เรื่องของหมู่บ้านที่ (49 + 1 = 0)
"วัดเอ๋ย วัดโบสถ์มีตาลโตนดเจ็ดต้น เจ้าขุนทองไปปล้น ป่านฉะนี้ไม่เห็นมา..."
เสียงเพลงกล่อมเด็กที่แว่วเคล้าสายลมยามบ่ายที่พัดผ่านทุ่งข้าวซึ่งทอดยาวมาตลอดแนวถนนโรยกรวดชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ เมื่อผมเดินเข้าไปใกล้เขตรั้วต้นไม้ของบ้านและที่ทำการของ'พ่อหลวง'หรือ ผู้ใหญ่บ้านในภาษาถิ่นเหนือ
เจ้าด่างที่นอนนิ่งอยู่ใต้เงาพุ่มไม้ข้างประตูชันหูขึ้นทันทีที่ได้ยินเสียงฝีเท้า ลุกขึ้นเป็นต้นเสียงเห่าเรียกพรรคพวกให้กรูกันออกมา ส่งสัญญาณบอกนายของมันว่ามีคนมาหา แล้วเพลงกล่อมเด็กที่ผมได้ยินนั้นก็ขาดเสียงลง
"อ้าว... นึกว่าใคร" ชายสูงวัยร่างสันทัด ผิวคล้ำ ผมสีดอกเลา แต่ยังดูคล่องแคล่ว แข็งแรงซึ่งนั่งตัดกระดาษสีขาวอยู่ที่แคร่ไม้ไผ่ใต้ต้นมะม่วงวางกรรไกรแล้วลุกขึ้น ฉวยไม้ไผ่ซีกเล็กๆ ติดมือออกมาแกว่งไล่ลูกสมุนของตนซึ่งกำลังล้อมหน้าล้อมหลังผม และบางตัวก็เข้ามาดมๆ สำรวจว่าน่าไว้ใจพอจะปล่อยเข้าไปหาเจ้านายของตัวเองได้ไหม
"แม่... อาจารย์มาแน่ะ หาน้ำหาท่ามาให้อาจารย์หน่อย" เขาตะโกนบอกภรรยา สิ้นเสียงก็มีคำขานรับจากคนในบ้าน ส่วนลูกน้องสี่ขาทั้งหลายนั้น เมื่อเห็นว่าผมมาอย่างมิตร ก็หมดหน้าที่แล้วพากันไปนอนหลบร้อนตามมุมต่างๆ ของมันตามเดิม
พ่อหลวงสวัสดิ์ชวนให้ผมไปนั่งด้วยกันที่แคร่ แต่เดิมเขาเคยเป็นผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรตำบลนี้มาก่อน แต่ทำได้ไม่กี่ปีก็ลาออกจากราชการแล้วก็ชวนภรรยาที่อยู่อยุธยามาปลูกบ้าน ทำสวน อ่านเขียนหนังสือไปตามเรื่องที่นี่มาสักสิบปีได้ส่วนลูกชายกับลูกสะใภ้ลาออกจากพนักงานบริษัทเอกชนมาทำอินเตอร์เน็ตคาเฟ่กับร้านหนังสือมือสองที่อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน นานๆ จะมาสักครั้งแต่ก็คุ้นเคยกับคนแถวนี้ดี
"ไฮเดรนเยียน่ะ อาจารย์ ผมนึกสนุกเลยลองซื้อมาปลูกได้หลายปีแล้ว..." เขาอธิบายให้ฟังด้วยน้ำเสียงภูมิใจ เมื่อเห็นผมมองต้นไม้ใบกว้างผลิดอกเป็นช่อสีชมพูสวย ณ มุมหนึ่งของรั้ว "ถึงอากาศที่นี่จะดี แต่บางวันก็ร้อนเอาเรื่อง ผมกลัวเหมือนกันว่ามันจะตายเอา เพราะตอนที่ซื้อมาราคาแพงระยับทีเดียว แต่เลี้ยงไปเลี้ยงมา ให้ถูกแดดสักครึ่งวัน ให้น้ำมากหน่อย มันก็โตแฮะ แถมออกดอกเป็นสีชมพูด้วย เห็นคนขายเขาว่าถ้าปลูกในดินที่มีธาตุเหล็กมากหน่อยก็จะได้สีนี้ สวยไปอีกแบบ"
"เย็นนี้ ผมว่าจะไปหาอาจารย์อยู่ทีเดียว" เขาทิ้งตัวลงนั่ง กล่าวยิ้มๆ ขณะผมควักผ้าเช็ดหน้าออกมาซับเหงื่อ จับคอเสื้อเชิ้ตที่เปียกจนแนบตัวกระพือให้ลมเข้า "อาจารย์เดินตากแดดมาไม่ร้อนแย่หรือนั่น ทำไมไม่รอให้แดดร่มลมตกเสียก่อน หรือไม่ก็ขับรถมาล่ะ..."
"พอทนได้ครับ ผมคิดว่าไหนๆ แวะดูนักศึกษาแล้ว วัดเองก็ไม่ห่างจากบ้านพ่อหลวงเท่าไหร่ ที่นี่มีสิ่งที่ผมยังไม่เคยเห็นเคยรู้อีกมาก ผมอยากสำรวจอะไรตามทางไปเรื่อยๆ ถ้าขับรถมามันก็เร็วเกินไปเสียจนสังเกตอะไรไม่ทัน ผ่านแล้วก็เลยไปเท่านั้น ผมเลยทิ้งรถไว้ แล้วเดินมาน่ะครับ" ผมตอบตามตรง
ในภาคการศึกษาหน้า ผมต้องสอนวิชากฎหมายและสังคมแทนอาจารย์รุ่นพี่ซึ่ง "Sab. Leave" - Sabbatical Leave ลาเพื่อเพิ่มพูนวิชาการ หรือพูดตามที่แกบอกก็ต้องว่า 'หยุดสอนหนึ่งปี ไปนั่งเขียนตำรา'
สำหรับวิชานี้ แม้จะได้ชื่อว่าเป็นอาจารย์ แต่ผมก็ยังรู้สึกว่าตัวเองตะกายพ้นจากกะลาออกไปได้ไม่ไกลพอที่จะสอนได้ดีเทียบเท่ากับเจ้าของวิชาคนเดิม เพราะมีอีกหลายสิ่งในโลกนอกตำรายังให้ผมต้องเรียนรู้ เพื่อมองสิ่งต่างๆ รอบตัวให้รอบด้านมากขึ้น นี่คือเหตุผลหนึ่งที่ผมตามมาช่วยแฟนที่เป็นอาจารย์ด้านสังคมวิทยาพานักศึกษามาทัศนศึกษาในหมู่บ้านที่ขึ้นชื่อเรื่องการมีส่วนร่วมในการจัดการระบบชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพเพราะมีเครือข่ายทางสังคมที่เหนียวแน่นแข็งแรงมากแห่งหนึ่งครั้งนี้
เรื่องที่เธอกับอาจารย์คนอื่นรวมทั้งนักศึกษาในภาควิชาสนใจเป็นพิเศษคือการมีส่วนร่วมและระบบความสัมพันธ์ของคนในชุมชน ส่วนผมเน้นที่ความขัดแย้งของกฎเกณฑ์ชุมชนและกฎหมายบ้านเมือง เพราะพื้นที่ที่หมู่บ้านนี้ตั้งอยู่แต่ดั้งเดิมนั้นทับซ้อนอยู่กับเขตที่ทางราชการได้ประกาศเป็นเขตป่าสงวนภายหลังจากการออกพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติที่นิยามคำว่า 'ป่า' ว่าเป็นที่ดินรกร้างไม่มีเอกสารสิทธิ์ บ้านเรือนและเรือกสวนไร่นาของชาวบ้านหลายรายที่ไม่มีหน่วยงานเข้ามาออกเอกสารสิทธิ์ให้จึงกลายเป็น 'ป่า' ในความดูแลของกรมป่าไม้ไปโดยปริยาย
ต่อมาทางการได้เปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนจนเกิดความขัดแย้งกับคนในพื้นที่ และความขัดแย้งนั้นได้ทวีความรุนแรงมากขึ้น เมื่อทางกรมที่ดินได้ทำการเดินสำรวจเพื่อออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดินอีกครั้งหนึ่ง แต่ปรากฎว่าที่ดินทำกินของชาวบ้านแทบทั้งหมู่บ้านได้กลายเป็นของผู้มีอิทธิพลรายหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ปัญหาดังกล่าวกลับกลายเป็นจุดเริ่มต้นให้ชาวบ้านรวมตัวกันเหนียวแน่นยิ่งขึ้น กล้าที่จะเรียกร้องสิทธิในที่ดินทำกินของตนกับทางราชการจนกระทั่งได้ชัยชนะในที่สุด แม้ปัจจุบัน การจัดการทรัพยากรป่าไม้ในพื้นที่บางส่วนจะยังไม่ลงตัวก็ตาม เนื่องจากตามตัวบทกฎหมายแล้วยังนับว่าพวกเขาเป็นผู้บุกรุกในสายตาของราชการอยู่ดี เพราะเข้าไปทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนโดยไม่ได้รับอนุญาต แม้ในความเป็นจริงแล้ว กฎหมายต่างหากที่เป็นฝ่ายทำให้เขากลายเป็นคนผิด หากคนในชุมชนก็ยังยืนยันสิทธิจัดการทรัพยากรใน 'บ้าน' ของตนดังที่เคยเป็นมา โดยกฎเกณฑ์การใช้และดูแลมาจากมติร่วมของคนในหมู่บ้านและเครือข่ายชุมชนใกล้เคียงซึ่งประสบปัญหาเดียวกันแล้วเข้ามาร่วมงานกันภายหลัง
จุดที่น่าสนใจอีกจุดหนึ่งสำหรับผมก็คือ ตัวพ่อหลวงสวัสดิ์เอง เนื่องจากในอดีต เป็นคนของทางการในช่วงที่มีความขัดแย้งดังกล่าวระเบิดถึงจุดสูงสุด แต่กลับเป็นคนที่ได้รับการยอมรับและเคารพจากชาวบ้านมากจนกระทั่งได้รับเลือกให้เป็นผู้ใหญ่บ้าน ผมสังเกตเห็นว่าชาวบ้านนับถือเขาที่พระคุณ ไม่ใช่พระเดช และเขาเองก็เรียนรู้วิถีชีวิต วัฒนธรรมท้องถิ่นจนสามารถสนิทสนมกลมกลืนไปกับชาวบ้าน นอกจากนั้นยังเป็นที่ปรึกษาในงานที่เกี่ยวข้องกับทางราชการและงานทั่วไปให้กับชาวบ้านได้เป็นอย่างดีด้วย
เวลาสิบปีอาจทำให้คนสนิทกันได้ แต่ก็น้อยเกินไปสำหรับคนที่เคยมีปัญหาสะสมกันมาแต่เดิม
ถ้าไม่เคยเป็นคนในท้องถิ่นแต่ดั้งเดิมแล้วย้ายออกไปก่อนที่จะกลับมาอีกครั้งแล้ว มีอะไรที่ทำให้ข้าราชการตำรวจอย่างเขาคนนี้... ซึ่งตามธรรมดาแล้ว ประชาชนส่วนใหญ่ที่ไม่มีอำนาจต่อรองทั้งเกรงทั้งกลัว ไม่อยากเข้าไปยุ่งเกี่ยวหรือขัดใจ ด้วยหวั่นว่าตนเองและครอบครัวจะเดือดร้อน โดยอาจเห็นความรู้สึกเช่นนั้นของชาวบ้านทั่วไปได้ง่ายๆ จากการที่พ่อแม่ขู่ลูกที่ดื้อว่าจะเอาตำรวจมาจับ... ได้รับการยอมรับชนิดหมดใจ
"ว่าแต่ อาจารย์อมรเป็นอย่างไรบ้างล่ะ... ตอนติดรถอาจารย์มาผมก็ลืมถามไป" เขาถามถึงอาจารย์ภาควิชาเดียวกันกับแฟนผมซึ่งเกิดปวดท้องขึ้นมากระทันหันจนต้องนำขึ้นรถกระบะของผมไปส่งโรงพยาบาลทั้งที่เพิ่งพานักศึกษามาลงพื้นที่ได้เพียงวันแรก เพราะรถโดยสารหกล้อหน้าตาเหมือนรถสองแถวขนาดยักษ์ ที่เราเรียกกันติดปากว่า 'รถขนหมู' ของคณะกลับไปแล้วและจะกลับมารับอีกครั้งในช่วงบ่ายของวันมะรืน
ช่วงสายๆ ของวันนี้ ขากลับจากโรงพยาบาลหลังขับรถไปส่งและอยู่เป็นเพื่อนอาจารย์อมรคืนหนึ่ง ผมพบรถกระบะของพ่อหลวงกับลูกบ้านซึ่งบรรทุกโลงศพที่ไปรับมาจากกรุงเทพฯ จอดตายอยู่ข้างทาง ผมจึงอาสารับพวกเขา รวมทั้งโลงศพขึ้นรถไปส่งที่วัดด้วย
"ไส้ติ่งอักเสบน่ะครับ โชคดีที่ไปถึงโรงพยาบาลทัน ตอนนี้ปลอดภัยแล้ว"
"อย่างนั้นก็ดี" เขาเอ่ยอย่างโล่งใจ "แต่ยังไงก็ต้องขอบใจอาจารย์จริงๆ ที่ช่วยพาเจ้าทอง... คนในโลงน่ะ ไปส่งที่วัด ห่างบ้านไปลำบากอยู่นานเหลือเกิน พอได้กลับก็ต้องกลับมาสภาพนี้"
ใบหน้ายิ้มแย้มคราแรกของเขาสลดลงชั่ววินาที ก่อนเปลี่ยนสีหน้าและเปลี่ยนเรื่องคุย "ตะกี้ อาจารย์มาถึงแล้วทำไมไม่เรียกผมล่ะ ยืนนิ่งให้พวกไอ้ด่างไอ้โก้งเห่ากันขรมเชียว กลัวมันกัดเอาหรือ"
คำถามของเขาทำให้ผมนึกถึงเสียงเพลงกล่อมเด็กที่ผมได้ยินขึ้นมาได้ แม้อาทรและอ่อนโยน แต่ชวนให้เย็นเยียบอยู่ในใจอย่างบอกไม่ถูก อาจเป็นเพราะผมไม่ได้ยินเพลงเหล่านี้มานาน เนื่องจากสมัยนี้ คงยากจะหาใครที่มีเวลาพอเจียดมาร้องเพลงกล่อมให้ลูกหลับแล้วกระมัง
"เพลงกล่อมเด็กที่ผมได้ยินนี่..."
***********************************
(มีต่อค่ะ)
จากคุณ :
ปิยะรักษ์
- [
10 มี.ค. 48 15:45:02
]