คำอธิษฐานใต้ร่มทองกวาว
พ.ไทยยืนวงษ์
ตอนที่2
กรเป็นอะไรไปคะ นุ่นถามผมหลังจากกลับจากลำพูนครั้งนั้นได้สามสี่วัน ผมซึมเหม่อลอย แทบไม่ติดต่อเพื่อนฝูงคนไหน เธอมาหาถึงบ้านพร้อมคิ้วที่ขมวดราวกับจับได้ถึงความผิดปกติของชายคนรัก ผมปฏิเสธ อ้างเรื่อยเปื่อย ไม่สบายบ้าง คิดเรื่องงานบ้าง
..เธอไม่เชื่อหรอก..
คิดถึงใครอยู่รึเปล่า..เธอถามจนผมสะดุ้งโหยง ส่ายศีรษะหน้าแดง เสทำเป็นโกรธว่าเธอพูดอะไรบ้าๆ นุ่นกล่าวขอโทษเบาๆ ทว่าดวงตาคู่นั้นคมปราบ เชือดลึกลงไปในหัวใจ แหวกจนเห็นความรู้สึกที่แท้จริง ผมตัวสั่นขึ้นมาทันที
ต้องลบภาพบัวออกจากใจ ต้องทำให้ได้..ผมโหมงานหนักไม่ให้สมองมีเวลาว่าง พยายามออกพื้นที่สำรวจหาพันธุ์ปลาในจังหวัดไกลๆ ช่วงนั้นผมได้รับมอบหมายจากบก.ให้ติดตามเรื่องผลกระทบของพันธุ์ปลาต่างถิ่นที่ถูกปล่อยลงในแหล่งน้ำธรรมชาติ เป็นงานที่สนุกแต่เหนื่อยไม่น้อย ผมสะพายกล้องถ่ายรูป สมุดสเก็ตช์ ถุงพลาสติกใส ตู้ปลาพลาสติกใบย่อม สวิงขนาดต่างๆ
เราไปเป็นทีม มีอิคธิโอโลจิสต์หรือนักมีนวิทยาจากกรมประมงและชาวบ้านในพื้นที่เป็นผู้นำ ผมพบการกลายพันธุ์ของปลานิลที่ส่งผลน่าหวาดหวั่นต่อระบบนิเวศ มันปรับตัวจนเบียดแทรกกลายเป็นปลาพื้นเมืองเราไปแล้วโดยทำลายสายพันธุ์ท้องถิ่นที่อ่อนแอกว่าอย่างกลุ่มปลาในวงศ์ซิพรายนิดี้หรือปลาตะเพียนบางชนิดให้สาบสูญไปอย่างถาวร ปลานิลเพศเมียขนาดใหญ่กว่าหนึ่งฟุตอมไข่เต็มปาก เมื่อบีบกระพุ้งแก้มของมัน ลูกปลามากกว่าสามร้อยตัวพรวดออกมาด้วยทีท่าแข็งแรง ไม่มีตายซักตัวเดียว ทั้งยังสามารถไล่ล่าตัวอ่อนแมลงน้ำขนาดเล็กๆกินเป็นอาหารได้ทันทีที่เราทดลองปล่อยลงในกระชังตาละเอียด สัตว์น้ำต่างถิ่นเป็นเรื่องที่น้อยคนจะให้ความสนใจ คงคิดว่าเป็นเรื่องไร้สาระ จะเป็นไรไปหากมีปลาซัคเกอร์หลุดลงไปในน้ำซักสองสามร้อยตัว ซัคเกอร์เป็นปลากินเศษอาหารกินตะไคร่ในตู้ปลาสวยงาม ลงไปอยู่ในคลองจะไปทำอะไรปลาอื่นได้ ดีเสียอีกจะได้ช่วยกินเศษขยะในน้ำให้หมดจด
ความจริงกลับตรงกันข้าม
ซัคเกอร์ใช้เวลาไม่นานก็สามารถปรับตัวให้อยู่รอดในลำคลองได้อย่างสบาย โดยอาศัยไข่ของปลาชนิดต่างๆที่วางไว้เป็นอาหารหลัก ธรรมชาติของปลาบ้านเราไม่มีระบบป้องกันสัตว์ปากดูดอย่างซัคเกอร์ซึ่งเป็นปลาจากทวีปอเมริกาใต้ มันขยายพันธุ์อย่างน่ากลัวยิ่งกว่าปลานิล ปัจจุบันพันธุ์ปลาท้องถิ่นในแหล่งน้ำที่พบซัคเกอร์เป็นจำนวนมากกลับลดลงไปอย่างน่าใจหาย ผู้เชี่ยวชาญจากกรมประมงทำนายไว้ว่าอีกไม่เกินสิบปี สายพันธุ์ปลาพื้นเมืองของไทยอาจสูญพันธุ์ไปอีกอย่างน้อยสิบห้าชนิด ห่วงโซ่อาหารกำลังถูกทำลายช้าๆ ผมจดบันทึกเรื่องเหล่านี้ไว้โดยละเอียด ถ่ายภาพตัวอย่างปลาโดยนำมาไว้ในตู้พลาสติกที่เตรียมไป ก่อนทำลายด้วยการนำมาย่างไฟกินเป็นอาหาร ภาพของนิคมอุตสาหกรรมปรากฏขึ้นมาในหัว มันมีชีวิต ทรงพลัง สามารถปรับตัวได้ดีเยี่ยม และขณะนี้มันกำลังเขมือบลำพูนที่ผมรักไปทีละน้อย..
จากคุณ :
อันโตนิโอ
- [
13 ก.พ. 47 23:28:37
]