ตอนแรกว่าจะห่างๆการเขียนกระทู้ชั่วคราว เพื่อเตรียมตัวสอบและเขียนหนังสือ แต่เห็นข่าวนี้แล้วอดไม่ได้
กระทู้นี้ ไม่พูดถึง บุคคลหรือครอบครัวในข่าวตอนนี้ เพราะ จขกท.ไม่รู้รายละเอียดจริงๆและไม่รู้ว่าในครอบครัวนั้น ตัวเด็กนั้นเป็นอย่างไร แต่ ขอหยิบเฉพาะ ประเด็น เด็กเอ็นท์ไม่ติด หรือ สอบไม่ได้ที่หนึ่ง หรือ ... แล้ว ฆ่าตัวตาย ทั้งที่เกิดขึ้น ตอนนั้น ตอนโน้น ตอนนี้ หรือ ตอนไหนๆ ทั้งที่เกิดขึ้นในไทย ในปาปัวนิวกีนี หรือ ที่อิสราเอล
เพราะ หลังจากมีข่าวแบบนี้เกิดขึ้น ทั้งในสื่อ ในข่าว ในวงเม้าธ์ ในเว็บบอร์ด จะเกิดประเด็นคุ้นๆตามมาเสมอว่า
ใครผิด ?
บ้างก็ว่า เด็กผิด
บ้างก็ว่า เกรียนชะมัด บ้างก็ว่า ไม่รู้จักคิด บ้างก็ว่า ไม่รักพ่อแม่ ถ้าโตขึ้นมาจะแก้ปัญหาอย่างไร
คำถามคือ รู้ได้อย่างไรว่าเด็กไม่รู้จักคิด รู้ได้อย่างไรว่าเด็กไม่รักพ่อแม่ แล้วถ้าเด็กผิด เด็กทำแบบนี้เพราะอะไร ระบบความคิดวิธีการแก้ปัญหาแบบนี้มาจากไหน
เด็กทุกคนไม่ได้โตมาจากกระบอกไม้ไผ่แล้วคิดได้เอง
พวกเขาต้องมีพ่อแม่ มีพี่ มีญาติผู้ใหญ่ มีครู มีเพื่อน มีข่าวทีวี มีหลายๆปัจจัยที่หล่อหลอมให้เด็กแต่ละคนเติบโตมาแตกต่างกัน แถมเราทุกคนก็แตกต่างกันด้วยยีนตั้งแต่อยู่ในท้องแม่แล้ว
นั่นย่อมทำให้ การรับมือกับปัญหาของแต่ละคนแตกต่างกัน ปัญหาหนึ่งๆจึงทำให้คนแต่ละคน มีทางออกแตกต่างกัน
ปัญหาเล็กๆของด.ช.ไก่ อาจเป็นปัญหาใหญ่ๆของเด็กหญิงกุ้ง
ด.ช.ตุ๊ยตุ่ย อาจมีภูมิคุ้มกันและทักษะในการแก้ปัญหาน้อยกว่าคนอื่น เพราะ ไม่ได้รับการติดอาวุธรับมือมาตั้งแต่เด็ก
ด.ญ.ตุ๊ดตู่ อาจอยู่ในบ้านที่จบปริญญาเอกทั้งกระบิ และ วันๆพูดกันถึงแต่ปริญญาและความสำเร็จ
เด็กบางคน อาจจะรักพ่อแม่มาก และ รู้สึกผิดที่ทำให้พ่อแม่ผิดหวัง คิดว่านี่คือความผิดร้ายแรงเกินพ่อแม่จะรับได้ กลัวพ่อแม่จะอาย หรือ เด็กบางคนอาจเป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งเป็นโรคที่สมองมีความผิดปกติในส่วนของสารสื่อประสาท ทำให้ไม่สามารถคิดตัดสินใจได้เหมือนคนทั่วไป แต่ไม่เคยรู้ว่าป่วย ไม่เคยรักษา เมื่อพบความเครียด จึงตัดสินใจ ฆ่าตัวตาย
ผิดด้วยหรือ ที่เขาเติบโตมามีกรอบความคิดแบบนี้ เพราะผู้ใหญ่และปัจจัยรายรอบให้เขามาแค่นั้น เพราะเบ้าหลอม หล่อหลอมชีวิตเขาต่างไปจากเราๆ
ผิดด้วยหรือ ถ้าเขาป่วยเป็นโรคซึมเศร้าไม่ได้รักษา แล้วทำให้ระบบความคิดผิดไปจากเดิม มองอะไรในแง่ลบเกินเหตุชนิดคนพูดเป็นสิบก็ไม่ช่วยอะไรเพราะเป็นผลมาจาก สารสื่อประสาทในสมองที่แปรปรวน
หรือ พ่อแม่จะผิด ?
เวลาเห็นแค่ข่าว เรารู้ได้อย่างไรว่าพ่อแม่คาดหวังลูกมาก รู้ได้อย่างไรว่าพ่อแม่กดดันลูก แล้ว ถ้าเป็นจริง พ่อแม่ทำเพราะรักลูก พ่อแม่ผิดด้วยหรือ ที่อยากให้ลูกได้ดี แล้วการที่ พ่อแม่เลี้ยงดูแบบนี้ เพราะใคร ?
ถ้าพ่อแม่คาดหวังมาก กดดันมากๆ ความคาดหวังความกดดันของพ่อแม่ มาจากไหน ?
พ่อแม่ไม่ได้เรียนรู้ความเป็นพ่อแม่ มาโดยอัตโนมัติ พ่อแม่ไม่ได้อยู่ในป่าครอบครัวเดียวที่ไม่มีการเปรียบเทียบ แต่เติบโตมาผ่านการเลี้ยงดูของปู่ย่าที่ให้ค่านิยมส่งต่อกันมา ค่านิยมของสังคมรอบตัวเวลาคุยกัน ใครๆก็เน้นคุยแต่เรื่อง สถาบัน คุยแต่เรื่องความสำเร็จของลูกตัวเอง ฯลฯ
แล้วถ้าเด็กป่วยเป็นโรคซึมเศร้า พ่อแม่ผิดด้วยหรือที่ไม่รู้จักโรคนี้ เพราะ จะมีสักกี่คนที่รู้จักมันจริงๆ บางคนยังนึกว่า มันไม่ใช่โรคเสียด้วยซ้ำ พ่อแม่ผิดด้วยหรือที่ไม่รู้จักปัจจัยเสี่ยงของการฆ่าตัวตายว่าอะไรควรระวัง ในเมื่อคนส่วนใหญ่ยังไม่รู้มาก่อน
สงสัยสังคมจะผิด ?
สังคมเป็นแบบนี้ เพราะใคร สังคมที่ให้ความหมายและคุณค่าของคนที่ การเรียนหรือจบจากสถาบันดีๆ มีอาชีพเด่นๆคนยกย่องนับหน้าถือตาร่ำรวย
สังคมที่เน้น การเป็นคนประสบความสำเร็จ มากกว่า เน้น การเป็นคนมีความพยายาม
สังคมที่ชื่นชมให้ความสำคัญ ให้รางวัลกับคนเก่งมากกว่าคนดี
สังคมที่สนใจแต่ผลลัพธ์โดยไม่สนว่าวิธีการนั้นจะทำอย่างไรเพื่อให้ได้มา
สังคมที่เน้นการแข่งขันจนมีแต่ผู้แพ้และผู้ชนะ
สังคมที่เสียงปรบมือเป็นของผู้ชนะ แต่ ผู้แพ้เหมือนถูกแบ่งไว้อีกโลกหนึ่ง
สังคมเป็นแบบนี้เพราะใคร ถ้าไม่ใช่ เพราะ คน ในสังคม
แล้วคนในสังคมคือใคร ก็คือเราทุกๆคนนี่เอง
...ดังนั้น ถ้าถามว่าใครผิด ผมไม่คิดว่าเรื่องนี้จะเป็นเรื่องของ 'คนผิด'
ทั้งเด็ก ทั้งพ่อแม่ และ สังคม เราทุกคนล้วนมีส่วนเกี่ยวโยงกันยกกระบวน
สิ่งทีเกิดขึ้นล้วนเป็น'ผล'ของ การสร้างทัศนคติ แนวคิด หรือ ค่านิยมที่ผิดๆ ส่งต่อๆกันไป เกิดจากการขาดความรู้ความเข้าใจที่เพียงพอ ทั้งเรื่องการเลี้ยงดู หรือ ปัญหาสุขภาพจิต เกิดจากการขาดแคลนเอาใจใส่ในการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเยาวชน
....ผมไปรื้อ blog ตัวเองแล้วก็พบว่า เคยเขียนถึงหนังเรื่อง Sky high เมื่อสองปีก่อนที่เป็นหนังเกี่ยวกับโรงเรียนสอนซูเปอร์ฮีโร่ แล้ว ตัวเอกเป็นลูกของพ่อแม่ผู้โด่งดังในตำนาน แต่ลูกกลับมีความสามารถเป็นแค่ ผู้ช่วย แล้วพ่อก็ผิดหวัง เพราะ พ่อมองเห็นคุณค่าในตัวลูกก็ต่อเมื่อลูกมีสถานภาพของ ความเป็นฮีโร่ เท่านั้น ทั้งที่จริง คุณค่าของลูกมีมากมายอยู่ภายในตัวเอง
ที่คิดถึง เพราะตอนเขียนถึงหนังเรื่องนี้ ก็หยิบประเด็นด้วยฆ่าตัวตายเพราะความผิดหวังทางการเรียนมาพูดถึง ซึ่งมีข่าวประมาณนี้เกิดขึ้น และ ยังจำได้ว่า ตอนนั้นก็มีกระทู้ถามหาคนผิดเช่นกัน
และ มันก็เป็นเช่นอดีตที่ผ่านมา
นั่นคือ การพยายามมองหา 'คนผิด' แล้วสุดท้ายก็ปล่อยข่าวผ่านเลยไป แทนที่จะพยายามช่วยกัน ว่าจะพยายามป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาดเช่นนี้เกิดขึ้นอีกได้อย่างไร
แต่ตอนนั้นก็เหมือนตอนนี้ที่ สื่อก็นำเสนอข่าวกันสนุกมือแต่ไม่มีสื่อฉบับไหนเลยจะช่วยกันคิด ไม่มีหน่วยงานรัฐที่มาชูนโยบายต่อเนื่องว่า เราจะช่วยเด็กให้เติบโตมาอย่างไรให้มีสุขภาพจิตและความคิดที่เข้มแข็ง
ไม่ต้องรอพึ่งใครดีไหม มาดูกันว่า แค่เล็กๆน้อยๆ เราจะมีส่วนช่วยได้อย่างไร
1. ครูและพ่อแม่และสังคม ...
1.1 หันมาให้ความสำคัญกับการเติบโตของ EQ (อารมณ์) และ MQ(ศีลธรรม) ไม่น้อยไปกว่า IQ (ความฉลาด) เพราะ ต่อให้อัจฉริยะปานใด ขาดความยั้งคิด ขาดความเห็นอกเห็นใจ ก็โตขึ้นเป็น คนน่ารังเกียจ เป็นฆาตกร หรือ เป็นเหยื่อสังคมที่ลงเอยด้วยการฆ่าตัวตายได้ ไม่แพ้คนอื่นๆ
1.2 ช่วยกันทำให้ สังคมมีการให้คุณค่า(value)ของคน ไม่ใช่ที่ เปลือก ไม่ใช่ที่เสื้อผ้า ตราสถาบัน ไม่ใช่ที่อาชีพ แต่ เป็นที่ตัวตนภายในของคนๆนั้นจริง (เช่น การเป็นคนดี )
1.3 ช่วยกันสร้างสังคมที่ถ่ายทอดให้เด็กเข้าใจว่า
การสอบเอ็นทรานซ์ ไม่ใช่ ทุกอย่างของชีวิต
การสอบเอ็นทรานซ์ เป็นแค่ สะพานเส้นหนึ่งที่พาเราไปสู่ความเป็นผู้ใหญ่ แต่ เมื่อพลาดไป เรายังมีอีกหลายๆสะพานที่พาเราก้าวข้ามไปสู่ผู้ใหญ่ที่ดีได้
1.4 ช่วยให้คนสามารถสัมผัสความรัก หรือ ความภาคภูมิใจที่มีให้ ว่ามาจาก ความดีในตัวที่มีของคนๆนั้น ไม่ใช่ จาก ความสำเร็จเพียงอย่างเดียว
เช่น
พ่อแม่ชื่นชมลูกที่เป็นคนมีความพยายาม แม้จะสอบไม่ติด พ่อแม่ก็ภูมิใจ
พ่อแม่ชื่นชมลูกที่เป็นคนมีน้ำใจ ไม่เห็นแก่ตัว แม้จะเรียนคณะไม่โด่งดัง แม้จะสอบไม่ได้ที่หนึ่ง แต่ครูหรือเพื่อนๆก็รักก็ชื่นชม
ครูชื่นชมลูกศิษย์ที่แม้ว่าจะสอบตก แต่ก็มีความพยายามอ่านหนังสือทบทวนและไม่แอบไปโกงหรือไปลอกงานของใครมา
....ครอบครัวในหนังแอนิเมชั่นที่เพิ่งลาโรงไปอย่าง Meet the robinsons เป็นตัวอย่างที่ดีมากๆ
เมื่อพระเอกของเรื่อง ได้พบกับครอบครัวหนึ่งในอนาคต เขาพบกับเรื่องประหลาดใจ ตอนทุกคนในครอบครัวนั้น ยืนปรบมือให้กับความล้มเหลวที่พระเอกซ่อมอุปกรณ์ไฮเทคไม่สำเร็จ เพราะครอบครัวนี้มองว่า ความล้มเหลวให้อะไรดีๆมากกว่าความสำเร็จ
ทุกวันนี้ เราเน้นสอนให้ คน ประสบความสำเร็จ และ เราก็ใช้ชอล์กแบ่งคนที่ไม่ประสบความสำเร็จ ให้ไปยืนอยู่ฝั่ง คนล้มเหลวหรือคนพ่ายแพ้
ผู้คนจำนวนมากที่ไขว่คว้าใช้ชีวิตเพื่อมุ่งหาความสำเร็จอย่างเมามัน และ คนที่ไปไม่ถึงนั้น หลายคนก็จมปลักกับตีค่าตัวเองต้อยต่ำติดดิน
เราไม่เคยเรียนรู้ว่า ความสำเร็จให้เราแค่คำชมเชย แต่ความสำเร็จไม่ได้ทำให้ชีวิตเราเปลี่ยนแปลง สำเร็จไปมันก็งั้นๆ ตรงกันข้ามกับ ความล้มเหลว ที่ช่วยให้เราเรียนรู้ เช่นเดียวกับ ความผิดหวัง ก็ทำให้เราเติบโต
2. หน่วยงานรัฐให้ความสำคัญ กับ การกระจายความรู้สุขภาพจิต และ พ่อแม่ผู้ปกครองรวมไปถึงเราทุกคน หันมาทำความรู้จักกับปัญหาสุขภาพจิต มากขึ้น เช่น การรู้จัก อาการเตือนของโรคซึมเศร้า รู้จักปัจจัยเสี่ยงของการฆ่าตัวตาย เช่น เด็กเริ่มซึมแยกตัว กินน้อยลง ไม่สนใจกิจวัตรประจำวัน บ่นอยากตาย เป็น อาการเตือนที่ควรพูดคุยกับเด็กเพื่อเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น แล้ว พามาพบแพทย์
2.1 บทความที่เกี่ยวกับโรคซึมเศร้าโดยคุณหมอที่เขียนไว้ ดีมากอ่านเข้าใจง่ายที่นี่ --> http://www.dmh.go.th/news/view.asp?id=859
2.2 เว็บที่เกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิตของบ้านเรา เหมาะสำหรับประชาชนทั่วไป มีคุณหมอคอยมาตอบคำถาม มีข้อมูลง่ายๆในหลายโรคที่เรายังไม่คุ้นเคยที่นี่ --> http://www.thaimental.com
3. สังคมที่เริ่มต้นจาก ความเข้าใจ ไม่ใช่ เน้นแต่เพียงตัดสินว่า ใครถูกใครผิด แต่ พยายามเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น เข้าใจเด็กว่าทำไปแบบนี้เพราะอะไร
ถ้าเด็กคนหนึ่งตัดสินใจฆ่าตัวตาย แล้วไม่ตาย รอดเสร็จกลับมาเจอ พ่อแม่ครูอาจารย์ รุมด่ารุมประณาม เข้ามาอ่านเว็บบอร์ด เจอคนรุมสวดเกี่ยวกับการตัดสินใจผิดๆ จริงที่เด็กบางคนอาจคิดได้ แต่ ในเด็กส่วนใหญ่ที่สภาพจิตใจหรือกรอบความคิดยังไม่เข้มแข็ง กลับยิ่งรู้สึกว่า ไม่มีคนเข้าใจ และ ยิ่งทำให้หาทางออกผิดๆซ้ำๆ
...อย่าลืมว่า ทุกๆคนทั้งคุณและผม ต่างก็ยืนอยู่นอกกรอบชีวิตของเด็กที่ฆ่าตัวตาย เราแค่เห็นเขาจาก พฤติกรรม แต่เราไม่เคยรู้ว่า เขาเติบโตมาอย่างไร เราไม่รู้ว่าเขารู้สึกอย่างไร เขาต้องแบกความคาดหวังอะไรไว้บ้าง สิ่งแวดล้อมเขาเป็นอย่างไร การมีบ้านใหญ่กว่ารวยกว่า ไม่ได้แปลว่าเด็กคนนั้นเติบโตมาสบายกว่าคนอื่นๆ ฯลฯ
ดังนั้นจึงเป็นเรื่องง่ายที่เราจะมีทางออกที่ดีกว่า มีความคิดที่ดีกว่า เวลาเห็นปัญหาคนอื่นจากมุมมองของเรา และ ก็อดไม่ได้ที่จะตำหนิตีตราคนอื่น เพียงจาก ปัญหาที่เห็น
ทั้งที่จริงแล้ว เราอาจไม่เข้าใจชีวิตของเขาแม้แต่น้อย
ลองคิดในมุมกลับกัน
เราเองก็ลืมไปว่า ในเวลาเรามีปัญหารู้สึกว่าถนนที่เดินแสนมืดมน เราไม่ได้อยากได้คนมาด่าว่า "โง่จริงๆเดินอยู่ได้ในทางที่มืดๆ" เพราะหลายหนที่เรารู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด แต่ไม่รู้ว่าจะหาทางออกอย่างไร
สิ่งที่เราต้องการ ไม่ใช่คนด่า แต่ คือ คนที่เข้าใจ ว่าเราต้องเจอกับอะไร เราผ่านอะไรมาบ้าง และ มาช่วยส่องไฟในทางมืด และ หาทางออกให้กับปัญหาที่เผชิญ
เด็กๆหรือพ่อแม่ในสังคมตอนนี้ก็เช่นกัน
ป.ล. ไหนๆก็ไหนๆ ขอฝากกระทู้นี้ไว้ด้วยครับ เกี่ยวกับเด็กๆเช่นกัน
**** อย่าทำร้ายเด็ก ด้วยการพาไปดูหนังที่ไม่เหมาะกับเด็กเลยครับ****
http://www.pantip.com/cafe/chalermthai/topic/A5328389/A5328389.html
แก้ไขเมื่อ 15 พ.ค. 50 20:43:26
แก้ไขเมื่อ 15 พ.ค. 50 15:49:00
แก้ไขเมื่อ 15 พ.ค. 50 15:40:43
แก้ไขเมื่อ 15 พ.ค. 50 15:38:57
แก้ไขเมื่อ 15 พ.ค. 50 15:08:04
แก้ไขเมื่อ 15 พ.ค. 50 15:06:21
แก้ไขเมื่อ 15 พ.ค. 50 14:58:34
แก้ไขเมื่อ 15 พ.ค. 50 14:53:52
แก้ไขเมื่อ 15 พ.ค. 50 14:36:10
แก้ไขเมื่อ 15 พ.ค. 50 14:32:44
จากคุณ :
"ผมอยู่ข้างหลังคุณ"
- [
15 พ.ค. 50 14:20:24
]