ความคิดเห็นที่ 1
บทที่ ๑ สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงกุณฑลทิพยวดี
อรุโณไทย, อภัยทัศ, ฉัตร, ไกรสร สุริวงษ์, สุริยา, ดารากร ศะศิธร, คันธรศ, วาสุกรี สุทัศน์, อุบล, มณฑา ดวงสุดา, ดวงจันทร์, มณีศรี ธิดา, จงกล, ฉิมพลี กษัตรีย์, กุณฑล, สุภาภรณ์ ฯ(๑)
๑. ความเบื้องต้น
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านถาลัย รัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงกุณฑลทิพยวดีเป็นพระมารดา ในบทแรกนี้จึงเห็นสมควรจะได้กล่าวถึงพระประวัติของสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงกุณฑลทิพยวดี พระมารดาของพระองค์ท่านตามสมควรเป็นเบื้องต้น
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์นี้ เป็นพระมหาจินตกวีของชาติไทย ได้ทรงพระราชนิพนธ์วรรณคดีของชาติไทยไว้หลายเรื่อง เช่น พระราชนิพนธ์เรื่องอิเหนา รามเกียรติ์ เป็นต้น แต่ในเรื่องงานพระราชนิพนธ์นั้น ได้มีผู้กล่าวถึงและเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วโดยทั่วกัน ข้าพเจ้าจึงเห็นว่าควรจะกล่าวถึงพระประวัติของพระมเหสีของพระองค์ท่าน ซึ่งเป็นพระชนนีของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์ เพราะเราทราบกันไม่แพร่หลายนัก
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๒ มีพระอัครมเหสี คือ สมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ และมีพระมเหสีที่ทรงพระอิสริยยศสูงยิ่งอีกพระองค์หนึ่ง คือ สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงกุณฑลทิพยวดี ถ้าจะเปรียบว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงเป็นอิเหนาในพระราชนิพนธ์ของพระองคืเอง สมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ก็ทรงเป็นนางจินตหรา เพราะเหตุที่ทรงเป็นพระประยูรญาติเรียงพี่เรียงน้อง และทรงสนิทเสน่หาอย่างยิ่งมาก่อน ส่วนสมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีก็อาจเปรียบกับบุษบา เพราะเพิ่งได้ยลพระโฉมอันโสภาคย์ภายหลัง ดังที่อิเหนาเพิ่งได้ยลโฉมบุษบา
๒. พระนามเดิม พระองค์เจ้าจันทบุรี
สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงกุณฑลทิพยวดี เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกร่วมพระชนกเดียวกันกับพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ส่วนพระมารดาของสมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีนั้น คือ เจ้าจอมมารดาทองสุก ราชธิดาพระเจ้าอินทวงศ์แห่งนครเวียงจันทน์ แห่งราชอาณาจักรลาวทุกวันนี้
พระองค์ประสูติเมื่อ ปีมะเมีย พ.ศ. ๒๓๔๑ พระนามเดิม พระองค์เจ้าจันทบุรี เมื่อพระชนมายุได้ ๕ พรรษา เจ้าจอมมารดาทองสุกก็ถึงแก่กรรม เมื่อประมาณ ปีกุนเบญจศก พ.ศ. ๒๓๔๖
๓. ทรงสถาปนาเป็นเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี
ต่อมาสมเด็จพระบรมชนกนารถ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงสถาปนาพระองค์เจ้าจันทบุรีขึ้นเป็นเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี เมื่อ พ.ศ. ๒๓๔๗ เพราะเป็นพระนัดดาของพระเจ้านครเวียงจันทน์ ความปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ ว่า
"ครั้นถึง ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๑๑ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เสด็จพระราชดำเนินลงไปทรงลอยพระประทีป พระเจ้าลูกเธอพระองค์หญิงพระองค์หนึ่ง ปรากฏพระนามว่า พระองค์เจ้าจันทบุรี พระชนม์ได้ ๖ พรรษา ตามเสด็จลงไปที่พระตำหนักแพ เมื่อเวลาจุดดอกไม้ รับสั่งว่าประชวรพระเนตรอยู่ ให้กลับขึ้นไปพระราชวังเสียก่อน พระเงค์เจ้าหญิงนั้นก็เสด็จกลับขึ้นมาถึงเรือบัลลังก์กับตำหนักแพต่อกัน พลาดตกลงน้ำหายไป พี่เลี้ยงนางนมร้องอื้ออึงขึ้น คนทั้งปวงตกใจพากันลงน้ำเที่ยวค้นหา จึงพบพระองค์เจ้าลูกเธอพระองค์นั้นเกาะทุ่นหยวกอยู่ท้ายน้ำ หาได้เป็นอันตรายไม่ เป็นอัศจรรย์ จึงมีพระราชโองการดำรัสว่า พระเจ้าลูกเธอพระองค์นี้ เจ้าจอมมารดาก็เป็นบุตรเจ้ากรุงศรีสัตนาคนะหุต สิ้นชีพเสียแต่เมื่อปีกุนเบญจศก(๒) แต่พระชนม์พระองคืเจ้าได้ ๕ พรรษา ไม่มีมารดา ทรงพระกรุณามาก พระองคืเจ้านี้อัยกาก็เป็นเจ้าประเทศราชยังดำรงชีพอยู่ ควรจะสถาปนาให้มีอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้า ครั้น ณ วันอาทิตย์ เดือน ๑๒ ขึ้น ๒ ค่ำ จึงโปรดให้ตั้งการพระราชพิธีเฉลิมพระนาม ครั้นรุ่งขึ้น ณ วันจันทร์ เดือน ๑๒ ขึ้น ๓ ค่ำ พระราชทานพระสุพรรณบัฏ เลื่อนขึ้นเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี แล้วมีงานสมโภชอีก ๓ วัน"
ในปีนั้น(๓) เจ้านครศรีสัตนาคนะหุตล้านช้าง ชื่อเจ้าอินทวงศ์ ซึ่งเป็นอัยกาของสมเด็จพระเจ้าลุกเธอเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีป่วยถึงแก่พิราลัย ณ เดือน ๓ ขึ้น ๘ ค่ำ ครองเมืองได้ ๑๐ ปี โปรดให้ข้าหลวงเชิญศุภอักษรและพระราชทานโกศและสิ่งของพระราชทานเพลิงขึ้นไปปลงศพเสร็จแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดตั้งเจ้าอนุผู้น้อง ให้ครองนครศรีสัตนาคนะหุตล้านช้างต่อไป
ในจดหมายเหตุความทรงจำซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงสมเด็จพระปิยมหาราช ทรงสันนิษฐานว่า เป็นจดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี(พระองค์เจ้ากุ) มีข้อความกล่าวถึงสมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีว่า
" ณ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีชวดฉศก พระองคืเจ้าพระชันษา ๗ ขวบ ตามเสด็จลงที่นั่งบัลลังก์ตกหว่างเรือไม่จมลอยพระองค์ได้ โปรดประทานพระนามใหม่ สมโภชเจ้าฟ้ากุณฑล ๓ วัน เฉลิมพระขวัญพร้อมพระญาติวงศ์ข้าราชการสมโภชถ้วนหน้า"
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอย่หัว ทรงพระรชวิจารณ์ไว้ว่า "พระองค์เจ้าองค์นี้มีนามว่า จันทบุรี ตามชื่อเมืองเวียงจันทน์ ในจดหมายเหตุเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ว่าตกหลังเรือบัลลังก์ การสมโภชแต่ก่อนมีเฉพาะเจ้าฟ้าทั้งประสูติและโสกันต์"
....................................................................................................................................................
(๑) พระนามเหล่านี้สมเด็จพระวันรัต วัดพระเชตุพน เป็นผู้ตั้งถวาย
(๒) พ.ศ. ๒๓๔๖
(๓) พ.ศ. ๒๓๕๑
จากคุณ :
กัมม์
- [
12 ธ.ค. 49 11:43:18
]
|
|
|