CafeTech-ExchangePantip MarketChatTrendyMobilePantown


    บทความเกี่ยวกับรองเท้านารี

    หอมกลิ่นกล้วยไม้: กล้วยไม้ในกลุ่มรองเท้านารี (16)

    การใช้กล้องจุลทรรศน์ตรวจและศึกษาโครโมโซม หรือวิชาการทางไซโตโลจี (cytology) จึงสามารถช่วยแนะแนวทางให้แก่ผู้ผสมได้ บางครั้งจากการพิจารณาโดยใช้หลักวิชาการดังกล่าวนี้ อาจทำให้เราจำเป็นต้องวางโครงการผสมหลายๆ ทอด
    หลังจากได้ถูกผสมช่วงแรก ซึ่งเมื่อเลี้ยงจนออกแล้ว จำเป็นต้องคัดพันธุ์เอาไปผสมต่อเป็นช่วงๆ จึงจะได้ลูกผสมที่มีลักษณะดีเด่นตามความมุ่งหมาย
    ตัวอย่างเช่น เราได้ทราบว่า กล้วยไม้ที่มีโครโมโซมเป็น อโลเตทตราพลอยด์ (allotetraploid) มีคุณสัมบัติดีเด่นเป็นพิเศษในการใช้ทำพันธุ์ เพื่อผลิตลูกผสมประเภทอโลเตทตราพลอยด์เสียก่อน แล้วจึงนำไปใช้ในการผสมเพื่อปรับปรุงคุณลักษณะอีกทอดหนึ่ง
    ปัญหาในการผสมพันธุ์นั้น มีอยู่หลายประการ
    ประการหนึ่ง ได้แก่ จำนวนโครโมโซมของกล้วยไม้แต่ละชนิดนั้นอาจไม่เท่ากัน เช่น โครโมโซมของ กล้วยไม้รองเท้านารี Paph.niveum ซึ่งมีแหล่งกำเนิดอยู่ทางภาคใต้ของประเทศไทย จำนวนโครโมโซม 2n=26 ส่วน กล้วยไม้รองเท้านารีคางกบ Paph.callosum ซึ่งมีแหล่งกำเนิดอยู่ทางภาคเหนือและภาคตะวันออก มีจำนวนโครโมโซม 2n=32 เป็นต้น
    นอกจากปัญหาเรื่องจำนวนโครโมโซมไม่เท่ากันแล้ว ปัญหาการเข้ากันไม่ได้ หรือ incompatibillity ก็เป็นอุปสรรคสำคัญอีกเรื่องหนึ่ง บางทีปรากฏว่า หลังจากการผสมเกสรแล้ว รังไข่ (ovary) จะร่วงหล่นไปโดยไม่เจริญเป็นฝัก บางครั้งฝักเจริญขึ้นแต่เหลือง จะหล่นไปก่อนกำหนด
    หากนำฝักซึ่งร่วงก่อนกำหนดนี้มาเปิดออกดู จะพบว่ามีแต่เมล็ดลีบ หรืออาจจะไม่มีเมล็ดเลย แต่ควรสังเกตให้ละเอียดถี่ถ้วน เพราะการร่วงก่อนกำหนดของฝัก อาจเกิดจากสาเหตุแวดล้อมจากภายนอก เช่น มีเชื้อราบางชนิดทำอันตรายฝักอ่อนก็เป็นได้ แต่ในกรณีเช่นนี้ เราจะพบว่า ภายในฝักมีเมล็ดสมบูรณ์ แต่อยู่ในลักษณะที่ยังอ่อน
    ส่วนใหญ่ของกล้วยไม้รองเท้านารีลูกผสมในปัจจุบันนี้ สืบเชื้อสายมาจาก รองเท้านารีอินทนนท์ของไทย (Paph.villosum), Paph.insigne, spicerianum และยิ่งกว่านั้น รองเท้านารีฝาหอยของไทย (Paph.bellatulum) ก็เริ่มจะได้รับความสนใจในด้านการผสมพันธุ์ ชนิดต่างๆ ที่กล่าวมานี้มีจำนวนโครโมโซม 2n=30 และปรากฏว่า ผสมเข้ากับชนิดอื่นๆ ได้ยาก และเป็นผลให้ลูกผสมเป็นแอนิวพลอย (aneuploid) ขึ้นได้เสมอๆ
    กล้วยไม้รองเท้านารีลูกผสมที่นิยมเลี้ยงกันแพร่หลายอยู่ในต่างประเทศปัจจุบันนี้ มีคุณลักษณะดอกดีเด่นเป็นที่น่าสนใจมาก เช่น ขนาดดอกใหญ่ถึง 5-6 นิ้วฟุต ฟอร์มดอกกลม ผึ่งผาย สีสดใส และเป็นเงางาม กลีบดอกหนาและแข็ง ดอกบานทนได้เป็นเวลากว่า 1 เดือน ซึ่งเป็นลักษณะของกล้วยไม้ (polyploid) มีจำนวนโครโมโซมมากผิดปกติ
    "โพลีพลอยด์" เหล่านี้ เกิดขึ้นจากผลของการผสม ซึ่งก่อนการผสมเกสร อาจมีเซลล์เชื้อบางเซลล์ที่แบ่งตัวโดยไม่มีการลดจำนวนโครโมโซมลงครึ่งหนึ่งเสียก่อน หลังจากการผสมจึงปรากฏว่า ต้นที่เกิดใหม่มีจำนวนโครโมโซมเพิ่มขึ้นเป็นเท่าๆ
    อย่างไรก็ตาม ในระหว่างกรรมวิธีการเกิดเมล็ดของพืช ก็อาจมีการทวีจำนวนโครโมโซมได้ R.E.Duncan ได้รายงานผลการวิจัยจำนวนโครโมโซมของกล้วยไม้รองเท้านารีลูกผสมไว้ดังนี้
    พวกที่มีโครโมโซมอยู่ในระดับดิพลอยด์ (diploid) และใกล้เคียง มีจำนวนโครโมโซมระหว่าง 26-30 พวกที่อยู่ในระดับทริพลอยด์ (triploid) มีจำนวนโครโมโซมระหว่าง 39-56 และพวกที่อยู่ในระดับเตทตราพลอยด์ มีจำนวนโครโมโซมระหว่าง 52-56 และยังพบว่าในระดับเพนตาพลอยด์ (pentaploid) ก็ปรากฏว่ามี 70 โครโมโซมอยู่ด้วย
    การที่เราผสมเกสรไม่สำเร็จ เช่น ได้เมล็ดลีบหรือผสมไม่ติด อันเนื่องมาจากโพลีพลอยด์ อาจมีสาเหตุมาจากแอนิวพลอยด์ (aneuploid) ซึ่งอาจมีสาเหตุที่เกสรตัวผู้ขาดความแข็งแรงสมบูรณ์เสริมมาอีกด้วย
    บางทีเราจะเห็นว่า เกสรตัวผู้อยู่ในสภาพปกติ แต่ก็ไม่สามารถที่จะงอกหรือส่งหลอดลงไปผสมกับไข่ของตัวเมียได้

    คิดว่าคงเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่ต้องการผสมนะครับ

    *** แหล่งที่มา นสพ. คม ชัด ลึก ***

    จากคุณ : modelunicorn - [ 6 ม.ค. 48 10:37:59 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป