Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
สันดาน 3{แตกประเด็นจาก W12715536} ติดต่อทีมงาน

การเปลี่ยนแปลงสันดานและชะตาชีวิต



สันดาน จะเปลี่ยนได้ต้องทั้งสาน และทั้งดัน
การปรับเปลี่ยนตัวเองได้ของคนๆ หนึ่งอาจมีหลายวิธี บางคนใช้วิธีหักดิบ บางคนเข้าวัดฟังธรรมะ บางคนนั่งสมาธิ บางคนปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อม และอีกมากมายหลายร้อยวิธี สุดแล้วแต่ว่าใครจะทำวิธีไหนสำเร็จ แต่ข้อเท็จจริงคือ คนส่วนใหญ่เปลี่ยนแปลงตัวเองไม่สำเร็จในเวลาที่ต้องการ แต่มักพบว่า ตัวเองเปลี่ยนแปลงไปเองเพราะกาลเวลา สรุปคือ แก่ลง ประสบการณ์มากขึ้น จึงสุขุมขึ้น ระวังมากขึ้น



จะได้ประโยชน์กว่ามั้ย ถ้าเราเปลี่ยนแปลงตัวเองได้จริง ตามเวลาที่ต้องการ ไม่ต้องรอให้แก่งัก หรือรายที่มีปัญหาด้านอารมณ์ ฉุนเฉียวขี้โมโห ย้ำคิดย้ำทำ ตามติดทุกฝีก้าว จนแฟนทิ้งผัวหนี จนตัวเองเลยวันอันเหมาะแก่การผสมพันธุ์ มดลูกฝ่อหมดแล้ว เข้าสู่วัยปลงถึงค้นพบตัวเองว่า ที่ผ่านมาฉันพลุ่งพล่านจนเกิดเหตุ ออกฤทธิ์ออกเดชจนเกินงาม และเมื่ออายุปาเข้าไปปูนนี้ บอกกับตัวเองว่า “ฉันพร้อมแล้ว ฉันเป็นผู้ใหญ่แล้ว ฉันพร้อมจะรับผิดชอบอารมณ์ต่อคนรอบข้างแล้ว” แต่เมื่อถึงวันและวัยนั้น ย่อมไม่มีใครอยากข้องแวะเข้ามาให้เรารับผิดชอบอารมณ์อีกต่อไป



วิธีการปรับเปลี่ยนอารมณ์ด้วยการปรับคลื่นสมองจะเป็นอีกวิธีหนึ่ง เหมือนจิ๊กซอว์ให้เราค่อยๆ ต่อภาพทีละน้อยๆ และเมื่อถึงวันหนึ่งที่ไม่นานเกินไป เราพบว่าภาพที่ต่อนั้นเสร็จสมบูรณ์ เป็นภาพของตัวเราคนใหม่ที่เป็นได้ดั่งใจคิด อย่างแท้จริงด้วยความมุ่งมั่น 2 ข้อเท่านั้น คือ 1. สาน 2. ดัน เป็นการสานและดัน เพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเองในระดับ สันดาน



สาน คือต้องหมั่นสานต่อโปรแกรมเสริมสร้างสภาวะเชิงบวกซึ่งประกอบด้วย 1. กิน 2. คิด 3. ดำเนินชีวิต และ 4. อารมณ์ (ตอนที่ว่าด้วยสภาวะเชิงบวก พรรณนาไว้อย่างละเอียดแล้วในหนังสือพลังแห่งความมั่งคั่งของผู้เขียนคนเดียวกัน)ทำทั้ง 4 อย่างพร้อมกันไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่ต้องเร่ง ไม่ต้องรีบ และอย่าหักโหมเพราะเดี๋ยวจะเป็นไฟไหม้ฟาง แล้วเราจะเปลี่ยนตัวเองได้อย่างแท้จริง



ดัน คือต้องผลักดันตัวเอง มีวินัยและทำอย่างต่อเนื่อง ความเปลี่ยนแปลงในชีวิตของเราจึงสามารถเกิดขึ้นอย่างแท้จริง
ไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ ไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นได้จากสภาวะเชิงลบที่มีอยู่ในตัว ต้องหมั่นผลักดันความเป็นด้านลบให้ออกไปจากจิต ดึงดูดและเสริมสร้างสภาวะเชิงบวกให้แก่จิตใจ สมอง และร่างกายของตัวเองอย่างสม่ำเสมอ แล้วจะพบว่าสิ่งดีๆ ได้บังเกิดในชีวิตทีละน้อย และเพิ่มมากขึ้นทั้งปริมาณและคุณภาพ  



ทำความเข้าใจกับรูปแบบของสันดาน
เมื่อชะตาชีวิตสัมพันธ์กับสันดาน สันดานสัมพันธ์กับนิสัย นิสัยสัมพันธ์กับความคิด ความคิดสัมพันธ์กับการกระทำ ดังคำพูดที่ว่า “ความคิดซ้ำๆ ก่อเกิดการกระทำ การกระทำซ้ำๆ ก่อเกิดนิสัย นิสัยซ้ำๆ ก่อเกิดสันดาน สันดานซ้ำๆ ก่อเกิดชะตาชีวิต”



ชะตาชีวิต สันดาน นิสัย ความคิด และการกระทำจึงเป็นพฤติกรรมที่ใช้เรียกกิจกรรมที่แตกต่างกันไปของจิต “จิต” จึงเป็นประธานของเรื่องราวดังกล่าวนี้ จิตเป็นตัวกำหนดสิ่งต่างๆ และปรากฏการณ์ต่างๆ ของเราที่เปลี่ยนไป



นอกจากจิตเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้แล้ว ยังบังคับเอาไว้ยากด้วย จิตมีทั้งสภาวะร้อนและเย็น หยุดนิ่งและเคลื่อนไหว บางทีทำให้รวดเร็วกว่าสายฟ้าและหนักแน่นกว่าขุนเขาก็ได้ ให้เคลื่อนที่เร็วกว่าควากซ์(Quarks) อีกหลายเท่ายังได้ แต่มันจะไกลเกินกว่าขอบข่ายในตัวเรื่องของสันดาน



จิตที่เคลื่อนไหวไปตามสิ่งเร้าพื้นฐานและฉาบฉวย สร้างปรากฏการณ์ปฏิกิริยาเป็นครั้งแรก เมื่อเกิดปรากฎการณ์หรือแรงกดดันใดๆ ขึ้นกับเรา เราจะคิดและตัดสินใจจากเรื่องน้อยๆ จนเราคิดว่าเราไม่ได้ตัดสินใจ เพียงแต่ดำเนินตัวเองไปตามแรงกดดันและสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้น เช่น เมื่อตื่นเช้าขึ้นมา ต้องคิดและตัดสินใจว่าจะเปลือกเปิดตาขึ้นหรือไม่ เปิดตาแล้วจะทำอะไรต่อ จะลุกขึ้นมาหรือนอนกลิ้งเกลือกต่อไป เมื่อตัดสินใจว่าลุกขึ้นมาแล้วควรจะทำอะไรในลำดับต่อไป จึงก่อเกิดความคิดกับการกรทำต่อเนื่องกันไป ซึ่งเกิดขึ้นซ้ำๆ และเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นตั้งแต่เราเด็กๆ ที่เริ่มจดจำและมีความคิดผลักดันตัวเองให้ทำหรือไม่ทำสิ่งต่างๆ ตามที่ได้รับการบอกเล่า



เมื่อเนิ่นนานจนชินชา จึงลืมไปถึงกระบวนการตัดสินใจอันนั้น ภายหลังอาจทำสิ่งต่างๆ ไปด้วยความเคยชินซ้ำๆ จากสันชาติญาณและการขับเคลื่อนของระบบภายในร่างกาย เช่น ตื่นเช้าขึ้นมาบิดขี้เกียจ ลุกออกจากเตียงเข้าห้องน้ำ ล้างหน้า แปรงฟัน อาบน้ำ ขับถ่าย โดยไม่ต้องนึกไม่ต้องคิดและไม่ต้องวางแผน จิตจึงเป็นตัวขับเคลื่อนการกระทำของเราโดยเราไม่ต้องรู้ว่าจิตกำหนดให้เราทำสิ่งต่างๆ ไว้แล้วจากความเคยชิน



การกระทำซ้ำๆ ที่จิตกำหนดไว้แล้วนี้เอง จึงถูกสร้างเป็นนิสัย หากเราทำกิจวัตรใดๆ ซ้ำๆ เดิมๆ สม่ำเสมอ ถ้าเรายินยอมพร้อมตามกับพฤติกรรมนั้น เนิ่นนานมากเพียงพอ ย่อมเกิดการก่อตัวของสภาวะบางอย่างที่กระตุ้นการกระทำของเราให้เดินย่ำย้ำในรูปแบบเดิมๆ  



ความคิดที่ถูกฝึกแต่แรกจึงเป็นตัวกำหนดการกระทำ การกระทำที่ถูกกำหนดซ้ำๆ จึงก่อเกิดนิสัย เหมือนวัยเด็กของคนๆ หนึ่ง หากเมื่อแรกเป็นเด็กกำลังโต พอตื่นนอนแล้วเพียงแต่ถีบหมอนถีบผ้าห่มออกจากตัว สะบัดก้นแล้วเข้าห้องน้ำไปเลย อาบน้ำแต่งตัวเสร็จแล้วไปกินข้าว กินเสร็จก็สะบัดก้นอีกครั้งแล้วไปโรงเรียน จะเห็นว่าคนๆ นี้ไม่ได้ถูกฝึกอะไรเลย นอกจากให้ไปโรงเรียน ความคิดเกี่ยวกับที่นอนและการกินข้าวจึงมีแต่การฝึกตัวเองให้รีบลุกขึ้นมาแล้วรีบไป



หากแต่เมื่อเริ่มจำความได้ คนนั้นถูกบอกเล่าให้เก็บที่นอนหลังจากตื่นนอนแล้ว ให้หยิบจานชามไปวางที่ล้างแล้วค่อยไปโรงเรียน ก็จะมีอีกขั้นตอนหนึ่งคือคนนั้นต้องคิดและตัดสินใจว่าจะกระทำหรือไม่ เด็กบางคนเกิดความคิดและตัดสินใจว่า “ไม่ทำ” จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม แต่หากถูกตอบสนองว่า “ไม่เป็นไร แม่ทำเอง” “เอาเถอะ ให้คนอื่นทำ ที่บ้านมีคนรับใช้” “เดี๋ยวไปโรงเรียนไม่ทัน รีบๆ ไปแล้วกัน พ่อแม่ไม่มีเวลามาบ่นมาว่า”



หากการตอบสนองเกิดขึ้นในรูปแบบอย่างนี้ จะเกิดการประทับในจิตว่า เขาตัดสินใจถูก เพราะการคิดที่จะไม่ทำตามคำบอกเล่านั้นได้รับการเพิกเฉย ในคราวต่อไปก็จะคิดที่จะไม่ทำอีก และหากได้รับการเพิกเฉยซ้ำๆ ต่อไปก็ไม่ต้องคิดอะไร เพียงแค่ไม่ทำเหมือนเมื่อก่อน เพราะถูกฝังความคิดลงไปแล้วว่า ไม่ทำก็ไม่เป็นไร



หากการตอบสนองเกิดขึ้นในรูปแบบอื่น เช่น “ไม่ได้ ต้องฝึกระเบียบวินัยแต่เล็ก ถ้าไม่ทำแล้วจะไม่ได้หอมแก้ม” “ต้องทำนะ หากทำแล้วพ่อแม่จะชมว่าเป็นเด็กดี” “เราจะต้องฝึกตัวเองแต่เล็ก โตขึ้นจะไม่มีใครบอกกล่าวให้ทำอะไรที่ถูกที่ควร หากไม่ทำจะไม่ได้กินของอร่อย”



เมื่อเป็นอย่างนี้ เด็กจะรู้ว่าการคิดที่จะไม่ทำนั้น “ผิด” เพราะได้รับการตอบสนองในแบบที่ตัวเองไม่ต้องการ ก็จะจำยอมพร้อมใจ แต่หากการกระทำนั้นเกิดซ้ำๆ ย้ำเดิม จะทำให้เด็กเลิกคิดที่จะปฏิเสธ ก็จะทำทุกครั้ง



ในทางกลับกัน เด็กจะเริ่มปฏิบัติตามคำบอกเล่าเฉพาะที่ได้รับการบอกเล่าเท่านั้น เมื่อไหร่ผู้ใหญ่ไม่บอกให้ทำก็จะไม่ทำ ผู้ใหญ่ก็ต้องฝึกอีก ด้วยการบอกเป็นคำสั่งถาวร ให้เด็กเก็บที่นอนทุกครั้งที่ตื่นนอน และต้องรายงานทุกครั้งหลังจากได้ทำสิ่งนั้นแล้ว หากต้องให้สั่งอีกจะไม่หอมแก้ม จะงดของอร่อย จะไม่พาไปเที่ยว จะไม่กอด



เมื่อเป็นอย่างนี้ก็แปลว่าจิตของคนนั้นได้รับการฝึกฝนตั้งแต่เล็กๆ ความคิดด้านลบจะถูกกล่อมเกลาลบล้างไม่ให้เกิดตั้งแต่ยังเป็นเด็กน้อย ทำบ่อยๆ ซ้ำๆ ย้ำเดิม ทำให้คนนั้นเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีแต่ความคิดด้านบวก ความคิดด้านบวกซ้ำๆ จึงก่อเกิดการกระทำด้านบวก การกระทำด้านบวกที่สม่ำเสมอจึงก่อเกิดนิสัยใฝ่ดีก้าวหน้าแก่คนๆ หนึ่ง และนิสัยที่ใฝ่ดีก้าวหน้าจึงก่อเกิดสันดานดี และคนที่มีสันดานที่ดีย่อมมีลายแทงหรือชะตาชีวิตที่ถูกต้องเหมาะสมและนำความเจริญก้าวหน้าสู่ชีวิตคนนั้นขึ้นมาได้อย่างแน่นอน



ย้อนมองสันดานเราแต่เด็ก สะท้อนสันดานของพ่อแม่บรรพบุรุษ
พ่อแม่จำนวนไม่น้อยมักแปลกใจกับพฤติกรรมและความรู้สึกนึกคิดลูกๆ ของตัวเอง เป็นเพราะเรายังไม่เข้าใจตัวเองอย่างถ่องแท้ต่างหาก เพราะลูกหลานย่อมมีนิสัยและพฤติกรรมที่ถอดแบบมาจากพ่อแม่บรรพบุรุษ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง คำที่ว่า “สืบสันดาน” จึงมิใช่ภาษากฎหมายแต่เพียงอย่างเดียว



เมื่อลูกๆ มีนิสัยและพฤติกรรมแปลกๆ ที่พ่อแม่รับไม่ได้หรือไม่เข้าใจ ถ้าถูกตั้งคำถามว่าเขาหรือเธอนิสัยเหมือนใคร บางทีพ่อแม่อาจบอกว่าไม่มี เราอาจสืบค้นได้ว่าเขานิสัยเหมือนญาติคนใดคนหนึ่งที่ล่วงลับไปแล้วด้วยซ้ำ หรือสมัยเด็กๆ พ่อแม่ก็เคยมีนิสัยและพฤติกรรมอย่างนี้ หรือน้อยกว่านี้ ลูกอาจเป็นมากกว่าหรือพอตัวเองโตแล้วนิสัยและพฤติกรรมเหล่านั้นก็หายไป แต่ของลูกไม่หายกลับเป็นมากขึ้น



นิสัยหลายอย่างที่ลูกๆ เป็นโดยพ่อแม่ปลูกฝังโดยไม่รู้ตัว บ่อยครั้งที่พบว่าพ่อแม่มักไม่ฝึกไม่สอนให้ลูกช่วยตัวเองได้กับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่น เก็บที่นอน ล้างถ้วยล้างจาน ปัดกวาดเช็ดถูนิดหน่อย ด้วยความคิดที่ว่า “ฉันรวย มีคนรับใช้ ให้คนรับใช้ทำ” “ให้เด็กรับผิดชอบเรื่องการเรียนอย่างเดียวพอแล้ว” “ตอนนี้เขายังเล็กปล่อยไปก่อน เดี๋ยวโตขึ้นแล้วคงคิดได้เอง”



ความคิดข้างต้นนี้ผิดทั้งหมดเลย ความคิดที่ว่าฉันรวยมีคนรับใช้ ให้คนรับใช้ทำ พบว่า เมื่อเด็กโตขึ้นจะไม่ชอบทำอะไรด้วยตัวเองแม้แต่น้อย เรื่องที่บ้านยังพอทน แต่เมื่อโตแล้วนิสัยที่ถูกเพาะบ่มอย่างนี้ก็จะไปปรากฏที่โรงเรียนทำให้เพื่อนรังเกียจ ไปเพาะบ่มที่ทำงาน ทำให้ถูกมองว่าเหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ และถูกเพาะบ่มกับครอบครัวของตัวเอง เป็นภาระให้ลูกของตัวเองหรือกับสามีหรือภรรยา ตราบที่ชีวิตทางการเงินดีอยู่ ไม่มีวิกฤตชีวิตเกิดขึ้นก็เหมือนไม่มีปัญหา แต่เมื่อมีวิกฤตชีวิตหรือปัญหาทางการเงิน คนนั้นก็เหมือนล้มเหลวทุกสิ่ง ชีวิต หน้าที่การงาน ครอบครัวล่มสลายตามไปด้วย



ความคิดที่ว่า “ให้เด็กรับผิดชอบเรื่องการเรียนอย่างเดียวพอแล้ว” เมื่อโตขึ้นเขาหรือเธอจะเป็นคนเห็นแก่ตัวอย่างร้ายกาจ จะไม่ทำอะไรที่คิดว่าตัวเองไม่ได้ประโยชน์ จะไม่เข้าใจคนอื่น ไม่เห็นใจผู้คน และรู้สึกว่ามนุษย์ร่วมโลกคนอื่นๆ เป็นปัญหาของตัวเอง ความผิดพลาดและล้มเหลวเกิดขึ้นเพราะคนอื่นเป็นสาเหตุ บริหารจัดการคนไม่ได้ เพราะไม่มีทักษะในการปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ มีแต่เครื่องมือและคอมพิวเตอร์ที่ตัวเองสั่งได้และเข้าใจ มีแต่ชีวิตที่ผลักดันให้ตัวเองเจริญก้าวหน้าแบบฉาบฉวยและแห้งแล้ง  เป็นกลุ่มบุคคลที่น่าสงสารที่สุด เพราะไม่รู้ว่าตัวเองเป็นคนน่าสงสาร



ความคิดที่ว่า “ตอนนี้เขายังเล็กปล่อยไปก่อน เดี๋ยวโตขึ้นแล้วคงคิดได้เอง” พบว่ามีน้อยคนมากที่คิดได้เอง หรือหากคิดเองได้ก็อาจสายเกินไป เสียโอกาสบางอย่าง ผิดพลาดล้มเหลวนับครั้งไม่ถ้วน เพราะถูกปลูกฝังมาแต่แรกว่าตัวเองไม่ต้องรับผิดชอบอะไร เพราะพ่อแม่รับผิดชอบแทน ไม่ต้องจับต้องอะไร เพราะมีคนทำแทนทุกอย่าง ไม่ต้องง้อใคร เพราะมีแต่คนที่ต้องเข้าหามาตลอดชีวิต ไม่ต้องฟังคำสั่งใคร เพราะไม่เคยรับคำสั่งใครแต่เด็ก ไม่ต้องยึดถือกติกาหรือบรรทัดฐานอะไร เพราะได้รับการยกเว้นเสมอ เกือบไม่มีใครเลยที่จะปรับตัวและประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้องได้เมื่อก้าวออกสู่สังคมภายนอก คนพวกนี้กลายเป็นคนที่น่ารังเกียจในสายตาคนอื่น เป็นที่อิดหนาระอาใจแก่สังคม และถูกกระทบกระทั่งบ่อยครั้งอย่างที่ตัวเองไม่เข้าใจว่าเป็นเพราะอะไร ถ้าตกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ก็จะเกลียดสังคม เกลียดผู้คน แต่หากยังคงดำเนินชีวิตอยู่ได้ ก็ปราศจากเพื่อนแท้คนที่จริงใจด้วย หรือแม้แต่ลูกๆ หรือคู่ชีวิตตัวเองก็พร้อมจะตีจากคนแบบนี้อย่างง่ายดาย



ชีวิตหลายคนที่ถูกบ่มเพาะมาอย่างผิดๆ สันดานถูกสร้างมาให้ไม่สอดคล้องกับการสร้างความสุขความเจริญให้แก่ชีวิต แต่ในการดำเนินชีวิตของบางคน อาจพบความบังเอิญที่สอดคล้อง เช่น เขาหรือเธอไปพบกับคนหรือสังคมที่ปล่อยวางได้ ไม่นำพา หรือมีสภาวะจิตใจที่อ่อนด้อย แล้วพบว่าตัวเองไม่ได้ถูกรังเกียจ ไม่ได้โดนต่อต้าน หรือประสบความสำเร็จเรื่องอื่นในชีวิต มีรายได้มากพอหล่อเลี้ยงตัวเองให้อยู่ในโลกส่วนตัวได้ แต่เมื่อไหร่ที่สิ่งเหล่านั้นขาดหรือพร่องไป จึงเกิดปัญหาและเริ่มมองเห็นความเป็นจริงของชีวิต คนที่ยังไม่มองไม่เห็น ก็จะทำอะไรที่ผิดพลาดและล้มเหลวตามมาไม่หยุดหย่อน เพราะเข้าใจตัวเองผิด เข้าใจสังคมผิด และเข้าใจวิถีในการดำเนินชีวิตผิดๆ



เมื่อรูปการเป็นอย่างนี้ แค่มองย้อนตัวเองว่า ฉันเลี้ยงลูกฟูมฟักอย่างไร กล่อมเกลาสอนสั่งด้วยวิธีไหน เป็นแบบอย่างที่ดีหรือไม่ ใช้อารมณ์ความพึงพอใจมากกว่าเหตุผลและความจำเป็นบ้างไหม ถ้าคำตอบคือมี และกระทำอย่างนั้นซ้ำๆ สม่ำเสมอมาตลอด หรือตั้งแต่เขาเป็นเด็กแต่เล็กแต่น้อย นั่นแหละคือตัวเขา ที่เราหล่อหลอมขึ้นมา ไม่ใช่ตัวเขาที่เราไม่เข้าใจเพราะเราเป็นคนสร้างเขาขึ้นมาต่างหาก บางคนเถียงว่า “เมื่อก่อนก็มีนะ แต่เดี๋ยวนี้เลิกแล้ว” มันไม่ทันเสียแล้วล่ะ มันสายไปแล้ว หนักกว่านั้น บางคนเถียงคอเป็นเอ็นว่า “ไม่จริง ฉันทำนิดหน่อยเอง” อืม..นั่นละ แม้แต่คุณยังไม่ยอมรับความจริง ลูกของคุณก็ต้องเป็นคนแบบเดี๋ยวกัน และหนักที่สุดคือ “ที่ลูกเป็นอย่างนี้เพราะสังคมไม่ดี เพื่อนบ้านเลว โรงเรียนไม่ได้เรื่อง เพื่อนนักเรียนชั่ว” คุณยังโทษคนอื่นรอบโลกได้ยกเว้นตัวเอง ลูกคุณก็ย่อมเป็นอย่างนั้น เขาก็จะโทษว่าที่เขาเลว เพราะพ่อแม่ทำให้เขาเลว



สังเกตว่าตัวเองเป็นคนแบบนี้หรือไม่ ไม่ยากเลย ก็แค่มองคู่ชีวิตตัวเองว่า เราเข้าใจกันและกันหรือไม่ มองลูกตัวเองว่า ฉันเข้าใจในจิตใจเขาหรือเปล่า และเขาเข้าใจฉันไหม ถ้าไม่ นั่นคือคำตอบว่าคุณเป็นคนแบบนี้ด้วยเช่นกัน



ต้นเหตุแห่งความเป็นไปของสันดาน
ปัญหาชีวิตของแต่ละคน หลายคนคิดว่าไม่เหมือนกัน และคนจำนวนมาก คิดว่าปัญหาชีวิตของตัวเองเกิดจาก อันดับแรกคือ เงินไม่พอใช้ ไม่มีงานทำหรือได้งานที่เงินน้อยและไม่ภูมิใจ สามีหรือภรรยาไม่รัก ลูกไม่เชื่อฟัง ฯลฯ ความจริงแล้วปัญหาชีวิตของแต่ละคนนั้นมีพื้นฐานเดียวกัน และไม่ได้เริ่มจากการที่เงินไม่มีใช้ ไม่มีงานทำ สามีหรือแฟนไม่รัก ลูกไม่เชื่อฟัง ฯลฯ



เพราะหากมองแยกปัญหาแต่ละประเด็นตามลำดับ เราคิดว่าการมีเงินใช้เพียงพอแก่ความต้องการจะทำให้ไม่มีปัญหาชีวิตไปได้หรือไม่ การมีเงินทองช่วยทำให้ไม่เกิดปัญหาชีวิตเลยหรือเปล่า หลายคนอาจนึกในใจอีกว่า ใช่ แต่สิ่งที่เราเห็นคือ คนจำนวนมากที่มีทรัพย์สินเยอะแยะ เงินในบัญชีมีหลายล้าน ที่ทุกข์และเศร้ามากจากเรื่องอื่นๆ จนถึงขั้นหาทางออกไม่เจอต้องฆ่าตัวตาย หลายคนมีเงินเป็นร้อยล้านแต่กลับใช้เงินรักษาโรคบางอย่างไม่ได้ และหลายคนมีเงินเป็นพันล้านแต่มองไม่เห็นความสุข หลายคนมีเงินเป็นหมื่นล้านแต่ไม่พบความสงบ



เมื่อมองลึกลงไปถึงปัญหาการงาน เป็นเรื่องจริงที่บางคนมีงานที่ดูดีในความคิดของคนอื่น แต่ตัวเองไม่ชอบ ไม่ภูมิใจ เบื่อ ไม่อยากทำ ต้องทนทำ ทุกข์ทรมานจากงานของตัวเอง แม้ว่าคนอื่นจะคิดว่าเป็นงานที่ดีมาก และแม้ตัวเองไม่ชอบงานนั้นก็ต้องทำ นับเป็นความทุกข์ทรมานไม่ต่างจากคนที่ถูกจองจำอยู่ในสถานที่เดิมๆ ที่หลีกหนีไปไหนไม่ได้ ครั้นจะหลีกหนีไปทำงานที่อยากได้ใคร่ทำก็ไม่มีโอกาส การมีงานทำหรือไม่มีทำจึงไม่ใช่เครื่องบอกเล่าว่าใครมีความสุขหรือไม่ หรือใครมีความสุขมากกว่าใคร



มองลึกลงไปอีกถึงคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นสามี ภรรยา หรือลูกๆ หลายคนกลับค้นพบชีวิตของตัวเองว่า ทำไมสามีไม่สนใจฉัน ทำไมภรรยาไม่ภูมิใจในตัวเรา และทำไมลูกๆ ถึงแสดงท่าทีเหนื่อยหน่าย รำคาญเราผู้เป็นพ่อและแม่ น่าแปลกมากกับคนที่มีคู่ชีวิตอยู่ด้วยกันมา 20-30 ปีแต่กลับไม่เข้าใจกัน และยิ่งเจ็บช้ำน้ำใจเข้าไปอีก กับลูกที่เกิดจากเรามาแท้ๆ ยังคุยกันไม่รู้เรื่อง ทำไมเขาไม่เข้าใจเรา หรือเพราะเราไม่เข้าใจเขากันแน่ ต่างฝ่ายต่างไม่เข้าใจกัน ความจริงแล้วคนเป็นลูกไม่เข้าใจพ่อแม่อาจเกิดขึ้นได้ เพราะเขาเป็นเด็กกว่าเรา อายุน้อยกว่าเรา และเราต่างหากเป็นคนสั่งสอนเลี้ยงดูเขามา เราอาจสอนผิด สอนไม่เก่ง ทำตัวเป็นแบบอย่างที่ไม่ดี ลูกๆ ถึงไม่เข้าใจเรา



แต่คนเป็นพ่อแม่ไม่เข้าใจลูกนี่น่าเสียใจยิ่งนัก ทั้งๆ เด็กคนนั้นเราเป็นคนฟูมฟักขึ้นมากับมือแท้ๆ มองเห็นอยู่ทุกวัน สั่งสอนเลี้ยงดูอบรม ป้อนข้าวป้อนน้ำสม่ำเสมอ แต่เรากลับไม่เข้าใจลูกตัวเอง จะถือว่าเป็นความอัปยศอดสูในใจได้ด้วยซ้ำ



ปัญหาและความทุกข์จึงไม่ได้มีที่มาจากเงิน งานหรือความรักความเข้าใจ แต่หากมาจากการที่เราไม่ได้รับการปลูกฝังแต่เด็ก และไม่ได้ปลูกฝังตัวเองเมื่อโต รวมถึงไมได้ปลูกฝังลูกๆ ของตัวเองให้เป็นคน”คิดเองได้ ช่วยตัวเองเป็น” อย่างไรหรือ จะสาธยายในช่วงต่อไป



สันดานชีวิตที่ถูก ต้องเริ่มต้นฝึกให้ “คิดเองได้ ช่วยตัวเองเป็น”
เมื่อตั้งคำถามว่า พ่อแม่อยากได้ลูกที่ว่านอนสอนง่ายหรือไม่ เชื่อว่าคนส่วนใหญ่ตอบว่าใช่ อยากให้ลูกเป็นเด็กดี น่ารัก เชื่อฟัง แบบไหนอีกที่คุณอยากให้เขาเป็น อยากให้เรียนหนังสือเก่ง ทำให้พ่อแม่ภูมิใจ ฯลฯ บลา บลา บลา


มีอะไรบ้างที่เป็นตัวเขาเองไหม มีอะไรหรือเปล่าที่เคยถามเขา ถ้าคำว่าเป็นเด็กดี หมายถึงรับแต่คำสั่ง ไม่โต้แย้ง ไม่สงสัย ไม่ตั้งคำถาม ไม่ปฏิเสธ เด็กดีแบบนี้จะเป็นผู้ใหญ่ในวันหน้าได้หรือ เขาคงเป็นแต่ลูกแหง่ที่พึ่งพาตัวเองไม่ได้ไปตลอดชีวิต



ถ้าความน่ารักคือ ต้องพึ่งพาพ่อแม่ตลอเวลา มีเวลาอยู่กับพ่อแม่ตลอด คอยสนองตอบความพึงพอใจของพ่อแม่ไม่เว้น คนแบบนี้จะโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสุขได้หรือ ถ้าเป็นชายก็เป็นที่พึ่งของภรรยาไม่ได้ ถ้าเป็นหญิงก็เป็นภาระของสามี
ถ้าเรียนหนังสือเก่งหมายถึงสอบได้ทุกวิชา เป็นที่หนึ่งของโรงเรียน ได้เกรด 4 ตลอด สอบชิงทุนได้เสมอ ต้องมีเงื่อนไขว่า เขาต้องมีความสุขในสิ่งที่ทำ จะได้ไม่ฆ่าตัวตายในภายหลัง ต้องมีเงื่อนไขว่าหากวันหนึ่งผิดพลาดล้มเหลวแล้วเขาทำใจได้ จะได้ไม่ฆ่าตัวตายในภายหลัง ต้องมีเงื่อนไขว่า เขาต้องเก่งในด้านมนุษยสัมพันธ์ด้วย เพื่อไม่ผิดหวังกับเพื่อนมนุษย์ จะได้ไม่ฆ่าตัวตายในภายหลัง ต้องมีเงื่อนไขว่า เขาต้องรู้จักการใช้ชีวิตและให้ความอบอุ่นกับคนอื่นเป็น เพื่อครอบครัวของตัวเองจะได้ไม่ตกในสภาวะหย่าร้าง บ้านแตก และต้องมีเงื่อนไขว่า เรียนหนังสือเก่งแล้วต้องทำงานไม่เป็นด้วย เพราะคนที่เรียนหนังสือเก่ง ไม่ใช่ทุกคนที่ประสบความสำเร็จในอาชีพการงาน คนเรียนหนังสือเก่งจำนวนมากกลายเป็นพนักงานธรรมดาๆ ในองค์กรต่างๆ และคนเรียนหนังสือเก่งจำนวนมากล้มเหลวในชีวิต เป็นลูกจ้างก็ไม่เจริญ ทำธุรกิจส่วนตัวก็ล้มเหลว เพราะการสอบข้อเขียน ไม่ใช่บททดสอบทุกเรื่องของชีวิต



การทำให้พ่อแม่ภูมิใจนั้น ทุกวันนี้เรื่องราวน้ำเน่าก็ยังมีอยู่สม่ำเสมอ ที่พ่อแม่อยากให้ลูกเรียนหนังสือที่นั่นที่นี่ เรียนคณะนั้นคณะนี้ เป็นนั่นเป็นนี่ ทำอาชีพนั้นๆ นี้ๆ แต่งงานกับคนนั้นคนนี้ มีหลานให้เมื่อนั้นเมื่อนี้ มีหลานเพศนั้นเพศนี้ มีหลานให้จำนวนเท่านั้นเท่านี้ ฯลฯ และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งดูเหมือนไม่ใช่เป็นการคาดหวังของมนุษย์ต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน แต่ดูเหมือนเป็นการคาดหวังของเจ้าของฟาร์มสุนัข



เมื่อพูดถึงสัตว์เลี้ยงอย่างสุนัขแล้ว อดที่จะพูดถึงแมวไม่ได้ ขณะที่มนุษย์ยกย่องเชิดชูสุนัขว่าเป็นเพื่อนแท้ เป็นผู้ซื่อสัตย์ เป็นบริวารเป็นข้าทาสที่แท้จริงของมนุษย์ ขณะที่แมวนั้นก็ได้รับการยกย่องเชิดชูในเรื่องศักดิ์ศรี ความเสมอเท่าเทียมกันของความเป็นเพื่อนร่วมโลก ความสามารถในการเอาตัวรอดจากภัยอันตรายทั้งปวงได้ จนเปรียบว่ามันสามารถมีชีวิตใหม่ได้ถึง 9 ครั้ง เพราะไม่มีใครบังอาจบังคับแมวได้ ไม่มีใครสั่งมันได้ การที่มันจะมาเคล้าเคลียแสดงความรักต่อเราหรือไม่ ขึ้นกับความพึงพอใจของมัน มันจะรักเราหรือไม่ ขึ้นกับว่า เราได้แสดงความเสมอภาคเท่าเทียมกันระหว่างมันกับเราหรือเปล่า



เป็นเรื่องแปลก ที่แมวสามารถแสดงความกตัญญูรู้คุณแก่เราได้ด้วยตัวมันเอง โดยไม่ต้องมีใครสอนสั่ง มันนวดเราโดยเราไม่ได้ขอ มันหาอาหารมาให้โดยเราไม่ต้องการ แต่กับสุนัขนั้นต้องสอนต้องฝึกทุกเรื่อง แมวมักยอมแพ้สุนัข ไม่อยากข้องแวะด้วย เห็นเมื่อไหร่ย่อมหนีให้ไกลไม่อยากเจอะเจอ ดูเหมือนสุนัขมีอำนาจเหนือแมว



แต่หากเราปล่อยให้ทั้งคู่เผชิญชะตาชีวิตด้วยตัวเอง ไม่ป้อนข้าวป้อนน้ำ ดูเหมือนแมวจะไม่ค่อยสนใจ มันสามารถหาอาหารให้ตัวเองได้ จับจิ้งจก ตุ๊กแก หนู นก แมลงต่างๆ กินได้ด้วยตัวเอง และหากคนย้ายถิ่นฐานบ้านช่อง มันมักจะไม่คิดจะย้ายตามคนไปด้วยซ้ำ ในทางกลับกัน สุนัขกลับช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เลย หากินด้วยตัวเองแทบไม่ได้ และถ้าไม่มีนายอยู่ให้มันอุ่นใจ มันอาจตรอมใจตายไปเลยก็มี เวลาเราจะดูหมิ่น ตำหนิ เหยียดหยามและดูแคลนใครอย่างรุนแรง เราอาจเรียกคนนั้นว่า “ไอ้ลูกหมา” ได้ แต่เราไม่อาจดูหมิ่นใครได้เลยด้วยการเรียกเขาว่า “ไอ้ลูกแมว” เพราะความจริงนั้น แมวมีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นสัตว์มากกว่าสุนัข



อย่างนี้แล้ว เชื่อได้ว่าสัตว์แต่ละชนิดมีนิสัยแตกต่างกัน อาจเป็นเรื่องของสัญชาตญาณหรือเพียงความบังเอิญของสุนัขเท่านั้น ที่มันต้องมาเป็นทาสผู้ซื่อสัตย์ เป็นมิตรแท้ของมนุษย์ ไม่ได้เกิดจากความตั้งอกตั้งใจของมัน บังเอิญมันเป็นของมันอย่างนั้น เพราะสันดานมันเป็นอย่างนั้น และบังเอิญแมวก็เป็นอย่างนั้น เพราะสันดานของมันเป็นอย่างนั้น สัตว์ทั้งสองชนิดสร้างกรอบและเงื่อนไขในการมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ที่แตกต่างกันตามลักษณะสันดานของมัน มันเป็นของมันอย่างนั้นเอง เราไม่อาจเปลี่ยนนิสัยแมวให้เหมือนสุนัขได้ และไม่อาจเปลี่ยนนิสัยสุนัขให้เหมือนแมวได้ และหากจะถามเล่นๆ ขำๆ ว่า ถ้าจะให้คุณเลี้ยงลูกให้เติบโตเป็นอะไรสักอย่างหนึ่ง โดยมีทางเลือกเพียง 2 ทางระหว่างสุนัขกับแมว คุณจะเลือกทางไหน



มนุษย์ก็เช่นกัน มนุษย์ต่างจากสัตว์ตรงที่เราคิดได้ เรามีความเป็นตัวของตัวเอง เราสามารถเลือกและไม่เลือก เราสามารถทำและไม่ทำ ขณะเดียวกันมนุษย์เป็นสัตว์สังคม มีการแบ่งหน้าที่ จัดลำดับความสำคัญ แต่การร่วมกลุ่มของมนุษย์แตกต่างจากสุนัข เพราะสุนัขไม่มีเรื่องของความแตกต่างทางความคิด สุนัขจึงไม่มีการแยกออกจากฝูง แต่มนุษย์มีความแตกต่างทางความคิด มนุษย์จึงแยกออกจากกลุ่มไปตั้งรกรากของตัวเอง ความแตกต่างทางความคิดนี้เองเป็นจุดเริ่มต้นของการนับถือศาสนาแตกต่างกัน สันดานมนุษย์จึงแตกต่างกันไปตามสังคม ตามชนเผ่า สันดานสุนัขจึงมักไม่แตกต่างกัน



การเลี้ยงดูปลูกฝังกล่อมเกลามนุษย์คนหนึ่งอย่างถูกต้อง จึงควรเป็นการสอนให้เขา “คิดเองได้ ช่วยตัวเองเป็น” คือฝึกให้เขาคิดด้วยตัวเอง ว่าสิ่งใดควรไม่ควร สิ่งใดเป็นเรื่องของเหตุผล สิ่งใดจำเป็น สิ่งใดใช้ความพึงพอใจ สิ่งใดหล่อเลี้ยงชีวิต สิ่งใดหล่อเลี้ยงจิตวิญญาณ สิ่งใดหล่อเลี้ยงสัมพันธภาพในการอยู่ร่วมกัน



การฝึกให้ช่วยตัวเองเป็น คือฝึกให้เขาลงมือปฏิบัติแต่เล็กแต่น้อย เรื่องเล็กๆ ในความคิดความรู้สึกเรา เป็นการค้นพบอันยิ่งใหญ่ของเด็กทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเพียงการเก็บที่นอน ล้างถ้วยและช้อนเล็กๆ ดูแลสัตว์ตัวเล็กๆ เช่น กบ จิ้งหรีด คาดเข็มขัดได้ด้วยตัวเอง กินข้าวเองได้หมด ป้อนข้าวให้น้องได้ ปัดกวาดเช็ดถูเล็กๆ ฯลฯ เพาะบ่มความชำนาญช่ำชอง ลองผิดลองถูกในเรื่องเล็กๆ เพื่อจะได้เป็นข้อคิดเตือนใจ และนำมาประยุกต์ใช้ปรับปรุงแก้ไขตัวเอง เพื่อจะไม่ผิดพลาดล้มเหลวในเรื่องใหญ่ เพราะคนที่อยู่ในวัยเด็กนั้น ถ้าวิ่งแล้วล้ม อาจล้มๆ ลุกๆ ได้หลายครั้ง และทุกครั้งเขาจะได้บทเรียน มีประสบการณ์ พบข้อเตือนใจ เห็นแนวทางปรับปรุง ค้นพบการแก้ไข และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ แก่ชีวิตตัวเองได้ หากแต่ไม่ได้รับการฝึกฝนแต่วัยเด็ก ตอนเด็กๆ ไม่เคยลองฝึกล้มฝึกลุก เมื่อโตขึ้นแล้ว ผู้ใหญ่จำนวนมาก หากล้มลงแล้วไม่อาจจะลุกขึ้นมาได้อีกเลย เพราะคนที่เคยล้มมาก่อนเท่านั้น ที่จะได้เรียนรู้วิธีการลุกขึ้นมาอย่างถูกต้องได้  “เด็กอาจล้มได้นับครั้งไม่ถ้วน แต่ผู้ใหญ่หากล้มสักครั้งหนึ่งอาจลุกขึ้นมาไม่ได้อีก”



ความสุขของการคิดเองได้ช่วยตัวเองเป็น
ย้อนกลับไปถึงปัญหาชีวิตที่เกิดขึ้นของแต่ละคน จำพวกที่เงินไม่พอใช้ งานไม่ดี ไม่มีใครรัก ดูเหมือนว่าจิตวิญญาณคนๆ หนึ่งจะเติบโตได้ ต้องมีพื้นฐานหลัก 3 ข้อนี้เสียก่อน เราได้คำตอบที่ชัดเจนไปก่อนหน้าแล้ว ว่าความสุขอาจหาไม่ได้จากการมีเงินใช้ มีการงานที่มั่นคง และปราศจากคนที่เข้าใจเรา หากลองคิดดูง่ายๆ ว่ามีเงินเท่าไหร่จึงพอ และหากอยากทำให้พอเราต้องทำอะไรอีก และต้องเดือดเนื้อร้อนใจ ดิ้นรนทุรนทุรายแสวงหาทรัพย์สินเงินทองมาจนลืมไปว่าจะหาเงินมาเพื่ออะไร



การแสวงหาอาชีพที่ตัวเองรักและพึงพอใจอาจยากพอๆ กัน หรือยากกว่าสำหรับบางคน ทีจะหางานที่ได้เงินมากๆ จะง่ายกว่าที่จะได้ทำงานที่ทำแล้วมีความสุขเพลิดเพลินใจ และหล่อเลี้ยงจิตวิญญาณให้แช่มชื่น สำหรับบางคนการทำให้เป็นที่ยกย่อง เชิดชู หรือการทำให้เป็นที่รัก ไม่กลัว ไม่ระแวง ไม่อิดหนาระอาใจของคนที่บ้านกลับจะยากกว่า จำนวนไม่น้อยเอาเงินมากองตรงหน้าเพื่อให้เป็นที่รักจากลูกๆ แต่ลูกๆ จำนวนมากเลือกที่จะรับเงินแต่ไม่รักเรามากขึ้นไปกว่าเดิม พฤติกรรมนี้ยิ่งทำให้คนเป็นพ่อแม่ชอกช้ำหัวใจและไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับฉัน
ลูกๆ ที่ไม่เข้าใจพ่อแม่ที่หลายคนมีเงินมากมาย หาเงินมาให้ที่บ้านเก่งมาก บริหารจัดการคนนอกบ้านได้อย่างช่ำชอง แต่กลับนำเอาความรักและความสามารถในการจัดการบ้านให้อบอุ่นเข้ามาไม่ได้เลย รวมถึงคู่ชีวิตที่กับคนๆ เดียวที่อยู่ด้วยกันนานมากกว่าคนอื่นๆ กลับบริหารจัดการซึ่งกันและกันไม่ได้ นึกแล้วแปลกแต่จริง ทั้งหมดเกิดจากความที่เราต่างหาก ไม่ได้รับการฝึกให้ “คิดเองได้ และช่วยตัวเองเป็น”



ความคิดเองได้และช่วยตัวเองเป็น หากตั้งคำถามว่าเราจะต้องคิดเองได้และช่วยตัวเองเป็นไปเพื่ออะไร ก็เพื่อเสริมสร้างความสุขให้แก่ตัวเองอย่างไรเล่า คิด เพื่อแสวงหาวิธีทำชีวิตตัวเองให้มีความสุขความเจริญ และ ช่วยตัวเอง ด้วยการลงมือปฏิบัติด้วยตัวเองไม่ต้องหวังพึ่งพาคนอื่น ทำตัวเองให้ถึงพร้อมด้วยความสุขความเจริญ



อยู่กับใครสามารถเข้ากับคนนั้นได้ อยู่สังคมไหนนำพาคว
ามเจริญให้สังคมนั้น มีปฏิสัมพันธ์กันในสังคมแบบร่วมกันคิดแบ่งงานกันทำ ช่วยกันดันผลัดกันเดิน ทำตามหน้าที่บทบาทที่ได้รับ แสดงตัวเสมอผู้อื่นในสังคม ไม่อวดอ้างวางมาดว่าแน่ ว่าเท่ สูงส่ง ฉลาดล้ำ เก่งกาจมากกว่าใครจนเกินงาม ไม่มีท่าทีต่ำต้อย ถ่อมตัว อ่อนน้อมจนเกินเหตุ และไม่คาดหวังว่าคนอื่นจะต้องคิด เชื่อ ทำ และปฏิบัติเหมือนเรา ไม่บังคับกะเกณฑ์ ข่มขู่หรือกดดันให้ใครจะต้องทำอย่างที่เราต้องการ
ศาสนจักรที่พยายามควบคุมให้คนคิด เชื่อ และทำตามแบบอย่างของศาสนาอย่างเคร่งครัด ผลที่ได้รับคือ ศาสนาคริสต์เกิดการแตกแยก มีการเกิดนิกายใหม่ขึ้นมากมาย ผู้คนออกมาท้าทายศาสนจักรอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน และทำให้เกิดยุคมืดที่จารึกในประวัติศาสตร์ว่า เกิดการชะงักงันของความเจริญก้าวหน้าของมนุษย์ลงอย่างยาวนานหลายร้อยปี



การสร้างสภาวะบังคับควบคุมจึงไม่ใช่ลักษณะธรรมชาติของมนุษย์ พ่อแม่ที่พยายามบังคับลูกๆ ให้ทำในสิ่งที่ตัวเองพึงพอใจจึงมักพบกับความล้มเหลว หากไม่ล้มเหลวก็จะได้ลูกที่เกลียดชังพ่อแม่ หรือได้ลูกที่ไม่มีความสุข ขาดความเป็นตัวของตัวเอง ไม่กล้าแสดงออก ไร้ซึ่งความเป็นผู้นำ และเกลียดชังตัวเอง



ลูกที่คิดเองได้ช่วยตัวเองเป็นจึงกล้าพอที่จะถกเถียงกับพ่อแม่ เสนอทางเลือก และจินตนาการถึงอนาคตของตัวเองได้ คิดอยากไปเรียนพิเศษด้วยตัวเอง เลือกเรียนวิชาที่ตัวเองสนใจ ทำอาชีพการงานที่ตัวเองชอบ เลือกคู่ชีวิตที่เหมาะกับตัวเอง และกำหนดชะตาชีวิตที่เป็นของตัวเองที่ไม่ผิดพลาดล้มเหลว หากแต่อาจไม่เป็นที่พึงพอใจของพ่อแม่ในบางเรื่อง ถ้าลูกของใครเป็นคนอย่างนี้ จริงๆ แล้วถือได้ว่าเราเป็นพ่อแม่ที่ดี และเลี้ยงลูกให้มีความสุขได้ เพราะเขาคิดของเขาเองได้ เลือกในสิ่งที่เขาต้องการเองได้ และทำการงานได้ด้วยตัวเอง มีความรับผิดชอบในตัวเอง พ่อแม่น่าจะมองดูลูกเติบใหญ่ด้วยจิตใจที่สงบแช่มชื่น รวมถึงนอนตายตาหลับได้ที่ลูกไม่ทำให้ห่วงกังวลว่าจะเกิดความล้มเหลวในชีวิต

จากคุณ : patham
เขียนเมื่อ : 3 ต.ค. 55 17:01:54




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com