คนไทยเรานี้ว่ากันว่าเป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอนกันมาแต่โบราณเลยเจียว
แม้แต่การตั้ง ชื่อบ้าน-นามเมือง ก็มักจะมีคำคล้องจองกันอยู่ อาทิ
กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทราอยุธยา
มหาดิลกภพนพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน
อมรพิมานอวตาลสถิต สักกทัตติยวิศณุกรรมประสิทธิ์ .. เป็นต้น
นอกจากนี้สถานที่สำคัญๆ ต่างๆ ก็ได้มีการตั้งชื่อให้เป็นคำคล้องจองกันเช่นกัน
ดังเช่น รายชื่อประตูพระบรมมหาราชวังชั้นนอกจำนวน ๑๓ ประตู มีชื่อเรียงรายกันได้แก่ ...
ประตูรัตนพิศาล, ประตูพิมานเทเวศร์, ประตูวิเศษไชยศรี, ประตูมณีนพรัตน์, ประตูสวัสดิโสภา
ประตูเทวาพิทักษ์, ประตูศักดิ์ไชยสิทธิ์, ประตูวิจิตรบรรจง, ประตูอนงคารักษ์, ประตูพิทักษ์บวร
ประตูสุนทรทิศา, ประตูเทวาภิรมย์ และประตูอุดมสุดารักษ์ และยังมีประตูพระบรมมหาราชวังชั้นใน
เป็นจำนวน ๒๕ ประตู และพระตำหนักต่างๆ ภายในบริเวณพระบรมมหาราชวังอีก ๑๔ พระตำหนัก
ได้แก่ พระตำหนักวาสุกรีก่องเก็จ, พระตำหนักเพชรระยับ, พระตำหนักทับทิมสด, พระตำหนักมรกตสุทธิ์
พระตำหนักบุศราคำ, พระตำหนักกำโกมิน, พระตำหนักนิลแสงสุก, พระตำหนักมุกดาพราย,
พระตำหนักเพทายใส, พระตำหนักไพฑูรย์กลอก, พระตำหนักดอกตะแบกลออ, พระตำหนักโอปอล์จรูญ
พระตำหนักมูลการเวก และพระตำหนักเอกฟองมุกต์ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีชื่อเป็นคำคล้องจองกันทั้งสิ้น
สมัยเด็กๆ ได้เคยสังเกตเห็นชื่อ สะพานผ่านพิภพลีลา และ สะพานผ่านฟ้าลีลาศ ว่ามีชื่อคล้องจองกันดี
สะพานทั้งสองสะพานนี้ จะอยู่บนถนนราชดำเนิน สะพานพิภพลีลานั้น เป็นสะพานข้ามคลองหลอดอยู่ใกล้ๆ
ทุ่งพระสุเมรุ (สนามหลวง) บริเวณใกล้ๆ กับอนุสาวรีย์พระแม่ธรณีบีบมวยผม ส่วนสะพานผ่านฟ้าลีลาศนั้น
เป็นสะพานข้ามคลองรอบกรุงอยู่ระหว่างถนนราชดำเนินกลางกับถนนราชดำเนินนอก บริเวณใกล้ป้อมมหากาฬ
หลังจากอารัมภบทมาพอสมควรแล้วก็ขอนำท่านทั้งหลายไปเที่ยวชมสะพานที่มีชื่อคล้องจองกันอีก ๕ สะพาน
ซึ่งเป็นสะพานที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งตั้งชื่อไว้ตามนามที่ทรงพระราชทานแด่ข้าราชการในยุคนั้น
ได้แก่ สะพานเทเวศรนฤมิตร, สะพานวิศสุกรรมนฤมาณ, สะพานมัฆวานรังสรรค์, สะพานเทวกรรมรังรักษ์
และสะพานจตุรพักตร์รังสฤษดิ์ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นสะพานข้ามคลองผดุงกรุงเกษม (คลองคูเมืองเดิมสมัย ร. ๔)
เรียงรายกันไปตั้งแต่บริเวณสี่แยกเทเวศร์ ไปจนถึงสี่แยกสะพานขาว โดยมีเรื่องราวที่น่าสนใจดังนี้
คลองผดุงกรุงเกษม เป็นคลองคูเมืองรอบนอกพระนครที่ขุดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ ๔ เพื่อที่จะขยายอาณาเขตพระนครออกไปและเพื่อให้ประชาชนได้สัญจรทำมาค้าขายกันได้สุขเกษม
โดยเริ่มจากปากคลองริมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณวัดเทวราชกุญชร (วัดสมอแครง) ย่านเทเวศร์ มีแนวขนานไป
กับคลองคูเมืองเดิม ผ่านย่านหัวลำโพง ไปออกแม่น้ำเจ้าพระยาอีกด้านหนึ่งที่บริเวณวัดแก้วแจ่มฟ้า สี่พระยา
สะพานเทเวศรนฤมิตร จะอยู่บนถนนสามเสน บริเวณใกล้สี่แยกเทเวศร์ ซึ่งรอบๆบริเวณนั้นจะมีทั้งตลาดสด
ตลาดผลไม้ข้างทางเท้า และตลาดไม้ประดับ รวมถึงเป็นย่านการค้าเก่าซึ่งมีร้านอาหารอร่อยๆ อยู่หลายร้าน
สะพานวิศสุกรรมนฤมาณ ตั้งอยู่ระหว่างถนนประชาธิปไตยกับถนนราชสีมา ตรงสี่แยก เมล์แดง
สถานที่สำคัญๆ บริเวณใกล้เคียงก็คือคุรุสภา และวัดมกุฎกษัตริยาราม มีร้านขายดอกไม้อยู่หลายร้าน
สะพานมัฆวานรังสรรค์ นับว่าเป็นสะพานที่งดงามที่สุด ตั้งอยู่บนถนนราชดำเนินนอก บริเวณสี่แยกมัฆวาน
มีสถานที่ใกล้เคียงได้แก่ที่ทำการสหประชาชาติประจำประเทศไทย กระทรวงศึกษาธิการ และทำเนียบรัฐบาล
สะพานเทวกรรมรังรักษ์ ตั้งอยู่บนถนนนครสวรรค์ บริเวณสี่แยกเทวกรรม ย่านนางเลิ้งซึ่งเป็นชุมชนเก่าแก่
และมีตึกแถวที่อนุรักษ์ไว้แบบเดิมๆ อยู่ใกล้วัดโสมนัสวิหาร และทำเนียบรัฐบาลเช่นกัน
สะพานจตุรพักตร์รังสฤษดิ์ มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สะพานขาวตั้งอยู่บนถนนหลานหลวง สี่แยกสะพานขาว
สถานที่ใกล้เคียงคือตลาดมหานาค กรมประชาสงเคราะห์ สำนักงานสถิติแห่งชาติ สภาพัฒน์ฯ และกรมวิเทศสหการ
ถัดจากสี่แยกสะพานขาวตามเส้นทางคลองผดุงกรุงเกษมหรือถนนกรุงเกษมยังมีสะพานข้ามคลองอีกหลายสะพาน
กว่าจะถึงสี่พระยา แต่ขอละไว้ เนื่องจากมิได้มีชื่อสะพานที่มีคำคล้องจองกันกับสะพานทั้งห้าที่ได้กล่าวมาแล้ว ๛
*** ขอเชิญชมภาพประกอบเรื่องราวสะพานเก่าเก๋ไก๋แห่งคลองผดุงกรุงเกษมได้ที่ ...
http://www.geocities.com/lekpage/saparn01.html
ทั้งนี้เนื่องจากมีภาพประกอบมากมายราว ๕๔ ภาพ แต่เวลาของเจ้าของกระทู้มิได้มีมากตาม (ในช่วงนี้)
*** สำหรับมิตรสหายหน้าใหม่ที่ยังไม่รู้จักกันขอเชิญชมเรื่องราวทำนองนี้ได้ที่ โฮมเพจส่วนตัว
http://www.geocities.com/lekpage หัวข้อปกิณกะไทย / ทัศนศึกษา
ซึ่งมีหัวข้อที่ออนไลน์อยู่ได้แก่ อุทยาน ร.๒, สวนสันติชัยปราการ, ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์
พระราชวังบางปะอิน, ศาลาวัด และสะพานเก่ากรุงเกษม (เรื่องนี้) ... ไม่มีผลประโยชน์ทางการค้าใดๆครับ
ปล.ท่านผู้แวะเข้ามาอ่านความเรียงเรื่องนี้ กรุณาติติงหรือให้ข้อเสนอแนะในการเขียนเรียงความให้ดีขึ้น
เพื่อประโยชน์ และเพื่อความสุขของส่วนรวมด้วยนะขอรับ ....... ขอขอบพระคุณล่วงหน้า .. สวัสดี :o)
แก้ไขเมื่อ 17 ก.ย. 45 09:58:34
จากคุณ :
lek Isara
- [
17 ก.ย. 45 09:55:18
]