ปั่นจักรยาน จากไทย......ถึง....อเมริกา
|
 |
พอดีกระผมได้อ่านบทความเล็กๆจากหนังสือนิตยสารเที่ยวรอบโลก ประจำเดือนมกราคม 2554 ซึ่งเป็นบทความที่ทำให้กระผมสนใจเป็นอย่างมาก จนนั่งไม่ติดต้องค้นหาข้อมูลขอลบุคคลคนนี้ "อาจารย์ปรีชา พิมพ์พันธ์"
"อาจารย์ปรีชา พิมพ์พันธ์" ชายหนุ่มผู้ปั่นจักยานไปเรียนต่อที่อเมริกาแทนการนั่งเครื่องบิน ผมได้อ่านข้อมูลบางส่วนแล้ว ต้องยอมรับว่า "อึ้ง" และ"ทึ่ง" เป็นอย่างมาก
ข้อมูลที่ผมได้อ่านทำให้หัวใจของผมพองโตคับอก ที่บอกว่าหัวใจพองโตเพราะว่า รู้สึกยินดีกับคนไทยคนหนึ่งที่สามารถทำแบบนี้ได้ ทั้งๆที่สมัยนั้นการเดินทางไม่ได้สะดวกสะบายเหมือนกับสมัยนี้
หลายครั้งผมเห็นข่าวว่าต่างชาติคนนั้นคนนี้ทำแบบนั้นแบบนี้สำเร็จ มาวันนี้ผมได้รู้ว่ามีคนไทยคนหนึ่งนามว่า "ปรีชา พิมพ์พันธ์" ทำให้โลกได้รู้ว่า คนไทยก็ทำได้
เรื่องนี้ที่ผมนำมาให้เพื่อนๆได้อ่านกัน ผมคิดว่ามันอาจเป็นแรงบันดาลใจให้กับเพื่อนๆที่รักการเดินทางหรือเพื่อนๆที่ชื่นชอบการปั่นจักรยานท่องเที่ยวเกิดความหึกเหิมและอยากออกเดินทางด้วยจักยานอีกครั้ง
"ปรีชา พิมพ์พันธ์" ชายหนุ่ม.....ผู้ปั่นจักรยานไปเรียนไกลที่สุดในโลก
"ปฐมบทการเดินทาง"
"กระเหรี่ยงเผาตลาดแม่สอด ข้ามไปพม่าไม่ได้"
พอเรื่องเกี่ยวกับหนังสือเดินทางและ วีซ่าเรียบร้อยผมก็เริ่มเดินทางตามแผนที่วางไว้ คือเริ่มออกจากบ้านพักที่มศว. ประสานมิตร ซึ่งตอนนั้นเป็นอาจารย์อยู่ที่ประถมสาธิตประสานมิตร ตี 4 ก็ออกจากกรุงเทพฯ ไปลพบุรี นครสวรรค์ ไปออกแม่สอดเพื่อเข้าประเทศพม่า คืนแรกนอนลพบุรี ถึงลพบุรี
รุ่งขึ้นก็เดินทางต่อไปเรื่อยๆ ใช้เวลาประมาณ 7 วันจึงถึงแม่สอด พอถึงแม่สอดก็ต้องพักหนึ่งคืน เพื่อรุ่งขึ้นจะได้เตรียมข้ามแม่น้ำเมย แต่โชคไม่ดีเพราะพรมแดนปิดเนื่องจากกระเหรี่ยงเข้ามาเผาตลาดแม่สอด ก็เลยออกไม่ได้ทั้งๆที่มีวีซ่าแล้ว ผมตัดสินใจกลับกรุงเทพ เพื่อจะเดินทางไปทางอินเดียโดยทางเครื่องบิน เพราะหากไปทางเรือก็ต้องปั่นไปสิงคโปร์ซึ่งรวมทั้งเวลาปั่นและเวลาลงเรือแล้วต้องใช้เวลาเป็นเดือนซึ่งจะไม่ทันเวลาเปิดเทอมในเดือนกันยายน
"ขี่เรือบินไปตั้งต้นที่กัลกัลตา"
เมื่อเขาพม่าไม่ได้ก็เลยอาศัยการบินไทยโดยขึ้นที่ดอนเมือง ไปลงกัลกัลตา ซึ่งเป็นอินเดียฝั่งตะวันออก สรุปก็คือบินข้ามพม่าไปประเทศเดียว ใช้เวลาบินประมาณ 4 ชม. หากเป็นเรือก็ต้อง 2-3 เดือน การพักแรมที่กัลกัลตาก็อาศัยสถานทูตหรือพักกับเจ้าหน้าที่กงศุล นอนที่ห้องรับแขกบ้าง
วันที่ 1 มีนาคม ออกจากกัลกัลตา ซึ่งเป็นเมืองตะวันออกสุดโดยใช้ถนนใหญ่ปั่นตัดผ่านประเทศอินเดียมุ่งหน้าไปยังนิวเดลลี เมืองแรกที่ผ่านก็คือ พุทธคยา ซึ่งเป็นเมืองของพุทธศาสนา ก็ใช้เวลาประมาณ 3 วัน โชคดีที่มีวัดไทยอยู่ที่นั่น หลวงพ่อเจ้าอาวาสก็ดีใจให้พักอยู่ที่วัด พักอยู่ 2 วัน
จากพุทธคยาอีก 3 ถึงเมืองพาราณสี ซึ่งมีแม่น้ำคงคาซึ่งเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ มีขอทานเยอะ ก็ได้ดูได้เห็นหลายสิ่งหลายอย่าง ขี่รถผ่านไปเรื่อยๆ แวะนอนริมทางไปเรื่อยๆ อยู่ 8 วันก็ถึงนิวเดลลี จุดหมายแรกที่เมืองหลวงของอินเดียคือสถานทูตไทย พักกับนักเรียนไทยที่สถานทูต อยู่ที่นี่ 2-3 วันก็ออกเดินทางไปยังปากีสถานผ่านเขตแดนระหว่างปากีสถานทางเมืองอมริสสา ก่อนที่จะเข้าไปยังเมืองลาฮอซึ่งเมืองสำคัญของปากีสถาน ช่วงนี้ไม่มีคนไทยแล้ว ก็เลยต้องพึ่งพาตัวเองตลอด ผ่านเมืองบูลตัน ลงมาทางใต้
"ลุยทะเลทรายชายแดนปากีฯ อัฟกานิสถานสู่อิหร่าน"
จากปากีสถานก็ปั่นเลาะทะเลทรายแถวๆ เมืองเควตตาซึ่งเป็นชายแดนติดต่อระหว่าง อัฟกานิสถาน ปากีสถาน และอิหร่าน เข้าเขตตะวันออกสุดของอิหร่าน ช่วงนี้ปั่นผ่านทะเลทรายตลอด จากเขตชายแดนอิหร่านจนถึงเมืองเตหะรานก็ใช้เวลาประมาณสิบกว่าวัน วันไหนที่เข้าเมืองหลวงหรือเมืองใหญ่ๆ จราจรจะคับคั่ง กางเต้นท์นอนก็ไม่ได้ เลยต้องนอนโรงแรมเล็ก ๆ ไม่แพง คิดเป็นเงินไทยก็ 4-50 บาท
"เข้าสู่ประตูยุโรป"
จากเตหะรานก็ปั่นมุ่งหน้าไปยังภาคตะวันออกสุดของตุรกี ภูมิประเทศก็เต็มไปด้วยภูเขาและหิมะน้ำแข็ง ไม่มีต้นไม้ คล้ายๆ กับกึ่งทะเลทรายกึ่งภูเขา จากนั้นก็เข้าสู่เมืองหลวงของตุรกีก็พักอยู่สองวัน ออกเดินทางต่อถึง0เมืองอิสตันบูล ซึ่งเป็นเมืองชายแดนระหว่างเขตเอเชียและอยุโรป พ้นอิสตันบูลก็เข้าสู่ประเทศกรีก แต่ไม่ไปเมืองหลวง ขี่เลาะริมทะเลไปทางอิตาลี ช่วงนั้นเข้าอัลแบเนียไม่ได้เพราะเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ ก็เลยต้องข้ามเรือผ่านช่องแคบเล็กๆ ตอนใต้ของอิตาลี รู้สึกว่าจะใช้เวลา 8 ชม. ก็จะเข้าเมืองบรินดิสิ ขึ้นฝั่งได้ก็ปั่นต่ออีก 4-5 วันก็ถึงกรุงโรม
"กรุงเทพฯ โรม ใช้เวลา 66 วัน"
ความสำเร็จขึ้นแรกก็มาถึงแล้ว คือเดินทางจากกรุงเทพฯ โรมสำเร็จ เพราะเป็นช่วงที่ทุรกันดารมากที่สุด เส้นทางที่เหลือก็สบายหมด ใช้เวลาจากรุงเทพจนถึงโรม 66 วัน ซึ่งเร็วกว่าที่คิดไว้เดิม (3-4เดือน)
ถึงสถานทูตไทยประมาณ 10 โมงเช้า ผมจำได้ว่าท่านทูตไม่อยู่ แต่ท่านอุปทูตก็ช่วยดูแลเรื่องที่พักอาศัย พร้อมกับมีผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์หลายฉบับ ไม่ว่าจะเป็นภาษาเยอรมัน ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาอิตาลี
"ตะลุยยุโรป"
ท่านทูตก็ให้นอนอยู่ชั้น 3 ก็พักเที่ยวในกรุงโรม 2 สัปดาห์ จากนั้นก็ขี่ต่อจากอิตาลีขึ้นทางเหนือผ่านเมืองปิซ่า เข้าสวิสเซอร์แลน ผ่านโลซาน เจนีวา พักเจนิวา 1 คืน ถึงเบิร์นซึ่งเป็นเมืองหลวงของสวิสเซอร์แลนด์ก็พักที่สถานทูตอีกจากนั้นก็ขี่ย้อนกลับเข้าไปเยอรมันไปกรุงบอนน์ซึ่งเป็นเมืองหลวงขณะนั้นก็พักที่สถานทูตอีกเช่นกัน
จากกรุงบอนมุ่งหน้าสู่ปารีสใช้เวลาประมาณ 5 วัน พักกับท่านเอกอัคราชทูตอยู่ 7 วัน ปรากฏว่าเวลาที่ประมาณไว้ยังเหลือเฟือ ก็เลยตัดสินใจปั่นเที่ยวยุโรปต่อ เริ่มจากลักแซมเบิร์ก กลับเข้ามาเยอรมัน ขึ้นไปเดนมาร์ค (โคเปนเฮเกน 1 สัปดาห์) จากนั้นข้ามเรือไปสวีเดนเข้าเมืองโกเตนเบิร์ก ปั่นขึ้นเหนือไปเมืองออสโลว์ประเทศสวีเดน ช่วงนั้นเป็นหน้าร้อนไม่มีกลางคืนเพราะพระอาทิตย์ขึ้นตลอด 24 ชม. อยู่ที่ ออสโลว์ 1 สัปดาห์ ไม่มีถนนขึ้นเหนือ จึงล่องเรือกลับมาเดนมาร์ก ปั่นเข้าเนเธอแลนด์ เบลเยี่ยม จากเบลเยี่ยมก็ขี่ไปช่องแคบคาเลย์ เพื่อจะข้ามไปอังกฤษ "บีบีซีถ่ายสารคดี ลงเรือข้ามแอทแลนติก"
พอถึงอังกฤษก็พักสถานทูตที่กรุงลอนดอน กับท่าน มล. ปีกทิพย์ มาลากุล ซึ่งท่านให้การต้อนรับเป็นอย่างดี วิทยุบีบีซี ก็ถ่ายทำสารคดี ให้เราปั่นจักรยานไปตามท้องถนนกรุงลอนดอน พักอยู่ 1 เดือนเพราะเวลาเหลือมากมาย ทำวีซ่าเข้าอเมริกาเสร็จก็ปั่นไปเมืองเซาท์แธมตันเพื่อลงเรือข้ามมหาสมุทรแอทแลนติกไปขึ้นฝั่งที่แคนาดา ค่าโดยสารประมาณ 4800 บาท ใช้เวลา 7 วันก็ถึงเมืองมอนทรีออล "ขี้นฝั่งที่แคนาดาปั่นต่อไปอเมริกา"
ถึงเมืองมอนทรีออลก็ขี่เข้ารัฐนิวยอร์ค เกาะแมนฮัทตัน ก็แวะไปพักที่บ้านท่านทูตไทยประจำสหประชาชาติที่แมนฮัทตัน อยู่ที่นิวยอร์ค 7 วัน ขี่รถข้ามมาวอชิงตันดีซี ที่นี่มีสำนักผู้ดูแลนักเรียนไทย ก็เลยพักที่นี่ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากสถานทูตนัก
"ถึงจุดหมายก่อนเปิดเทอมไม่กี่วัน"
อยู่ได้ 7 วัน ก็ขี่ลงไต้ผ่านนิวเจอร์ซี่ นอร์ธแคโรไลนา แอทแลนตา (จอร์เจียร์) จากนั้นก็เข้ารัฐอลาบามา เมืองทัสคาลูซา ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทาง ก็ถึงในเดือนกันยายนพอดี ถึงก่อนโรงเรียนเปิดสัก 3-4 วัน ผมเรียนที่ยูนิเวอร์ซิตีออฟอลาบามา มีนักนักเรียนไทยคนที่ 2 ที่ไปเรียน เรียนวิชาแนะแนว เรียนสองเทอมก็จบ ความจริงลาไปเรียนปริญญาโท 2 ปี แต่เรียนเพียง 8 เดือนก็จบแล้ว ก็เลยหางานทำในชิคาโกบ้างในช่วงฤดูร้อน พอเปิดเทอมมาก็เรียนต่ออีกปริญญานึ่ง สูงกว่าปริญญาโทแต่ไม่ใช่ปริญญาเอก เรียนอีก 9 เดือน ก็จบเอกปฐมศึกษา ปีหลังทุนเอเชียฟาวเดชั่นให้ทุนเรียนฟรี ซึ่งเขารู้ว่าเราปั่นจักรยานมาเรียน
"เรียนจบปั่นต่อไปทำงานที่แคลิฟอร์เนีย"
พอปิดเทอมก็ขี่รถจากอลาบามาไปทางตะวันตก ผ่านหลุยเซียนา อาคันซอร์ เทกซัส นิวแมกซิโก จากนิวแมกซิโกก็าขี่ตามถนนสาย 66 ผ่านอริโซนา เนวาดา แคลิฟอร์เนีย และถึงจุดหมายที่ลอสแอนเจลิสซึ่งถือเป็นฝั่งตะวันตกสุดของอเมริกา จะกลับบ้านเราก็ต้องข้ามทะเล ผมส่งจักรยานกลับเมืองไทย ส่วนตัวเองบินไปอลาบามาอีก แต่บังเอิญได้งานที่แคลิฟอร์เนีย ก็ทำงานที่แคลิฟอร์เนียอีก 3 ปีเป็นครูสอนภาษาไทยให้มหาวิทยาลัยของทหาร เขาเรียกว่าโรงเรียนภาษาต่างประเทศที่เมืองมอนทาเร่ย์ เป็นเมืองสวยงามติดชายทะเล จากนั้นก็บินกลับประเทศไทย
เครดิตภาพ:Thaimbt.com
จากคุณ |
:
vnapt1
|
เขียนเมื่อ |
:
20 ม.ค. 54 21:34:36
|
|
|
|