Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
ร้อยเอก เอช เอ็ม เจนเซน : ร้อยสิบปีวีรกรรม ติดต่อทีมงาน

บอกกล่าว

ต้องบอกกล่าวในเบื้องต้นก่อนว่า งานเขียนนี้เป็นการเรียบเรียงขึ้นจากเรื่องราวที่ได้อ่านมา ในลักษณะของการเล่าเรื่องให้ฟัง และไม่ได้เขียนในลักษณะของงานวิชาการที่ได้มีการเขียนอ้างอิงตามแบบแผน ยังมีเอกสารหลาย ๆ ฉบับที่เกี่ยวข้อง แต่ยังค้นไม่เจอและยังไม่ได้ไปค้นต่อ จึงอาศัยข้อมูลที่ค้นได้จากอินเทอร์เน็ตเป็นหลัก ดังนั้น จึงอาจไม่สามารถนำไปอ้างอิงในเชิงวิชาการได้ค่ะ


สำหรับงานเขียนนี้ ตั้งใจจะเขียนขึ้น เพราะเป็นเรื่องที่ตัวเองก็เพิ่งจะทราบเลยอยากเล่าให้คนอื่น ๆ ได้อ่าน ได้รับรู้เรื่องราวของบุคคลท่านนี้ด้วย


ในตอนแรก คิดว่าจะเรียบเรียงให้จบภายในตอนเดียว แต่ไป ๆ มา ๆ ก็ยาวจนได้ จึงต้องตัดแบ่งเป็น 2 ตอน คือ ตอนต้นและตอนจบ โดนตอนจบจะนำมาลงในถนนนักเขียนวันจันทร์หน้า เพื่อที่จะไม่ยาวเกินไปและไม่เบียดกระทู้อื่น ๆ ตกหน้าไปด้วย และตัวเองจะได้มีเวลาอ่านทบทวน รวมถึงลองไปตามหาเอกสารอ่าน ๆ เพิ่มเติม (ถ้าไม่ถูกกองงานถล่มทับก่อน ^^")


ไม่ได้เขียนอะไรทำนองนี้มานานแล้ว มีข้อผิดพลาดประการใด ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย และขอบคุณที่แวะมาอ่านกันค่ะ ^^



---------------------------------------------------------------------------



1. อนุสาวรีย์

จากวันแรกที่มาสัมภาษณ์งานที่พะเยา จนมาถึงวันนี้ก็ร่วมสองปีแล้วที่ฉันใช้เส้นทางเดิมเดินทางไปทำงาน และเป็นสองปีเศษที่ฉันขับรถผ่านสถานที่ที่สะดุดตา สะดุดใจฉันตั้งแต่แรกเห็น เมื่อข้ามพ้นสะพานห้วยเกี๋ยง ที่นั่นมีป้ายสีขาวขนาดใหญ่ริมทางมีข้อความว่า


“อนุสาวรีย์นายร้อยเอก เอ็ช เอ็ม เยนเซ่น”


ไม่มีคำอธิบายอะไรมากไปกว่านั้น และกว่าจะรู้ตัวว่าจุดหมายที่อยากรู้อยากเห็นนักหนาอยู่ตรงไหน ก็ขับรถผ่านไปไกลแล้ว และเมื่อลองถามใครต่อใครดู ก็ดูเหมือนว่าจะยังไม่มีใครให้คำตอบได้กระจ่างสักเท่าใด ครั้นตั้งใจวะแวะไปดูสักครั้งให้เห็นกับตาให้ได้ ขับผ่านไปอีกหลายครั้ง เพราะอยู่ในจุดที่สังเกตได้ไม่ง่าย ยิ่งช่วงแสงอาทิตย์เริ่มลับฟ้า บริเวณนั้นก็มืดสนิทจนแทนมองอะไรไม่เห็น


หลายเดือนผ่านไป ยังไม่มีคำตอบสำหรับคำถามของฉัน...


ชายชาวต่างชาติที่มียศนำหน้าอย่างทหารที่ชื่อ “ฮันส์ มาร์กวอร์ด เจนเซน”  หรือที่บนป้ายเขียนว่า “ฮันส์ มาร์กว๊อต เย็นเซ่น” คนนี้เป็นใครกันแน่


จนกระทั่ง วันหนึ่ง เย็นแล้ว แต่แสงยังไม่หมด ฉันหักพวงมาลัยรถเลี้ยวเข้าไปยังอนุสาวรีย์  วันนี้ ต้องรู้ให้ได้ว่า...


เขาคือใคร






2. ใคร


"อ้าว ตำรวจหรอกเหรอ"  


เป็นคำแรกที่นึกได้ ณ แวบแรกที่เห็นแผ่นป้ายหินอ่อนสามแผ่น จารึกอุดมคติของตำรวจ ตราโล่เขน และป้ายอนุสรณ์แด่ตำรวจผู้เสียสละบนฐานอนุสาวรีย์ เพราะตั้งแต่เห็นยศร้อยเอกที่ว่า ก็เคยคิดมาตลอดว่าเขาคนนี้เป็นนายทหาร แต่สิ่งที่เคยคิดไว้ ไม่ได้เป็นอย่างที่คิดเสียแล้ว  


หลังนำรถเข้าจอดใต้ต้นสักที่เรียงแถวอยู่ในเขตรั้วอนุสรณ์สถานที่ตั้งของอนุสาวรีย์... ฉันมองซ้ายมองขวาให้แน่ใจว่าไม่มีใครอื่นอยู่ที่นั่นก่อนลงจากรถ กะเวลาที่จะเดินสำรวจบริเวณโดยรอบอนุสาวรีย์ที่แสนจะเรียบง่ายแห่งนี้ แม้จะอยู่ติดถนน แต่ก็ห่างไกลผู้คนพอดู เสียงใบสักแห้งที่ตกเกลื่อนพื้นก็ดังพอจะทำให้สะดุ้งได้อยู่เหมือนกัน


ฉันเดินตรงไปยังอนุสาวรีย์ซึ่งมีลักษณะเป็นรูปเสาโอเบลิสก์ หรือ เสาทรงสี่เหลี่ยมยอดแหลมทาสีแดงเลือดหมูและขาว


ที่นั่นมีคนเอาธงชาติเดนมาร์กมาวางไว้ นอกจากพวงมาลัย กระถางธูป ช้าง และม้าแล้ว สิ่งที่ทำให้ฉันอดขำไม่ได้ คือ ยังอุตส่าห์มีคนเอารูปปั้นไก่ชนตัวโตมาตั้งไว้บริเวณอนุสาวรีย์ ซึ่งฉันก็ยังนึกอะไรไม่ออกว่า ไก่ชนควรจะมาเกี่ยวกับเขาตรงไหน และเมื่อเดินไปดูที่ด้านหลังกระถางธูป ก็พบว่ามีปืนปลอม 2 กระบอก แถมด้วยเค้กกับกาแฟจากร้านสะดวกซื้อที่เปิดยี่สิบสี่ชั่วโมง


ฉันอ่านประวัติของเขาที่ติดอยู่บนอนุสาวรีย์เพิ่มเติม… ไม่ยาวเท่าไหร่ คิดว่าคงใช้เวลาไม่นานสำหรับการหาคำตอบ  


“ชาวเดนมาร์ก ได้รับการชักชวนจากนายพันโทพระยาวาสุเทพให้เข้ามารับราชการในกรมตำรวจภูธร เมื่อ พ.ศ. 2443 ต่อมาได้เลื่อนยศเป็นนายร้อยเอก ตำแหน่งครูฝึกตำรวจภูธรที่เชียงใหม่ ถึงแก่กรรมขณะไปปฏิบัติหน้าที่ปราบปรามพวกกบฏเงี้ยวที่เมืองพะเยา โดยถูกพวกกบฏเงี้ยวแอบซุ่มยิงข้างทางที่บ้านแม่กาท่าข้าม เมืองพะเยา เป็นนายตำรวจไทย เชื้อสายเดนมาร์ก เกิดเมื่อ พ.ศ. 2421 เสียชีวิตเมื่อ 14 ตุลาคม 2445”


ภาพถ่ายที่ติดอยู่เหนือประวัตินั้น เป็นภาพที่ทำให้ฉันประหลาดใจ เพราะผิดคาดจากที่คิดไว้แต่เดิม และยิ่งพิศวงมากขึ้น เมื่อเห็นอายุของเขาที่ซ่อนอยู่ใต้พวงมาลัยที่มีคนนำมาคล้องไว้ที่ใต้รูป...  


ยี่สิบสี่ปี... เขาตายตอนยังหนุ่มขนาดนี้เลยเหรอ...  


ในขณะที่เขาอายุยี่สิบต้น ๆ นี่เอง เขาได้เป็นถึงครูฝึกตำรวจภูธร มีหน้าที่รับผิดชอบที่หนักและเป็นเรื่องใหญ่เอาการ และ ณ วันที่เขาเสียชีวิตนั้น เขาเสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่  เพราะถูกลอบยิงโดยฝ่ายที่ทางการต้องการปราบปราม ณ ขณะนั้น


จุดที่เขาเสียชีวิตก็คือจุดที่อนุสาวรีย์นี้ตั้งอยู่นั่นเอง  


ฉันได้คำตอบแล้วว่าเขาคือใคร แต่คำตอบนั้นไม่ใช่สิ่งที่ฉันพอใจ หากกลับกลายเป็นจุดเริ่มต้นของคำถามมากมายที่ทำให้ฉันเริ่ม ‘อยากรู้อยากเห็น’ เกี่ยวกับเรื่องของเขามากขึ้น


อะไรที่พาเขามาที่นี่ และสิ่งที่เขาทำนั้น มีอะไรมากกว่าที่ฉันได้อ่าน ได้เห็นที่อนุสาวรีย์นี้หรือเปล่า...


ในคืนที่นั้น ฉันนำภาพที่ถ่ายจากอนุสาวรีย์ของร้อยเอกเจนเซน มาลงในสื่อสังคมออนไลน์ ปฏิกิริยาของเพื่อนหลายคน ดูเหมือนจะแปลกใจกับข้อค้นพบในเรื่องนี้ แต่มีบางความเห็นที่ทำให้ฉันต้องเป็นฝ่ายแปลกใจเสียเอง


เพื่อนสมัยเรียนของฉัน ซึ่งปัจจุบันเป็นตำรวจ เขียนข้อความหนึ่งเอาไว้สั้น ๆ


“คิดอยู่แล้วว่าต้องไม่มีใครรู้จัก... รู้ไหม เขาเป็นวีรบุรุษของเรา”


เขาไม่ได้ให้คำตอบหรือเหตุผลเพิ่มเติมสำหรับคำพูดนั้น ซึ่งฉันรู้ว่า เป็นหน้าที่ของฉันที่ต้องไปค้นคว้าต่อ...


สิ่งที่ฉันกับเขาเคยคุยกัน และเขาเป็นฝ่ายถามขึ้น แวบกลับมาในความทรงจำ


“รู้หรือเปล่าว่า คำว่า gendarme ที่ใช้เรียกตำรวจภูธรสมัยก่อน กับคำว่า police ที่ใช้เรียกตำรวจทั่วไปสมัยนี้ไม่เหมือนกัน”


นี่คือคำตอบแรกสำหรับคำถามว่า ทำไม ร.อ. เจนเซน ถึงมียศเป็น “ทหาร” ทั้งที่ในความเป็นจริงนั้นเขาเป็น “ตำรวจ”





(มีต่อนะคะ)



ภาพของอนุสาวรีย์ ร.อ. เจนเซน

แก้ไขเมื่อ 16 ต.ค. 55 15:42:53

แก้ไขเมื่อ 15 ต.ค. 55 14:59:55

 
 

จากคุณ : ปิยะรักษ์
เขียนเมื่อ : 15 ต.ค. 55 14:51:02




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com