CafeTech-ExchangePantip MarketChatPantownBlogGangGameRoom


    ของฝากเพื่อนๆ วิธีอยากเป็นนักเขียน+นักแปล เนื่องในวันสุนทรภู่

    ถนนนักเขียนเป็นที่เดียวในพันทิปที่ลงท้ายว่า วันสุนทรภู่ นะคะ  ที่ห้องอื่นเป็นวันต่อต้านยาเสพติด..  เลยคิดถึงเพื่อนๆที่เขียนงาน หรือแปลงาน หรือ "หัวอกเดียวกันกะโตมิฯ" ว่าจะทำงานกันยังไง   เก็บเอาของมาฝากจากเวบของมติชนคะ  เขียนโดย คุณกองบอกอตัวเล็ก  อ่านแล้วมีประโยชน์สำหรับเพื่อนๆที่เป็นคนเขียนงาน คนแปลงาน  และอยากพิมพ์งานส่งตาม สนพ.  เพราะคนของสนพ.เขียนบอก ไว้ค่อนข้างดีและละเอียด  

    ดังนี้คะ ดอกไม้  

    1. ถามใจตัวเองก่อนว่าชอบเขียนแนวไหน - คุณ อยากจะเขียนเรื่องอะไร หรือชอบแปลแนวไหน เพราะถ้าเราได้เขียนหรือแปลหนังสือที่เราชอบ เราก็จะสนุกกับมัน งานก็จะออกมาดี อ๊ะ!…อย่าบอกนะว่าชอบทุกแนวก็เลยอยากเขียนหลาย ๆ แนวไว้ในเล่มเดียวกัน ต้องเลือกให้ได้ชัด ๆ สักแนวในหนึ่งเล่ม

    2. รอบรู้เรื่องเกี่ยวกับหนังสือที่คุณจะเขียน/แปล - อย่างเช่น ถ้าเราอยากจะเขียนนิยายให้พระเอกเป็นตำรวจ เราก็ควรจะรู้เรื่องยศเรื่องตำแหน่งของตำรวจให้ถูกต้อง จะมาเอาแต่เฉลยตอนจบอย่างเดียวว่า ‘พ้ม..ร้อยตำรวจเอกเก่งกาจปลอมตัวมา’ แต่ตั้งแต่ต้นเรื่องเรื่อยมาลักไก่ตลอดไม่ได้แล้ว หรือว่าบางคนชอบอ่านวรรณกรรมแปลและอยากเป็นนักแปล ก็ควรจะมีความรู้ด้านภาษาอังกฤษหรือภาษาต่างประเทศในระดับเชี่ยวชาญ ยิ่งถ้าคุณรู้ในภาษาที่คนอื่นรู้กันยังไม่เยอะนัก โอกาสของเราก็จะสูงกว่าคนอื่นๆ

    นอกจากรอบรู้แล้วควรจะจริงใจกับข้อมูลที่คุณจะเขียน/แปลด้วย เช่น บางคนเขียนตำราทำขนม แต่ขยักสูตรไว้อย่างละนิดละหน่อย คนอ่านเค้าลองทำตามแล้วไม่ได้เรื่องสักที ต่อไปถ้ามีชื่อคนเขียนคนนั้นอยู่บนปก คนอ่านก็จะมองผ่านไปไม่แม้แต่จะหยิบขึ้นมาดู

    3. เขียนให้ใครอ่าน - อันนี้สำคัญมากค่ะ เราต้องระบุให้ได้ว่าใครเป็นคนอ่านกลุ่มเป้าหมายใหญ่ของเรา จะได้กำหนดแนวทางการเขียนให้เหมาะสม เช่นถ้าคุณอยากเขียนเรื่องวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กก็ไม่ควรใช้ศัพท์เฉพาะทางหรือศัพท์ภาษาอังกฤษที่มันยาก ๆ หรือถ้าคุณเขียนหนังสือตำราวิชาการก็ควรใช้ภาษาที่เป็นทางการ ถ้ามาใช้ภาษาตลกเฮฮาก็จะทำให้ขาดความน่าเชื่อถือ

    การระบุผู้อ่านได้นั้นจะทำให้เราสามารถประมาณความยาวของเรื่องและราคาของหนังสือ รวมทั้งลูกเล่นต่าง ๆ ที่จะประกอบเนื้อเรื่องได้คร่าวๆ เช่น ถ้าเป็นหนังสือเด็กก็ต้องสั้น ๆ มีภาพประกอบเยอะ ๆ เป็นต้น

    4. สำรวจตลาด - ไปดู ๆ ตามร้านหนังสือว่าเค้าขายเค้าอ่านอะไรกัน ไม่ใช่ว่าบางคนชอบสมุยก็จะเขียนแต่เรื่องสมุยถึงแม้ว่ามันจะมีหนังสือสมุยเบียดเสียดกันอยู่บนแผงแล้วพันสามร้อยเล่มก็ยังยืนยันจะเขียน สำนักพิมพ์ส่วนใหญ่ไม่ค่อยอยากจะพิมพ์หนังสือที่มีเกร่อแล้วในตลาด นอกเสียจากว่าคุณมั่นใจเกินร้อยว่าเรื่องของคุณที่ถึงแม้จะเป็นเล่มที่พันสามร้อยหนึ่ง แต่ข้อมูลของคุณใหม่กว่า เขียนสนุกว่า รูปสวยกว่า และสามารถตีเล่มเก่า ๆ ได้กระจุย อันนี้ก็พอไหวให้ลองเสี่ยงค่ะ แต่… คุณต้องมั่นใจว่าดีกว่าจริง ๆ นะ ถ้าเป็นไปได้หาใครที่เป็นผู้อ่านกลุ่มเป้าหมายของคุณมาลองอ่านสักคนสองคนแล้วเค้ายืนยันว่าสนุก ดี เยี่ยม ก็ลุยเลย

    5. เลือกสำนักพิมพ์ - เราควรรู้แนวการผลิตของแต่ละสำนักพิมพ์ด้วย เพราะแต่ละสำนักก็เน้นการผลิตต่างกัน บางคนเขียนนิยายรักสามเส้าเคล้าน้ำตา แต่ส่งไปให้ไปสำนักพิมพ์ที่พิมพ์ตำรากฎหมายมันก็เสียเวลาเสียเงินไปเปล่า ๆ แถมยังเจ็บช้ำน้ำใจด้วยเพราะเข้าใจผิดว่าที่เขาไม่พิมพ์ของเราเพราะเรื่องเราไม่ดี พาลไม่เขียนเรื่องต่อไปอีกจะเสียโอกาสในการเป็นนักเขียนไปเสีย

    ข้อดีของการได้พิมพ์หนังสือกับสำนักพิมพ์ที่มีแนวทางการตลาดตรงกันก็คือ สำนักพิมพ์นั้น ๆ จะมีช่องทางการตลาดและการประชาสัมพันธ์หนังสือของเราให้พุ่งกระฉูด และแบรนด์ของเค้าก็จะทำให้ผู้อ่านนึกถึงหนังสือประเภทนั้นได้ง่าย เช่น ถ้าลูกค้าอยากอ่านหนังสือแล้วประวัติศาสตร์ก็จะต้องนึกถึงหนังสือในหมวด ‘ศิลปวัฒนธรรม’ ของสำนักพิมพ์มติชนไง (ฮั่นแน่..ขอขายของหน่อยนะ)

    หรือถ้าไม่แน่ใจก็เข้าไปดูแนวเว็บไซต์ของสำนักพิมพ์หรือโทรศัพท์ไปซักถามพูดคุยกับทางบรรณาธิการของสำนักพิมพ์นั้น ๆ ก่อน สอบถามเงื่อนไขต่าง ๆ ให้กระจ่าง ไม่ว่าจะเป็นค่าตอบแทน ระยะเวลาในการพิจารณาต้นฉบับ การส่งเสริมการขาย สิทธิพิเศษของนักเขียน/นักแปล และเรื่องอื่น ๆ ที่เราอยากรู้ ถามดูหลาย ๆ ที่จนกว่าเราจะพอใจเงื่อนไขของที่ใดที่หนึ่งเพราะแต่ละสำนักก็มีเงื่อนไขแตกต่างกันไป

    6. ลิขสิทธิ์ - อันนี้สำคัญมากค่ะ ขอย้ำ ถ้าเราจะเขียนหนังสือก็ขอให้เขียนเอง อย่าไปเผลอยืมเรื่องของคนอื่นมาแปะไว้ในเรื่องของเรา จะมากน้อยก็ไม่ควร เว้นแต่ว่าถ้าจำเป็นจริง ๆ ที่จะต้องอ้างอิงถึงหรือต้องใช้เรื่อง ๆ นั้นมาประกอบเพื่อการอธิบายเนื้อเรื่องให้เข้าใจได้มากขึ้น ก็ต้องขออนุญาตเจ้าของผลงานนั้น ๆ ก่อน และทางที่ดีให้ขอเป็นลายลักษณ์อักษรไป แล้วให้เขาอนุญาตกลับมาเป็นลายลักษณ์อักษรด้วยจะปลอดภัยที่สุด ไม่อย่างนั้นอาจโดนฟ้องฐานละเมิดลิขสิทธิ์กราวรูดกันทั้งสำนักพิมพ์ทั้งคนเขียน

    หนังสือแปลก็เหมือนกันค่ะต้องให้ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ต่างประเทศก่อนแล้วค่อยแปลจัดพิมพ์และจำหน่ายจ่ายแจก ส่วนใหญ่แล้วเรื่องขอลิขสิทธิ์ต่างประเทศสำนักพิมพ์จะเป็นคนดำเนินการเอง

    7. อย่ามองข้ามเรื่องการตั้งชื่อ - เพราะสิ่งแรกที่ลูกค้าสัมผัสได้กับหนังสือของเราคือ ‘ชื่อหนังสือ’ ต้องตั้งให้สื่อถึงเนื้อหาและดึงดูดให้ลูกค้าหยิบหนังสือขึ้นมาพิจารณา ลองดูว่าหนังสือของเรานั้นมีสิ่งใดเป็นสิ่งที่เด่น ๆ ก็ดึงส่วนนั้นไปตั้งชื่อได้ เช่น เนื้อเรื่องดี-สนุก, ภาพประกอบสวย, ชื่อคนเขียนดัง, ก็ดึงส่วนเด่น ๆ เหล่านั้นไปประกอบเป็นชื่อได้ แต่เรื่องการตั้งชื่อนั้นไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว ต้องพิจารณาหลายๆ ปัจจัยประกอบกัน แต่อยากให้พิจารณาอย่างหนึ่งก็คือ เดี๋ยวนี้การขายหนังสือทางอินเตอร์เน็ตหรืออีคอมเมอร์ชนั้นแพร่หลายและได้รับความนิยมสูง และจะสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ในอนาคต วิธีการค้นหาหนังสือที่ง่ายที่สุดของชาวไซเบอร์ก็คือเสิร์ชจากคำหลักของเนื้อหาที่ต้องการ เช่น ถ้าลูกค้าอยากได้หนังสือที่เกี่ยวข้องกับการเขียนบทก็อาจจะใช้คำว่า ‘เขียนบท’ เป็นคีย์เวิร์ดในการค้นหา ถ้าเราตั้งชื่อหนังสือว่า ‘คนเขียนบท’ หนังสือของเราก็จะปรากฏให้ลูกค้าคลิกเข้าไปเลือกซื้อ แต่ถ้าเราใช้ชื่ออื่น ๆ ก็อาจทำให้เสียโอกาสการขายไปได้เหมือนกัน

    8. ยังมีอีกรายละเอียดปลีกย่อยอีกหลายอย่าง เราอาจสอบถามพูดคุยกับผู้รู้หรือผู้ที่มีประสบการณ์ แต่ถ้าทำได้ตามที่กล่าวมาทั้งหมดแล้วก็ถึงขั้นตอนสำคัญคือ - ลงมือเขียน- ขั้นตอนนี้เป็นเรื่องที่ยากที่สุด ต้องตั้งใจจริง และมุ่งมั่น เขียนหรือแปลให้ได้ตามกำหนดเวลาและเงื่อนไขที่ตกลงไว้กับทางสำนักพิมพ์ เพราะหนังสือแต่ละเล่มโดยเฉพาะหนังสือแปลนั้นจะมีการตกลงเรื่องระยะเวลาที่สามารถพิมพ์และจำหน่ายได้จำกัด ถ้าเราแปลไปเรื่อย ๆ 2 ปีเสร็จ หนังสือเล่มนั้นอาจเหลือเวลาในการขายแค่ปีหรือสองปี

    9. ‘ต้นฉบับ’ - ก็เป็นหน้าเป็นตาของคนเขียนคนแปลเหมือนกัน คือควรจะสะอาดเรียบร้อย เตรียมไฟล์ เตรียมรูปให้พร้อม ควรอ่านทวนและแก้ไขให้สมบูรณ์ที่สุดก่อนที่จะส่งไปให้สำนักพิมพ์ การมาขอแก้ไขทีหลังจะทำให้เสียเวลาและเสียโอกาสการขาย การเขียนก็ควรจะถูกต้อง ทั้งการสะกดคำ การเขียนชื่อคน สถานที่ ชื่อเฉพาะต่างๆ ทั้งภาษาไทยภาษาอังกฤษ ใช้ให้ถูกหลักภาษาและเหมาะสมกับลักษณะเรื่องที่เขียน ทำต้นฉบับของคุณให้พร้อมที่จะพิมพ์มากที่สุด คุณจะกลายเป็นนักเขียน/นักแปลขวัญใจของกองบอกอโดยไม่รู้ตัว เวลาคุณจะเสนอเล่มใหม่ลำดับถัดมาก็เป็นใบเบิกทางอันดียิ่งเชียวค่ะ

    ///////////////////////////////////////////////////////////////////////
    อ่านแล้ว  ขอให้จูงใจให้เกิดนักเขียนนักแปลบนถนนนี้อีกหลายสิบคน  เนื่องจากกระทู้นี้ด้วยเถ๊อะ......สาธู๊

    ปล. ใครเคยอ่านแล้วถือว่าอ่านทวนก็แล้วกันนะคะ  

    แก้ไขเมื่อ 26 มิ.ย. 48 06:39:30

    จากคุณ : โตมิโต กูโชว์ดะ - [ วันสุนทรภู่ 06:37:27 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป