ความคิดเห็นที่ 65
ในสายธารกวีเพื่อชีวิต วรรคทอง ที่จำหลักแน่นแน่นในความทรงจำอีกบท ย่อมเว้นที่จะไม่กล่าวถึง ระวี โดมพระจันทร์ มิได้ โดยเฉพาะบทกวีที่ทรง พลังปลุกเร้ายิ่งบทนี้
ตื่นเถิดเสรีชน อย่ายอมทนก้มหน้าฝืน ดาบหอกกระบอกปืน ฤๅหาญสู้กระแสเรา
หรืองานชิ้นนี้ ของ ทวีป วรดิลก ในนามปากกา ทวีปวร ในสายธารเพื่อชีวิตอีกคน
จงเป็นอาทิตย์เมื่ออุทัย เกรียงไกรในพลังสร้างสรรค์ เพื่อความดีงามร่วมกัน แห่งชั้นชาวชนคนงาน เข้ารวมร่วมพลังบังเกิด แจ่มเจิดภพใสไพศาล ชีพมืดชืดมาช้านาน หรือจะทานแสงทองส่องฟ้า
และอีกคน ที่อยู่ในช่วงรอยต่อก่อนเหตุการณ์หน้าประวัติศาสตร์ประชาชน จนถึงกลอนในยุค ชักธงรบ ที่มีลีลาเฉพาะตัวก็คือ พนม นันทพฤกษ์ และนี่คือ ร้อยกรองที่ชื่อ คือนกว่ายเวิ้งฟ้า ณ ปี ๒๕๑๔
คือนกว่ายเวี่ยเวิ้งฟ้า ตะกายจิกดาวอยู่ไหวไหว ไป่รู้ค่าเวลานาทีใด ลอยมาลอยไปไร้วารวัน เสพย์กินเพียงทิพย์ธรรมชาติ บริสุทธิ์พิลาส-สูงค่านั่น แม้เพียงเศษหัวใจก็ไป่ปัน ให้ความไหวหวั่นทั้งถ้วนมวล
อันที่จริงในกระแสของสายธารเพื่อชีวิต กวีและบทร้อยกรอง ยังจำแนกมุมมอง ที่เป็นไปตามทัศนคติ และมุมมองต่อโลก ซึ่งความแตกต่างในมุมมอง หาใช่ ความแตกแยกในกระแสธารหลัก หากแต่เป็นการนำเสนอมุมมอง ทั้งในภาพจริง และสิ่งฝัน เพื่อสะท้อนปรากฏการณ์ในสังคมขณะนั้น
ในห้วงเวลาปี ๒๕๒๔ (๑๗ก.ย.๒๕๒๔) นิสิตอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เชิญ จ่าง แซ่ตั้ง กวีซึ่งได้ชื่อว่า สะท้อนภาพจริง ในรูปของ ไร้ลักษณ์มาร่วม เสวนาในรายการ บทกวีมีเพื่อฝันเท่านั้นหรือ ในงานนี้ ผู้จัดได้รวบรวมบทกวี เกี่ยวกับความฝัน ทั้งจากนักเขียนและนิสิตจำนวน ๑๐ บทนำเสนอ และ จ่าง แซ่ตั้ง ได้เขียนบทกวี ความจริงจำนวน ๑๐ บท หลังจากนั้น เพื่อแสดงทัศนะคู่ขนานกับ บทกวี ความฝัน จำนวน ๑๐ บทดังกล่าว
และนี่เป็นบางส่วนของชิ้นงานบทกวี ที่ประกบคู่มุมมองคู่ขนาน ระหว่างบทกวีที่ชื่อ ความฝันในชนบท ของ วิทยากร เชียงกูล กับ ความจริง ๑ (มิใช่ความฝัน) ของ จ่าง แซ่ตั้ง
ความฝันในชนบท : วิทยากร เชียงกูล จะสอยดาวสาวเดือนที่เกลื่อนฟ้า มาทำอาหารให้คนไร้สิ้น ฟันนภาที่เห็นออกเป็นชิ้น เอามาสินเย็บเป็นเสื้อเพื่อคนจน จับเอาดวงตะวันอันกว้างใหญ่ จัดสรรให้คนพำนักพักอาศัย เที่ยวรวบรวมธาตุมาทั้งสากล แล้วคิดค้นปรุงเป็นยาฆ่าโรคภัย
ความจริง ๑ (มิใช่ความฝัน) : จ่าง แซ่ตั้ง เพ้อฝันสอยดาวสาวเดือน คนไร้สิ้นต้องการอาหารจริงจริง เพ้อเจ้อฟันนภาออกเป็นชิ้นชิ้น คนจนต้องการเครื่องนุ่งห่มจริงจริง เพ้อจับตะวันเป็นแดนดิน ผู้คนต้องการพำนักที่เป็นจริง ธาตุทั้งสากลที่เพ้อฝัน ก็เป็นยาฆ่าโรคภัยไม่ได้เลย
ว่าตามจริง ในสายธารหลักของร้อยกรอง อาจบางทีล้วนอยู่ ในกระแสธารเดียวกัน ไม่ว่าจะแยกย่อยในชื่อเรียกอย่างไรก็ตาม อาจบางทีเป็นเพราะยุคสมัย และอาจบางทีก็อาจเป็นเพราะรสนิยม ซึ่งในบางครั้ง สายธารหลักก็แตกสาย และในหลายครั้ง สายธารสายนี้ ก็กลับมาหลอมรวมเป็นกระแสหลักแห่งยุคสมัยหนึ่ง ๆ ได้
เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กวีรัตนโกสินทร์ เคยจำแนกยุคสมัยของกาพย์กลอนไทย แบบคร่าว ๆ เป็น ๕ ยุคหลัก ซึ่งทอดยาวต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ทว่า ก็ใช่จะแบ่ง แยกแบบตายตัวตัดขาดกันโดยสิ้นเชิง เพราะในช่วงคาบเกี่ยวแต่ละยุค ก็มีรอยต่อ ของการคาบเกี่ยวจากรุ่นต่อรุ่นเสมอมา
และนี่คือ ๕ ยุคสมัยที่แบ่งส่วน เพื่อแสดงรอยต่อยุคสมัยของกาพย์กลอน
๑.ความคิดใหม่ จัดเป็นยุคต้น เป็นยุคกวีขุนนางนักเรียนนอก ซึ่งถ่ายเทวัฒนธรรมตะวันตกมาสู่สังคมไทย ยุคนี้ มี น.ม.ส. , ครูเทพ ฯลฯ เป็นตัวแทนยุคสมัย
๒.ใฝ่การเมือง ช่วงยุครอยต่อ หลังยุคสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุคนี้ มี นายผี , จิตร ภูมิศักดิ์ , อุชเชนี (ประคิน ชุมสาย ณ อยุธยา , นิด นรารักษ์) , ทวีปวร (ทวีป วรดิลก) ฯลฯ เป็นตัวแทนยุคสมัย
๓.เฟื่องการรัก เป็นยุคถัดมา ซึ่งว่าตามจริงก็อาจจะเรียกว่า อยู่ในยุคมืด เผด็จการปิดหูปิดตา ไม่เพียงเฉพาะ นักกลอนหากแต่สังคมโดยรวมในทุกแขนง ล้วนแล้วแต่ต้องระมัดระวังการนำเสนอความคิด ทั้งสิ้น ยุคนี้ มี สวัสดิ์ ธงศรีเจริญ , ประยอม ซองทอง ฯลฯ เป็นตัวแทนยุคสมัย
ตัวอย่างงานของ สวัสดิ์ ธงศรีเจริญ
จะให้สัตย์ซื่อต่อก็เสียหน้า จะร้างลาเลิกรอก็เสียหาย จะฝืนสาวเล่าหนอก็เสียดาย กลืนหรือคายมันก็ฝืดผะอืดผะอม
ตัวย่างงานของ ประยอม ซอมทอง เพื่อพักผ่อนนอนหลับในทับทิพย์ ชมดาววิบแวมวอมในอ้อมสรวง ระรื่นรินกลิ่นผกาบุปผาพวง ลิ้มผึ้งรวงหวานลิ้นด้วยยินดี
๔.ชักธงรบ ช่วงรอยต่อจนถึงยุค ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ท่ามกลางกระแสเรียกร้องประชาธิปไตย ตัวแทนยุคสมัยที่ร่วมกันปลุกเรามีอาทิ รวี โดมพระจันทร์ , วิสา คัญทัพ ฯลฯ
๕.ยังไม่พบเส้นทาง หลังเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ นามปากการะบาด ปกปิดตัวตน หลังการปะทะถึงขั้น แตกหักของทฤษฎีความเชื่อทางการเมือง ห้วงเวลานี้ มีการใช้สัญลักษณ์อย่างมาก เช่นเดียวกับ ลำนำกลอนเปล่าที่มีมากขึ้น และมีกลุ่มกวีท้องถิ่นมากขึ้น จนเป็นกระแสธาร หลากทั่วสารทิศ ไม่อาจไหลรวมสู่กระแสเดียวกัน
อนึ่ง ในช่วงรอยต่อระหว่างยุค เฟื่องการรัก กับ ชักธงรบ กลุ่ม พระจันทร์เสี้ยว มี บทบาทอย่างยิ่ง ในการปลุกเร้าความคิด กระทั่งสู่ยุคของ ชักธงรบ กลุ่ม พระจันทร์เสี้ยวมีตัวแทนที่โดดเด่น อาทิ สุชาติ สวัสดิ์ศรี , วิทยากร เชียงกูล , วินัย อุกฤษณ์ (ผู้เขียนเพลง นกสีเหลือง ของ คาราวาน)
เก็บเอาบางส่วนเสี้ยวของเรื่องราวในสายธารเพื่อชีวิต มาบอกเล่าแลกเปลี่ยน ด้วยหวังใจถึง ประโยชน์ของการเรียนรู้ร่วมกัน และหวังใจถึงการก้าวเดินต่อไปในสายธารแห่งร้อยกรอง ซึ่งร้อยรัดชีวิตเข้าด้วยกันกับสังคมโดยแท้จริง
ด้วยจิตคารวะ อังคาร ๑ กรกฎาคม ๒๕๔๖
จากคุณ :
ผู้งมงายในรัก
- [
1 ก.ค. 46 14:21:47
A:203.154.97.197 X:129.0.1.70
]
|
|
|