 |
เรียนกฎหมายที่รามไม่จำเป็นต้องเข้าเรียนครับ แต่การฟังคำบรรยายของอาจารย์ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อที่เราจะได้รู้ถึงเนื้อหาหลัก กรอบการเรียน และความรู้อื่นๆ ที่หาอ่านไม่ได้จากหนังสือเรียน
เพราะเหตุนี้ถึงมีระบบที่อำนวยความสะดวกให้นักศึกษาเรียน online กับเทปบรรยายย้อนหลังได้ยังไงละครับ
อันนี้เป็นการเขียนขำๆ ในบล๊อกผมเอง เอามาให้อ่านเล่นๆ ครับ เผื่อจะได้ไอเดียกับการเรียนกฎหมายที่รามคำแหง
การเรียนกฎหมายในปัจจุบันเปิดกว้างมากกว่าแต่ก่อน ใครๆ ก็สมัครเรียนเรียนได้ง่ายๆ ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง เงื่อนไขต่างจากสถาบันการศึกษาอื่นแบบสุดขั้ว คือ ไม่ต้องสอบเข้า ไม่จำกัดอายุ ไม่มีการแบ่งชนชั้น ค่าเรียนก็ถูกสุดๆ สามารถเรียนย้อนหลังหรือออนไลน์จากบ้านได้ แถมอาจารย์สอนสนุก และชื่อเสียงของคณะนิติศาสตร์ที่นี้ยังอยู่ในท๊อปสามของประเทศอีกด้วย พูดถึงค่าเรียนถ้าลงเต็มแม๊ค 24 หน่วยกิตในภาคปกติเสียแค่ 1,000 บาท และ 12 หน่วยกิตในภาคฤดูร้อนแค่ 500 บาท ขยันเรียนสุดขีดสามารถจบได้ในสองปีครึ่ง สรุปว่าการตัดสินใจเรียนกฎหมายที่รามคำแหงถือว่าเป็นทางเลือกที่ดีมากๆ ของทุกคนโดยเฉพาะคนที่จบปริญญาตรีใบแรกมาแล้วอย่างตัวผู้เขียน
ร่ายแบบอวยที่เรียนตัวเองมานาน ขอเข้าเรื่องซะที ^^
การเรียนกฎหมายอาจเป็นเรื่องสนุกสำหรับบางคน และขณะเดียวกันอาจเป็นยาขมหม้อใหญ่ของใครหลายๆ คน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณของความสนใจ เวลาที่มีให้ ความขยัน และสิ่งที่สำคัญอีกอย่างที่มองข้ามไม่ได้คือ วิธีการเรียน ดังจะเป็นเนื้อหาหลักที่กล่าวในบทความสั้นๆ นี้
ตัวผู้เขียนไม่ใช่เซียนกฎหมายมาจากไหน แค่เพิ่งเริ่มเรียนกฎหมายเมื่อปีสองปีที่แล้วนี้เอง แต่อยากแบ่งปันวิธีการเรียนที่เห็นว่าได้ผลมาแล้วสำหรับคนความจำ+สมาธิสั้นอย่างผู้เขียนที่สามารถเรียนได้จีมากกว่าพีหลายตัว(ตอนนี้รามปรับเป็นเกรด A B+ B C+ C แว้วว) แถมยังได้ความรู้จากการเรียนกฎหมายขึ้นเป็นกอง จากเดิมที่รู้อยู่แต่เรื่องวิชาภาษาศาสตร์ที่เรียนมาแต่อ้อนแต่ออกเพียงอย่างเดียว
จากประสบการณ์ + การประเมินของผู้เขียนการฟันจีให้ได้มาก(เกินครึ่งของหน่วยกิตที่ลงทะเบียน)นั้นขึ้นอยู่กับจำนวนของวิชาที่ลงในแต่ละภาคเรียนด้วยส่วนหนึ่ง การเร่งให้จบไวโดยการลงเต็มที่ 24 หน่วยกิตในภาคปกติ และ 12 หน่วยกิตในภาคฤดูร้อนนั้นไม่ใช่ความคิดที่ดีนัก เพราะมักจะทำให้อ่านหรือเตรียมตัวสอบไม่ทัน ไม่สามารถจดจำเนื้อหาได้อย่างมีคุณภาพ จำนวนหน่วยกิตที่พอดีต่อการเรียนวิชากฎหมายเพื่อฟันจีให้ได้ผลคือไม่ควรเกิน 18 หน่วยกิต (6-7 วิชา) ในภาคปกติ และไม่เกิน 9 หน่วนกิต (3-4 วิชา) ในภาคฤดูร้อน โดยเวลาเรียนเบ็ดเสร็จจะอยู่ที่ประมาณ 3 ปี (เรียนแบบไม่โอนหน่วยกิต เทอมแรกๆ สามารถลงวิชาพื้นฐานได้เต็มจำนวนหน่วยกิตได้)
เริ่มจากอุปกรณ์หรือสื่งพื้นฐานที่ต้องมีก่อนเริ่มเรียน นอกจากความสนใจและความขยัน(พอสมควร)
1. ตำราเรียนหลัก (เล่มสรุปอย่าได้สนใจ เพราะเท่าที่ทราบมันเหมาะกับคนไม่มีเวลาแบบสุดๆ หรืออยากเรียนแค่หวังคาบเส้นมากกว่าซึ่งไม่ใช่จุดประสงค์ของบทความนี้) 2. ตัวบทกฎหมาย (แน่นอนว่าขาดไม่ได้เด็ดขาดเพราะต้องใช้เปิดอ้างอิงอยู่ตลอดเวลา) 3. ข้อสอบเก่า (สำคัญมากๆ เพราะจะใช้เป็นตัวกำหนดขอบเขตของการอ่านการจำ และใช้ฝึกฝนเขียนตอบข้อสอบ) 4. อินเตอร์เน๊ต (เอาไว้โหลดเก็บการบรรยายย้อนหลังเพื่อการนั่งเรียนเป็นกิจลักษณะ นอกจากนี้การฟังยังเพิ่มประสิทธิภาพการจดจำจากการอ่านได้เป็นอย่างดี) 5. สมุด และปากกา (เอาไว้จดสรุปประเด็นสำคัญๆ เพิ่มเติมในตัวบท และฝึกเขียนข้อสอบ) 6. เวลาเรียนอย่างน้อยวันละ 3 ชั่วโมง (วันไหนขี้เกียจอาจงดหรือลดได้บ้างตามมควร แต่ทางที่ดีพยายามอย่าให้น้อยกว่านี้)
มาเริ่มต้นวิธีการเรียนกันเลย
หนึ่ง ก่อนอื่นเลยเอาข้อสอบเก่ามากางออก แล้วศึกษาว่ามีมาตราใดที่ออกสอบบ่อย คือ ดูสถิติมาตรากฎหมายที่เคยออกสอบ แล้วทำเครื่องหมายเน้นไว้ที่ตัวบท และในตำราหลักเพื่อกำหนดขอบเขตการอ่านทั้งหมด เช่น มาตราไหนออกแค่ 2-5 ครั้งก็ใช้ปากกาน้ำเงินกาดอกจันทร์หนึ่งดอก มาตราไหนออก 5-10 ครั้งเน้นสีโดยใช้ปากกาแดงกาหนึ่งดอก มาตราไหนออกถี่มากกว่าสิบครั้งก็กาสีแดงสองดอก และถ้าออกมากกว่ายี่สิบครั้งขึ้นไปก็ให้กาสามดอก เป็นต้น นอกจากนี้(ถ้าขยันเพิ่ม)ให้นำมาตราสำคัญเขียนลงไปในบัตรคำ(กระดาษแข็งสี)เพื่อใช้ในการท่องทบทวนแบบพกพา หยิบสลับกันไปมา (การท่องตัวบทจะทำหลังจากที่ฟังคำบรรยาย+อ่านเนื้อหาในตำราเข้าใจแล้วเท่านั้น) บัตรคำสีเพื่อทบทวนจะเพิ่มความน่าสนใจ และทำให้เราจำได้ง่ายขึ้น
สอง ลงมืออ่านเนื้อหาการเรียนตามขอบเขตของมาตราที่กำหนดไว้ในตำราเล่มหลัก ทำความเข้าใจพร้อมขีดเส้นใต้ในส่วนสำคัญในแต่ละบท โดยเน้นทำความเข้าใจตัวอย่างของข้อเท็จจริงจากสถานการณ์ที่เกิดข้อพิพาท (เนื้อหาในฎีกา) เป็นสำคัญ จินตนาการให้เห็นภาพสถานการณ์ที่เกิดขึ้น (ใครโจทก์ ใครจำเลย ทำอะไรที่ไหนยังไง ผลการพิพากษาเป็นยังไง) โดยให้คิดตามเสมอว่าฎีกาที่ยกมานั้นทำให้เราเข้าใจหลักการเนื้อหา หรือทฤษฎีในการอธิบายตัวบทได้มากน้อยแค่ไหน ทั้งที่เราเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษานั้นๆ ที่กล่าวเช่นนี้เพราะบางครั้งผู้เขียนรู้สึกว่าตัวบทขัดแย้งกับข้อเท็จจริง ดูไม่ค่อยสมเหตุผล การพิพากษาหรือข้อสรุปของศาลเองก็อาจดูแปลกๆ ไม่เข้าท่าได้เช่นกัน หากมีส่วนที่ไม่เข้าใจหรือรู้สึกไม่เห็นด้วยควรทำเครื่องหมายไว้เพื่อเก็บไว้หาคำตอบเพิ่มเติม หรือพูดคุยไถ่ถามผู้รู้ในโอกาสต่อไป (อย่าพร้อมที่จะเชื่อทุกอย่างที่ได้อ่าน ให้พยายามตั้งข้อสังเกต หรือข้อสงสัยเสมอ การทำเช่นนี้จะช่วยให้เราฝึกการคิดวิเคราะห์จนนำไปสู่ความแตกฉานในการเรียนกฎหมายยิ่งๆ ขึ้น อีกทั้งจะช่วยให้เราไม่ถูกครอบงำด้วยการตีความตามตัวอักษรซึ่งเป็นประเด็นปัญหาที่เป็นจุดอ่อนของนักเรียน/นักกฎหมายในทุกวันนี้)
สาม ฟังคำบรรยาย(ย้อนหลัง)หลังจากทำความเข้าใจเนื้อหาแล้วเพื่อเพิ่มพูนความเข้าใจให้มากยิ่งขึ้น (การฟังช่วยเสริมความเข้าใจและความจำจากการอ่านได้เป็นอย่างดี) นอกจากนี้การฟังอาจารย์บรรยายจะช่วยกระตุ้นความสนใจ สร้างแรงบันดาลใจ ตลอดจนความรู้และประสบการณ์อื่นๆที่หาอ่านไม่ได้ในตำราเรียนอีกด้วย
สี่ เมื่อทำความเข้าใจได้ครอบคลุมแล้ว ให้ลองทำการสรุปเนื้อหาที่อ่านทั้งหมด ขั้นตอนนี้อาจสามารถทำไปทีละหัวข้อหลังจากที่อ่าน + ฟังคำบรรยายแล้ว หรือทำหลังจากที่ทำความเข้าใจเนื้อหาทั้งหมดแล้วก็ได้ ขั้นตอนนี้จะช่วยให้เราฝึกสรุปความ และหัดเขียนในเบื้องต้น อีกทั้งยังช่วยเน้นย้ำความจำให้ดียิ่งขึ้นหลักจากอ่านและฟังแล้วอีกด้วย (การเรียนกฎหมายนั้นลำพังแค่มีความเข้าใจ(ในใจ)หาเพียงพอไม่ แต่ต้องสามารถแสดงออกโดยการเขียนหรือพูดบรรยายความรู้ ความเห็นให้ผู้อื่นเข้าใจได้ด้วย)
ห้า เมื่อสามารถทำความเข้าใจเนื้อหา และทำการสรุปทั้งหมดแล้วจึงอ่านข้อสอบเก่าเพื่อให้เห็นถึงเงื่อนแง่การตั้งคำถาม และวิธีการตอบข้อสอบ จากนั้นจึงลงมือฝึกฝนการเขียนโดยใช้ข้อสอบเดิม (ปิดคำตอบไว้) หากอ่านข้อสอบเก่าย้อนหลักไปสัก 3-4 ภาคจะสังเกตได้ว่าเนื้อหามักซ้ำกันจนเราจับทางวิธีการเขียนตอบข้อสอบได้ในที่สุด
ดังที่กล่าวมาแต่ต้นว่าการเรียนกฎหมายให้สำเร็จมีองค์ประกอบพื้นฐานอยู่ที่ ความสนใจ เวลาที่มีให้ ความขยัน และวิธีการเรียน หากขาดส่วนใดส่วนหนึ่งความสมดุลย์ที่จะผลักดันไปสู่เป้าหมายคงเป็นเรื่องยาก สามอย่างแรกเป็นเรื่องที่อาจกล่าวได้ว่า ตัวใครตัวมัน ไม่มีใครไปกำหนดให้ใครได้ แต่อย่างหลังเป็นเรื่องที่สามารถแบ่งปันกันได้หลังจากที่มีสามอย่างแรกแล้ว พูดให้ง่ายเข้าก็คือ วิธีการเรียนที่ผู้เขียนเสนอมานี้จะมีประโยชน์บังเกิดผลก็ต่อเมื่อคนเรียนมีสามอย่างแรกก่อนเป็นพื้นฐาน
ปล. หลายคนเข้าใจว่าการเรียนกฎหมายคือการท่องจำ การเรียนจึงเน้นที่การท่องตัวบท(ตามตัวอักษร)เป็นอย่างแรก แต่เนื่องจากภาษาของตัวบทในมาตราส่วนใหญ่มักอ่านให้เข้าใจได้ยากโดยปราศจากตัวอย่าง (แน่ละ เลยมีตำราอธิบายตัวบท+เสนอฏีกาสารพัดยังไงละ) การท่องแบบนกขุนแก้วนกขุนทองแบบละเลยการเข้าใจตัวบทจึงเป็นเรื่องที่ยาก และน่าเบื่อจนทำให้หลายๆ คนต้องล้มเลิกการเรียนกฎหมายไปอย่างน่าเสียดาย การท่องตัวบทเป็นสิ่งสำคัญก็จริงอยู่แต่ไม่ใช่การท่องจำทุกตัวอักษร หากแต่เป็นการเข้าใจและจดจำแก่นของสาระในตัวบทพร้อมทั้งเจตนารมณ์เป้าประสงค์ของตัวบทต่างหาก จึงเสนอไว้ที่นี้ว่า อย่าท่องจำตัวบทจนกว่าเราจะทำความเข้าใจตัวบทก่อนเป็นอย่างดีแล้วเท่านั้น
จากคุณ |
:
โจโฉ (joechou)
|
เขียนเมื่อ |
:
21 ก.ย. 55 22:34:08
|
|
|
|
 |