ความคิดเห็นที่ 3
ตอนที่ ๑ อุตรดิตถ์-ลับแล-ทุ่งยั้ง
การดูสถานที่ต่างๆที่เมืองสวรรคโลกเป็นอันแล้วเสร็จ เมื่อวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ครั้นวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ เวลาเช้า ๔ โมงเศษออกจากที่พักริมวัดน้อยข้ามลำน้ำยมไปฝั่งเหนือ แล้วจึงขึ้นม้าเดินทางไปตามทางที่ราษฎรเดินขึ้นไปไหว้พระแท่นศิลาอาสน์ เดินไปจากฝั่งน้ำได้ ๔๐ เส้นเศษมีศาลาเล็กๆหลังหนึ่งปลูกไว้เป็นที่พักคนเดินขึ้นพระแท่น ที่ระยะ ๑๐๐ เส้นมีศาลาอีกหลังหนึ่งค่อนข้างจะเขื่อง ที่ระยะ ๒๐๐ เส้นมีศาลาแฝดกับสระน้ำเป็นทุ่งโถง ต่อไปนั้นอีก ๙๐ เส้นเศษถึงหนองไก่ฟุบ มีศาลหลังหนึ่งกับสระน้ำ ได้พักร้อนและกินกลางวันที่หนองไก่ฟุบ ทางที่เดินแต่ลำน้ำยมไปถึงที่นี้นับว่าอยู่ข้างจะสะดวก เพราะผ่านไปในป่าโดยมากแดดไม่ค่อยจะร้อน ม้าขี่วิ่งบ้างเดินบ้างชั่วโมงเศษเท่านั้นกินกลางวันแล้วขี่ช้าง เดินตามทางขึ้นพระแท่นต่อไปทาง ๒๕๐ เส้นถึงด่านแม่คำมัน พรมแดนเมืองสวรรคโลกกับเมืองพิชัยต่อกัน พักแรมที่นี้ซึ่งมีศาลาที่พักคนเดินขึ้นพระแท่นอยู่หลังหนึ่ง ในคลองแม่คำมันมีปลาชุม เพราะน้ำมีอยู่ตลอดปีไม่แห้งเลย ลำน้ำนี้ได้น้ำจากห้วยช้าง ซึ่งไหลมาจากเขาทางเมืองลับแล
รุ่งขึ้นวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ เวลาเช้า ๔ โมงเศษออกจากด่านแม่คำมัน ขี่ม้าไปตามถนนไปพระแท่นอีก ทางไปในทุ่งโดยมาก การเดินทางอยู่ข้างจะร้อนกว่าวันก่อนนี้ ผ่านศาลาที่พักกลางทางหลังหนึ่ง เมื่อจวนถึงพระแท่นเดินไปบนถนนซึ่งถมเป็นคันสูงข้างทุ่ง เพราะตรงนี้เป็นที่ลุ่ม ไปหมดถนนเพียงบ่อหัวดุม ที่ใกล้บ่อมีศาลาที่พัก แต่ไม่พอกับคนที่มาไหว้พระแท่น เพราะฉะนั้นได้เห็นซุ้มปักเป็นที่พักชั่วคราวอยู่มาก
เวลาเช้า ๔ โมงเศษถึงวัดพระแท่นศิลาอาสน์ เป็นเคราะห์ดีที่ได้ไปพอเวลาเทศกาลราษฎรขึ้นไหว้พระแท่น กำหนดวันขึ้น ๑๓ ค่ำ ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ เดือนสาม วันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์นี้ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ จึงได้เห็นคนอยู่มาก ที่ถนนตรงหน้าพระแท่นออกไปมีร้านตั้งขายของต่างๆ คนเดินไปมาเบียดกันแน่นคล้ายที่พระพุทธบาทในเวลาเทศกาล อยู่ข้างจะครึกครื้นมาก ได้ฉายรูปหมู่คนไว้ดูเล่น แล้วจึงไปนมัสการพระแท่น พระแท่นศิลาอาสน์นี้ผู้ที่ไม่เคยไปมักอยากไปมาก แต่ครั้นเมื่อไปถึงแล้วคงรู้สึกเสียใจ ตัวพระแท่นเองก็ไม่เห็นเพราะมีเป็นพระแท่นทำด้วยไม้ครอบศิลานั้นอยู่ มีของดีอยู่แต่บานประตูซึ่งคล้ายบานประตูวิหารพระพุทธชินราชที่เมืองพิษณุโลกนั้นมาก(๑)
กินกลางวันที่ศาลาใกล้วัดพระแท่นนั้นแล้ว ขึ้นม้าขี่เข้าไปเมืองอุตรดิตถ์ทางถนนพระแท่น ที่พักตั้งอยู่ริมลำน้ำแควใหญ่ทางแถบที่ว่าการเมืองพิชัย
เมืองอุตรดิตถ์หรือที่เรียกตามที่ตั้งใหม่ว่าเมืองพิชัยนี้ เป็นเมืองใหม่แท้ เพราะฉะนั้นไม่ต้องป่วยการเที่ยวหาของโบราณอะไร ดูแต่ของใหม่ๆมีดูหลายอย่าง ที่นี่เป็นเมืองสำคัญในมณฑลนี้แห่งหนึ่ง เพราะเป็นเมืองด่านที่พักสินค้าขึ้นล่องมาก เพราะฉะนั้นคนพ่อค้าพาณิชอยู่ข้างจะมีมาก ตลาดท่าอิฐมีร้านรวงอยู่มากครึกครื้น มีข้อเสียใหญ่อยู่อย่างหนึ่ง คือตลาดท่าอิฐนี้ต้องน้ำท่วมทุกปีจึงไม่น่าจะเป็นที่ถาวรอยู่ได้ น่าจะขยับขยายตลาดเข้าไปเสียให้ห่างจากฝั่งแม่น้ำอีกสักหน่อย
ถ้าจะเล่าถึงเมืองอุตรดิตถ์ต่อไปอีกก็ได้อีกบ้าง แต่ความตั้งใจของข้าพเจ้ามีอยู่ว่า จะเล่าเรื่องของโบราณในเมืองเหนือ ซึ่งเป็นของที่มีคนได้เห็นน้อย ยิ่งกว่าที่จะเล่าถึงของที่มีและเป็นอยู่ในปัตยุบันนี้ จึงต้องของดไว้ไม่กล่าวถึงอุตรดิตถ์อีกต่อไปมากกว่านี้
แต่ถึงได้มาพ้นแดนเมืองสวรรคโลกแล้วก็ดี ยังมีที่พึงดูซึ่งเกี่ยวข้องในทางโบราณคดีอยู่บ้าง ในที่ใกล้ๆอุตรดิตถ์ขึ้น กล่าวคือตามแถบลับแลกับทุ่งยั้ง
เมื่อวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ข้าพเจ้าได้ไปเที่ยวที่ลับแล ออกจากที่พักที่อุตรดิตถ์ขี่ม้าไปทางบ้านท่าอิฐ เดินตามถนนอินทใจมีไปเมืองลับแล พระศรีพนมมาศได้จัดแต่งที่พักไว้ที่ตำบลม่อมชิงช้า ที่ริมที่พักนี้พระศรีพนมมาศกับข้าราชการและราษฎรได้เรี่ยไรกันสร้างโรงเรียนขึ้นโรงหนึ่ง ซึ่งขอให้ข้าพเจ้าเปิด ข้าพเจ้าได้เปิดให้ในเวลาบ่าย วันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์นั้น และให้นามว่า "โรงเรียนพนมมาศพิทยากร" แล้วได้เลยออกไปที่เขาม่อมจำศีล บนยอดเขานี้แลดูเห็นที่แผ่นดินโดยรอบได้ไกล มีทุ่งนาไปจนสุดสายตา แลเห็นเขาเป็นทิวเทือก ซ้อนสลับกันเป็นชั้นๆราวกับกำแพงน่าดูหนักหนา
รุ่งขึ้นวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ข้าพเจ้ากับพวกที่ไปด้วยกัน ได้ช่วยกันเริ่มถมทำนบปิดลำน้ำอยู่ริมม่อนชิงช้า เป็นความคิดของพระศรีพนมมาศจับทำฝายต่อไป เหมืองฝายในเขตลับแลนี้พระศรีพนมมาศได้จัดทำขึ้นไว้มากแล้ว เป็นประโยชน์ในการเพาะปลูกมากเพราะมีน้ำใช้ได้ตลอดปี ที่ลับแลบริบูรณ์มากทั้งไร่นาและสวนผลไม้ต่างๆหากินได้เสมอ นับว่าพระศรีพนมมาศเป็นนายอำเภอดีอย่างยิ่งคนหนึ่ง
เวลาบ่ายออกจากที่พักตำบลม่อนชิงช้า ขี่ม้าไปตามถนนพระแม่นเข้าเขตทุ่งยั้ง ซึ่งบัดนี้รวมอยู่ในอำเภอลับแลแล้ว ลัดเข้าไปในป่าไปดูที่ซึ่งเรียกว่าเวียงเจ้าเงาะ ที่นี้เป็นที่ชอบกล ตอนนอกที่สุดมีเป็นเนินดินมีคูเล็กๆ หลังเนินแล้วถึงกำแพงเตี้ยๆก่อด้วยดินกับแลง หลังกำแพงนี้มีคูใหญ่กว้าง ๘ วา ๒ ศอกคืบ ลึกประมาณ ๒ วา ขุดลงไปในแลง เพราะฉะนั้นข้างคูแลเห็นและเรียบประดุจคลองซึ่งก่อเขื่อนแลงอย่างเรียบร้อย กลางคูมีเป็นคันซึ่งเข้าใจว่าคงจะใช้เป็นถนนสำหรับเดินตรวจรักษาหน้าที่เชิงเทินชั้นนอก บนสันคันนั้นกว้าง ๓ วา คันสูงพ้นพื้นคูขึ้นมา ๕ ศอก ๖ นิ้ว คันนี้ก็เป็นแลงทึบทั้งอัน ถนนนี้ปันเป็นคูเป็น ๒ ร่อง ร่องนอกกว้าง ๔ วา ร่องในกว้าง ๖ ศอกคืบ ในคูเข้าไปมีกำแพงก่อด้วยแลงตัดเป็นแผ่นอิฐ ซึ่งเข้าใจว่าคงจะขุดขึ้นมาจากในคูนั้นเอง
ถามดูในวันนั้นว่าเมืองนี้กว้างยาวเท่าใด รูปร่างเป็นอย่างไร ก็ไม่ได้ความ เพราะไม่มีใครได้ตรวจมานานแล้ว มีกำนันหรือผู้ใหญ่บ้านผู้หนึ่งบอกว่าเป็นรูปไข่ และถนนพระแท่นได้ทำข้ามไปตอนหนึ่ง ข้าพเจ้าได้วานหลวงภูวสถานพินิจ พนักงานนายทะเบียนที่ดิน ให้ช่วยจัดการส่งพนักงานแผนที่ไปตรวจดู ภายหลังได้แผนที่มาดูก็เห็นว่ารูปนั้นไม่เชิงเป็นรูปไข่ แต่ได้ทำไปตามรูปของที่ และไม่เป็นเมืองใหญ่นัก ข้างในกำแพงมีเป็นเจดีย์อยู่แห่งหนึ่ง นอกจากนั้นก็ไม่เห็นมีอะไร
ตามความสันนิษฐานของข้าพเจ้าว่าเวียงเจ้าเงาะนี้เป็นเทือกป้อมหรือค่าย ซึ่งสร้างขึ้นเป็นที่รวบรวมครัวเข้าไว้เป็นที่มั่นในคราวมีศึก บางทีจะได้สร้างขึ้นครั้งที่ทราบข่าวศึกพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกเมืองเชียงแสนจะมาติด ตามพงศาวดารเหนือมีข้อความปรากฏอยู่ว่า พระเจ้าพสุจราชเมืองศรีสัชนาลัยครั้นได้ทราบข่าวศึกพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก ก็ให้ตกแต่งพระนครไว้ท่า กับทั้งหัวเมืองทั้งปวงก็ให้เตรียมการที่จะออกสู้ข้าศึก "แล้วให้กำหนดกฎหมายไปถึงเมืองเมืองกัมโพชนครให้กำหนดกฎหมายสืบๆกันไปถึงเมืองคีรี เมืองสวางคบุรี เมืองยางคีรี เมืองนครคีรี เมืองขอยคีรี และเมืองเหล็ก เมืองสิงทา เมืองทั้งนี้ขึ้นแก่เมืองกัมโพชนคร ท้าวพระตกแต่งบ้านเมืองไว้ทุกแห่ง" ดังนี้
กัทโพชนครนี้ตามพงศาวดารเหนือว่าอยู่ที่ตำบลทุ่งยั้ง แต่ถ้าจะดูตามภูมิพื้นที่ น่าจะตั้งที่ลับแลมากกว่า เพราะที่ดินบริบูรณ์และมีเขาล้อมเกือบรอบเป็นชัยภูมิดี สมควรจะตั้งเมืองหน้าด่านได้ ข้าพเจ้าจะขอเดาต่อไปว่า เดิมเมืองที่ตั้งอยู่ตำบลทุ่งยั้งหรือลับแลนั้น คงจะไม่ได้เป็นเมืองที่มีกำแพงมั่นคง ต่อเมื่อตกใจเตรียมรับศึกเชียงแสน จึงได้คิดทำกำแพงและคูขึ้น การที่จะทำกำแพงต้องอาศัยศิลาแลงมาก จึงได้มาเลือกที่ซึ่งเรียกว่าเวียงเจ้าเงาะทำเป็นเมืองมีกำแพงขึ้น คือมาอยู่กับบ่อแลงทีเดียว (ในเวลาเดี๋ยวนี้ที่เมืองแห่งหนึ่งตามริมที่นั้นยังมีแลงอ่อนๆขุดขึ้นมาได้) ครั้นศึกมาจวนตัว ก็อพยพเทครัวเข้าไปไว้กำแพง ข้อที่ว่าเมืองทุ่งยั้งเป็นนคร คือเป็นเมืองลูกหลวงนั้น ข้าพเจ้าไม่สู้เชื่อนัก เข้าใจว่าจะเป็นเรื่องที่แต่งประกอบขึ้นภายหลัง คือมีผู้ได้ไปเห็นที่ซึ่งเรียกว่าเวียงเจ้าเงาะเดี๋ยวนี้ เห็นมีกำแพงและคูดูเป็นที่มั่นคง ก็เอาเอาว่าเป็นเมืองใหญ่ จึงเลยแต่งเรื่องราวผสมขึ้น ให้เป็นนครลูกหลวงของศรีสัชนาลัย ข้าพเจ้าไม่เชื่อว่าได้เคยเป็นอะไร นอกจากเมืองด่าน
ส่วนเมืองอีก ๗ เมืองที่กล่าวว่าเป็นเมืองขึ้นกัมโพชนครนั้น ข้าพเจ้าก็ไม่สู้เชื่อนักว่าจะมี ถ้าแม้จะมีก็เป็นด่านอยู่ตามเขาลับแล แต่ที่ว่ามีถึง ๗ แห่งนั้นเห็นจะมากเกินไป จะเป็นด้วยเอานามไปปนกันยุ่งก็ได้ เช่นเมืองคีรีกับนครคีรีนั้น น่าจะว่าเป็นเมืองเดียวกัน และยังสงสัยต่อไปอีกว่าเมืองขอนคีรีนั้น จะเป็นอันเดียวกับนครคีรีอีก คืออาจจัเรียกนครคีรีนั้นสั้นห้วนลงไปเป็น "คอนคีรี" แล้วต่อไปนี้อีกก้าวเดียวก็คลายเป็นขอนคีรีไปได้แล้ว จึงเข้าใจว่าสามชื่อนั้นคงจะเป็นเมืองๆเดียว แต่นี่ก็เป็นการเดาเล่นเปล่าๆหาหลักฐานมิได้ รวบรวมใจความว่าทางที่จะสันนิษฐานหมดเพียงเท่านี้
และมาภายหลังได้ทราบจากพระยาอุทัยมนตรี ว่าได้ไปตรวจค้นพบกำแพงเมืองมีต่อลงไปอีกจนถึงลำน้ำ แค่ก็เป็นคำบอกเล่า ข้าพเจ้าสันนิษฐานอย่างอื่นต่อไปอีกยังไม่ได้ จนกว่าจะได้ขึ้นไปเห็นด้วยตนเอง(๒)
....................................................................................................................................................
อธิบายความเพิ่มเติมในตอนที่ ๑
(๑) บานประตูวิหารพระแท่นศิลาอาสน์นั้น ต่อไปไฟไหม้เสียกับวิหาร น่าเสียดายยิ่งนัก ฝีมือจำหลักเป็นตัวกระหนกและรูปภาพเด่นออกมา ทำนองบานประตูวิหารพระศรีศากยมุนีที่วัดสุทัศน์ สันนิษฐานว่าเป็นบานเดิมของวิหารพระพุทธชินราช ณ เมืองพิษณุโลก ครั้นเมื่อพระเจ้าบรมโกศทรงปฏิสังขรณ์วัดสำคัญทางเมืองเหนือ โปรดให้ถ่ายลายลงมาทำเป็นบานประดับมุขพระราชทานไปเปลี่ยน ส่วนบานเดิมโปรดฯให้ย้ายเอาไปเป็นบานวิหารพระแท่นศิลาอาสน์ ซึ่งทรงปฏิสังขรณ์ด้วยในคราวนั้น
(๒) เรื่องพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก จะอธิบายในที่อื่นต่อไปข้างหน้า ตรงนี้จะกล่าวอธิบายแต่เรื่องเมืองเจ้าเงาะกับเมืองทุ่งยั้งซึ่งได้ตรวจในชั้นหลังต่อมา เมื่อที่เรียกกันว่าเมืองเจ้าเงาะนั้นเป็นเมืองโบราณเก่าแก่ตั้งแต่ก่อนชนชาติไทยลงมาเป็นใหญ่ในประเทศสยาม ขุดพบของโบราณในสมัยที่กล่าวนั้น ในบริเวณเมืองเจ้าเงาะหลายอย่าง ส่วนเมืองทุ่งยั้งนั้น สร้างขึ้นเมื่อในสมัยสุโขทัยเป็นเมืองด่านแทนเมืองเจ้าเงาะ ปรากฏชื่อในบานแผนกกฎหมายลักษณะลักพาตั้งในรัชกาลพระเจ้าอู่ทอง เรียกว่าเมืองทุ่งยั้งเมืองบางยม (ซึ่งอยู่ริมลำน้ำยมเก่า) เป็นคู่กันดังนี้
จากคุณ :
กัมม์
- [
24 ต.ค. 49 11:33:26
]
|
|
|