ความคิดเห็นที่ 13
สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม
ตามที่ปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดาร ในเรื่องประวัติของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม เมื่อก่อนเสวยราชย์ มีแต่ว่าพระศรีศิลป์บวชอยู่วัดระฆัง ได้เป็นที่พระราชาคณะตำแหน่งพระพิมลธรรมอนันตปรีชาฯ เป็นผู้รอบรู้พระไตรปิฎก และชำนาชเวทางคศาสตร์ ผู้คนนับถือมาก ทั้งจมื่นศรีสรรักษ์ก็ถวายตัวเป็นบุตรเลี้ยง พระพิมลธรรมคบคิดกับสมัครพรรกพวกเป็นขบถ ลอบปริวัตรจามสมณเพศแล้ว ไปชุมนุมพลที่วัดมหาธาตุ ยกจู่เข้าไปในพระราชวัง จับเจ้าฟ้าศรีเสาวถาคย์ได้ให้ปลงพระชนม์เสีย พระพิมลธรรมจึงขึ้นครองราชสมบัติ ทรงพระนาม สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ตั้งจมื่นศรีสรรักษ์ผู้บุตรเลี้ยงเป็นพระมหาอุปราช อยู่ได้ ๗ วันพระมหาอุปราชสิ้นพระชนม์ ความกล่าวไว้ในหนังสือพระราชพงศาวดารแต่เท่านี้ จึงเข้าใจกันแต่ก่อนมาว่า สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม แต่เดิมเป็นบุรุษสามัญผู้ ๑ ไปมีคุณวิเศษต่อเมื่ออุปสมบทเป็นพระภิกษุ ถึงผู้ศึกษาโบราณคดีแต่ก่อนได้ตัดสินว่า สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมตั้งราชวงศ์ใหม่
ตั้งแต่ตั้งโบราณคดีสโมสรขึ้นเมื่อในรัชกาลที่ ๕ อันเป็นเหตุให้มีผู้เอาใจใส่พิเคราะห์เรื่องพระราชพงศาวดารมากขึ้น ผู้ศึกษาโบราณคดีชั้นหลัง มาเกิดเคลือบแคลงขึ้นด้วยเรื่องที่ว่าตั้งราชวงศ์ใหม่ ในครั้งสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมได้ราชสมบัติด้วยเรื่องที่กล่าวไว้ในหนังสือพระราชพงศาวดาร เมื่อมาพิเคราะห์ดูเห็นไม่สมเหตุผล และไม่สมกับความในหนังสือซึ่งชาวต่างประเทศเข้ามาเมืองไทยได้แต่ไว้ในครั้งนั้น
ข้อซึ่งเห็นว่าความไม่สมเหตุผลนั้น ถ้าท่านทั้งหลายผู้อ่านหนังสือนี้ ลองคิดดูด้วยใจตนเองก็จะแลเห็น คือว่าใครๆที่ไปบวชอยู่จนได้เป็นพระราชาคณะ จะมียศเป็นถีงพระพิมลธรรมก็ตาม หรือแม้ที่สุดเป็นถึงสมเด็จพระราชาคณะก็ตาม มีศิษย์หามากเพียงได้หัวหมื่นมหาดเล็กคน ๑ เป็นหัวหน้าในพวกศิษย์ จะชิงสมบัติได้อย่างไร
จริงอยู่ตามเรื่องที่ปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดารเมื่อครั้งกรุงเก่าเป็นราชธานี เคยมีผู้ร้ายจู่เข้าปล้นถึงพระราชวังหลายครั้ง เช่นในแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ พระศรีศิลป์เข้าปล้นครั้ง ๑ ในแผ่นดินนั้นเอง พระยาตานียอกองทัพเข้ามาช่วยรบศึกหงสาวดี แล้วเลยเข้าปล้นพระราชวังอีกครั้ง ๑ สมเด็จพระเจ้าปราสาททองเมื่อเป็นออกญากลาโหม คิดขบถเข้าปล้นพระราชวังครั้งแผ่นดินสมเด็จพระเชษฐาธิราชอีกครั้ง ๑ ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าปราสาททองนั้น พระอาทิตยวงศ์เข้าปล้นพระราชวังอีกครั้ง ๑ ต่อมาถึงแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ พวกจีนบ้านไนก่ายเข้าปล้นพระราชวังอีกครั้ง ๑ เหตุที่เกิดปล้นพระราชวังที่กล่าวมา ๕ ครั้งนี้ พวกผู้ร้ายที่เข้าปล้นเป็นอันตรายพ่ายแพ้ทุกครั้ง เว้นแต่ครั้งสมเด็จพระเจ้าปราสาททองปล้นพระราชวัง ซึ่งมีเรื่องราวรู้ได้ชัดเจนว่าข้าราชการเป็นใจด้วยเกือบหมด แม้กระนั้นก็ยังไม่ได้ราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดินโดยง่าย ยังมีตัวอย่างครั้งท้าวศรีสุดาจันทร์ยกราชสมบัติให้ขุนวรวงศาธิราช นั่นว่าได้อำนาจไว้ในมือเต็มที่แล้ว อยู่ได้ไม่ถึง ๒ เดือน ก็ถูกจับฆ่า
การที่พระพิมลธรรมปล้นวัง แม้จะเข้าวังได้ และที่สุดจะจับเจ้าฟ้าศรีเสาวภาคย์ได้ เหตุใดคนทั้งหลายทั้งในกรุงฯ และหัวเมืองจึงยอมยกพระพิมลธรรมขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ครองราชสมบัติสืบต่อกันมาช้านานอีกหลายปี อันนี้ที่เห็นว่าไม่สมเหตุสมผล
ส่วนความที่ได้จากหนังสือชาวต่างประเทศนั้นมีความจริงซึ่งควรเชื่อได้เป็นแน่ข้อ ๑ ว่าเมื่อในแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรถ พวกญี่ปุ่น พวกฝรั่งโปรตุเกต วิลันดา และอังกฤษ ได้เริ่มเข้ามาตั้งค้าขายอยู่ในเมืองไทยแล้ว หนังสือจดหมายเหตุต่างประเทศที่ข้าพเจ้าได้มาสอบในคราวนี้ มีหนังสือจดหมายเหตุที่เมืองญี่ปุ่น จดหมายเหตุของพวกวิลันดา และจดหมายของพวกอังกฤษ โดยมากลงวันเดือนและศักราช มีเรื่องราวกล่าวถึงเหตุการณ์ตั้งแต่แผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรถเป็นต้นมา แต่ประหลาดอยู่ที่ไม่พบในจดหมายเหตุของชาวต่างประเทศชาติใด ที่จะได้กล่าวถึงเรื่องสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมชิงราชสมบัติ ที่ได้พบ ๒ - ๓ แห่งกล่าวแต่ว่า เมื่อสมเด็จพระเอกาทศรถสวรรคตแล้ว พระราชบุตรองค์ที่ ๒ ได้รับราชสมบัติ ตรงกับที่กล่าวในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า เจ้าฟ้าศรีเสาวภาคย์อันเป็นพระราชบุตรที่ ๒ ได้รับราชสมบัตินั้น หรือว่าเป็นผู้อยู่นอกราชวงศ์เข้ามาได้ราชสมบัติ เข้าใจได้ตามความที่ปรากฏในหนังสือของชาวต่างประเทศแต่ว่าสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมได้ครองราชสมบัติต่อเจ้าฟ้าศรีเสาวภาคย์
และได้ความตามสำเนาอักษรสาส์นโชคุนญี่ปุ่นว่า มิได้ยกย่องพระเกียรติยศสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมสูงเท่าสมเด็จพระเอกาทศรถ ถึงกระนั้นเมื่อพิเคราะห์ดูตามเนื้อความที่ปรากฏ พวกชาวต่างประเทศอยู่ข้างนับถือสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ผิดกันกับสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง จดหมายเหตุของชาวต่างประเทศที่เขียนครั้งแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ไม่ว่าจดหมายเหตุของชาติใด มีความปรากฏว่าสมเด็จพระเจ้าปราสาททองชิงราชสมบัติ จดหมายเหตุเมืองญี่ปุ่นถึงปรากฏว่า ขับไล่ราชทูตไทยซึ่งออกไปเมืองญี่ปุ่น และไม่ได้เป็นไมตรีกับไทยแต่นั้นมา ความทั้งปวงที่กล่าวมานี้ และยังมีหลักฐานอื่นซึ่งจะปรากฏต่อไปข้างหน้า เป็นพยานให้เห็นว่าสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมเห็นจะเป็นเจ้านายในราชวงศ์ มิใช่เป็นผู้สกุลต่ำ
ในหนังสือจดหมายเหตุของวันวลิตพ่อค้าวิลันดา(๑) กล่าวถึงสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมและสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง มีเรื่องราวละเอียดกว่าที่ได้พบในจดหมายเหตุต่างประเทศฉบับอื่นๆ ข้าพเจ้าคัดความเฉพาะเกี่ยวด้วยสกุลวงศ์มากล่าวในที่นี้ก่อน แล้วจึงจะกล่าวถึงราชประวัติต่อไป
ในจดหมายเหตุของวันวลิต เรียกพระนามสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมว่า พระอินเตระวะทรงธรรม ช้างเผือก(๒) คำว่าอินเตระวะซึ่งวันวลิตไม่ได้แปลนั้น ข้าพเจ้าสันนิษฐานว่าจะเป็น พระเอกาทศรถ คือต้นพระนามในสุพรรณบัตร หรือมิฉะนั้นจะเป็นอินทราชา หมายนามพระยศก่อนได้ราชสมบัติ ด้วยวันวลิตกล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมมีพระอนุชา ๒ พระองค์ ทรงพระนามพระศรีศิลป์พระองค์ ๑ พระองค์ทองพระองค์ ๑ ซึ่งเชื่อได้ว่าถูก ด้วยตรงกับพระนามพระยศเจ้านายในครั้งนั้นทั้ง ๒ นาม
ที่ในหนังสือพระราชพงศาวดารว่าสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมมีพระนาม เมื่อก่อนทรงผนวชว่า พระศรีศิลป์ นั้น ข้อนี้เป็นพยานว่าเป็นเจ้า เพราะพระนามว่าพระศรีศิลป์เป็นนามสำหรับยศเจ้านาย มีลูกเธอสมเด็จพระไชยราชาธิราช ที่ปรากฏว่าเป็นพระศรีศิลป์พระองค์แรก และยังมีเจ้านายที่ทรงนามพระศรีศิลป์นี้ต่อมาอีกหลายองค์ นามว่าพระศรีศิลป์จะเป็นชื่อขุนนางหรือชื่อไพร่ไม่ได้ บางทีสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมจะเป็นพระศรีศิลป์อยู่ก่อนเมื่อทรงผนวช ต่อเมื่อได่รายสมบัติแล้วจึงพระราชทานนามนั้นแก่น้องยาเธอก็เป็นได้ หลักฐานที่กล่าวมาทั้งที่ปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดาร และจดหมายเหตุต่างประเทศชวนให้น่าเชื่อว่า สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมเป็นเจ้านายในราชวงศ์ ดังแสดงมานี้
....................................................................................................................................................
(๑) จดหมายของวันวลิตที่อ้างนี้ ฉบับที่หอพระสมุดฯได้มาเป็นภาษาฝรั่งเศส กรรมการได้ให้แปลเป็นภาษาอังกฤษและพิมพ์แล้ว เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๗
(๒) เขียนเป็นหนังสือฝรั่ง Pra Inter Va Tsia Thiant Siangh Pheevgh, the Great and Inst Ving of the whiter Elephant ดังนี้
จากคุณ :
กัมม์
- [
2 พ.ค. 49 15:26:28
]
|
|
|