~:+:~ ช่างสิบหมู่ ~:+:~

    วันก่อนไปอ่าน  Advanced Thailand Geographic ฉบับที่ 70 แล้วไปเจอ งานเขียนตัวนี้เข้า  เลยเก็บมาฝาก เพราะอ่านแล้วก็เกิดชอบขึ้นมา เลยขออนุญาตเอาบทความบางบทความมาแบ่งปันให้เพื่อน ๆ ได้อ่านกัน

        บทกลอนเหล่านี้อยู่ในหัวข้อ “ช่างสิบหมู่…มรดกคู่สยามประเทศ”

    เริ่มด้วยบทแรกที่ว่
                      ช่างเชี่ยวช่างชาญเป็นงานช่าง
                      ช่างสร้างช่างสรรค์เป็นงานศิลป์
                      ช่างควรช่างเคียงคู่ธานินทร์
                      ช่างสืบมิสูญสิ้นงานโบราณ
                             คือ ช่างเขียน ปั้น หุ่น แกะ สลัก
                             อีกช่างรัก กลึง หล่อ บุ ปูน ประสาน
                             เป็นตำนานช่างไทยมาแต่กาล
                            ชนประชาเรียกขาน “ช่างสิบหมู่”

    …..คำว่า “ช่างสิบหมู่” นั้นยังเป็นคำที่หาข้อยุติไม่ได้ ด้วยมีผู้ตีความแตกต่างกันไปหลายกระแส บ้างก็ว่า “สิบ” มาจากคำว่า “สิปปะ” ในภาษาบาลีซึ่งหมายถึง “ศิลปะ” บ้างก็หมายถึง “สิบ ๆ “ ซึ่งเป็นวิธีเรียกในสิ่งที่ยากแก่การนับ “ช่างสิบหมู่” จึงหมายถึงการมีช่างเป็นสิบ ๆ หมู่…..

    โดยเริ่มจาก  

    1. ช่างเขียน (Drawing)

                     รังสรรค์ความงามด้วยปลายพู่กัน
                      อีกแต้มเติมสีสันให้หลากหลาย
                  กระหวัดวาดเป็นเส้นสายและลวดลาย
                       ช่างระบายช่างเขียนให้ชนพิศ

    2. ช่างปั้น (Sculpting)

                      ก่อกำเนิดเป็นงานศิลป์ด้วยสองหัตถ์
                        ค่อย ๆ ปั้นตามอย่างใจเป็นรูปร่าง
                           ฝีมืองามประณีตทุกสรรพางค์
                           ชนเรียกขานผู้สร้างว่าช่างปั้น

    3. ช่างแกะ (Carving)

                      ปลายนิ้วบรรจงกรีดประณีตแกะ
                     ค่อย ๆ แซะแกะออกเป็นลายร่อง
                 เป็นงานหัตถ์แบบอย่างไทยตามครรลอง
                       ไม่เป็นสองรองใครในแดนดิน

    4. ช่างสลัก (Engraving)

                      เพริศพรายด้วยลายสลักเสลา
                         กำเนิดเป็นรูปเงาดั่งนิรมิต
                      ด้วยฝีมือหัตถกรรมทำหน้าพิศ
                      ช่างพินิจแล้วสลักเป็นลายงาม

    5. ช่างหล่อ (Moulding)

                      ตั้งจิตรังสรรค์ด้วยศรัทธา
                 หล่อหลอมมาเพื่อให้เป็นชิ้นงาน
                    ทุกอณูงามล้วนด้วยตระการ
              ด้วยชำนาญและวิญญาณแห่งช่างหล่อ

    6. ช่างกลึง (Turning)

                      ช่างกลึงอีกหนึ่งในช่างสิบหมู่
                      นรชนคนไทยพึงรู้เร่งสืบสาน
                     เปรียบเสมือนวิถีไทยแต่โบราณ
                      กิจการงานบรรพบุรุษรุดรักษา

    7. ช่างหุ่น (Modelling)
               
                       คำว่าหุ่น ณ ที่นี้คือรูปร่าง
               ผู้สรรค์สร้างประดิษฐ์ให้เป็นงานศิลป์
                เป็นมรดกไทยแต่นานมาคู่ธานินทร์
                 เรียกช่างศิลป์ผู้เสกสรรค์ว่าช่างหุ่น

    8. ช่างรัก (Lacquering)

                      ลูกสืบทอดหลานสืบสานมานานนัก
                      กับช่างรักช่างชำนาญงานวิจิตรศิลป์
                               ทำนุรู้รักษาไว้มิสูญสิ้น
                           คู่แดนดินถิ่นสยามชั่วกัปกัลป์

    9. ช่างบุ (Metal Beating)

                      จากทองก้อนแล้วตีแผ่เป็นแผ่นกว้าง
                        เพื่อสรรค์สร้างรูปทรงตรงตามหวัง
                            บุประสานสืบงานศิลป์ให้จีรัง
                        ประดุจดังทวยเทพสร้างประทานมา

    10.ช่างปูน (Plastering)

                      ก่ออิฐถือปูนอย่างเชี่ยวชาญ
                 กลับกลายเป็นชิ้นงานตามประสงค์
                    ด้วยฝีมืออันประณีตและบรรจง
                      ลูกหลานพึงธำรงค์ให้สืบไป


    ท้ายบทความมีที่มาอ้างเอกสารอ้างอิงไว้ว่า
    ช่างสิบหมู่, การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย กรุงเทพฯ, 2540
    ช่างสิบหมู่กับศิลปะไทย, โลกศิลปะ. ซานต้าลูเซีย. กรุงเทพฯ, 2536

        เพื่อน ๆ พี่ น้อง ๆ คนใดสนใจจะอ่านรายละเอียดต่อก็หาอ่านได้จาก Advanced Thailand Geographic ฉบับที่ 70 ข้างในจะบอกถึงรายละเอียดของช่างทั้งสิบหมู่ที่นับวันคนรุ่นใหม่จะลบเลือนกันไปบ้างแล้ว และหาคนสืบทอดได้ยากเต็มที

    ขอบคุณหนังสือเล่มนี้ที่นำความรู้ดี ๆ มาให้ เลยแบ่งปันมาให้เพื่อน ๆ ชาวถนนได้อ่านกัน  ข้อความสุดท้ายในหนังสือที่กล่าวถึงช่างสิบหมู่ในหนังสือมีว่า..

        …ทุกวันนี้งานฝีมือจากช่างไทยโบราณยังคงมีปรากฏให้ชนรุ่นหลังได้ชื่นชมกันอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย แต่ก็เป็ฯที่น่าเสียดายว่า ผลงานต่าง ๆ เหล่านั้น ไม่ได้ปรากฏชื่อของผู้ที่ได้สร้างสรรค์ผลงานชิ้นนั้น ๆ เอาไว้

        ช่างไทย จึงเป็นช่างนิรนามที่พยายามสร้างบ้านแปงเมืองให้สวยงามตามเอกลักษณ์ไทยที่ไม่ซ้ำแบบใครในโลก

        สิ่งสำคัญที่สุดคือเยาวชนคนรุ่นใหม่น้อยคนนักที่จะให้ความสนใจศึกษาอย่างจริงจัง มรดกไทยที่มีมาแต่อดีตอย่างช่างสิบหมู่จึงถูกลืมเลือนเข้าไปทุกที ๆ ตามห้วงแห่งกาลเวลาที่หมุนเวียน….

    แก้ไขเมื่อ 24 เม.ย. 47 14:19:51

    แก้ไขเมื่อ 24 เม.ย. 47 14:06:29

    จากคุณ : เปียร์รุส - [ 24 เม.ย. 47 14:03:44 ]