ความคิดเห็นที่ 54
ตอนที่ ๕ สำมะโนครัวพลเมือง
พลเมือง
จำนวนคนพลเมืองแต่ครั้งกรุงเก่ายังปกติ สำมะโนครัวเดิมจะมีเท่าใดก็ไม่มีจดหมายเหตุ แต่ได้พบในหนังสือมองสิเออร์ลาลุแบร์ซึ่งเป็นราชทูตกรุงฝรั่งเศส เข้ามาในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชลงไว้ มีคนแสนเก้าหมื่น มาในศก ๑๒๖ นี้ได้สำรวจสำมะโนครัวพลเมืองซึ่งใกล้ต่อความแน่นอนที่สุด ได้จำนวนคน ๑๙๓,๒๗๒ คน เมื่อจะคิดเทียบกับความเจริญของบ้านเมืองในสมัยก่อนกับเวลานี้ แม้แต่กรุงเก่าเป็นหัวเมืองแล้วก็ดี ยังมีพลเมืองมากกว่าครั้งกรุงเก่าเป็นพระนครราชธานีถึง ๓,๒๗๒ คน
ภูมิลำเนาบ้านเรือนของพลเมืองในเวลาโน้นคงจะอยู่ในที่ริมแม่น้ำลำคลอง และที่ใกล้กำแพงพระนครทั้งภายในและภายนอก แต่กลางเมืองเห็นจะเป็นที่ว่างเปล่า หรือถึงจะมีบ้างก็คงน้อย สังเกตดูความในพระราชพงศาวดาร ถ้าเกิดทัพศึกคราวใดก็ต้องกวาดต้อนราษฎรในแขวงจังหวัดทั้ง ๔ เข้าไปไว้ในพระนคร ถ้าบ้านเรือนแน่นหนาฝาคั่งอย่างกรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทรมหินทราอยุธยาในปัจจุบันนี้ เห็นจะกวาดต้อนเอาผู้คนข้างนอกเข้ามาไว้ไม่ได้ มีพะยานที่ได้เห็นประจักษ์ตาในเวลาที่ล่วงมาสัก ๑๐ วันนี้ กรมยุทธนาธิการระดมทหาร ๑๐,๐๐๐ เข้ามารับเสด็จพระราชดำเนินในกรุงเทพฯ จะหาที่ให้ทหารพักในกำแพงพระนครยังไม่ได้ ต้องไปปลูกโรงอาศัยอยู่กลางทุ่งปทุมวัน
อนึ่งบ้านเรือนพลเมืองในครั้งนั้น สังเกตดูตามพระราชพงศาวดารของชาติและหนังสือที่คนต่างประเทศแต่งไว้ว่า บ้านเรือนคนพื้นเมืองทำด้วยเครื่องไม้ (แต่ท่านผู้แต่งเห็นจะไม่ได้เห็นตึกสี่เหลี่ยมที่พระเพทราชาพระราชทานเจ้าพระยาสุรสงคราม กับตึกเจ้าพระยาคลัง ที่ป่าตะกั่ว จึงว่ามีแต่เรือนไม้) แต่ชาวยุโรป จีน แขกมัวร์(หมายความว่าพวกนับถือศาสนามหมัด) ชาวอาระเบียนคงจะเป็นชาติเปอร์เซียน (ไทยเรียกโครส่าน ตึกหลังหนึ่งอยู่ในวัดเสาธงทองเมืองลพบุรี หนังสือเดิมเขียนบอกว่า ตึกคชสารนั้นทีจะผิด ด้วยตึกหลังนั้นเป็นที่พักราชทูตเปอร์เซีย เดิมคงเรียก ตึกโครส่าน แต่นานมาแปลกันไม่ออกก็หันลงเป็นคชสาร) บ้านเรือนก่อเป็นตึกบ้าง แต่พวกญี่ปุ่นหากล่าวไม่ เห็นจะเป็นเรือนไม้ด้วยไม่เคยเห็นรากตึก บ้านเรือนตึกรามของชาวยุโรปซึ่งปรากฏในเวลานั้นว่า มีโปรตุเกตวิลันดากับญี่ปุ่น อยู่ที่ริมแม่น้ำตำบลปากน้ำแม่เบี้ยใต้ป้อมเพ็ชร์
แต่คนฝรั่งเศสเกี่ยวข้องกับรั้วงานราชการ เป็นชาติที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงโปรดปรานจึงทรงพระกรุณาพระราชทานที่ให้อยู่ใกล้พระนคร และพระราชทานพระราชานุญาตให้สร้างวัดลงในที่ปากคลองตะเคียนข้างเหนือ ซึ่งยังมีทรากติดต่อมาจนปัจจุบันนี้ พวกอังกฤษและชาติอื่นจะอยู่ที่ใดไม่ได้ความ แต่เห็นว่าจะอยู่แถวเดียวกับพวกวิลันดากระมัง ถ้าคิดเทียบบ้านเรือนผู้คนพลเมืองแต่ก่อนกับเดี๋ยวนี้ ก็จะมีผิดกัน คือแต่เดิมบ้านเรือนผู้คนในจังหวัดพระนครมาก แต่แขวงนอกพระนครบ้านเรือนและคนคงจะน้อย ในปัจจุบันนี้ในพระนครร้างเป็นป่า มีคนแต่ริมลำน้ำเห็นจะน้อยกว่าครั้งก่อน แต่ท้องที่อำเภอต่างๆผู้คนพลเมืองมากขึ้น คงจะแปลกกันแต่เท่านี้
จากคุณ :
กัมม์
- [
20 พ.ค. 49 09:48:33
]
|
|
|