ก น ก น ค ร ................................ น.ม.ส.

    พระนิพนธ์ ใน พระราชวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์
    พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส  (น.ม.ส.)
    ( อ. =  คำอธิบาย, คำชี้แจงของผู้แต่ง)

                                 ภาค ๑  

                                บนฟ้า

                     
    มาจะกล่าวบทไป                   ถึงพญากมลมิตรฤทธิ์กล้า
    กระเื่ดื่องเลื่องชื่อฦาชา            เลอศักดิ์รัษาสัตย์ทรง
    ยิ่งใหญ่ในสกลคนธรรพ์           ผองพรรณ์พึงพิศพิศวง
    อาภรณ์อาภาอ่าองค์               เพราพริ้งยิ่งยงทรงลักษณ์

    เธอพร่ำทำพรตกฎกล้า            บูชาพระศุลีมีศักดิ์
    แรงเรี่ยวเชี่ยวฌานนานนัก        เพ่งพักตร์ภักดีศีวะ
    แจ่มใจในพรตปลดบาป           กำหราบโทโสโสโมหะ
    ร้อยฉนำสำรวมโยคะ              แรงตบะบ่มรักภักดี ฯ

            เมื่อนั้น                       พระวิศเวศวรเรืองศรี          (อ. ๑)
    เอี่ยมอาสน์ไกลาสคีรี              เอมอิทธิ์ทฤษฎีตรีภพ
    แลเพ่งเล็งพิศทิศทศ               ปรากฎทุกแหล่งแจ้งลบ
    ส่วยเนตรทัศนาปรารภ             แลพบกมลมิตรจิตน้อม
    บ่มตบะบำเพ็ญเห็นชัด              บรรทัดธรรมบถอดผอม
    โดยแบบดาบสพรตพร้อม         หว่านล้อมน้ำใจในบุญ
    มเหศวรหวนทรงสงสาร            ชมฌานเชิดเนื่องเครื่องหนุน
    หมายเอื้ออุปถัมภ์ค้ำคุณ           ค้ำจุนจินตนาอารี
    จึ่งเสด็จจากหล้าผาขาว             ดังดาวดูเด่นเพ็ญศรี
    เอี่ยมองค์ทรงรูปโยคี                ศศีเสียบเผ้าเพราพรายฯ    (อ.๒)


                  พระอิศวรตรัสแก่พระยาคนธรรพ์ว่า

    *  อ้าพญากมลมิตรจิตแผ้ว         คือแก้วก่องเกิดเฉิดฉาย
    ไพบุลย์คุณธรรมกำจาย              ชนหลายรู้เฟื่องเลื่องฟ้า
    กอบกรรมทำกิจพิธี                    ภักดีต่อเราเจ้าหล้า
    จักให้พรเจ้าเรามา                      ปรารถนาฉันไหนใคร่อวย
    อยากได้อย่างใดให้ขอ               อย่าท้อใจสะเทินเขินขวย
    ศักดิ์สิทธิ์ฤทธิ์ล้ำร่ำรวย               อำนวยไม่ห้ามตามใจ ฯ

                    พญาคนธรรพทูลตอบว่า

    *     อ้าพระำธำรงคงคง                พระคุณกรุณาหาไหน   (อ. ๓)
    ข้าบำเพ็ญบุญคุณมัย                  โดยใจจงรักภักดี
    ใช่เลศเหตุใคร่ได้ลาภ                  เอิบอาบอิทธิ์กล้ากว่ากี้
    ขอคุณกรุณาปรานี                      ข้าทาสบาทธุลีสืบไป
    ให้นั่งตั้งจิตคิดรัก                        อยู่หน้าสามิภักดิ์ใกล้ๆ
    เท่านี้มีสุขปลุกใจ                        แสนหมื่นอื่นไม่หมายดล ฯ

                           พระอิศวรตรัสว่า

    *    อ้าพญาคนธรรพ์บรรเจิด         เชาว์เ้ชิดชูเฉลิมเพิ่มผล
    เหมาะหมดพจมานบานมน             จักถกลเกียรติ์ไกรใหญ่นัก   (อ.๔)
    เรามีวาจาว่าไว้                           ว่าให้พรเธอเลอศักดิ์
    จักขอเร่งขอข้อรัก                      ขอจักรจวบนัยใจปอง ฯ

                          พญาคนธรรพ์ทูลว่า

    *    ข้าแต่พระศศิเศขร                อาทรอุปถัมภ์ล้ำผอง        (อ.๕)
    พระหทัยใฝ่ม่งทรงปอง                โดยคลองการุณบุญมัย     (อ.๖)
    ประโยชน์โปรดใหญ่ให้ข้า             ผู้ฝ่าบทศรีอดิศัย
    ขอนางพางจันทร์ขวัญใจ               งามใสเนตรสองส่องฟ้า
    เหมือนสีพระศอทรงศักดิ์               เหมือนจันทร์อันปักเกศา    (อ.๗)
    ได้แนบนงคราญกานดา                 ภริยาเยาว์ยวนควรครอง
    ยามพิศเนตรนางพางเห็น               ศัมภูผู้เป็นเจ้าของ             (อ. ๘)
    จักรื่นอารมณ์สมปอง                    เพิ่มภักดิ์รักละอองบทมาลย์ ฯ

    *     เมื่อนั้น........................พระศุลียินคำร่ำขาน
    เห็นเรื่องเบื้องน่าช้านาน          ทราบการณ์แน่หนักจักมี
    ตรัสว่าอ้าเจ้าเมามันท์             ซึ่งสรรภริยาอ่าศรี
    แสงเนตรสีนิลรูจี                   รังสีเล่ห์แสงศศิธร       (อ.๙)
    ส่อเข็ญเป็นภัยใหญ่หลาย        ย่อมร้ายยิ่งฤทธิ์พิษศร
    เร่งระวังตั้งตัวกลัวร้อน            สังหรณ์เห็นเหตุเภทภัย
    จงสมจิตหวังดังมาด               ไ่ป่คลาดบรรหารขานไข
    ตรัสเสร็จเสด็จกลับฉับไว         วับไปจากหน้าคนธรรพ์ ฯ

      * เมื่อนั้น                           กมลมิตรปรีเปรมเหมหรรษ์
    บังคมก้มราบกราบพลัน             คืนจากพนารัญทันที
    อันความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า     หน้าตาซีดซัวมัวศรี
    เหตุเพราะทรมานนานปี             ในที่มัวหม่นมลทิน
    เดชะพระอิศวรทรงยศ               เคลื่อนกายหายปลดหมดสิ้น
    เรืองรองผ่องพักตร์เพียงอินทร์    อื่นสิ้นไป่เปรียบเทียบทันฯ

     *  คืนสู่นิเวศน์วิจิตร       โศภิตพรายแสงแสร้งสรร
    คิดโฉมชายาลาวัลย์          ศรีจันทร์คือศรีนัยนา
    เคร่าใคร่ได้เคลียเมียมิ่ง     นั่งนิ่งเหิมหรรษ์ฝันหา     (อ.๑๐)
    ป่วนใจใฝ่่ขวัญกันดา         นึำกหน้านวลใยใคร่ยลฯ

       *   หยุดนั่งยั้งนอนห่อนได้     วนไปเวียนมาสับสน
    ออกห่างปรางคำอำพน              เดินด้นสู่สวนมาลีฯ

        *   เห็นนางนวลศรีมีโฉม        ดังโสมส่องหล้าราศรี
    เนาเรือเหนือสรัสปัทมี                ตรณี่จันทร์นวลชวนชม    (อ. ๑๑) , (อ.๑๒)
    พายเงินงามเงาเพราพราย           นวลฉายยึดด้ามงามสม
    เรือน้อยลอยน้ำขำคม                บัวฉมชูล้อมห้อมเรือ
    งามน้ำงามนางกลางชล              งามกุมุทอุตบลล้ำเหลือ
    สะโรชนงรามงามเจือ                งามเรือลอยน้ำอำไพ
    พิศรูปเพลินลักษณ์ศักดิ์ศรี          งามฉวีคือชวาน่าใคร่     (อ.๑๓)
    นวลนงค์องค์ลอองยองใย          รูปลไมแลลม่อมพร้อมเพรา
    คิดเจ้าคือจันทร์ครรพิต              งอนจริตงามแจร่มแช่ลมเฉลา     (อ. ๑๔)
    เสมอเสมือนเดือนเด่นเพ็ญเพรา   น่าพเ่น้าพนอน้อมออมองค์ฯ

     *     เล็งโฉมโลมนางห่างนุช     ไกลสุดกลางสระระหง
    ใคร่เคล้าคลึงขวัญบรรจง             เอื้อมห่อนถึงองค์นงลักษณ์   (อ.๑๕)
    นางเหลืองนัยนามาแล                คือแขส่องสรวงดวงจักษุ์
    สบเนตรนางยิ้มพริ้มพักตร์            ยั่วรักยิ่งเร่งใจร้อน
    เพศเนตรนวลนางกลางสินธุ์          คือนิลสีศอมหิศร    (อ.๑๖)
    แสงศอแสงโฉมศศิธร                  ในเนตรบังอรรวมพร้อมฯ

     *        โฉมเฉลา                รูปเย้าใจยวนหวนหอม
    ได้น้องแนบกายหมายออกม    จักถนอมใจสนิทชิดเชื้อ
    เนตรนางอย่างนั้นมั่นใจ           พระศุลีอวยให้แก่เผือ
    เชิญเจ้าจากสระละเรือ             นิ่มเนื้อแน่งน้อยกลอยใจ
    วันนี้พี่เฝ้าพระศิวะ                  ได้ชมเดชะอดิศัย
    ศอนิลปิ่นจันทร์พรรณ์ไร          จำได้ในเนตรนางน้อง   (อ.๑๗)
    เจ้าจงมีใจใสสุข                     ปราศทุกข์ปลดทิ้งสิ่งหมอง
    ผิวน้ำผ่อง่ล้ำลำยอง                หวังครอบเวียนเคล้าเมารัก
    อุ่นแนบแอบเนื้อเหนือหมอน     ปัจถรณ์แท่นคำจำหลัก
    บรรเทิงเริงรมย์ชมพักตร์          พิศรักพี่ร้อนห่อนคลาย
    อีกข้อขอถามนามนาง             สำอางเอี่ยมองค์ทรงฉาย
    อย่าอิดจิตเอื้อนเบือนอาย        เคืองคายขุ่นข้องหมองใจฯ

    * เมื่อนั้น                        นางอนุศยินีศรีใส     (อ.๑๘)
    สู่ฝั่งบังคมทูลไป               ข้าไซร้เป็นข้าบทมาลย์
    นามอนุศยินีมีจิต               มานิตภูวนัยใสศานติ์
    เคารพนบน้อมจอมปราณ    ภูบาลกรุณาปรานีฯ

    * เมื่อนั้น                         กมลมิตรเรืองรงค์ทรงศรี
    เปรมใจได้แน่งนารี             ดังศุลีอวยอัตถ์ตรัสไว้
    แย้มหยิ่มอิ่มในใจสุด           เชยนุชชวนน้องผ่องใส
    สู่มนเฑียรทองยองใย          หฤทัยบรรเทิงเริมรมย์ฯ

    *ุ้อุ้มนางวางแนบแอบน้อง       กรคล้อมกายคลึงสึงสม
    ก่ายกุมจุมพิตชิดชม              เกลียวกลมคลอเคล้าเมากาม
    เกี่ยวกวัดรัดรึงคลึงเคล้น        เหิมเห็นซึ่งสวรรค์ชั้นสาม
    ฉมชื่นรื่นรสนงราม                ในยามสิงสมรมณีย์ ฯ

    * สองผาสุกทุกเมื่อ     แนบเนื้อนวลน้องผ่องศรี
    เนาเินินไกลาศคีรี        ปวงภัยไป่มีมาพ้อง ฯ

    *  ฝ่ายพญากมลมิตรจิตชื่น       เริงรื่นอารมณ์สมสอง
    เย็นเช้าเฝ้าสงวนนวลน้อง           ปกป้องรักษาอาทร
    เผอเรอเย่อหยิึ่งยิ่งยวด              โอ่อวดออกชื่อลือฉ่อน
    นงแสนแน่นสรวงปวงอร             นางอมรนางมนุษย์สุดแม้น
    เมียเราเพราพรายฉายเฉิด          ล้ำเลิศองค์อื่นหมื่นแสน
    สาวสวรรค์ชั้นสิ้นดินแดน           ไป่แม้นเมียข้าลาวัลย์
    เนตรนางอย่างศอมหิศร              ฤารชนีกรเฉิดฉัน
    เนตรไหนไป่เปรียบเทียบทัน        เนตรนางพางจันทร์รูจี
    ่นางในไตรภพจบชั้น                  มาแข่งขันน้องต้องหนี
    เมียท่านเมียใครไหนดี               หาเช่นโฉมศรีสุดค้น ฯ

    *  เที่ยวอวดเที่ยวโอ้โอหัง          ใครฟังหมั่นไส้ทุกหน    (อ.๑๙)
    กำเริบเอิบในใจตน                    ใครยลย่อมสิ้นยินดี ฯ

    * วันหนึ่งสากลย์คนธรรพ์               พร้อมกันสังคีตดีดสี
    เป็นที่เหิมเหมเปรมปรี                  ต่างมีสุขล้ำสำราญ
    บางองค์ทรงรำทำเพลง                บังคลบรรเลงศัพท์สาร
    บรรเทิงเริงรื่นชื่นบาน                   ในวารอิ่มเอมเปรมใจ  ฯ

    *  ฝ่ายพญากมลมิตรจิตโอ่          มาถึงซึ่งสโมสรใหญ่
    รีบเฉลยเอ่ยนามทรามวัย             อวยนัยะนานารี
    เกิดกล่าวเป็นปากเป็นเสียง          โต้เถียงดันดึงอึงมี่
    อันนางอนุศยินี                         งามดียิ่งใครในภพ
    ใครกล้ามาแกล้งแข่งบ้าง             คือนางองค์ไหนใคร่สบ
    เนตรนางพางจันทร์พัลลภ           ไตรภพห่อนเปรียบเทียบน้อง
    ใครพิศพิศวงนงนุช                    ศรีสุทธิ์แสงใสไร้สอง
    แจ่มเจิดเลิศล้ำลำยอง                เนตรน้องคมขำอำไำพ ฯ

    *  เมื่่อนั้น                      เพื่อนพญาคนธรรพ์หมั่นไส้
    ยิ้มเยาะเคาะคัดขัดไป        โรคในโลกนี้มียา
    พอแก้พอไขได้บ้าง          แยบอย่างเยื้องยักรักษา
    งูกัดรัดรึงตรึงตรา             กลัดกล้าเพราะฤทธิ์พิษเร้า
    ยังหาโอสถปลดได้           มีมากรากไม้ใบเถา
    แรงฤทธิ์ปลิดพลันบรรเทา  งูเห่าพิษร้อนผ่อนร้าย
    แต่ชายอันพิษความสวย    กัดนั้นจักป่วยห่อนหาย
    โรครักโรคหลงทรงกาย     จักคลายความร้อนห่อนมี
    ท่านจงแจ้งใจไว้บ้าง          อันนางภริยาอ่าศรี
    นัยนาทาครามงามดี           รังสีคือจันทร์ขวัญตา
    ตางามตามจิตคิดเถิด         งามเลิศแลเพ็ญเช่นว่า
    แต่องค์นงคราญกานดา      ใช่ตาทั้งองค์นงลักษณ์
    ภาคอื่นดื่นอยู่ดูบ้าง             แก้มคางโฉมยงทรงศักดิ์
    นาสิกเกศาน่ารัก                 พร้อมพรักแน่แล้วฤาไร
    เราอ้างนางหนึ่งพึงชม          เพราะผมเพ็ญทองผ่องใส
    อีกนางร่างจมูกถูกใจ           ไฉไลแลรับกับพักตร์
    บางนางงามเหลือเมื่อนิ่ง        บางหญิงหัวเราะเพราะหนัก
    อีกองค์ทรงศรีดีนัก              นางหนึ่งพึงรักรูปทรง
    บางนางสอางเอวอ้อนแอ้น     อีกองค์ควบแขนแสนส่ง
    หนึ่งความงามจริตติดองค์      ใครเห็นเป็นมงคลตา
    จักว่างามเนตรงามยิ่ง            กว่าหญิงซึ่งงามนาสา
    ฤานางเสียงหวานกานดา       งามกว่านางอื่นหมื่นพัน
    นงรามงามเกล้าเผ้าดก         จักยกว่ายิ่งสิ่งสรรพ์
    ฤาความงามแก้มงามกรรณ    งามกว่าอื่นนั้นฉันใด
    ต่างนางต่างงามยามยวน       ต่างนางต่างนวลแจ่มใจ
    จักว่าใครงามกว่าใคร            ข้าไม่เห็นด้วยทั้งนั้น ฯ

    * เมื่อนั้น                          กมลมิตรคิดขุ่นหุนหัน
    เนตรขวางพลางตอบคำพลัน   พูดเล่นเช่นนั้นป่วยการ
    ความงามสามภพจบสิ้น          ทุกถิ่นทิพาศัยไพศาล
    ประมวลถ้วนไซร้ไป่ปาน        เนตรเจ้าเยามาลย์เมียตู
    นางไหนใครกล้ามาขัน           จักอั้นหัวหดอดสู
    โฉมศรีโสภาน่าดู                  ใครรู้จักความงามจริง
    ย่อมว่าหาใครใม่เปรียบ          เทียบเนตรนงรามงามยิ่ง
    เพราะเขลาเจ้าหาญค้านติง      ไป่กริ่งกล่าวคำสำนวน ฯ

    * เมื่อนั้น                             เพื่อนพญาคนธรรพ์พลันสรวล
    ความงามหลามหลากมากล้วน   ตั้งขบวนเป็นแห่แลลาน
    งามนวลงามเนตรงามหน้า         ล้วนเป็นวาจาของท่าน
    อาจมีคำขัดทัดทาน                หาพยานยืนปากยากล้น
    ความงามอันเกิดแต่ปาก            แห่งผัวพูดมากร้อยหน
    ห่อนมีหลักค้ำคำคน                 ปวงชนไป่เชื่อเบื่อใจ ฯ

    * เมื่อนั้น                         กมลมิตรติดอกหมกไหม้
    สูอย่าเยาะเย้ยไยไพ            เจ้าไซร้ตาบอดสอดรู้
    หยิ่งแล้วยังแถมแกมโง่        พูดโป้พูดปดอดสู
    อันเนตรนงรามงามตรู          ใครดูย่ิมพะวงหลงเพลิน
    อย่าว่าแต่ชายสามานย์         แม้มุนีมีฌานหาญเหิน
    บ่มตละน่าเบื่อเหลือเกิน        จำเริญโยคะละกาม
    เป็นที่หวาดหวั่นพรั่นจิต        วาสพรุสฤทธิ์คิดขาม    (อ. ๒๐)
    จึ่งจัดอัจฉราวายาม              กวนกามกอบกรรมทำลาย  (อ. ๒๑)
    ยียวนชวนชื่นรื่นรส              เพื่อพรตหล่นแหลกแตกหาย
    ไปสมประสงค์จงร้าย            สิ้นหมายหมดวายามะ
    แม้นให้ภริยาข้ายั่ว               คงขรัวฌานแตกแหลกหละ
    เหลือทั้นเหลืออดลดละ       โยคะจักดับฉับพลัน
    ทนเนตรบังอรห่อนได้           เราไม่กล่าวแกล้งแสร้งสรร
    โฉมศรีโศภาลาวัลย์               ดวงจันทร์คือดวงนัยนา ฯ

    *  เมื่อนั้น                    เพื่อนพญาคนธรรพ์หรรษา
    ตบหัตถ์ตรัสตอบวาจา     ไม่ช้าได้เล่นเห็นจริง
    ที่ใกล้ไหล่เขาเรานี้         โยคีพรตกล้ามาสิง
    เชี่ยวฌานนานไม่ไหวติง   ปราศสิ่งยั่วยวนชวนชัก
    ท่านใคร่สำแดงวนิดา       จงเชิญกัลยาณิ์ทรงศักดิ์
    สู่ไหล่คีรีที่พัก                เยื้องยักยั่วเย้าโยคี
    เชิงยวนชวนให้เธอหลง    น้ยนานวลนงทรงศรี
    แม้นนางล้างกิจพิธี          ของมหามุนีได้จริง
    จึ่งจักประจักษ์หลักอ้าง    ว่านางงามปลอดยอดหญิง
    เราไซร้ไป่หาญค้านตึง     ทุกสิ่งนอบน้อมยอมตาม ฯ

    * เมื่อนั้น                      กมลมิตรเจ็บช้ำคำหยาม
    ฤาคิดรอบคอบตอบความ  ในยามหันหุนขุ่นใจ
    ท่านท้าข้าไซร้ไป่พรัน      อันนางพางจันทร์แจ่มใส
    อาจล้างพิธีชีไพร             แน่ได้ดังจิตคิดเจียว
    เราปองลองเล่นเช่นท้า      ใ่จข้าไป่พรั่นหวั่นเสียว
    ดวงเนตรโฉมยงองค์เดียว  อาจเหนี่ยวพรตโง่โยคี
    ให้ตบะหล่นแหลกแตกทิ้ง  ห่อนนิ่งอยู่ได้ในที่
    จักเกิดเ้สียวสันทันที          ราคีกำหนัดกลัดใจ
    แม้นมิสมหวังดังว่า            เศียรข้าจักบั่นหั่นให้
    เป็นเครื่องบูชาตราไว้         ที่ในแม่น้ำคงคาฯ

    * เมื่อนั้น                     เพื่อนพญาคนธรรพ์พลันว่า
    อย่าชล่ากล้าเล่นเจรจา    พูดบ้าบุ่มไปไป่ดี
    จักตัดเศียรเซ่นเช่นว่า     เธอใช่พระมหาฤาษี
    ทรงนามทักษะโยคี         พระประชาบดีเดชิต  (อ.๒๒)
    เศียรขาดแล้วมีมาเปลี่ยน  เศียรท่านใช่เศียรนักสิทธิ์
    หัวขาดจักขาดชีวิต           จักติดหัวใหม่ได้ฤา
    พูดพลางหัวเราะเยาะเย้ย   ท่านเอยอุตส่าห์อย่าดื้อ
    เราว่าจงฟังยั้งมือ             ผ่อนปรือคืนคำจำไว้ฯ

    * เมื่อนั้น                   กมลมิตรหันหุนมุ่นไหม้
    จากชุมนุมพลันทันใด    รีบไปยังองค์ชายา ฯ

    * พบนางกลางสวนยวนจิต    ยิ่งพิศผูกพันหรรษา
    เสาวภาคโศภิตติดตา           นัยนาคมขำล้ำลบ
    แจ่มลักษณ์จิ้มลิ้มริมสระ      ปัทมะคันธินกลิ่นกลบ
    ฤาษีชีไพรในภพ                 แลสบเนตรน้องต้องรักฯ

    * พิศนางพลางกล่าววาจา        ดูราโฉมยงทรงศักดิ์
    มีชายใจพาลหาญนัก              ลบหลู่นงลักษ์เลิศฟ้า
    กล่าว่าถ้าเจ้าเพราพริ้ง             เลิศยิ่งนางใดในหล้า
    เชิญองค์นงคราญกานดา         ยังไหล่ภูผาข้างโน้น
    ยวนองค์โยคีมีฌาน                ให้ร่านรุมในใจโผน
    ร้อนราคราวไฟไหม้โชน           เอนโอนโยคะละทิ้ง
    แม้นนางทำได้ประจักษ์           จักว่านงลักษณ์ยอดหญิง
    น่าแค้นคำเขาเขลาจริง            ค้านติงความงามทรามวัย
    พี่ท้าว่าองค์นงลักษณ์             จักให้ประจักษ์จนได้
    แม้นไม่ได้ดังหวังใจ                พี่ไซร้จักตัดเศียรตู
    ทิ้งในแม่น้ำคงคา                   บูชาเพื่อปลดอดสู
    ขอเชิญนางน้องลองดู             ค้ำชูขอท้าวาที
    ใ้ช้เนตรโฉมยงทรงฉาย            ทำลายพรตดื้อฤาษี
    ให้สมศรัทธาสามี                    ดังที่ได้กล่าวท้าไว้ ฯ

    * เมื่อนั้น                   นางอนุศยินีศรีใส
    ยินตรัสขัดอกตกใจ      หฤทัยหวาดหวั่นพรั่นทรวง
    อ้ำอึ้งตลึงแลแดลาญ    เยาวมาลย์ทุกข์เท่าเขาหลวง
    อึดอัดขัดเข้มเต็มตวง    พักตร์เผือดเดือดดวงแดร้อน

                        นางอนุศยินีกล่าวว่า

    *  ข้าแต่พระปิ่นปราเณศ       ทรงเดชจงยั้งฟังก่อน  (อ. ๒๓)
    เกรงผิดจิตข้าอาวรณ์           โทษกรณ์ก่อนเกิดกองร้าย
    บาปนักจักล่อนักธรรม          เพื่อดาบสกรรมรส่ำรสาย
    เธอบำเพ็ญบุญหนุนกาย        มั่นหมายกุศลผลดี
    แม้นเรานอกรีดกีดขวาง         มุ่งร้ายหมายล้างฤาษี
    ทางดีที่ได้ไป่มี                    อัคคีลวกเราเี่ร่าร้อน
    บาปกรรมทำทุกข์แม่นมั่น       โทษทัณฑ์เราเขือเหลือถอน
    กริ่งภัยใจข้าอาวรณ์               ช้าก่อนจงฟังยั้งคิด ฯ

    *  วอนพลางนางเพ่งเล็งพักตร์       เหตุรักให้ร้อนถอนจิต
    เพียงเพลิงเริงไล่ใกล้ชิด               ยิ่งคิดยิ่งคร้ามขามนัก
    วาจาบังอรวอนว่า                        นัยนาดูองค์ทรงศักดิ์
    พจน์นางแพ้เนตร์นงลักษณ์           ยิ่งชมยิ่งชักให้ร้าย
    กมลมิตรพิศเนตรนวลนุช               แสนสุดใจรักฤาหาย
    ห่อนยินวาทาธิบาย                      ชมเนตรโฉมฉายเพลินไป
    ยิ่งนึกยิ่งแน่ในจิต                        นักสิทธิ์ไป่ทรงองค์ได้
    ตาเพ็ญเช่นนั้นมั่นใจ                     อาจพร่าพรตให้เอนเอียง
    นางวอนห่อนเป็นประโยชน์              เพราะเนตรนงโพธเธอเถียง
    ไป่ยั้งฟังคำสำเนียง                      บ่ายเบี่ยงว่าวอนอ่อนใจ ฯ

    * สามีมิฟังดังว่า               กัลยาณิ์พรึงพรั่นหวั่นไหว
    ข่อนๆ ร้อนตัวกลัวภัย          หฤทัยนิ่งนึกตรึกตรอง
    ความจริงในใจใคร่รู้           ยั่วดูแต่สองต่อสอง
    นักสิทธิ์คงใคร่ในคลอง      รดิกรรมทำนองทางใน
    เรางามยิ่งสามโลกกว้าง       อาจล้างดาบสพรตใหญ่
    จักสิทธิ์สมหวังดังใจ          ฤาไม่สำเร็จอยากรู้
    ใคร่ทราบก็เหลือจะใคร่       อายใจก็เหลืออดสู
    กริ่งโทษเทียมไฟใหม้ภู       โฉมตรูลังเลหฤทัย ฯ

    * เธอวอนทรามวัยใจตื้น         นางขืนคำวอนห่อนไหว
    จูงกรพากันครรไล                 มุ่งหน้ามาในไพรพน
    แลหาดาบสพรตกล้า              แทบใกล้ไหล่ผาปลายหน
    พบโยคียงทรงตน                   อานนนิ่งแน่แลนาน  (อ. ๒๔)
    คือหลักปักไว้ไป่เคลื่อน           แม่นเหมือนต้นไม้ไพศาล
    ฝูงปลวกทำรังยังปราณ            สำราญอยู่รอบโยคิน
    หนวดเธอทอดไปในพน           ปลิวไปในหนบนหิน
    ผมขาวยาวเฟื้อยเลื้อยดิน          มุนินทร์ห่อนไหวใจกาย
    กิ้งก่าเพศหญิงวิ่งหนี                 บนตัวฤาษีซ่อนหาย
    กิ้งก่าเพศชายไล่กราย               เร่รายตัวหญิงวิ่งล้อ
    ดาบสอดแดแน่นิ่ง                   มันวิ่งบนกายสอสอ
    ฌานเพ่งฤาพลั้งรั้งรอ               เหมือนตอปักไว้ในดิน
    ลืมเนตรแลไปในหาว              จักษุใสขาวคือหิน
    ไป่เห็นอันใดในดิน                 ไป่ยินอันใดในฟ้า ฯ

    * สององค์ทรงเห็นนักสิทธิ์        ให้คิดเคลือบแคลงแสยงสยบ
    ไตร่ตรองถ่องท้วนทวนทบ          คือคบเพลิงเร้าเผาแรง
    เปี่ยมฌานปานนั้นพรั่นนัก           ทรงศักดิ์เลิศล้ำคำแหง
    จะยั่วโยคะระแวง                      เรี่ยวแรงบาปกรณ์ร้อนร้าย
    สงสัยใจตรึกนึกพรั่น                  โทษทัณฑ์จักมากหลากหลาย
    กอบก่อกองกรรมทำลาย             จักสลายสุขสันต์มั่นคงฯ

    *  ฝ่ายพญากมลมิตรพิศนาง       พิศพลางพิสมัยใหลหลง
    บังเกิดกำเริบเอิบองค์                 นัยนาโฉมยงเช่นนี้
    มุ่งร้ายหมายมาน่าจะ                  สำเร็จเด็ดตบะฤาษี
    คิดแค้นคำท้าวาที                     ยิ่งมีจำนงปลงใจ
    ชี้เชิญชายามารศรี                     ยุวดีลำยองผ่องใส  (อ. ๒๕)
    อัญเชิญโฉมเจ้าเข้าไป                 ล่อให้เห็นองค์นงเยาว์
    เชิงชวนยวนยั่วโยคะ                  ดาบสปลดตละเพราะเจ้า
    พี่จักแฝงไม้ในเงา                     อยู่เฝ้าใฝ่ยั้งฟังดู ฯ

    *     สองกรทรงกอดยอดรัก        จุมพิตชิดพักตร์ในผลู
    เกี่ยวกวัดรัดโลมโฉมตรู               เหมือนคู่จักร้างห่างนานฯ

    *    เมื่อนั้น                     นางสุโลจนากล้าหาญ   (อ. ๒๖.)
    ห่อนขัดภัสดาว่าวาน           เยาวมาลย์มุ่งเย้าเข้าไป
    ยืนตรับยับยั้งสังเกต           เห็นเนตรลืมอยู่ดูใส
    มุ่งเขม็งเล็งแลแต่ไกล        ปราศไหวน่าหวั่นพรั่นจริง
    เข้าไปใกล้หน้าดาบส          ทรงพรตแข็งขืนยืนนิ่ง
    จักยั่วจักยวนชวนอิง           ห่อนทิ้งโยคะละลด
    เธอบงนงรามทรามวัย         ฤาไม่ก็ไม่ปรากฎ   (อ.๒๗)
    นางเยาะเฉพาะพักตร์นักพรต  ช้อยชดเชิงชวนยวนยีฯ

    *    เมื่อนั้น                   ปาปะนาศน์มหาฤาษี
    ทรงฌานนานยืนหมื่นปี    ไป่มีใครกล้ามากราย
    ลืมเนตรห่อนเห็นอันใด     กรรณ์ไซร้ห่อนฟังทั้งหลาย
    โยคะยิ่งล้ำกำจาย            กระสับกระส่ายฤามี ฯ

    * อันเมื่อโฉมยงทรงฉาย       มุ่งร้ายต่อตบะฤาษี
    องค์พระปาปะนาศน์มุนี          สำรวมอินทรีย์นิ่งนาน
    รู้สึกมายามายวน                 ทบทวนทำนองปองผลาญ
    โยคีมีใจรำคาญ                   เหตุการกลใดใคร่แล
    น้อยๆ ค่อยรู้สึกตน                เห็นนางโศภณเพ็ญแข
    นัยนานิลนวลยวนแด             ยิ่งแลยิ่งล้ำอำไพ
    ท่วงทีท่าทางอย่างล้อ             ใครหนอน่าชิดพิสมัย
    นักสิทธิ์คิดหลายหฤทัย           เหตุใดมาเพ่งเล็งพิศ
    แม่นมั่นปัญญาฌานะ              โยคะเคร่งครัดชัดจิต
    ทราบเหตุเลศกลต้นคิด             มันกวนชวนชิดทั้งนี้
    มุ่งร้ายหมายผลาญฌานตู*       สู่รู้จังไล*ใช่ที่   (ตู คือ ก, ไล คือ ร)
    กำเริบมาเล่นเห็นดี                  มุนีเธอข:-)นัยนาฯ

    *     อันนางอนุศยินี               เห็นเนตรโยคีซ้ายขวา
    เขียวเขม็งเล็งดูกานดา             ประุหม่ามุ่นอกตกใจ
    หวาดหวั่นพรั่นทรวงดวงจิต        สุดคิดจักทรงองค์ได้
    เซซวนซุดสลบซบไป               ล้มในพนารัญทันที ฯ

    *    เมื่อนั้น                   กมลมิตรเห็นเมียเสียศรี
    วิ่งไปใกล้องค์มุนี            โอบอุ้มยุวดีชายา
    กอดทับกับฤทัยไหวหวั่น   องค์สั่นบนแผ่นภูผา
    ริกรัวกลัวกรรมนำพา        เกรงเดชพระมหามุนีฯ

    *เมื่อนั้น                  ปาปะนาศน์มหาฤาษี
    รู้เรื่องเคืองใจโยคี      จึ่งมีวาจาสาปไปฯ

                        ฤาษีสาบว่า

    *ดูราเมียผัวตัวเอิบ              กำเริบใจบาปหยาบใหญ่
    อันเนตรนงรามทรามวัย        จักได้รับผลบัดนี้
    นางยั่วโยคะละเมิด              จงเกิดเป็นมานุษี  (อ. ๒๘)
    กมลมิตรผู้พญาสามี              เห็นดีรู้ด้วยช่วยกัน
    จงมีกำเนิดมานุษ                  ผ่องผุดเพ็ญลักษณ์รังสรรค์
    สองมุ่งใจสมัครรักกัน            ให้พลันเริศร้างห่างไป
    รันทมกรมกรรมทำงน            ล้างตนในห้วงทุกข์ใหญ่
    จนสิ้นบาปกรรมทำไว้             จึ่งให้สิ้นสาปหลาบจำ ฯ

    * เมื่อนั้น                          กมลมิตรพิศเนตรนางขำ
    เจ็บหนักจักจากตรากตรำ       คราวกรรมจำร้างห่างน้อง
    ยิ่งพิศภริยอาดูร                   ยิ่งพูนทุกข์ทนหม่นหมอง
    ก้มวอนกรไหว้ใจตรอง           พลางสนองวาจาว่าไป ฯ

                   กมลมิตรกล่าวแก่ฤาษีว่า

    * ข้าแต่พระมหามุนี             ข้านี้ทำบาปหยาบใหญ่
    ลวนลามความผิดติดใจ         หฤทัยหวาดหวั่นรันทด
    ผ่อนโทษโปรดเถิดโยคี        จงสาปให้มีกำหนด
    รู้เขตคำแช่งแบ่งลด             เปลื้องปลดทุกข์น้อยถอยไป ฯ

    * เมื่อนั้น                        ปาปะนาศน์บรรหารขานไข
    ซึ่งเจ้าเนาเข็ญเห็นภัย        คิดใคร่คืนสองครองกัน
    จักสมโดยหวังดังใจ          โดยนัยที่เราสาปสรร
    เมื่อใดได้ทลวงจ้วงฟัน       จวบจ้ำห้ำหั่นกันลง
    เมื่อนั้นกำหนดปลดบาป       สิ้นสาปไป่คลาดมาดม่ง
    กล่าวพลางดาบสพรตยง      เธอสำรวมองค์องค์ต่อไป

    *  เมื่อนั้น                     กมลมิตรจิตสั่นหวั่นไหว
    พิศเนตรนงรามทรามวัย    อรไทยพิศหน้าสามี
    นางใคร่จำพักตร์ภรรดา     เธอใคร่จำหน้ามารศรี
    จักพรากจากพลันทันที      สองมีใจเศร้าเปล่าทรวงฯ

    *  ตกจากฟากฟ้ามาดิน          พลัดถิ่นอาศัยในสรวง
    พึงหลาบบาปเขือเหลือตวง      ผาหลวงสูงใหญ่ไป่ปาน ฯ

    *  นางเข้าสู่ครรภ์มหิษี          พระนาธิบดีใสศานติ์
    ทรงนามชัยทัตภูบาล             ตระการเรียรติ์องค์ทรงยศ
    ครองอินทิราลัยไกรเกรียง      สำเนียงฦาชาปรากฎ  (อ.๒๙)
    ปราศปัจจามิตรคิดคด              ยงยศเยงสิ้นดินดอน ฯ

    * กมลมิตรสู่ครรภ์มหิษี        พระนราธิบดีชาญศร
    ทรงนามธรรมราชภูธร           เธอครองนครอละกา   (อ. ๓๐)
    ไพรีเข็ดนามขามยศ              ปรากฎเดชเดื่องเลื่องหล้า
    สำราญบานใจไพร่ฟ้า           ทั่วหน้าสุขเกษมเปรมปรี ฯ

    *เมื่อนั้น                           องค์พระมเหศวรเรืองศรี
    เนาอาสน์ไกลาศคีรี              เป็นที่อิ่มเอมเปรมตา
    พิศเพ่งเล็งดูรู้แจ้ง                 ทุกแหล่งในสวรรค์ชั้นหล้า
    เห็นพญาคนธรรพ์ภรรดา         ชายายุพยงนงคราญ
    ตกจากฟากฟ้ามาดิน              ทิ้งถิ่นทิพาศัยไพศาล
    ทราบแจ้งแห่งเหตุเภทพาล       เกิดทุกข์รุกรานปานนั้น
    นิ่งนึกตรึกตรองคลองธรรม      โทษกรรมเกิดก่อส่อศัลย์
    เพราะเหตุเนตรนางพางจันทร์     เช่นกันกับสีศอเรา
    โดยละเมิดเกิดกอบกองทุกข์      เพลิงลุกร้อนยิ่งผิงเผา
    อันกายโฉมยงนงเยาว์               ยังเนาในสวรรค์ชั้นฟ้า
    นางไซร้ไปเกิดในดิน                กรุงอินทราลัยใต้หล้า
    เราจักอุปถัมภ์นำพา                  รักษาทรากใส่ใจจำ
    เหตุศรีแห่งศอเราไซร้               แบ่งส่วนไปในเนตรขำ
    จักทอดทิ้งทรากตรากตรำ           ห่างหายหลายฉนำฤาควร
    อันพญาคนธรรพ์นั้นไซร้              หฤทัยซวนเซเหหวน
    พูดพล่อยเสเพลเรรวน                 ปั่นป่วนเพราะเราเข้าเจือ
    ศรีจันทร์ศรีศอศรีศยาม               ในเนตรนงรามงามเหลือ   (อ. ๓๑)
    เธอเห็นสาวน้อยลอยเรือ              ห่อนเบื่อนัียนาบ้าฟุ้ง
    คิดไปไม่เป็นความผิด                 แห่งพญากมลมิตรจิตยุ่ง
    ฤทธิ์อนงค์หลงใหลไคล้คลุ้ง          ควรเราเข้าพยุงเธอไว้ ฯ   (อ. ๓๒)

    *  ตรึกพลางพระมหาเทวะ               โดยพระกรุณาธยาศัย
    หยิบดอกอัมพุชอำไพ                      พลางปักลงไว้ในดิน   (อ. ๓๓)
    กลายเป็นเกาะนัอยลอยอยู่               แลดูสำอางกลางสินธ์
    มีเมืองเรืองแข่งแหล่งอินทร์                โศภินไพจิตรพิศพราย
    ปราสาทราชฐานกาญจน์แก้ว              เพริศแพร้วจำรัสเรืองฉาย
    ห่อนมีชนใดใกล้กราย                       เมืองหม้ายอยู่ร้างกลางชล ฯ

    * จัดเสร็จพระอิศวรทรงเดช       ปล่อยเหตุให้เกิดเป็นผล
    กมลมิตรกันน้องสองตน           อนุสนธิ์คำสาปมุนี ฯ


                                 จบภาค ๑
                        ในนิทานเรื่องกนกนคร
    *****************************************************


                                  ภาคอธิบาย
    อ.๑     "พระวิศเวศวรเรืองศรี"  "วิศเวศวร"  เป็นนามๆ หนึ่งของพระอิศวร  พระอิศวรมีนามมาก  ที่ใช้ีในหนังสือนี้คือ  ศุลี  ศิว  ศศิเศขร  คงคาธร  ศัมภู  มเหศวร  มหาเทว  อุมาบดี  มหากาล  ปศุบดี  เป็นต้น

    อ. ๒ "ศศีเสียบเผ้าเพราพราย"  "ศศี"  แปลว่ามีกระต่าย คือ พระจันทร์  เผ้า แปลว่าผม  ศศีเสียบเผ้าหมายความว่า พระอิศวรทรงพระจันทร์เป็นปิ่น  มีเรื่องว่าครั้งหนึ่งพระจันทร์ทำผิดเพราะเป็นชุ้กับนางดารา (ชนนีพระพุธ)  ผู้เป็นชายาของพระพฤหัสบดี  เกิดความใหญ่จนพระจันทร์ถูกกำจัดไปอยู่นอกหมู่เทวดา  ต่อเมื่อพระอิศวรทรงรับพระจันทร์มาปักไว้บนพระเกศา  พระจันทร์จึงได้กลับเข้าหมู่เทวดาได้.

    อ. ๓  "อ้าพระธำรงคงคา"  คือ  คงคาธร (ทรงไว้ซึ่งแม่น้ำคงคา)  เป็นนามพระอิศวร  มีเรื่องว่าเมื่อแม่น้ำคงคาจะลงมาจากสวรรค์นั้น แผ่นดินจะแตก  เพราะกำลังน้ำซึ่งไหลตกลงมาโดยแรง  พระอิศวรต้องเอาพระเศียรรับไว้  แผ่นดินจึงรอดภัยไปได้  แม่น้ำคงคาตกลงบนพระเศียรแล้วหลงอยู่ในพระเกศาช้านาน  จึงหาทางไหลเลยไปได้

    อ. ๔  "เหมาะหมดพจมารบานมน"  "บานมน" คือเป็นที่บานใจ

    อ. ๕  "ข้าแต่พระศศิเศขร"  "ศศิเศขร" เป็นนามพระอิศวร  แปลว่า เสียบพระจันทร์ไว้ที่ผม.

    อ. ๖. "พระหทัยใฝ่ม่งทรงปอง "  "ม่ง" คือ มุ่ง

    อ.๗  "เหมือนสีพระศอทรงศักดิ์"  พระอิศวรนั้นพระศอเป็นสีนิล เรียกว่านิลกัณฐะ  มีเรื่องว่าเมื่อกวนเกษียรสมุทรเพื่อจะเอาน้ำอมฤตนั้น  มีพิศชื่อกาลกูฏลอยขึ้นมามากมาย  จะเป็นภัยแก่เทวดาและอสูรซึ่งประชุมกันอยู่ จนพระอิศวรทรงกลืนพิษนั้นเสียสิ้น   เทพดาแลอสูรจึงพ้นภัย พิษนั้นไม่ทำร้ายพระอิศวรก็จริง  แต่ทำให้พระศอเป็นสีนิล.

    อ. ๘ "ศัมภูผู้เป็นเจ้าของ"  "ศัมภู" เป็นนาม ๆ หนึ่งของพระิอิศวร

    อ. ๙ "รังสีเล่ห์แสงศสิธร"  "ศศิธร"  แปลว่า ทรงไว้ซึ่งกระต่าย คือพระจันทร์

    อ. ๑๐  "เคร่าใครได้เคลียเมียมิ่ง"  "เคร่า" แปลว่า คอย

    อ.๑๑  "เนาเรือเหนือสรัสปัทมี"   "สรัส" แปลว่า สระ   "ปัทมี" แปลว่ามีบัว ว่าหนองบัว  สระบัว

    อ. ๑๒  "ตรณีจันทร์นวลชวนชม"  "ตรณี"  แปลว่าเรือ  (เครื่องข้าม)

    อ. ๑๓  "งามฉวีคือชวาน่าใคร่"   "ชวา"  คือดอกกุหลาบ

    อ. ๑๔.  "คิดเจ้าคือจันทร์ครรพิต"  ครรพิต = หยิ่ง

    อ.๑๕  "เอื้อมห่อนถึงองค์นงลักษณ์"     "ห่อน"  แปลว่าเคย   เช่น บ่ห่อนมี  แปลว่าไม่เคยมี  แต่ในกาพย์กลอนของเราใช่ห่อนแปลว่า "ไม่" โดยมาก  เช่นในโคลงเตลงพ่ายว่า

    "เบื้องนั้นนฤนาถผู้         สยามินทร์
    เบี่ยมพระมาลาผิน         ห่อนพ้อง"

    เป็นต้น  ในกาพย์กลอนที่ข้าพเจ้าแต่ง  ให้ห่อนแปลว่า "ไม่" เกือบเสมอที่ใช้ดังนี้นับว่าผิดความเดิม  แต่ก็ขืนใช้  เพราะเลือนกันมานานแล้ว  แลคำที่ใช้เลือนอย่างนี้ยังมีอีกหลายคำ

    อ. ๑๖  "พิศเนตรนวลนางกลางสินธุ์"  "สินธุ์" ศัพท์นี้ใช้มากในหนังสือไทยในที่หมายความว่าน้ำ  อันที่จริงแปลว่า ทะเล  แปลว่าแม่น้ำและเป็นชื่อแม่น้ำสายหนึ่งในอินเดียด้วย

    อ. ๑๗  "ศอนิลปิ่นจันทร์พรรณไร"   "พรรณไร"  แปลว่าวรรณเป็นทอง (ไร = ทอง)

    อ. ๑๘  "นางอนุศยินีศรีใส"   "อนุศยินี" คำนี้ฝรั่งเขาแปลไว้ว่ามีผู้ภักดีต่อผัว
    "A devted wife. But the word has another  technical philosohical significance;  it  connotes  evil, clinging  to the  soul by reason of sin in a former birth, and bd getting the necessity  of  expiation  in another body"

    อ. ๑๙  "ใครฟังหมั่นไส้ทุกหน"  "หมั่นไส้"  คำนี้ผู้รู้หนังสือมักเขียนว่า "มันไส้ไ ดูได้ความดีกว่า  แต่เสียงพูดพูด "หมั่นไส้" เสมอ.

    อ. ๒๐ "วาสพสุรฤทธิ์คิดขาม"  "วาสพ" เป็นชื่อเรียกพระอินทร์

    อ. ๒๑  "จึงจัดอัจฉราวายาม"  "วายาม"  คือ พยายายาม

    อ. ๒๒  "ทรงนามทักษะโยคี"  พระทักษะเป็นพรหมฤษีประชาบดี  ครั้งหนึ่งกระทำพิธีบูชายัญเป็นการใหญ่  เชิญเทพดามามาก  แต่ไม่ได้เชิญพระอิศวรผู้เป็นเขย พระอิศวรทรงเห็นเป็นการหมิ่นประมาทจึงเสด็จมาทำลายพิธี  ตัดเศียรพระทักษะขาดแล้วโยนเข้ากองไฟให้ไหม้เสีย  ครั้งเลิกการกาหลกันแล้ว  จะหาเศียรพระทักษะมาติดเข้าอย่างเก่าก็ไม่ได้ ่ จึงต้องตัดเอาหัวแพะหรือแกะมาติดแทน  รูปฤษีซึ่งตัวเป็นคนหัวเป็นแพะหรือเป็นแกะ่นั้น คือรูปพระทักษะองค์นี้

    อ.  ๒๓  "ข้าแต่พระปิ่นปราเณศ"   "ปราเณศ"  แปลว่าเจ้าแห่งลมหายใจ เป็นคำเมียใช้เรียกผัว แลผัวใช้เรียกเมียก็ได้.

    อ. ๒๔  "อานนนิ่งแน่แลลาน""  "อานน" แปลว่าหน้า

    อ. ๒๕  "ชี้เชิญชายามารศรี"  "มารศรี" ศัพท์นี้ใช้เรียกนาง  แต่ไม่ทราบว่าแปลว่ากระำไรแน่  ข้าพเจ้าเคยกล่าวในตอนอธิบายศัพท์ในพระนลคำฉันท์ว่าจะแปลว่านางเป็นสิริ  แห่งกามเทพหรือสิริแห่งความรักจะได้ทางหนึ่งกระมัง (เพราะมารเป็นชื่อกามเทพ  แลแปลว่าความรักก็ได้)  แต่ได้พบในหนังสือสมุดดำตัวดินสอแห่งหนึ่งเขียนว่ามาณศรี  แปลว่ามีสิริ

    อ. ๒๖  "นางสุโลจนากล้าหาญ"  "สุโลจนา"  แปลว่านางเนตรงาม

    อ. ๒๗ "เธอบงนงรามทรามวัย"   บง แปลว่า ดู

    อ. ๒๘  "จงเกิดมาเป็นมานุษี"  มานุษี  แปลว่านางมนุษย์

    อ. ๒๙. "ครองอินทิราลัยไกรเกรียง"  "ิอินทิราลัย"  แปลว่าที่อยู่แห่งนางอินทิรา  คือพระลักษมีผู้เป็นเจ้าแห่งความงาม   ศัพท์อินทิราลัยนี้เป็นชื่อนีโลตบล  คือ บัวสีน้ำเงิน  เพราะเมื่อพระลักษมีแรกเสด็จลอยขึ้นจากท้องเกษียรสมุทรนั้น ทรงนั่งในบัวชนิดนี้.

    อ. ๓๐  "ทรงนามธรรมราชภูธร"  "ภูธร"  คำนี้อันที่จริงแปลว่าทรงไว้ซึ่งแผ่นดินหรือรองรับแผ่นดินไว้  หมายความว่าภูเขา  หรือเป็นนามพระนารายณ์ในตำแหน่งที่ทรงยกแห่นดินชูไว้  ตามเรื่องในกฤษณาวตารเป็นต้น  ในหนังสือไทยเราใช้ภูธรแปลว่าพระเจ้าแผ่นดิน  น่าจะเห็นว่าเป็นเพราะยกย่องพระเจ้าแผ่นดินว่าเป็นอวตาลแห่งพระนารายณ์ไม่ใช่เพราะศัพท์ภูธร แปลว่าพระเจ้าแผ่นดินเป็นแน่.

    อ. ๓๑  "ศรีจันทร์ศรีศอศรีศยาม" แปลว่าสิริแห่งพระจันทร์  แลสิริแห่ง
    พระศอ สีครามแก่  (ศยามแปลว่าสีคล้ำ)

    อ. ๓๒  "ฤทธิ์อนงค์หลงใหลไคล้คลุ้ง"  "อนงค์" แปลว่าไม่มีองค์  หรือไม่มีตัวเป็นนามกามเทพ  ซึ่งถูกเผาเป็นจุณไปครั้งหนึ่ง เพราะตาไฟของพระอิศวร  ความรักนั้นกล่าวว่าพระกามเทพทำให้เกิดจึงใช้ศัพท์ "อนงค์" อย่างที่ใช้ในที่นี้  อนึ่งควรกล่าวเสียทีเดียวว่า  ในสมุดเล่มนี้ใช้อนงค์แปลว่า  กามเทพหรือความรักเสมอ  ไม่มีที่แปลว่านางเลย  ถึงในที่ซึ่งใช้ว่า "ขวัญอนงค์" ก็แปลว่า ขวัญของกามเทพ

    อ. ๓๓  "หยิบดอกอัมพุชอำไพ"  "อัมพุช"  แปลว่าดอกบัว  (เกิดในน้ำ)

    แก้ไขเมื่อ 30 เม.ย. 46 20:35:21

    แก้ไขเมื่อ 27 เม.ย. 46 20:46:54

    แก้ไขเมื่อ 27 เม.ย. 46 12:31:02

    จากคุณ : SONG982 - [ 26 เม.ย. 46 22:03:48 ]