~@~นาฬิกาแขวนเรือนนั้น...ที่หายไป~@~

    จากเรื่อง...Nakunatta hashiradokei
    ของ...Takagi  Takeshi
    ****************************************************

    " teketen terenga tensuku sutten"
    เสียงของคุณโมจิซึกิ ที่ตะโกนร้องบอกจังหวะ ให้ประสานกับที่มิกะและเพื่อนๆกำลังตั้งอกตั้งใจถือไม้รัวหน้ากลอง
    หอประชุมนั้นกว้างใหญ่ ทำให้เสียงกลองดังกระหึ่มกังวาล

    ในเดือนเมษาของทุกปี เมืองที่มิกะอาศัยอยู่นั้นจะมีเทศกาลประจำปี เด็กๆที่อยู่ในเกณฑ์อายุกำลังจะขึ้นชั้นป.ห้าของเมืองนี้ จะได้รับการอนุญาตให้ตีกลองในงานเทศกาลประจำปีได้ ซึ่งพวกเค้าจะต้องยืนตีกลองอยู่บน...ดาชิ (รถที่จะนำออกมาเพื่อการพิธีนี้โดยเฉพาะ)

    มิกะและพวกเด็กๆผู้ชายอีกหลายคนที่กำลังจะขึ้นชั้นป.ห้าก็เช่นกัน พวกเค้าต่างก็กำลังหมั่นฝึกซ้อมตีกลองประจำพิธีกันอย่างขมักเขม้น ขันแข็ง

    "อ้าว!...จะสองทุ่มแล้วล่ะ...เด็กๆ...วันนี้พอแค่นี้ก่อนก็แล้วกัน"
    คุณโมจิซึกิที่เป็นครูฝึก ดูนาฬิกาข้อมือพลางตะโกนบอกเด็กๆ "ขอบใจมากนะทุกๆคน ที่ตั้งใจมาฝึกกันทุกวัน...พยายามเข้านะ" แล้วแกก็จะพูดอย่างนี้ไปพลาง พร้อมกับแจกน้ำผลไม้เย็นฉ่ำให้พวกเราทุกคน

    คุณโมจิซึกิทำงานอยู่ในสภาตำบล ที่เดียวกับพี่ชายของมิกะ หลังเลิกงาน คุณโมจิซึกิจะมาทำการสอนและฝึกซ้อมการตีกลองพิธีให้กับเด็กๆอย่างพวกมิกะที่หอประชุมศาลาประชาคมแห่งนี้

    เวลาที่มีการเล่นกีฬ่าพวกซอฟท์บอล หรือกิจกรรมอื่นๆ
    เด็กๆมักจะได้รับการดูแลจากคุณโมจิซึกิที่มาช่วยงานอยู่เสมอๆ จนเป็นที่รู้จักดี  "มดจัง...มดจัง...." เด็กๆเรียกคุณโมจิซึกิด้วยชื่อนั้นอย่างคุ้นเคย และติดคุณโมจิซึกิแจ...ที่มิกะเข้าปะปนร่วมตีกลองพิธีกับเด็กๆผู้ชาย ก็เพราะมีคุณโมจิซึกิน่ะแหละ

    "นี่ทุกคน...สองทุ่มกว่าแล้ว...รีบๆดื่มน้ำผลไม้ให้เสร็จแล้วก็กลับบ้านกันได้แล้ว" แล้วคุณโมจิซึกิ ก็มองดูนาฬิกาข้อมืออีกที...ตอนนั้นเองที่มิกะเริ่มสังเกตเห็นอะไรบางอย่าง
    ...ทำไมที่หอประชุมศาลาประชาคมนี่ ไม่มีนาฬิกาแขวนบอกเวลานะ?...

    ความจริงหอประชุมศาลาประชาคม เป็นที่ชุมนุมของผู้คนที่เข้ามาพบปะประชุมกิจกรรมกัน ก็น่าจะมีนาฬิกาติดไว้ที่กำแพงให้ดูบอกเวลา เหมือนอย่างที่โรงเรียนมีนี่นา  มิกะรู้สึกแปลกใจตะหงิดๆจนอดรนทนไม่ไหว เลยเข้าไปถามคุณโมจิซึกิ

    "มดจัง...ทำไมที่หอประชุมไม่มีนาฬิกาล่ะคะ...!?
    ความจริงถ้ามีนาฬิกาติดอยู่ คุณก็คงไม่ต้องก้มดูนาฬิกาบ่อยๆแบบนั้นนี่"
    คุณโมจิซึกิยิ้มน้อยๆหลังจากได้ยินมิกะพูด
    "หอประชุมแห่งนี้น่ะ...ไม่มีนาฬิกามาตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์โน่นแล้วล่ะจ้ะ มิกะ"
    "หืมมม....!!"

    แต่ถึงอย่างไรมิกะก็เข้าใจไม่ได้อยู่ดี ทำให้อยากรู้ไปมากขึ้นว่ามีสาเหตุมาจากอะไร หอประชุมแห่งนี้จึงไม่มีนาฬิกาบอกเวลาที่ข้างฝากำแพง  ค่ำนั้น.. หลังจากที่มิกะกลับบ้านและลงมือทานข้าวซึ่งเป็นอาหารเย็นที่ค่อนข้างดึก  มิกะ เอ่ยปากถามพ่อไประหว่างมื้อนั้น

    "พ่อจ๋า...ทำไมที่หอประชุมศาลาประชาคมไม่มีนาฬิกาแขวนให้ดูเวลาอยู่เลยล่ะจ๊ะ ถามมดจัง มดจังก็บอกว่าไม่มีมานมนานตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว หนูล่ะสงสัยจังเลยพ่อ"

    พ่อยิ้มให้มิกะเมื่อถูกถาม แล้วปากของพ่อก็เริ่มเล่าเรื่องราว  "นานมาแล้วล่ะลูก....ประมาณยี่สิบปีมาแล้วละมัง..."
    "โห...จากเดี๋ยวนี้ไปอีกยี่สิบปีที่แล้ว..."

    "สมัยที่ศาลาประชาคมยังเป็นตึกเก่าๆ ก่อนที่จะได้รับการซ่อมแซมให้ดูใหม่เหมือนเดี๋ยวนี้ สมัยนั้นอุปกรณ์เครื่องอำนวยความสะดวกอะไรต่างๆยังมีไม่เพียงพอ ศาลาประชาคม ก็เป็นที่ดูแลเด็กๆที่มารวมกันอยู่อย่างตอนนี้น่ะลูก  เวลาที่พ่อแม่ของเด็กๆไปทำงาน เด็กๆก็จะพากันมาเล่นเพื่อคอยพ่อแม่  ในจำนวนเด็กๆเหล่านั้นก็มีเด็กคนนึงชื่อ เค็น อยู่ด้วยล่ะ

    เค็น ถึงแม้จะเป็นเด็กที่มีอายุน้อยที่สุดในบรรดากลุ่มเด็กนั้น  แต่เค้าก็เป็นเด็กที่แข็งแรงที่สุด แล้วก็ซุกซนที่สุดด้วย
    ทุกวันเค็นจะไปที่นั่น อ่านหนังสือบ้าง เล่นกับเด็กรุ่นพี่บ้างจนมืดค่ำ  เพื่อคอยพ่อแม่ทำงานเสร็จ แล้วมารับเค้ากลับ
    "มง....มง....มง...." เสียงนาฬิกาแขวนที่ศาลาประชาคมจะดังหกครั้งในตอนหกโมงเย็น

    "เฮ้ยยย....หกโมงแล้วววว...."
    นาฬิกาแขวนที่นั่นเป็นนาฬิกาแขวนใช้ถ่านแบตเตอรี่
    ตัวเรือนดูสวยงามมีราคา ที่ได้รับบริจาคมาจากชาวบ้านให้เป็นของสำหรับศาลาประชาคม เวลาที่นาฬิกาตีบอกเวลาหกโมงเย็น พวกพ่อแม่ของเด็กๆที่ทำงานเสร็จแล้ว ต่างก็จะมารับลูกๆกลับบ้าน  แล้วทุกครั้ง กว่าที่พ่อแม่จะมาถึง เวลาก็ผ่านไปช้ามากกว่าคนอื่น ต้องเหลือเค้าคอยอยู่ที่นั่นคนเดียวก็คือ เค็น

    เวลาที่เด็กๆกลับไปหมดแล้ว คนดูแลสถานที่ใจดีที่นั่น
    เห็นเค็นเหลืออยู่คนเดียวนั่งเหงาๆก็จะมาอยู่เป็นเพื่อนเค็น
    ดูทีวีด้วยกันบ้าง เพื่อรอพ่อแม่ของเค็นมารับ

    อยู่ๆวันหนึ่ง "เค็น...หายตัวไปไหนก็ไม่รู้" เด็กที่อยู่ที่นั่นกันประจำเริ่มส่งเสียงผิดปรกติ คนดูแลสถานที่รวมทั้งเด็กๆที่เล่นกันอยู่ที่นั่น ตกอกตกใจ พากันตามหาเค็นทั่วศาลาประชาคม ตะโกนเรียกชื่อหาเท่าไหร่ก็หาไม่พบ

    พ่อแม่ที่ถึงเวลากลับมารับลูก รวมทั้งเจ้าหน้าที่ที่ทำงานอยู่ในสภาตำบล ต่างก็มาช่วยกันหาเค็นไปพร้อมๆกับคนดูแลศาลาประชาคม จนกลายเป็นเรื่องใหญ่โตขึ้น ในที่สุดคนดูแลศาลาประชาคม ตัดสินใจที่จะโทรศัพท์บอกตำรวจ

    "มง....มง....มง" เสียงตีของนาฬิกาดังขึ้น
    ทุกคนหันขวับไปมองที่ตั้งของนาฬิกาแขวน แต่ว่าตรงนั้น...ไม่มีนาฬิกา....เสียงตีของนาฬิกาดังต่อไปจนครบหกครั้ง และมันดังลอดออกมาจากชั้นเก็บฟุตง(ที่นอน)ของศาลาประชาคม

    พอทุกคนไปที่นั่น เปิดประตูชั้นเก็บที่นอนออก
    ร่างที่นอนกอดนาฬิกาไว้กับอก และหลับอย่างสุขสบายของเค็น ก็อยู่ที่นั่น

    เวลาหกโมงกว่าของทุกๆวัน เด็กจะกลับบ้านกันไปหมดแล้วเหลือเพียงเค็นที่ต้องอยู่อย่างหงอยเหงาทุกวัน
    เค็นคงคิดว่า ถ้าไม่มีนาฬิกาตีบอกเวลา เด็กๆก็คงไม่กลับบ้าน  และยังอยู่เป็นเพื่อนเล่นกับเค้าจนพ่อแม่กลับมารับละมัง

    เวลาที่ทุกคนกำลังเล่นกันอย่างสนุกสนาน เพลิดเพลิน
    เค็นคงจะเอาเก้าอี้มาปีนและพยายามปลด หอบเอานาฬิกาแขวนลงมา ผู้ใหญ่ทุกคนที่อยู่ตรงนั้น มองดูหน้าเค็นที่นอนหลับไหลกอดนาฬิกา แม้ว่าเสียงนาฬิกาจะตีบอกเวลาแต่เค็นก็ยังไม่ตื่น แล้วรู้สึกเหมือนเค็นกำลังภาวนา อ้อนวอนอะไรบางอย่าง

    "คงจะเป็นสาเหตุนี้ละมังลูก ที่ทำให้ตั้งแต่นั้นมา ศาลาประชาคมเลยไม่มีใครติดตั้งนาฬิกาแขวนไว้ที่นั่นอีกเลย"
    แล้วเรื่องราวที่ถ่ายทอดออกมาจากปากพ่อ ก็จบลงตรงนั้น....

    มิกะฟังเรื่องราวแล้วนึกขึ้นได้กับอะไรบางอย่าง
    คุณโมจิซึกิ ที่มิกะและเด็กทุกคนรักนั้น ชื่อจริงแกชื่อ "เค็นจิ"  "ถ้างั้น เด็กที่ชื่อเค็น.....ก็มดจังของพวกเรารึเปล่า?"
    มิกะคิดและเชื่ออย่างนั้นอยู่แล้ว

    จนบัดนี้...ที่ศาลาประชาคมแห่งนั้น ก็ยังไม่มีนาฬิกาบอกเวลาติดอยู่เหมือนเคย.....



    จากผู้แปล...โดยปรกติ คนญี่ปุ่นจะเรียกชื่อโดยใช้นามสกุล เช่นโมจิซึกิ เค็นจิ
    นามสกุลคือ โมจิซึกิ และชื่อจริงคือ เค็นจิ
    และอาจจะตั้งชื่อย่อจากนามสกุลเพื่อเรียกให้สนิทสนมขึ้น
    ส่วนชื่อจริง จะเป็นบุคคลในครอบครัว หรือเพื่อนสนิทจริงๆเท่านั้นที่มักจะนิยมเรียกกัน

    ตามเขตต่างๆของแต่ละเมืองในญี่ปุ่นส่วนใหญ่
    สถานที่ราชการเช่น สภาตำบลในเรื่องนี้
    จะมีตึกกิจกรรมแยกเป็นศาลาประชาคมสำหรับคนในชุมชน  โดยอาจจะมีชื่อแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น
    เพื่อให้คนในชุมชนนั้นๆได้มาทำกิจกรรมร่วมกัน
    หรือมาประชุมหารือเพื่อทำกิจกรรมส่วนรวมในการพัฒนาความเจริญในชุมชนของตน.....

    ไม่ได้เข้ามานานเป็นเดือน...เพราะติดงานที่นี่จนไม่มีเวลามานั่งนานๆ อ่านหนังสือทอดอารมณ์เลยค่ะ
    พอมาจับหนังสืออ่านอีกครั้ง ก็อดที่จะแปลออกมาเป็นภาษาไทยบนแป้นพิมพ์ไม่ได้ หวังว่าเรื่องแปลเรื่องนี้คงทำให้ผู้อ่านเพลิดเพลินบ้างไม่มากก็น้อยนะคะ...ขอบคุณค่ะที่เข้ามาชมกระทู้นี้....

    แก้ไขเมื่อ 28 เม.ย. 47 12:24:53

    แก้ไขเมื่อ 28 เม.ย. 47 12:16:31

     
     

    จากคุณ : ปาน-Sapporo - [ 28 เม.ย. 47 12:11:27 ]