http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=historyandphilosophy&group=4
สังคมอเมริกันถือได้ว่าเป็นต้นแบบของสังคมทุนนิยมที่เฟื่องฟูมากนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดมา วัฒนธรรมจารีตประเพณีของสังคมอเมริกันจึงถูกสร้างขึ้นมาใหม่ให้มีลักษณะเคร่งครัดยิ่งขึ้น เพื่อสอดคล้องกับเป้าหมายและรูปแบบการแข่งขันกันระหว่างสมาชิกในสังคม เช่น พ่อบ้านต้องมีอาชีพ การงานดีๆ สามารถหาเงินเพื่อครอบครัวที่แสนอบอุ่น มีบ้านหลังสวยๆ มีรถยนตร์ มีตู้เย็น มีโทรทัศน์ สารพัด ส่วนแม่จะเป็นแม่บ้านประเภท Stepford Wives (หนังที่เสียดสีอุดมคติของสังคมยุคห้าสิบที่ให้ภรรยาหรือแม่บ้านเป็นคนเลิศเลอ เพอร์เฟค) ส่วนลูกก็ต้องตั้งอกตั้งใจไปเรียนหนังสือ (ความจริงถ้าดูผิวเผินมันก็ไม่เลวร้ายหรอก แต่กรุณาดูต่อไป)
จึงไม่น่าประหลาดใจว่าเมื่อเหตุการณ์นี้เริ่มเกิดในทศวรรษที่ห้าสิบ ทศวรรษที่หกสิบจึงเป็นเวลาของการระบายออกของเด็กที่เก็บกดมาจากการเลี้ยงดูแบบนี้ในรูปแบบของการปฏิเสธสังคมทุกรูปแบบ กลายเป็นฮิปปี้และพวกชอบเสพยาเสพเซ็กส์ แต่เมื่อวัฒนธรรมของฮิปปี้จบลงในทศวรรษที่ 70 พวกเขาก็กลับมาเป็นชนชั้นกลางมาอยู่ในกรอบสังคมเหมือนเดิม แถมยังสั่งสอนลูกเต้าให้มีชีวิตเหมือนพวกเขา สืบทอดแนวคิดนี้จนถึงทุกวันนี้
อย่างไรก็ตามแนวคิดเช่นนี้ก็ได้แพร่มากับทุกสังคมที่เจริญแล้วทั่วโลก เป็นดาบสองคมคือทำให้สังคมมีการเคลื่อนไหว พัฒนาในขณะเดียวกันทำให้ปัจเจกชนหรือคนๆหนึ่งที่รับมันไม่ได้ก็ต้องทนทุกข์ทรมาณไป (เด็กญี่ปุ่นต้องโดดตึกตายกันมากมายเพราะทนแรงกดดันสังคมไม่ไหว) หรือร้ายไปกว่านั้นได้พบว่าชีวิตที่สวยหรูที่สังคมวาดภาพให้หากเดินตาม กลับไม่ได้สวยงามเช่นนั้นเลย
ภาพยนตร์เรื่อง American Beauty (1999) จึงเป็นภาพยนตร์ที่ตีแผ่สังคมอเมริกันแบบนี้อย่างถึงเนื้อถึงกระดูกโดยให้ครอบครัวBurnham เป็นตัวอย่าง พ่อบ้านคือ Lester (Kevin Spacey) ต้องประสบวิกฤตการณ์วัยกลางคนไม่ว่าจะเป็นเรื่องปัญหาที่ทำงาน ความสัมพันธ์ระหองระแหงกับภรรยา (Annette Benning) และลูกสาววัยรุ่นซึ่งหัวดื้อแถมจงเกลียดทั้งพ่อและแม่ นอกจากนี้พวกเขายังพบกับเพื่อนบ้านไม่ว่าจะเป็นคู่เกย์ที่อยู่กันแบบสามีภรรยา ครอบครัวของนายทหารที่เกลียดเกย์เป็นชีวิตจิตใจและลูกชายซึ่งท่าทางประหลาดๆ มาชอบลูกสาวของเลสเตอร์ อย่างไรก็ตามเลสเตอร์ซึ่งกำลังเบื่อกับชีวิตก็พบกับน้ำทิพย์จากฟากฟ้านั่นคือเพื่อนของลูกสาวที่แสนสุดจะเซ็กซี่ เขาจึงกลายเป็นตาแก่หัวงูที่คิดแต่จะเครมเพื่อนลูกสาว ในขณะที่ภรรยาของเขากำลังจะนอกใจเขาอยู่เช่นกัน .......
เหตการณ์ต่างๆ ในหนังเต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวายและจบลงด้วยโศกนาฎกรรม (หรือว่าสุขนาฏกรรมดี ?)ที่เป็นการทำลายมายาคติเกี่ยวกับชนชั้นกลางที่สังคมยัดเยียดให้คนอเมริกันในหลายๆ ทศวรรษที่ผ่านมา ที่สำคัญที่สุดของหนังคือทำให้คนดูเห็นการเข้าสู่สัจธรรมบางอย่างของเลสเตอร์ที่ตัวเองไม่เคยตระหนักรู้มาก่อนเลย ถ้าจะให้พูดภาษาแบบทันสมัยก็คือพระเอกเปรียบได้ดังกบในกะลา กะลาที่ว่าคือกรอบของชนชั้นกลาง และที่น่ากลัวไปกว่านั้นก็คือ เลสเตอร์หมายถึงตัวพวกเราทุกคน (ที่ถือว่าตัวเองเป็นชนชั้นกลาง) นั่นเอง American Beauty จึงเป็นหนังรางวัลห้าตุ๊กตาทองที่ละเมียดละมัยในการเสียดสี เสียดแทงใจคนอเมริกัน (และคนชาติอื่น) มากที่สุดเรื่องหนึ่ง
ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นส่วนผสมของนวนิยายเรื่อง Death of a Saleman ของ Arthur Miller (หากพิจารณาดูเนื้อเรื่องแล้ว เหมือนกันมากๆ ราวกับฝาแฝด ใครจำได้บ้างว่าเมื่อก่อนละครโทรทัศน์ของไทยดัดแปลงเรื่องนี้โดยให้ พิศาล อัครเศรนีย์แสดงเป็นพ่อและศรัณยู วงศ์กระจ่างแสดงเป็นลูก จำได้ติดตาว่า มีอยู่ตอนหนึ่ง ทะเลาะกันรุนแรงมาก) และภาพยนตร์เรื่อง Lolita ที่Stanley Kubrick (และ Adrian Lyne) สร้างมาจากนวนิยายของ Vladimir Nabokovเป็นเรื่องของผู้ชายที่หลงรักเด็กผู้หญิง
จากคุณ :
Johann sebastian Bach
- [
31 ส.ค. 48 23:25:07
]