Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
ร้อยเอก เอช เอ็ม เจนเซน : ร้อยสิบปีวีรกรรม (ตอนจบ) ติดต่อทีมงาน

ตอนต้น : http://www.pantip.com/cafe/writer/topic/W12792121/W12792121.html


ต้องออกตัวไว้ก่อนนิดนึงนะคะว่า ตอนนี้ค่อนข้างยาว เพราะอยากลงให้จบในคราวเดียว ก็ต้องขออภัยและขอบคุณที่สละเวลาในการอ่านด้วยค่ะ


----------------------------------------------------------------


5. กองโจร  

สถานการณ์ที่ลำปางซึ่ง ร.อ. ฮันส์ มาร์กวอร์ด เจนเซนได้รับคำสั่งให้ไปดูแล เป็นเหตุจลาจลที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมาหลายครั้ง ในหลายจังหวัดทางหัวเมืองฝ่ายเหนือ จากฝีมือของกองโจรซึ่งนำโดยพวกเงี้ยว เหตุการณ์ได้ลุกลามขยายตัวไปในหลายพื้นที่และมีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ มีทั้งการปล้นและการฆ่าคนของทางการสยามมากมาย


คำว่า ‘เงี้ยว’ นี้  พระครูปลัดสุวัฒนจริยคุณ (โยธิน ฐานิสโร) หัวหน้าฝ่ายวิชาการ หอวัฒนธรรมนิทัศน์ วัดศรีโคมคำ ได้อธิบายไว้ว่า เป็นคำที่ชาวล้านนาสมัยก่อนใช้เรียกคนที่มาจากรัฐฉานทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำสาละวินของพม่า แม้จะใช้เรียกในความหมายที่เข้าใจกันโดยทั่วไป แต่ชาวไทใหญ่ก็ไม่ชอบที่ถูกเรียกว่า ‘เงี้ยว’ เนื่องจากเป็นคำที่ให้ความหมายทางลบ เพราะเงี้ยวแปลว่า ‘งู’ ซึ่งเป็นสัตว์อันตราย ควรเรียกว่า ‘คนไต’ ตามที่คนไทใหญ่เรียกตัวเองจะถูกต้องกว่า


อย่างไรก็ดี คำว่า ‘เงี้ยว’ ที่ใช้หมายความถึง กลุ่มโจรที่ก่อการจลาจลในช่วงเวลานั้น มิได้หมายความเฉพาะชาวไทใหญ่แต่เพียงกลุ่มเดียว หากรวมไปถึง ผู้ร่วมก่อการที่มาจากฝั่งพม่าทั้งหมด โดยไม่แบ่งแยกว่าเป็นชนชาติไหน เหตุที่เรียกรวมกันไปหมดนี้ เนื่องจากรายชื่อนักโทษในเหตุการณ์ดังกล่าวที่ถูกจับได้ปรากฏว่ามีทั้ง ชาวไทใหญ่  และพม่า  และ คำว่า ‘เงี้ยว’ ที่ใช้สำหรับกรณีนี้ จึงเป็นคำที่มีความหมายอย่างกลาง ๆ เพื่อให้เข้าใจง่ายในการอธิบายเหตุการณ์เท่านั้น


ส่วนในบทความภาษาอังกฤษของปีเตอร์ ยอร์เกนเซน (Peder Jørgensen) และเฟลมมิง วินเธอร์ นีลเซนที่เรียกเหตุการณ์นี้ว่า ‘The Shan Rebelion’ หรือ ‘การก่อจลาจลโดยคนที่มาจากรัฐฉาน’ นั่นเอง


ความเป็นมาของการก่อเหตุดังกล่าว ฉันยอมรับว่าเป็นเรื่องยาก เนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ทำให้เกิดข้อถกเถียงในเชิงประวัติศาสตร์การเมืองค่อนข้างมาก แต่ก็จะพยายามอธิบายอย่างรวบรัดและเป็นกลาง


ก่อนจะพูดถึงเหตุจลาจลที่เกิดขึ้น ต้องเท้าความถึงสภาวะบ้านเมืองทางมณฑลพายัพ ณ ขณะนั้นก่อนว่า เป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงลักษณะการปกครองเป็นมณฑลเทศาภิบาล ข้าหลวงเทศภิบาลเป็นผู้ดูแลในส่วนของมณฑลเทศาภิบาล และมีการส่งข้าหลวงประจำจังหวัด ซึ่งเทียบได้กับผู้ว่าราชการจังหวัดในปัจจุบันเข้ามาปกครอง โดยเจ้าผู้ครองนครเดิมต้องเข้ามาอยู่ภายใต้การบริหารราชการส่วนกลาง ไม่มีอำนาจในการบริหารจัดการเมืองเช่นแต่ก่อน


แม้มีความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลงระบบการปกครอง เพื่อรักษาหัวเมืองล้านนาเอาไว้ไม่ให้ตกเป็นของประเทศล่าอาณานิคม เนื่องจากสยามได้สูญเสียดินแดนทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำสาละวิน ซึ่งแต่เดิมอยู่ภายใต้การปกครองของเชียงใหม่ให้แก่อังกฤษ  และต้องยอมเสียดินแดนที่ติดกับจังหวัดน่านให้แก่ฝรั่งเศสไปอีก แต่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งด้านรูปแบบการปกครอง  การเก็บภาษีรัชชูปการที่ผู้ใหญ่บ้านต้องเก็บจากชาวบ้านเพื่อส่งเข้าหลวง และการเกณฑ์แรงงานที่ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถเลือกจ่ายภาษีหรือใช้แรงงานแทนกันได้เช่นแต่ก่อน  ประกอบกับข้าราชการสยามบางคนได้ยกเลิกสิ่งที่คนพื้นถิ่นเคยปฏิบัติกันมา ทำให้คนท้องถิ่นไม่พอใจ แต่เจ้านายฝ่ายเหนือก็ยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น


ส่วนผลกระทบของระบบมณฑลเทศาภิบาลต่อกลุ่มเงี้ยวซึ่งอาศัยอยู่ในหัวเมืองฝ่ายเหนือที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด คือ เรื่องการที่รัฐบาลสยามไม่ยอมออกหนังสือเดินทางให้กับชาวเงี้ยวในการเดินทางเข้าออกหัวเมืองทางเหนือและพม่าหลังจากการกำหนดเขตดินแดนใหม่ ทำให้ไม่สามารถไปมาหาสู่กันอย่างที่เคยเป็นมา


นอกจากนี้ พวกเงี้ยวยังประสบกับการเสียภาษีซ้ำซ้อน โดยในบทความของจอร์เกนเซนกล่าวว่า คนจากรัฐฉานซึ่งเป็นคนในบังคับของอังกฤษที่เดินทางมาจากพม่าก็ต้องเสียภาษีให้สยามด้วย โดยถือว่ามีที่พำนักอยู่ในสยาม แต่ กลับขอสิทธิในการอยู่อาศัยในสยามได้ยาก ซึ่งทางฝ่ายเงี้ยวเห็นว่าการกระทำนี้เป็นการลิดรอนสิทธิที่เคยมีมาของตนเอง  


ทั้งยังมีประเด็นการเลือกปฏิบัติของข้าราชการสยามที่ไม่อนุญาตให้ตัดไม้ไปสร้างวัดเงี้ยวหรือพม่า แต่กลับอนุญาตให้คนไทยหรือลาวตัดไม้เพื่อการนี้ได้ ทำให้ชาวเงี้ยว พม่า และต่องสู้ที่อาศัยอยู่ในหัวเมืองทางเหนือเกิดความไม่พอใจ และเคยมีจดหมายจากเฮดแมน หรือหัวหน้าหมู่บ้านชาวเงี้ยวไปร้องทุกข์กับกงสุลอังกฤษในเรื่องนี้ด้วย


อีกด้านหนึ่ง จากมองจากมุมของสยาม เห็นได้ว่า ทางสยามเองต้องการที่จะรักษาดินแดนเอาไว้ไม่ให้ตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษและประเทศล่าอาณานิคมอื่น ๆ โดยเฉพาะดินแดนทางเหนือนั้น เป็นจุดที่มีความเปราะบางค่อนข้างสูง ล้านนากับพม่ามีความสัมพันธ์กันมายาวนาน และในขณะนั้นพม่าได้ตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษไปแล้ว จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดูแลมณฑลพายัพอย่างใกล้ชิดและดึงเข้ามาให้อยู่ในสายตาของสยามให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้


ไม่เพียงเท่านั้น จากกรณีที่อังกฤษเคยเข้ามาขอสัมปทานทำบริษัททำป่าไม้จากเจ้านายฝ่ายเหนือ และเมื่อเกิดกรณีพิพาทขึ้นระหว่างคนท้องถิ่นกับคนในบังคับของอังกฤษ  ทางอังกฤษก็จะอ้างสิทธิในการเข้ามาปกป้องผลประโยชน์ของตนเองเข้ามาแทรกแซงกิจการ ทำให้ทางการสยามต้องเข้ามาแก้ข้อพิพาทหลายครั้ง และในส่วนไม่ออกใบอนุญาตข้ามแดน รวมไปถึงการอนุญาตให้คนต่างถิ่นครอบครองที่ทำกินในสยามได้ยากขึ้น ก็เป็นที่เข้าใจได้ ว่าการปล่อยให้คนในบังคับของอังกฤษ ไปมาได้อย่างสะดวกหรือตั้งบ้านเรือนโดยเสรีเช่นแต่ก่อนเป็นเรื่องที่สุ่มเสี่ยงต่อความมั่นคงของสยาม  


ไม่ว่าต่างฝ่ายจะมีเหตุผลอย่างใด แต่การเปลี่ยนแปลงวิธีการปกครองหัวเมืองฝ่ายเหนือในคราวนั้นก็ถูกใช้เป็นข้ออ้างในการก่อจลาจลครั้งใหญ่ในมณฑลพายัพใน พ.ศ. 2445 หรือ ค.ศ. 1902 โดยมีจุดเริ่มต้นจากการที่ทางการสยามได้ข่าวว่า มีกลุ่มโจรดักปล้นพ่อค้าชาวจีน และปล้นเงินภาษีรัชชูปการไปหลายครั้ง แต่ยังไม่สามารถจับผู้กระทำผิดมาลงโทษได้


ทางนครลำปาง เมื่อทราบถึงการดักปล้นสินค้าของพ่อค้าชาวจีนและเงินหลวงก็ได้มีการจัดต้องกองสอดแนมออกสืบข่าวเกี่ยวกับกลุ่มโจรด้วยกัน 3 กอง คือ กองที่  1  ของเจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิต  เจ้าผู้ครองนครลำปางองค์ที่  9 และพระยาอุตรการโกศล  (เจ้าน้อยบุญสม  ณ  เชียงใหม่) ไปสืบที่แม่จาง และเมืองลอง กองที่  2  นำโดยเจ้าราชภาติกวงศ์ (คำตั๋น   ณ  เชียงใหม่)  ไปสืบที่แม่เมาะ  ปางป๋วย และกองที่  3  ของพระมนตรีพจนกิจ  (พร  จารุจินดา)  ข้าหลวงลำปาง  เจ้าราชสัมพันธ์วงศ์ หลวงไอศูรย์  และขุนภูธรธรานุรักษ์  ไปสืบที่เมืองต้า  


ในที่สุด ก็สืบทราบว่าพวกที่ดักปล้นนั้นเป็นพวกเงี้ยว เมื่อปล้นเสร็จก็จะหนีไปอยู่ที่บ้านบ่อแก้ว แขวงเมืองลอง นครลำปาง ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นชาวไทใหญ่ ชาวไทลื้อ ชาวไทเขิน ชาวพม่า ชาวขมุ ชาวต่องสู้ และมีคนล้านนาบางส่วน มีผู้นำที่สำคัญ 3 คน คือ สล่าโปไชย (บางทีก็เรียกสล่าโป่จาย) พะก่าหม่อง และจองแข่ เหตุที่พวกโจรหนีรอดไปได้ทุกครั้ง เป็นเพราะชาวบ้านบางส่วนไม่กล้าบอกทางการ เพราะกลัวอันตราย แต่ชาวบ้านบางส่วนก็ให้การสนับสนุนและให้การช่วยเหลือแก่กลุ่มโจรด้วย


การปล้นอย่างอุกอาจของพวกเงี้ยวนี้  มีผู้สนใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของไทย รวมถึงนักข่าวของเดนมาร์กที่ศึกษาเรื่องนี้ ตั้งข้อสังเกตว่า อาจได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายอังกฤษด้วย


ปีเตอร์ ยอร์เกนเซน และแกรห์ม มอนาแกนมีข้อสันนิษฐานว่า เนื่องจากพวกเงี้ยวที่ก่อการในครั้งนี้ล้วนเป็นคนในบังคับของอังกฤษ ทางอังกฤษจึงอาจให้การสนับสนุนอย่างลับ ๆ ในรูปแบบที่เรียกว่า “covert operation”  เป็นปฏิบัติการที่มีการวางแผนและสั่งการโดยผู้ที่อยู่เบื้องหลัง ซึ่งไม่เปิดเผยตัว ทำให้คนเบื้องหลังปฏิเสธว่า ตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าวได้ เพื่อเปิดช่องทางให้อังกฤษเข้ามาแทรกแซงสยาม โดยอ้างเหตุว่าต้องการเข้ามาควบคุมคนในบังคับ เพราะทางการสยามไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ อย่างไรก็ตาม ยังไม่พบพยานหลักฐานที่ชัดเจนในเรื่องนี้


เมื่อสืบทราบที่ตั้งของผู้ต้องสงสัยแล้ว พระมนตรีพจนกิจ ข้าหลวงเมืองลำปาง จึงนำกองกำลังทหารและตำรวจภูธรจำนวนหนึ่งบุกไปบ้านบ่อแก้ว แต่กลับถูกพวกเงี้ยว นำโดยสล่าโปไชยซุ่มโจมตี จนทางการต้องล่าถอยกลับไป ส่วนฝ่ายเงี้ยวก็ได้ยึดสัตว์พาหนะ ได้แก่ ช้าง ม้า เสบียงอาหาร อาวุธปืน และกระสุนปืนของเจ้าหน้าที่ไปได้  


จากชัยชนะและอาวุธที่ยึดมาได้ ประกอบกับได้รับรายงานว่าทางการจะนำกำลังเข้าปราบปรามอีกครั้ง ทำให้พวกเงี้ยวซึ่งนำโดยสล่าโปไชย และพะก่าหม่อง ได้พาคนประมาณสี่ร้อยคนเข้าปล้นเมืองแพร่ โจมตีสถานีตำรวจภูธรจังหวัดแพร่ทำให้ตำรวจที่ประจำการอยู่เสียชีวิตเกือบทั้งหมด และยังได้เข้าทำลายสถานที่ราชการ ฆ่าข้าราชการชาวสยามที่อยู่ในเมืองแพร่ไป 32 คน หนึ่งในนั้นมีข้าหลวงเมืองแพร่รวมอยู่ด้วย นอกจากนี้ ยังปล้นเงินในคลังหลวงซึ่งมีอยู่ประมาณสี่หมื่นรูปีไปทั้งหมด ทั้งยังตั้งค่าหัวของชาวสยามเอาไว้ หัวละสามร้อยรูปีด้วย


หลังจากยึดเมืองแพร่สำเร็จแล้ว กลุ่มเงี้ยวก็นำกำลังประมาณ 300 คน มุ่งหน้าไปยังเมืองลำปางเป็นเป้าหมายต่อไป


ข่าวโจรเงี้ยวจะเดินทางไปบุกปล้นนครลำปาง ทำให้พระยานริศรราชกิจ ข้าหลวงใหญ่นครเชียงใหม่ ได้มีคำสั่งให้ ร.อ. ฮันส์ มาร์กวอร์ด เจนเซน ครูฝึกตำรวจภูธร นำกำลังตำรวจจากเชียงใหม่จำนวน 50  นายเดินทางไปช่วยป้องกันนครลำปาง  โดยในวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2445 ร.อ. เจนเซนนำกำลังตำรวจเดินทางจากเชียงใหม่โดยใช้ม้าเป็นพาหนะ ใช้เวลาสี่วันจึงถึงลำปาง ในวันที่ 29 กรกฎาคม แม้จะนำกำลังจากเชียงใหม่มาสมทบ แต่เมื่อนับตำรวจภูธรลำปางรวมกับตำรวจภูธรเชียงใหม่แล้ว ก็ยังมีจำนวนน้อยกว่าพวกเงี้ยวอยู่ดี


จำนวนคนที่น้อยกว่าและเวลาที่บีบคั้นเข้ามาทุกขณะมิได้เป็นอุปสรรคในการรับมือกับสถานการณ์ร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้น ด้วยเขาได้รับการสนับสนุนจากเจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิต เจ้าผู้ครองนครลำปาง และได้ไม้จากบริษัทบอร์เนียวฯ ของหลุยส์ ที เลียวโนเวนส์ และ มร. ทอมป์สัน ซึ่งทำปางไม้อยู่ในลำปาง ในการสร้างเครื่องกีดขวางและด่านต่าง ๆ เพื่อป้องกันเมือง



ฮันส์ มาร์กวอร์ด เจนเซน มีเวลาเตรียมตัวตั้งรับสถานการณ์ไม่ถึงเจ็ดวัน ก่อนที่พวกเงี้ยวจะเดินทางมาถึงลำปาง


นี่คือภารกิจสำคัญในความรับผิดชอบของนายตำรวจหนุ่มชาวเดนมาร์กวัยยี่สิบสี่ปี... หากพลาดพลั้งพ่ายแพ้ อาจหมายถึงความสูญเสียครั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นกับนครลำปาง ยิ่งไปกว่านั้น อาจเป็นความเสียหายของสยามด้วยก็เป็นได้



(มีต่อค่ะ)


Captain Hans Marqvard Jensen (April 3,1878 - October 14, 1902)

แก้ไขเมื่อ 28 ต.ค. 55 01:24:35

แก้ไขเมื่อ 28 ต.ค. 55 00:33:41

 
 

จากคุณ : ปิยะรักษ์
เขียนเมื่อ : 28 ต.ค. 55 00:19:41




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com