ความคิดเห็นที่ 8
ประเพณีการทำศพแบบนกหัสดีลิงค์ จังหวัดอุบลราชธานี
ประวัติ/ความเป็นมา
เจ้านายพื้นเมืองอุบลราชธานี หรืออาญาสี่ ซึ่งประกอบด้วย เจ้าเมือง อุปฮาด ราชวงศ์ และ ราชบุตร ถือเป็นราชสกุลมาแต่เมืองเชียงรุ้ง แสนหวีฟ้า เมื่อท่านเหล่านี้ถึงแก่อสัญกรรมแล้ว ให้เชิญศพขึ้น เมรุรูปนกหัสดีลิงค์ (นกหัสดีลิงค์ เป็นนกในวรรณคดีอีสาน มีฤทธิ์อำนาจ ถือเป็นสัญลักษณ์ของเจ้านาย เชียงรุ้ง แสนหวีฟ้า ดูรายละเอียดใน บำเพ็ญ ณ อุบล เรื่องประเพณีการทำศพแบบนกหัสดีลิงค์ เอกสาร พิมพ์ดีด) หรือนกสักกะไดลิงค์ แล้วชักลากออกไปบำเพ็ญกุศลที่ทุ่งศรีเมืองเป็นเวลา ๕ วันจึงเผาศพ การทำ ศพแบบนกหัสดีลิงค์นั้นจำกัดเฉพาะกลุ่มเจ้านายเชื้อสายจำปาศักดิ์เท่านั้น ผู้ไม่ใช่เจ้านายไม่อนุญาตให้ ทำศพแบบนี้ ระยะแรกการเผาศพกระทำที่ทุ่งศรีเมือง ต่อมาภายหลังเมื่อกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์เป็น ข้าหลวงต่างพระองค์ ปกครองเมืองอุบล ให้ยกเลิกประเพณีการเผาศพที่ทุ่งศรีเมือง (เข้าใจว่าเกรงจะเป็นการ เลียนแบบพระมหากษัตริย์ที่มีการเผาพระบรมศพ ณ พระเมรุท้องสนามหลวง จึงโปรดให้ยกเลิกประเพณีนี้เสีย)และอนุญาตให้พระเถระที่ทรงคุณธรรม เมื่อมรณภาพให้จัดประเพณีการทำศพแบบนกหัสดีลิงค์ได้ด้วย โดยเริ่มจากธรรมบาลผุย หลักคำเมือง เจ้าอาวาสวัดมณีวนาราม เนื่องจากกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ทรง ศรัทธาเลื่อมใสท่านธรรมบาลว่าเคร่งครัดในพระธรรมวินัย มีความรู้ในพระปริยัติแตกฉานไม่แพ้พระเถระทาง กรุงเทพฯ เมื่อท่านธรรมบาล (ผุย) ถึงแก่มรณภาพ เสด็จในกรมสั่งให้สร้างเมรุรูปนกสักกะไดลิงค์ถวาย เป็นเกียรติยศให้เผาที่ทุ่งศรีเมือง หลังจากนั้นแล้วไม่มีการเผาศพที่ทุ่งศรีเมืองอีกเลย พระสงฆ์ที่เป็นพระเถระ ผู้ใหญ่ จึงได้รับเกียรติยศให้ขึ้นนกตั้งแต่นั้นมา
สำหรับตำนานการทำศพแบบนกหัสดีลิงค์กล่าวว่า นคร ๆ หนึ่งชื่อนครเชียงรุ้งตักกศิลา พระเจ้าแผ่นดินถึงแก่สวรรคต พระมเหสีนำพระบรมศพแห่แหนไปถวายพระเพลิงนอกเมือง นกสักกะไดลิงค์ บินจากป่าหิมพานต์มาเห็นเข้าจึงได้โฉบลงแย่งพระศพ พระมเหสีให้หาคนที่จะสู้นกแย่งเอาพระศพคืน ในที่สุดมีหญิงสาวผู้หนึ่งชื่อ เจ้านางสีดา เป็นบุตรีของมหาราชครู อาสาต่อสู้นกหัสดีลิงค์ เจ้านางสีดามีวิชา ยิงศรเป็นเยี่ยม ได้ใช้ศรยิงถูกนกใหญ่ตกลงมาถึงแก่ความตาย พระมเหสีจึงให้ประกอบพิธีถวายพระเพลิง พระบรมศพพร้อมนกใหญ่ จนกลายเป็นธรรมเนียมสำหรับเจ้านายเชื้อสายจำปาศักดิ์ว่า เมื่อถึงแก่อนิจกรรม แล้วให้ทำพระเมรุรูปนกประกอบหอแก้วแล้วเชิญศพขึ้นตั้ง ชักลากออกไปบำเพ็ญพระกุศลครบถ้วน ๓ วันจึงเผา ก่อนเผาต้องมีพิธีฆ่านกแล้วเผาทั้งศพทั้งนก
กำหนดงาน
เมื่อเจ้านายเชื้อสายจำปาศักดิ์ ตำแหน่งเจ้าเมืองอุบลถึงแก่อสัญกรรม หรือพระเถระที่ทรง คุณธรรม เป็นที่เคารพนับถือแก่ชาวเมืองถึงแก่มรณภาพ
กิจกรรม/พิธี
การสร้างนกจะสร้างจากไม้ไผ่มาจักตอก แล้วสานเป็นโครงรูปนก ทำเมรุหอแก้วบนหลังนก สมัยโบราณนิยมสร้างให้ท้องนกติดพื้นดินไม่ยกร้านหรือยกพื้นเหมือนปัจจุบัน เพื่อสะดวกในการเผาศพ เมื่อสร้างโครงรูปนกด้วยไม้ไผ่แล้ว ให้นำกระดาษมากรุให้ทั่ว แล้วเขียนลายสีด้วยสีฝุ่นให้เหมือนนกจริงๆ ส่วนสำคัญคือส่วนหัวนก จะต้องให้งวงม้วนได้ ตากระพริบได้ หันคอได้ หูแกว่งได้ อ้าปากและร้องได้ สมํญก่อนช่างสำคัญในการทำนก ได้แก่ พระครูวิโรจน์รัตโนบล (สมจิต บุญรอด) ญาพ่อมหาเสนาวัดทุ่งศรีเมือง ช่างสาย ช่างสี จนถึงช่างคำหมา (พ่อใหญ่คำหมา แสงงาม) การสร้างนกต้องมีการยกครู เครื่องยกครูมีขัน หมากเบ็งคู่ ขันผ้า ขันแพร เงินฮ้อย เงินฮาง เครื่องเงิน เครื่องคาย เหล้าไห ไก่ตัว หัวหมูบายศรี เครื่องพิณพาทย์ ราดตะโบน ฆ้องกลองประโคมเวลายกยอดเมรุการเชิญศพขึ้นสู่หลังนกและจัดกระบวนแห่
ในพิธี ญาติพี่น้องจะแต่งตัวนุ่งขาวห่มขาว เมื่อพร้อมกันแล้วญาติผู้ใหญ่ที่เป็นประธานจะ นำขันห้า ประกอบด้วย เทียน ๕ คู่ ดอกไม้ ๕ คู่ ขอขมาศพ แล้วนำศพสู่เมรุนก เมื่อตั้งศพเรียบร้อยแล้ว นิมนต์พระเถระทั้งสี่ขึ้นนั่งบนที่นั่งหลังนกเพื่ออ่านคัมภีร์บนนกนั้นด้วย กระบวนแห่ศพจะนำเชือกหนังอย่างดี ผูกมัดเป็นฐานนกซึ่งทำเป็นตะเฆ่ใหญ่ ๓ เส้น แล้วจัดคนเข้าแถวตามเส้นเชือกนั้นเป็น ๓ แถว กระบวนสุด คือ ต้นแถวจะมีคนหามฆ้องใหญ่ตีให้สัญญาณนำหน้า แถวถัดมาเป็นกระบวนพิณพาทย์เครื่องประโคมแห่มีคนถือธงสามหางและธงช่อ ธงชัย กระบวนหอก กระบวนดาบ กระบวนช้าง กระบวนเครื่องยศของผู้ตาย แล้วจึงถึงกระบวนชักลากด้วยเชือกสามสายดังกล่าว เมื่อได้สัญญาณแล้วก็จะพร้อมกันดึงนกให้เคลื่อนที่แห่ ไปตามถนนจนถึงวัด กระบวนท้ายคือกระบวนผู้ที่จะใช้ท่อนไม้งัดตะเฆ่นกใหญ่หากติดขัด ในการแห่นกใหญ่ จะมีคนมาร่วมกระบวนมาก เรียกว่า พร้อมกันทั้งเมืองเลยทีเดียว เพราะถือว่าเป็นการแสดงความเคารพรัก แก่ผู้ตายในครั้งสุดท้าย แม้แต่เจ้านายที่เป็นญาติกันที่อยู่เมืองอื่นก็มาร่วมงานด้วย ประเพณีการทำศพแบบ นกหัสดีลิงค์ ถือเป็นงานใหญ่ เจ้าภาพจึงต้องจัดโรงทานไว้ตลอดงาน
สำหรับพิธีฆ่านก ถือตามตำนานว่าผู้ฆ่านกจะต้องสืบสกุลจากเจ้านางสีดา ผู้ฆ่า นกในสมัยโบราณ ซึ่งมีการสืบทอดเชื้อสายกันมาหลายชั่วอายุคนแล้ว ทายาทคนล่าสุด คือ นางสมวาสนา รัศมี อายุประมาณ ๖๐ ปี เพิ่งได้ได้รับการลง(ทรง) เจ้านางสีดา เมื่อเดือนเมษายนพ.ศ. ๒๕๓๕
เจ้าภาพมอบให้ผู้มีเชื้อสายเจ้านาย คือ อัญญาชาย ๒ คน หญิง ๒ คน เชิญผู้ฆ่านกไปฆ่า นก เมื่อคนทรงได้รับเชิญแล้วจะเข้าประทับทรงเชิญเจ้านางสีดามารับเชิญ และเรียกค่าบูชาครูก่อนทำพิธี ฆ่านก เรียกว่า คายหน้า ค่าบูชาครูมีดังนี้ เงินสด ๑๒ ตำลึง คายเชิญ ๑,๐๐๐ บาท เครื่องแต่งตัวเป็นเครื่อง ทองรูปพรรณ หนัก ๑๐ บาท (ยืมมาเป็นพิธี เสร็จแล้วส่งคืน) ศีรษะสุกรพร้อมขาหางต้มแล้ว ๑ ชุด ไก่ต้ม พร้อมเครื่องใน ๔ตัว พาหวาน (ขนมของหวาน) ๑ พา (ถาด) มะพร้าวอ่อนผ่าแล้ว ๔ ลูก กล้วยน้ำว้า ๔ หวี สุรา ๒ ไห บายศรี ๗ ชั้น พิณพาทย์กลองยาว ๑ ชุด แคนและคนเป่า ๑ คน ฉิ่งและคนตี ๑ คน ผู้ไปเชิญ เชื้อสายอัญญาสี่ ชาย ๒ คน หญิง ๒ คน เสลี่ยงทรงแม่นางสีดาพร้อมคนหาม ๑๑ คน
เมื่อคนทรงทำพิธีบวงสรวงในตอนเช้าก่อนเที่ยงแล้ว ก็เข้าประทับทรง แล้วทรงเครื่อง สวมหมวก ถือศร แล้วร่ายรำไปขึ้นเสลี่ยงเข้ากระบวนแห่ไปบริเวณงานศพที่มีนกใหญ่หรือนกสักกะไดลิงค์ ตั้งอยู่ โดยมีคนขึ้นสัปทนแดงให้ มีทหารถือหอกง้าวแห่พร้อมกล้วย อ้อย และบริวารตามไปเป็นแถว เมื่อไปถึงบริเวณงาน กระบวนนางทรงฆ่านกก็จะแห่ไปรอบๆ นก และทำท่าล่อหลอกนก ฝ่ายนกเมื่อเห็นคู่ต่อสู้ไปถึงก็จะยกงวงร้อง เสียงดังและกลอกตา กระพือปีก แกว่งหู หันหน้าเข้าใส่คนฆ่านกประหนึ่งต่อสู้กัน ฝ่ายข้างนางทรงผู้ฆ่านก พอได้จังหวะก็แผลงศรใส่นก เมื่อศรปักอกนก คนอยู่ข้างในร่างนกก็จะเทน้ำสีแดงที่เตรียมไว้ออกมาตามรู ลูกศรประหนึ่งนกหลั่งเลือด เมื่อนกถูกลูกศรก็จะดิ้นรนจนเงียบไป งวงตก ตาหลับ เป็นสัญญาณว่านกตาย ช่างนกก็จะนำผ้าขาวมามัดส่วนหัวนก แล้วหันหน้านกไปทางที่ศพตั้งอยู่ เป็นอันเสร็จพิธีฆ่านก แล้วเตรียมการ เผาศพ ก่อนมีพิธีฆ่านก เจ้าภาพจะจัดพิธีทอดผ้าทางศาสนาเสียก่อน
หลังจากเผานกและเมรุแล้ว คืนนั้นจะมีมหรสพสมโภชอัฐิไปด้วย รุ่งเช้าเก็บอัฐิและอุทิศ ส่วนกุศลแก่ผู้ตาย แล้วนำอัฐิไปก่อธาตุบรรจุต่อไป เป็นอันเสร็จพิธีทำศพแบบนกหัสดีลิงค์
(เจริญ ตันมหาพราน : ๒๕๓๘)
จากคุณ :
HAPPINESS ON EARTH (shintaro)
- [
20 ก.พ. 48 00:57:07
]
|
|
|