CafeTech-ExchangePantip MarketChatPantownBlogGangGameRoom


    นิทานหิ่งห้อย



    ค่ำคืนนี้อากาศเย็นสบาย ด้วยสายลมโชยอ่อน สายน้ำในแม่น้ำยามนี้สงบนิ่ง ไร้เกลียวคลื่นเชกเช่นยามกลางวันที่มีผู้คนสัญจรขวักไขว่ กิ่งลำพูต้นใหญ่อันยืนต้นเรียงรายอยู่ชายน้ำ พริ้วไหวไปตามแรงลม แซมสลับด้วยประกายระยิบระยับจากแสงของหิ่งห้อยนับพันที่เกาะอยู่ตามกิ่งก้านสาขา กระดิ่งใบน้อยที่แขวนอยู่ตามชายคาของเรือนไทยขนาดกลางซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากแม่น้ำไหวติงส่งเสียงดังกรุ๊งกริ๊งทุกคราวเมื่อต้องกับสายลม มะลิซ้อนที่เลื้อยพันเกาะอยู่กับขอบซุ้มประตูส่งกลิ่นหอมกำจาย สลับกับกลิ่นหอมของดอกราตรีและดอกพุดซึ่งปลูกไว้ตลอดแนวบันไดทางขึ้นเรือน ณ กลางชานของเรือนไทยหลังนั้นมีหญิงชรากับเด็กหญิงนั่งอยู่ท่ามกลางแสงจันทร์และแสงตะเกียงดวงน้อยที่จุดส่องแสงสว่างให้แก่คนทั้งสอง
    “ยายจ๋า ยายทำอะไรจ๊ะ” เสียงเด็กหญิงตัวน้อยร้องถามผู้เป็นยายซึ่งกำลังที่กำลังจุดไฟเพื่อเผาอะไรบางอย่างในจานสังกะสี
    “ยายกำลังเผาเปลือกส้มแห้งไล่ยุงน่ะลูก ยุงจะได้ไม่กัดหนูไงจ๊ะ” ผู้เป็นยายบอกพลางดันจานออกไปวางนอกเสื่อไม่ไกลจากที่เด็กหญิงนั่งอยู่
    “คนสมัยก่อนท่านฉลาด รู้จักใช้ของให้คุ้มค่า ดูอย่างเปลือกส้มซิลูก ก็พอเรากินเนื้อมันแล้วแทนที่จะทิ้งเปลือกไปให้เสียเปล่า เราก็เอามาตากแดดให้แห้งแล้วเอามาเผาไฟไล่ยุงได้ นอกจากจะประหยัดแล้วยังปลอดภัยอีกหนา นี่แหล่ะเขาเรียกว่า ‘ภูมิปัญญา’ ของคนโบราณลูก” ยายอธิบายให้หลานสาวตัวน้อยฟัง
    “แล้วถ้าปลอดภัยยุงมันจะตายไม๊ล่ะจ๊ะยาย หนูเคยเห็นที่ร้านเจ๊กอู๋เขาขายยากันยุง เขาบอกว่าจุดทีเดียวยุงตายเรียบ” หลานสาวสงสัย
    “นั่นเขาผสมยาน่ะลูก” ยาที่ยายกล่าวถึงก็คือสารเคมีที่ผสมอยู่ในยากันยุง “พอจุดแทนที่จะไล่ยุงได้ คนจุดนั่นแหล่ะที่จะตายก่อน เพราะสูดเอาควันพิษเข้าไปทุกวันๆ แล้วที่ยายจุดนี่ไม่ใช่เพื่อจะฆ่ายุง แต่ยายต้องการไล่ยุงต่างหาก จำไว้นะลูกสัตว์ไม่ว่าจะตัวเล็กหรือใหญ่ จะเป็นยุงหรือว่าเสือไม่เว้นแม้แต่สัตว์ประเสริฐที่เรียกตัวเองว่า ‘มนุษย์’ อย่างเราก็กลัวตาย ฉะนั้นเราจงอย่าไปเบียดเบียนเขา เมตตาไว้เถิดลูกแล้วเราจะอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข เหมือนที่พระพุทธองค์ท่านตรัสไว้” น้ำเสียงของผู้เป็นยายอ่อนโยนประหนึ่งน้ำที่เข้าไปชโลมจิตใจของผู้เป็นหลานให้ชุ่มเย็น
    “จ่ะยาย” หลานสาวรับปากเสียงใส
    “ เออ….น้ำเอ้ย ลูกช่วยยกกระจาดดอกบัวตรงนั้นให้ยายถี่” ยายชี้ไปยังกระจาดใบย่อมที่ข้างในมีดอกบัวตูมประมาณ ๗ - ๘ ดอกวางอยู่ข้างเสาเรือนริมชาน
    “นี่จ่ะยาย” หลานสานสาวรีบวิ่งกุลีกุจอนำกระจาดบัวมาให้ยาย
    “ค่อยๆก็ได้ลูก เราเป็นผู้หญิงยิงเรือ ต้องหัดสำรวมกิริยามารยาทไว้ คนอื่นเข้าจะได้ไม่ดูถูกเราได้ อย่างที่โบราณท่านว่า สำเนียงส่อภาษา กิริยาส่อสกุลไงจ๊ะ” ผู้เป็นยายสอนหลานสาวพลางหยิบขนมในอับส่งให้เด็กหญิงที่ตอนนี้นั่งยิ้มแป้นรอรับขนมเป็นรางวัล
    เด็กหญิงน้ำ หรือที่ผู้เป็นบิดาตั้งชื่อจริงว่า เด็กหญิงน้ำฟ้า วัย ๗ ปี มักชอบมานั่งเล่นกับยายเที่ยง ยายของเธอทุกค่ำ จนกว่าผู้เป็นมารดาจะเดินมาตาม และในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์เธอก็มักจะมาค้างกับผู้เป็นยายเสมอ เด็กหญิงคนนี้ได้รับการอบรมดูแลจากผู้เป็นยายตั้งแต่เธอเริ่มหัดพูดได้ ยายมักบอกพ่อกับแม่และคนที่รู้จักเด็กหญิงน้ำฟ้าเสมอๆว่า “เด็กคนนี้มีลักษณะดี ผิวพรรณขาวใสไร้ตำหนิด่างดำ ตาดำใสสวย จมูกงามได้รูป คำพูดคำจาฉลาดหลักแหลม รู้จักถามรู้จักซัก…..ต่อไปเด็กคนนี้จะได้ดี “ จนเมื่อเด็กหญิงน้ำฟ้าเริ่มโตขึ้นเธอก็ยิ่งชอบมาอยู่กับยาย โดยหารู้ไม่ว่า เธอได้ซึมซับเอาสิ่งดีๆหลายอย่างจากยายของเธอไว้ ทั้งเรื่องการบ้านการเรือน เรื่องกิริยามารยาทรวมถึงอุปนิสัยส่วนตัวที่ดูเรียบร้อยและใสเย็น แผกไปจากเด็กในวัยเดียวกัน
    “น้ำฟ้า ชื่อของลูกหมายถึง ‘น้ำฝน’ ฝนที่หยาดชโลมหล่อเลี้ยงสรรพชีวิตบนโลกให้ชุ่มเย็น ลูกจงเป็นเฉกเช่นสายฝน ที่ไม่ว่าหยาดลงมาคราใดก็ล้วนแต่ทำให้ผู้อื่นเป็นสุขและชุ่มเย็นนะลูก” ผู้เป็นพ่อเคยอธิบายที่มาของชื่อเด็กหญิงน้ำฟ้า
    ฉะนั้นจึงเป็นภาพเจนตาที่ผู้คนซึ่งมักพายเรือสัญจรไปมาผ่านบ้านหลังนี้ในตอนเช้าตรู่ จะพบเห็นเด็กหญิงแก้มยุ้ย ผมเปีย สวมชุดนักเรียนสีขาวกระโปรงสีน้ำเงิน นั่งพับเพียบอยู่ที่ศาลาท่าน้ำเคียงข้างหญิงชราร่างเล็ก ผมขาว หากแต่ท่าทางยังคงกระฉับกระเฉงผิดกับคนสูงอายุในวัย ๗๐ ปีคนอื่นๆ เพื่อรอใส่บาตรพระภิกษุที่พายเรือออกมารับบิณฑบาตรทุกเช้าก่อนที่เด็กหญิงจะไปโรงเรียน ในตอนเย็นหลังจากที่เธอกลับจากโรงเรียนและนำกระเป๋าไปเก็บในห้องนอนแล้ว เธอก็มักจะขออนุญาตมารดาไปหาคุณยายที่เรือนไทยริมไม่ห่างจากบ้านของเธอเท่าไรนัก
    “ทำไมยายไม่ย้ายมาอยู่กับหนูแล้วก็คุณพ่อคุณแม่ล่ะจ๊ะ” หลานสาวตัวน้อยเคยเอ่ยถามผู้เป็นยาย
    “ไม่ล่ะลูก ที่นี่เย็นสบายกว่า อีกอย่างยายก็อยู่เรือนหลังนี้กับคุณตาของหลาน มาตั้งแต่สาวจนแก่ จะให้ย้ายไปอยู่บ้านตึก ก็คงไม่ไหวดอก มันอึดอัดน่ะลูก” ยายอธิบายเหตุผลให้หลานตัวน้อยฟัง และแม่ก็เคยเล่าให้เด็กหญิงฟังว่า “สมัยที่แม่แต่งงานกับคุณพ่อของลูก คุณตากับคุณยายท่านก็เมตตาให้ที่ดินสร้างเรือนหอ หรือบ้านที่เราอยู่ปัจจุบันนี้ เพราะคุณตาท่านอยากให้ลูกหลานอยู่ใกล้ๆกับท่าน คุณตาคุณยายท่านรักหนูมากนะจ๊ะ” ผู้เป็นมารดาชี้ไปที่จี้รูปหัวใจประดับพลอยสีแดงซึ่งห้อยอยู่บนสายสร้อยทองเส้นเล็กที่คอของบุตรสาว “จี้กับสร้อยคอเส้นนั้นคุณตาท่านให้เป็นของทำขวัญตอนที่น้ำฟ้าเกิด แต่ท่านก็อยู่กับหนูได้ไม่นาน ไม่ทันเห็นหลานสาวของท่านเติบโตเป็นเด็กน่ารักอย่างทุกวันนี้” น้ำเสียงของคุณแม่แหบพร่าลงอย่างเห็นได้ชัด แต่น้ำฟ้าก็จำใบหน้าอันแสนใจดีและมีเมตตาของคุณตาได้ เพราะคุณยายเคยหยิบรูปคุณตามาให้เด็กหญิงดู บุคคลในภาพเป็นชายวัยกลางคนสวมเสื้อคอตั้ง แขนยาวสีขาว หน้าอกเบื้องซ้ายเต็มไปด้วยเหรียญตราต่างๆ และที่ไหล่ด้านขวาพาดสายสะพายที่มีโบว์หูกระต่ายห้อยอยู่ตรงกับเอว บนหูกระต่ายนั้นมีดวงตราเหมือนกับที่อยู่บนหน้าอกคุณตาแต่ขนาดใหญ่กว่าห้อยอยู่ด้วย เสื้อนั้นถูกสวมทับด้วยชุดคลุมบางยาวที่ปักประดับด้วยลวดลายงดงามอีกชั้นหนึ่ง ชุดคลุมนี้คุณยายเรียกว่า ‘เสื้อครุย’ ใบหน้าของบุคคลในภาพดูน่าเกรงขามด้วยหนวดดกเฟึ้มหากแฝงไปด้วยความอ่อนโยนที่เด็กหญิงสัมผัสได้ ไม่ไกลจากที่คุณตายืนอยู่เป็นโต๊ะตัวสูงที่มีผ้าปูโต๊ะลวดลายงดงาม บนโต๊ะนั้นตั้งวัตถุที่ดูคล้ายกับพานที่รองกาน้ำใบเล็ก แต่กาน้ำที่เห็นในภาพกับกาน้ำที่มารดาใช้อยู่นั้นช่างต่างกันเสียเหลือเกิน เพราะกาน้ำในภาพเป็นกาน้ำที่ทำด้วยโลหะสีทองประดับประดาด้วยลวดลายซึ่งเด็กหญิงเองก็ไม่สามารถจะบอกได้ว่าลวดลายที่เห็นนั้นเป็นลายอะไร ผิดกับกาน้ำที่เธอเคยเห็นเวลาที่มารดาใช้ต้มน้ำให้เธออาบเวลาหน้าหนาว เพราะนอกจากจะมองไม่เห็นลวดลายอะไรจากภายนอกแล้วยังเต็มไปด้วยคราบเขม่าดำหนาจากฝืนที่ใช้ต้มน้ำเสียอีก คุณยายเล่าให้เด็กสาวฟังว่า “สมัยที่คุณตายังมีชีวิตอยู่นั้น ท่านรับราชการสนองพระเดชพระคุณอยู่กระทรวงมหาดไทย จน’เบื้องบน’ท่านมีเมตตาพระราชทานบำเหน็จรางวัลตอบแทนความดีความชอบ ภาพที่ลูกเห็นเป็นตอนที่คุณตาท่านถ่ายหลังจากเข้ารับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์”
    “ เหรียญที่ห้อยอยู่ตรงอกคุณตาน่ะหรอจ๊ะยาย” หลานสงสัย
    “ใช่ลูก รวมถึงแพรแถบที่พาดไหล่ขวาเฉียงไปทางด้านซ้ายนั่นด้วย เราเรียกว่าเครื่องราชอิสริยาภรณ์เหมือนกัน พระพุทธเจ้าอยู่หัวเท่านั้นที่มีสิทธิ์จะพระราชทานให้ผู้ใดก็ได้ตามแต่พระราชประสงค์ แล้วกาน้ำที่เห็นในก็เป็นเครื่องยศที่ได้รับมาพร้อมกัน” ยายเอ่ยพระนามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตามอย่างคนโบราณที่มักเอ่ยกันว่า ‘พระพุทธเจ้าอยู่หัว’ “บ้านเรารับราชการมาหลายชั่วคน ตั้งแต่รุ่นคุณเทียด คุณทวด เรื่อยมาจนถึงคุณตาของลูก ” รอยอดีตของคุณยายมักแจ่มใสเสมอ เมื่อคราใดก็ตามที่ได้ถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆให้กับหลานรักฟัง
    ดังนั้นด้วยความที่ตระกูลของน้ำฟ้าเป็นตระกูลเก่าแก่อาณาบริเวณ “บ้าน” ของเด็กหญิงน้ำฟ้าจึงกว้างขวางเป็นธรรมดา โดยผสมผสมผสานระหว่างบ้านตึกแบบฝรั่งกับเรือนไทยโบราณ ที่ทั้งสองปลูกอยู่ภายใต้ร่มเงาอันร่มรื่นของไม้ใหญ่แซมสลับด้วยไม้หอมนานาชนิด หากมีสิ่งหนึ่งที่เชื่อมโยงเรือนสองหลังนี้เข้าด้วยกันคือความรักและความเมตตาซึ่งกันและกันของคนต่างวัย
    “ ยายจ๋า แสงที่อยู่ตรงต้นไม้พวกนั้นคืออะไรหรอจ๊ะ” พอขนมหมดผู้เป็นหลานก็เริ่มซัก โดยชี้ไปทางต้นลำพูข้างศาลาริมน้ำ
    “นั่นเขาเรียกหิ่งห้อยลูก แล้วต้นไม้นั่นเขาเรียกว่าต้นลำพู” ยายตอบพลางพับกลีบดอกบัวในกระจาดไปด้วย
    “ต้นที่ขึ้นอยู่ริมน้ำนั่นน่ะหรอจ๊ะ หนูสังเกตเวลาน้ำลงมีอะไรแหลมๆงอกมาจากพื้นดินรอบๆต้นด้วย” เจ้าตัวน้อยเล่าให้ยายฟัง
    “อ๋อ นั่นน่ะเป็นรากอากาศของต้นลำพู ต้นไม้ชนิดนี้ ไม่เหมือนกับต้นไม้ชนิดอื่นๆที่ขึ้นอยู่บนบกเพราะมันขึ้นขึ้นอยู่ริมน้ำ ฉะนั้นเวลามันหายใจมันก็ใช้รากอากาศในการหายใจ ยิ่งน้ำขึ้นสูงเท่าไหร่มันก็ยิ่งงอกรากให้โผล่พ้นจากน้ำ ก็คล้ายๆกับคนเรานั่นแหล่ะที่ต้องมีจมูกคอยช่วยหายใจไงลูก” ยายวางมือจากการพับดอกบัวหันไปหยิบขนมในอับส่งให้หลานอีกชิ้นแล้วจึงหยิบดอกบัวขึ้นมาพับต่อ
    “แล้ว…” ไม่ทันที่ผู้เป็นหลานจะถามจบยายก็ร้องเตือนว่า “ เคี้ยวขนมให้หมดปากเสียก่อนแล้วค่อยพูด มันไม่งามนะลูกเวลาที่ของเต็มปากแล้วเราพูดอะไรออกไป คนอื่นเขาจะรังเกียจ”
    “จ่ะ” หลานสาวตัวน้อยรีบกลืนขนมลงคอแล้วจึงตอบรับคำพูดของยาย
    “อืม ทีนี้ว่ามาได้ เมื่อครู่หลานจะถามว่าอะไรนะ” ยายถาม
    “แล้วทำไมหิ่งห้อยถึงต้องมาเกาะที่ต้นลำพูด้วยล่ะจ๊ะ ทีต้นไม้ต้นอื่นไม่เห็นมันไปเกาะเลย”
    ผู้เป็นยายอดยิ้มต่อคำถามที่บ่งบอกถึงความเป็นเด็กช่างสังเกตของหลานสาวตัวน้อยอย่างพึงพอใจเสียไม่ได้ ก่อนที่จะเอ่ย
    “ลำพูมันมีน้ำหวานบางอย่างที่ที่หิ่งห้อยชอบ หิ่งห้อยจึงบินมาเกาะอยู่ที่ต้นลำพูเป็นร้อยเป็นพันตัว ยามกลางคืนจึงเห็นแสงสว่างไสวระยิบระยับเหมือนดวงดาวบนฟ้า”

    บนฟ้าดาริการะยับยิบ
    ดาวกระพริบแจ่มจรัสระยับไหว
    แสงจันทร์สาดส่องผ่องอำไพ
    สว่างไสวใสกระจ่างกลางนภา

    เสียงขับทำนองเสนาะของยายสะกดผู้เป็นหลานให้นั่งนิ่งตั้งใจฟังผู้เป็นยาย และเมื่อกวีบทนั้นจบยายจึงเอ่ยขึ้น “คนโบราณเขายังเชื่อกันอีกนะลูกว่าเจ้าหิ่งห้อยพวกนี้มันจุดไฟคอยตามหานางลำพูคนรักที่จมน้ำพลัดพลากจากกันไป”
    “ อ้าว หิ่งห้อยมันเป็นแมลงตัวนิดเดียวแล้วมันมารักกับนางลำพูได้ยังไงล่ะจ๊ะ” หลานสาวช่างสงสัยซัก
    “มันเป็นนิทานปรัมปราของคนโบราณน่ะลูก ไม่ใช่เรื่องจริงหรอก เขาแต่งมาเล่าเพื่อความสนุกสนานเท่านั้นแหล่ะ” ยายอธิบาย
    “งั้นยายก็เล่าให้หนูฟังหน่อยซิจ๊ะ นิทานที่ยายเล่าให้หนูฟังสนุกทุกเรื่องเลย” ผู้เป็นหลานซึ่งบัดนี้นอนคว่ำหน้าเอามือเท้าคางแสดงท่าทางตั้งอกตั้งใจฝันอย่างเต็มที่คะยั้นคะยอ
    ผู้เป็นยายหลับตาอยู่ครู่หนึ่งคล้ายกับรำลึกเรื่องราวต่างๆก่อนที่จะถ่ายทอดให้เด็กหญิงฟัง ไม่นานนักจึงลืมตาขึ้นพร้อมกับยิ้มให้หลานตัวน้อยแล้วจึงเริ่มเล่าเรื่อง “เรื่องมันมีอยู่ว่า……”



    * * * * * โปรดติดตามตอนต่อไป * * * * *

    จากคุณ : อักษรชนนี - [ 20 ก.ค. 48 16:02:05 A:58.10.37.21 X: ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป