Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
.....สถานการณ์ไข้หวัดใหญ่ 2009....( ศจ.นพ.ธีระวัฒน์ ) และ แนวทางดูแลรักษาผู้ป่วย  

สถานการณ์ไข้หวัดใหญ่ 2009

ศาสตราจารย์นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลก ไวรัสสัตว์สู่คน
11 กรกฎาคม 2552



ประเด็นสำคัญสำหรับสถานการณ์ไข้หวัดใหญ่ 2009 ขณะนี้คือ การเสนอข้อมูลของหลายส่วนไม่ตรงกันและไม่อิงตามหลักฐานที่ปรากฏทั้งจากข้อมูลประสบการณ์ของประเทศเม็กซิโกและสหรัฐอเมริกา รวมถึงหลักฐานที่พบในประเทศไทยเอง

อีกส่วนหนึ่งคือการเผยแพร่ข่าวสารต่าง ๆ ไม่ตอบความกังวลของประชาชน และสร้างความมั่นใจในมาตรการต่าง ๆ เท่าที่ควร



1. มาตรการที่สื่อสารเพื่อลดการแพร่กระจาย การติดต่อง่าย การแพร่กระจายเป็นไปอย่างรวดเร็วทั้งประเทศในเวลาอันสั้น

ดังนั้นไม่ว่ามาตรการ การปิดปาก จมูก เวลาไอ จาม ล้างมือ กินร้อน ช้อนกลาง ล้วนได้ประโยชน์ ต้องรณรงค์พร้อมกัน เป็นการปฏิบัติตามสุขอนามัยที่ดีต่อตนเองและสังคม พิสูจน์ว่าได้ผลในการป้องกันมาแล้ว เช่น กรณีโรคซาร์ในฮ่องกง

ไม่ควรเลือกนำเสนอเฉพาะการใส่หน้ากาก


2. ตัวเลขอัตราการตาย การคำนวณร้อยละของอัตราการเสียชีวิต ต้องทราบจำนวนที่แท้จริงของคนที่ติดเชื้อทั้งหมด ไม่ได้ใช่ตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อเท่าที่ตรวจได้มาคำนวณ

เพราะตัวเลขผู้ติดเชื้อนี้ในประเทศไทยที่ทราบขณะนี้น่าจะต่ำกว่าความเป็นจริงมาก ทำให้ไปแสดงตัวเลขอัตราการตายที่พุ่งสูงขึ้นจนเกิดความตระหนกตกใจ เช่น การมีตัวเลขสูงถึง0.4% อาจทำให้กระทบภาพรวมของประเทศ ทั้ง ๆ ที่ความจริงน่าจะต่ำกว่านั้นอย่างมาก เช่นคาดการณ์การติดเชื้อขณะนี้น่าจะเป็นที่กว่าแสนราย

การรายงานตัวเลขต่าง ๆ จึงมีปัญหาเมื่อนำมาสื่อสารทั้งหมด เพราะขึ้นกับกระบวนการได้มาของข้อมูลที่อาจไม่ได้มีความชัดเจน แม้แต่จำนวนผู้เสียชีวิต ที่หากไม่ได้มีความพยายามในการสื่อสารไปยังโรงพยาบาลหรือแหล่งข้อมูล ถึงกรอบการประเมินสาเหตุการตาย กรณีที่พบก็อาจไม่ทราบจำนวนที่แท้ เช่นกัน


3. การอ้างอิงข้อมูลตัวเลขควรบอกถึงแหล่งที่มาอย่างชัดเจน ว่าเป็นการคาดการโดยอาศัยอาการอย่างเดียวหรือมีข้อพิสูจน์ทางห้องปฏิบัติการ

เช่น มีผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลแต่ละปีหลายแสนคน และเสียชีวิตไม่ต่ำกว่าปีละ 300-400คนทุกปี อาจสะท้อนเพื่อให้เห็นว่าการเสียชีวิตจาก H1N1 ขณะนี้คือเรื่องปกติ ไม่น่าตกใจ

แต่รายงานของนายแพทย์คำนวณ อึ้งชูศักด์ และคณะ กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ระหว่าง ปี พ.ศ. 2546-2549 รายงานผู้ป่วยที่มีลักษณะของไข้หวัดใหญ่มีมากกว่า 10,000 ราย แต่พิสูจน์ว่า เป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล จริงเพียง 2075 รายและเสียชีวิตเพียง 22 รายใน สามปี โดยเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงทั้งหมด


4. การสกัดกั้นผู้ป่วยจากต่างประเทศ ด้วยการตรวจคัดกรองไข้ที่สนามบินนานาชาติต่าง ๆ แม้ดูเสมือนไม่มีประโยชน์ แต่ก็พบว่าประเทศท่องเที่ยวส่วนใหญ่ในเอเซีย เช่นสิงคโปร์ ฮ่องกง เวียดนาม ยังปฏิบัติอย่างเข้มงวด และมีการตรวจซ้ำสามถึงสี่รอบ และดูแลผู้ที่ตรวจพบอย่างชัดเจนไม่ให้ไปแพร่เชื้อ อาจทำให้นักท่องเที่ยวอื่นและชาวไทยเกิดความเชื่อมั่นมาตรการของประเทศนั้น ๆ และที่สำคัญคือการเฝ้าระวังเชื้อจากต่างประเทศที่แปลกไป เช่นดื้อยา Tamiflu เป็นต้น


5. ลักษณะที่อาจเป็นอาการเฉพาะตัวของไข้หวัดใหญ่ 2009 ได้แก่

a. ระบบทางเดินอาหาร : คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย
b. กล้ามเนื้ออักเสบ ปวดเมื่อยรุนแรง
c. เมื่ออาการเริ่มรุนแรงขึ้น จะมีความดันเลือดต่ำ จนช็อค
d. ลักษณะการทำงานของไตน้อยลง อาจพบตั้งแต่มีอาการเริ่มรุนแรงขึ้น
e. อาการทางสมองอาจพบบ่อยกว่าไข้หวัดตามฤดูกาล


6. ภาวะของโรคที่มีความรุนแรงจนปอดบวมและเสียชีวิต

ภาวะดังกล่าวอาจไม่จำกัดเฉพาะกลุ่มเสี่ยงตามปกติ เท่านั้น (อันหมายถึง ในผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 5ปี และมากกว่า 65ปี หรือกลุ่มที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคปอด ไต ตับ หัวใจ ความดันเลือดสูง ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ป่วย HIV หรือเป็นผู้ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน สตรีมีครรภ์ ผู้มีความผิดปกติทางสมอง แขนขา กล้ามเนื้อ อันอาจทำให้การหายใจไม่ปกติ)

แต่พบการติดเชื้อที่มีอาการรุนแรง และเสียชีวิตในกลุ่มบุคคลปกติอายุ 5-65ปี ได้ กลุ่มคนอายุ 5-65 ปี ที่เสียชีวิต ไม่จำเป็นต้องมีโรคประจำตัวก็ได้ มีก็ได้ ทั้งนี้พบว่ากลุ่มอายุดังกล่าวที่เสียชีวิตมีโรคประจำตัวประมาณร้อยละ 45-64 หรือครึ่งหนึ่งอาจแข็งแรงดีก็ได้

นอกจากนั้นในเม็กซิโกผู้มีอายุมากกว่า 65ปี แม้มีปอดบวมแต่กลับมีอัตราการเสียชีวิตน้อยกว่าหนุ่มสาวที่มีอาการปอดบวมเช่นกัน จากรายงานผู้ป่วยในเม็กซิโก พบว่าร้อยละ 87 ของผู้เสียชีวิตทั้งหมดอยู่ในกลุ่มอายุ 5-59 ปี และร้อยละ 71 มีปอดบวมรุนแรงได้ ในขณะที่ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ผู้เสียชีวิตอยู่ในกลุ่มดังกล่าวเพียงร้อยละ 17 และมีปอดบวมรุนแรงร้อยละ 32

ผู้เสียชีวิตในประเทศไทยหลายรายอายุน้อย ไม่มีโรคประจำตัว ถึงแม้ว่าสาเหตุของการเสียชีวิต อาจเกิดจากการวินิจฉัยไม่ทันการ การได้รับยาช้า แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปรากฏการที่ผู้ป่วยแข็งแรงอายุน้อย เกิดอาการปอดบวมรุนแรงและรวดเร็วเช่นนี้เป็นเหตุการณ์ไม่ปกติ

ดังนั้นต้องไม่ประมาท เนื่องจากประวัติศาสตร์การเกิดโรคลักษณะนี้ในช่วงปีพ.ศ. 2461 (คศ.1918) ที่รู้จักกันว่าไข้หวัดสเปน ที่คร่าชีวิตผู้คนหลายสิบล้านคน พบว่าผู้มีอายุ 20-40 ปี มีอัตราการตายมากกว่ากลุ่มอายุ 45 ปีขึ้นไป ไข้หวัด 1918 นั้น เป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ใหม่และลักษณะการระบาดรวดเร็วเช่นกัน

ในระลอกแรกมีผู้เสียชีวิตประมาณ ร้อยละ 5 แต่ระลอกที่สองการเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 60-80 โดยทางหลักการ  คำว่าระลอกที่สอง อาจมีระยะห่างจากรอบแรกตั้งแต่สองเดือนถึงหนึ่งปีหรือมากกว่า

ประเด็นนี้ไม่ใช่การคาดการณ์ว่าต้องเกิดลักษณะดังกล่าว แต่จำเป็นต้องเฝ้าระวังทุกกลุ่มอายุ ไม่ว่ามีโรคประจำตัวหรือไม่ก็ตาม อย่างใกล้ชิด และเตรียมความพร้อมให้การรักษาทันทีด้วยความไม่ประมาท


7. อาการทางสมอง

แม้จะพบอาการทางสมองในไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล แต่เป็นจำนวนน้อยมาก การติดตามระยะนานกว่าสามปีที่โรงพยาบาลจุฬาฯ ไม่พบผู้ป่วยมีอาการทางสมองเลย ที่พบมีรายงานจะมาจากญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลี และประเทศในยุโรป ตุรกี ในญี่ปุ่นในช่วงปี พ.ศ. 2540-2541 มีการประมาณการณ์ที่พบเด็กมีอาการทางสมองประมาณ 100-200รายต่อปี แต่ไข้หวัดใหญ่ 2009 พบแล้วในประเทศไทยในสามเดือนเท่านั้น เป็นสัญญาณอีกอย่างหนึ่งที่ต้องจับตามอง

อาการทางสมองมีอาการตั้งแต่ เพ้อ สับสน ชัก ไม่รู้สึกตัว หรือมีแขน ขา อ่อนแรง หรือมีอาการ ตาเหล่ ตาเข ทั้งนี้สาเหตุอาจเกิดได้จากเชื้อเข้าไปในสมองจริง ๆ ซึ่งการตรวจ ต้องตรวจ น้ำไขสันหลัง หรือเกิดจากปฏิกิริยาของเชื้อทำให้มีภาวะวิปริตของเซลล์สมอง ตั้งแต่สมองบวม จนกดเนื้อสมองข้างเคียง หรือเกิดจากภูมิคุ้มกันทำงานเกินควร ทำลายเนื้อสมองตนเอง ซึ่งมีได้สองสภาวะ คือเกิดในบริเวณเนื้อสมองส่วนใต้ลงมาจากเปลือกสมองที่เป็นส่วนสีขาว หรือเกิดในเนื้อใจกลางสมองและก้านสมอง

การรักษาต้องแยกสภาวะเหล่านี้ออกจากกัน นอกจากนั้นการใช้ยา Tamiflu ก็มีผลข้างเคียง เกิดอาการสับสน ชัก ไม่รู้สึกตัวหรืออาการซึมเศร้า ฆ่าตัวตายได้เช่นกัน

 
 

จากคุณ : หมอหมู
เขียนเมื่อ : 31 ก.ค. 52 12:59:54




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com