กล่าวว่า นิสัยคือ น. ความประพฤติที่เคยชิน เช่น ทําจนเป็นนิสัย; ที่พึ่ง, ที่พักพิง, ที่อาศัย, เช่น ขอนิสัยในการอุปสมบท. (ป. นิสฺสย) จึงอาจสรุปได้ว่า สันดานคืออุปนิสัยที่มีมานานกว่าแน่นแฟ้นกว่า ลึกกว่า อย่างที่เราเรียกสันดานอีกอย่างหนึ่งว่า นิสัยถาวร



มันเริ่มสนุกเมื่อย้อนกลับไปอ่านความเห็นของเปลื้อง ณ นครที่ให้ความหมายคำสันดานว่า “พื้นเพของจิต จิตที่ได้รับการอบรมมาเป็นเวลาช้านานหลายภพ หลายชาติ จะมีพื้นฐานโน้มเอียงไปในทางดีก็ได้ เสียก็ได้ ตามแต่ชนิดของการอบรม พื้นฐานของจิต การสืบเนื่องติดต่อ อุปนิสัยที่มีมาแต่กำเนิด” เพราะเปลื้องเล่นเอาเรื่องของชาติภพมาเกี่ยวข้องด้วยทีเดียว เพราะหากเล่นทางนี้ลงไป มันต้องแยกเป็น 2 ทาง คือ


ทางหนึ่งเล่นไปในแนวทางของคนที่เชื่อเรื่องชาติภพ อีกทางก็ต้องเล่นไปในทางของคนที่เห็นว่า เรื่องของชาติภพยังเป็นเพียงเรื่องเล่า สืบค้นในทางวิทยาศาสตร์ไม่ได้ แต่ถ้าเอาประโยคหลังของเปลื้องมาพูดถึงกัน ว่าสันดานคือ การสืบเนื่องติดต่อ อุปนิสัยที่มีมาแต่กำเนิดก็ถือว่ายังได้อยู่

จากคุณ : patham
เขียนเมื่อ : 24 ก.ย. 55 19:36:50




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com