CafeTech-ExchangePantip MarketChatPantownBlogGangGameRoom


    สุดทางที่นพวงษ์ (กรณีพิพาทอินโดจีน ภาคพิเศษ)

    บันทึกของคนเดินเท้า

    สุดทางที่นพวงษ์ (กรณีพิพาทอินโดจีนภาคพิเศษ)


    กิจการรถไฟไทยได้เริ่มขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ โดยมีนายช่างชาวเยอรมันเป็นผู้ดำเนินการ

    ถึง พ.ศ.๒๔๖๐ ในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ได้เรียกชื่อเป็น กรมรถไฟหลวง และโปรดเกล้า ฯ ให้ นายพลโท กรมขุนกำแพงเพชรอัครโยธิน เป็นผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวง เป็นพระองค์แรก

    หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง เปลี่ยนชื่อเป็น กรมรถไฟ  และ พ.ศ.๒๔๗๙   พันเอก หลวงเสรีเริงฤทธิ์ เป็นอธิบดีกรมรถไฟ

    เมื่อถึง พ.ศ.๒๔๙๔ เปลี่ยนเป็น การรถไฟแห่งประเทศไทย และให้ พลเอก จรูญ         รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ (หลวงเสรีเริงฤทธิ์) เป็นผู้ว่าการคนแรก

    ครั้นถึง พ.ศ.๒๕๐๒ พลเอก ไสว ไสวแสนยากร (ขุนไสวแสนยากร) เป็นผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย

    จนถึง พ.ศ.๒๕๐๘ พันตรี แสง จุละจาริตต์ เป็นผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย

    ทั้งสี่ท่านนั้น พระองค์แรกเป็นพระบิดาของทหารสื่อสาร ท่านที่สองถัดมานั้นเป็นทหารสื่อสาร ท่านที่สามก็เป็นทหารสื่อสาร และท่านสุดท้ายก็เป็นทหารสื่อสารเช่นเดียวกัน

    พันตรี แสง จุละจาริตต์ ซึ่งยศทหารครั้งสุดท้ายท่านได้เป็น พันเอก นายทหารพิเศษ ประจำกรมทหารช่างที่ ๑ รักษาพระองค์ นั้น ท่านเป็นทหารสื่อสารโดยกำเนิด
    โดยเป็นนักเรียนนายดาบ โรงเรียนนายร้อยทหารบก เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๒ และจบการศึกษาออกรับราชการ ในตำแหน่งผู้บังคับหมวด กองร้อยที่ ๒ กองพันทหารสื่อสารที่ ๑ รักษาพระองค์ เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๓

    ท่านรับราชการต่อมาจนถึง พ.ศ.๒๔๘๑ ได้เลื่อนยศเป็น ร้อยเอก แล้วจึงโอนจากกระทรวงกลาโหม ไปรับราชการทางกรมรถไฟ ในตำแหน่งหัวหน้าแผนกรถสินค้า กองเดินรถ กรมรถไฟ ขณะที่ หลวงเสรีเริงฤทธิ์ เป็นอธิบดีกรมรถไฟอยู่

    เมื่อเกิดสงครามมหาเอเซียบูรพา หรือสงครามโลกครั้งที่ ๒ ท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนกรมรถไฟ ประจำกองบัญชาการทหารสูงสุด
    ท่านได้ปฏิบัติราชการเป็นผลดีต่อราชการสนามเป็นอันมาก จึงได้เลื่อนยศเป็น พันตรี นายทหารนอกกอง สังกัดกรมรถไฟ ท่านได้เขียนเล่าไว้ว่า

    ผมถูกยืมตัวไปทำงานกรมรถไฟตั้งแต่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๔๗๙ และเวลากลางคืนก็ต้องอยู่เวรกองร้อย ทำการสอนทหาร ควบคุมระเบียบการนอน การตื่นของทหาร อยู่เวรกองพันในรายการหมุนเวียนปกติ กับเพื่อนนายทหารในกองร้อยและกองพัน  
    จน ๑ เมษายน ๒๔๘๑ ได้โอนจากกระทรวงกลาโหม ไปรักษาการในตำแหน่งหัวหน้าแผนกรถสินค้า กองเดินรถ เป็นงานควบคุมการจ่ายรถสินค้า

    เมื่อไปอยู่กรมรถไฟ ก็ต้องแก้ปัญหาด้านตัวบุคคล และต้องการปั้นตัว ครฟ.จากการจัดเป็น โรงเรียนเทคนิคการช่างรถไฟ สมัยนั้นได้มีกิจการของหน่วยราชการจัดโรงเรียนของตนเอง เช่น กรมไปรษณีย์โทรเลข  กรมชลประทาน กรมศุลกากร กรมการปกครอง การริเริ่มได้จัดสร้างตัวอาคารโรงเรียนวิศวกรรมรถไฟขึ้น ในบริเวณที่ดินว่างด้านหน้าโรงงานมักกะสัน

    การก่อสร้างได้ดำเนินการอยู่เป็นเวลาสามปี จัดการเปิดสถานที่เมื่อ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๘๓ เริ่มเปิดสอนนักเรียนเป็นครั้งแรก ๑๑ กรกฎาคม ๒๔๘๓ มีนักเรียนแผนกช่างกล ๖๐ คน แผนกช่างโยธา ๓๐ คน แผนกเดินรถ ๖๐ คน โรงเรียนวิศวกรรมรถไฟ ยังคงดำเนินการอยู่ถึงปัจจุบันนี้

    หลังจากกรณีพิพาทชายแดน ระหว่างประเทศไทยกับอินโดจีนของฝรั่งเศสยุติลง กรมรถไฟได้รับมอบทางรถไฟในดินแดนซึ่งได้คืนมาจากฝรั่งเศส ตั้งแต่ชายแดนคลองลึก ถึงสถานีสวายดอนแก้ว ระยะทางประมาณ ๑๖๑ ก.ม.มาดำเนินการ โดยกรมรถไฟเปิดการเดินรถติดต่อระหว่างกรุงเทพ ฯ อรัญประเทศ  สวายดอนแก้ว รวมที่หยุดรถและสถานีในทางที่รับมอบใหม่ ๒๒ แห่ง

    กรรมการผู้ไปรับมอบแทนราชการฝ่ายการเดินรถคือผม แต่ก่อนวันเดินทางสองวัน ผมต้องไปรับการผ่าตัดไส้เลื่อนในโรงพยาบาลศิริราช ทางราชการจึงแต่งตั้งผู้อื่นไปแทน

    ในสมัยสงครามมหาเอเซียบูรพา หรือสงครามโลกครั้งที่ ๒ หลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ใน พ.ศ.๒๔๘๕ ผมได้ถูกย้ายจากผู้แทน ร.ฟ.ท.ประจำ บก.ทหารสูงสุด และจาก บก.รถไฟทหาร
    ถูกโอนจากกรมรถไฟไปอยู่กรมการขนส่ง กระทรวงคมนาคม

    อนุสนธิมาจากทางการต้องการสร้างนครเพชรบูรณ์และพุทธบุรี จัดตั้งกองทัพที่ ๒ จัดสร้างถ้ำเก็บทองคำคงคลังสำรองธนบัตร และย้ายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ของราชวงศ์จักรีทั้งหมด ไปเก็บที่ถ้ำเมืองเพชรบูรณ์  

    พล.ต.พระอุดมโยธาธิยุติ เป็นผู้จัดตกแต่งถ้ำคลังทองคำและเครื่องราชกกุธภัณฑ์ กรมการขนส่งรับผิดชอบในการขนส่ง จากกระทรวงการคลังและสำนักพระราชวัง ไปบรรทุกขบวนรถไฟขบวนพิเศษ จากย่านสถานีบางซื่อ ไปปลายทางที่สถานีตะพานหินตอนเช้า และจัดขบวนรถยนต์บรรทุกทำการขนต่อไป ให้เสร็จในวันที่สองของทางถนน ให้รัดกุมและปลอดภัย ตลอดจนนำรถยนต์ไต่ลาดชันขึ้นสู่ปากถ้ำทีละคัน ขนลงในถ้ำตรวจสอบทุกหีบจนเรียบร้อย

    ผมขอสารภาพว่าตั้งแต่ปฏิบัติราชการมา ไม่เคยมีความหนักใจและเหน็ดเหนื่อย เท่ากับการทำงานแปดเที่ยวการขนย้ายนี้ ผมต้องยกมือไหว้ไปทางวัดพระแก้ว ขอพรได้โปรดให้ลูกช้างทำงานครั้งนี้เป็นผลสำเร็จ เพราะต้องระวังทั้งบนรถไฟและบนถนน

    มีอยู่ครั้งหนึ่งขณะขบวนรถพิเศษเดินทางประมาณสองยาม มีภัยทางอากาศ พระอุดมโยธาธิยุติ ผู้อำนวยการเดินทาง สั่งให้ผมนำขบวนรถพิเศษเข้าไปแอบอยู่ในบ่อหินช่องแค เมื่อหมดภัยทางอากาศก็เดินต่อไป

    เสร็จงานขนลงแล้วให้ทุกคนพักผ่อนอยู่บนรถบรรทุก  พอเวลา ๐๓.๐๐ น. ผมก็เป่านกหวีดเพื่อทุกคนทดสอบเครื่องยนต์ ทดสอบไฟหน้ารถและท้ายรถจนเรียบร้อย แล้วผมก็นำขบวนคอนวอยเปล่าลงภูเขา กลับไปตะพานหิน

    เมื่อไปถึงสถานีปลายทาง ผมก็ยกมือไหว้ไปทางทิศวัดพระแก้ว อธิษฐานขอถวายพระพรที่โปรดประทานความเรียบร้อย ตามที่ขออธิษฐานขอนั้น

    หลังสงครามกรมรถไฟได้รับโอนท่านไปเป็นหัวหน้ากองศิลา เมื่อ ๑๖ มกราคม ๒๔๘๙ แต่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการผู้แทนราชการฝ่ายการเดินรถ ไปส่งทางรถไฟสาย สวายดอนแก้ว – คลองลึก  คืนให้แก่ฝรั่งเศส

    โดยล่วงหน้าไปจัดการอพยพหน่วยราชการและพ่อค้า      ประชาชน ผู้ไม่ประสงค์จะอยู่กับฝรั่งเศส ตั้งแต่ ๒๕ พฤศจิกายน จนถึงวันสุดท้ายของการส่งมอบคือ  ๙ ธันวาคม ๒๔๘๙

    กรมรถไฟได้แปรสภาพเป็นการรถไฟแห่งประเทศไทยเมื่อ ๑ กรกฎาคม ๒๔๙๔ พลโท จรูญ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ เป็นผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นคนแรก และ พันตรี แสง  จุละจาริตต์ เป็นผู้อำนวยการฝ่ายการเดินรถ

    ตลอดเวลาที่ท่านปฏิบัติงานในการรถไฟแห่งประเทศไทยครั้งหลัง จนถึงเกษียณอายุพ้นหน้าที่ไปเมื่อ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๔ ท่านได้พัฒนากิจการของรถไฟไทยให้ก้าวหน้าไปในทุกด้าน

    พลโท ชาญ อังศุโชติ นายทหารสื่อสารอีกท่านหนึ่ง ได้เขียนไว้ในเรื่องเพชรน้ำหนึ่ง มีความบางตอนว่า

    หลังจาก ฯพณฯ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในปลายเดือน กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๘๗ การเมืองภายในประเทศไทยตกอยู่ในภาวะวิกฤติ ได้มีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารประเทศหลายครั้ง เกิดความระส่ำระสายทางการเมืองและเศรษฐกิจ  ทำให้การรถไฟไทยซึ่งได้รับความบอบช้ำจากการทิ้งระเบิด ของฝ่ายตรงข้ามในสงครามอย่างยับเยิน ประสบกับปัญหาต่าง ๆ

    ผู้บริหารรถไฟระดับสูงของการรถไฟต้องทำงานหนักมากเป็นพิเศษ พี่แสงเป็นผู้หนึ่งซึ่งต้องร่วมแก้ปัญหาเหล่านั้น เพื่อให้การคมนาคมซึ่งเป็นเส้นโลหิตทางเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ เป็นไปด้วยความราบรื่น ความรู้ความสามารถ ความพากเพียรตั้งใจทำงานให้ประเทศชาติด้วยความสุจริตใจของพี่แสง ส่งเสริมให้พี่แสงได้รับตำแหน่งสูงในวงการรถไฟ

    ด้วยคุณความดีความรู้ความสามารถที่มีประสิทธิภาพของพี่แสง ทำให้ผู้บังคับบัญชาแต่งตั้งพี่แสงเป็นผู้ว่าการรถไฟ เมื่อวันที่ ๑ มกราคม  ๒๕๐๘ ผมทราบว่าพี่แสงได้ทุ่มเทชีวิตจิตใจ ทำงานให้การรถไฟอย่างอุทิศตน ไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย  
    ซึ่งคนรถไฟก็ยอมรับว่า พี่แสงมีบทบาทสำคัญ ในการสร้างความเจริญก้าวหน้าให้กับการรถไฟไทย จนเป็นปึกแผ่นและมีเอกภาพ ความมีศิลปะในการปกครอง น้ำใจโอบอ้อมอารี เอื้ออาทรคนในบังคับบัญชานับหมื่นคน และการอุทิศตนของพี่แสง ซึ่งล้วนเป็นคุณลักษณะของผู้บังคับบัญชาที่ดี และเป็นที่ยกย่องนับถือในวงราชการด้วยความยินยอมพร้อมใจทุกหนแห่ง
    พี่แสงทำหน้าที่ผู้ว่าการรถไฟหกปีเต็ม จึงลาออก

    พลตรีประสิทธิ์ ชื่นบุญ อดีตเจ้ากรมการทหารสื่อสาร ได้เล่าว่าท่านได้ออกรับราชการเป็นนายทหารสื่อสาร ประจำกองทหารสื่อสารที่ ๒ จังหวัดปราจีนบุรี เมื่อ ๑ เมษายน ๒๔๗๘ และได้เข้ารับการศึกษาเพิ่มเติม ที่เหล่าทหารสื่อสาร สะพานแดง บางซื่อ เป็นเวลา ๖ เดือน ท่านเล่าไว้ว่า

    ข้าพเจ้าพบกับ ร.ท.แสง จุละจาริตต์ ซึ่งเป็น ผบ.หมวด ในกองทหารสื่อสารประจำกรมป้องกันต่อสู้อากาศยานเป็นครั้งแรกที่นี่
    ความรู้สึกครั้งแรกที่ได้พบเห็นท่าน เป็นคนรูปร่างไม่สูงไม่ใหญ่โตนัก แต่การแต่งกายและกิริยาท่าทางในการฝึกทหาร เป็นไปอย่างกระฉับกระเฉง สง่าผ่าเผย มีเสียงดังเด็ดขาด
    แต่ในขณะเดียวกันก็มีเมตตากรุณาต่อผู้น้อย และผู้ใต้บังคับบัญชาดี ตลอดเวลาที่ข้าพเจ้าประจำอยู่ที่นี่ ๖ เดือนเต็ม ข้าพเจ้าได้จดจำวิธีการปกครองทหารของท่านไว้เป็นตัวอย่างของข้าพเจ้าเป็นคนแรก
    ท่านกรุณาเรียกผมว่าน้อง แล้วก็เรียกชื่อข้าพเจ้าเป็นประจำ มีอะไรที่ท่านจะแนะนำให้รู้ ในฐานะนายทหารใหม่รุ่นน้อง ท่านก็มีความกรุณาชี้แจงแนะนำด้วยความหวังดี ทั้ง ๆ ที่ท่านไม่ได้ปกครองข้าพเจ้าโดยตรง
    นับว่าท่านมีบุคลิกและอัธยาศัยไมตรี ในฐานะผู้ใหญ่ที่ดี ซึ่งข้าพเจ้ารู้สึกขอบพระคุณและได้จดจำไว้เป็นตัวอย่างปฏิบัติสืบมา

    จากบุคลิกและผลการปฏิบัติงานของท่าน ท่านจากกองทัพบกไปตั้งแต่อายุยังน้อย และมียศเพียงแค่ร้อยเอก ท่านก็ได้ย้ายไปรับราชการยังกรมรถไฟเมื่อ ๑ เมษายน ๒๔๘๑

    ถ้าท่านยังคงอยู่ในราชการกองทัพบกต่อไป ท่านจะต้องเป็นผู้นำหน่วยทหารที่ดีคนหนึ่งเป็นแน่แท้ และคงจะได้รับยศเป็นนายพลอย่างแน่นอน อย่างไรก็ดีเมื่อท่านย้ายไปดำรงตำแหน่งในกรมรถไฟ (ชื่อในขณะนั้น) ตั้งแต่ตำแหน่งชั้นผู้น้อย คือเป็นหัวหน้าแผนกสินค้า กองเดินรถของกรมรถไฟ
    ด้วยความสามารถและความซื่อสัตย์สุจริตของท่าน ท่านได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นไปตามลำดับ ในสุดท้ายเป็นถึงผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งท่านได้ทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ ทั้งในเวลาสงบและในเวลาที่มีเหตุการณ์สงคราม ย่อมแสดงให้เห็นความสามารถและบุคลิกอันดีของท่าน เป็นอย่างดี

    พลตำรวจตรี สุชาติ เผือกสกนธ์ อดีตกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ยืนยันว่า  คงจะไม่มีท่านผู้ใดโต้แย้ง หากผมจะบอกกล่าว ณ ที่นี้ว่า  

    พันเอก แสง จุละจาริตต์  เป็น ปูชนียบุคคลของการรถไฟที่แท้จริงอีกท่านหนึ่ง

    จาก สะพานแดง พันเอก แสง จุละจาริตต์ ผู้ซึ่งถือกำเนิดในเหล่าทหารสื่อสาร
    เมื่อ ๑ สิงหาคม ๒๔๗๔ ในตำแหน่ง ผู้บังคับหมวด กองร้อยที่ ๒
    กองพันทหารสื่อสารที่ ๑ รักษาพระองค์
    กรมการทหารช่างที่ ๑ รักษาพระองค์

    ซึ่งได้ผันไปรับราชการในกรมรถไฟ จนไปสิ้นสุดชีวิตราชการ ที่ สะพานนพวงษ์
    ในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เมื่อ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๔ นั้น

    นับว่าเป็นเพชรน้ำหนึ่ง ที่เหล่าทหารสื่อสาร และกองทัพบกควรจะภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง.

    #########

    จากคุณ : เจียวต้าย - [ 13 ส.ค. 48 07:53:21 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป