สติกับความโกรธ โดย ท่าน ว.วชิรเมธี
วิธีเบ็ดเสร็จเด็ดขาดที่สุด ถ้าอยากจะตัดความโกรธออกจากชีวิตเลย คือ "เจริญวิปัสนากรรมฐาน" เพราะเมื่อเรามีความตื่นรู้ อยู่ในทุกๆอิริยาบถ ความโกรธจะแทรกเข้ามาในจิตใจเราไม่ได้ คนที่ปล่อยให้ความโกรธแทรกเข้ามาในจิตได้ก็แสดง ชัดเจนว่าเขายังเป็นคนที่ขาดสติ ธรรมชาติของจิตจะรับอารมณ์ได้ทีละเรื่อง ถ้าจิตของเราอยู่กับสติ ความโกรธก็ไม่เข้ามา ถ้าจิตเราอยู่กับความโกรธ สติก็ไม่เข้ามาดังนั้นเราจึงควรให้พื้นที่แห่งจิตของเราอยู่กับสติมากกว่า เพราะวิธีนี้เป็นวิธีป้องกันความโกรธที่ได้ผลดีที่สุด
"ถ้าเราอยากจะหนีความโกรธ เราก็ควรฝึกสติในทุกๆ อิริยาบถ เมื่อเรามีสติอยู่ในทุกอิริยาบถ ก็คือเรามีความตื่นรู้ในทุกอิริยาบถ จิตของเราที่มีความตื่นรู้เป็นอารมณ์แล้ว ก็ไม่มีพื้นที่ว่างสำหรับที่ความโกรธจะแทรกตัวเข้ามา"
.
.
.
วิธีที่อาตมภาพใช้ระงับความโกรธอยู่ทุกวันนี้ก็คือ ทันทีที่กระทบก็ให้ธรรมะกระเทือน นั่นคือถ้าเริ่มรู้สึกว่ากรุ่นๆ ฉุนเฉียวขึ้นมาปุ๊บ เอาสติไปจับจ้องตรงอาการกรุ่นๆ ฉุนเฉียวนั้น เพราะสติไปอยู่ตรงนั้นความโกรธมันจะขี้อายมาก มันจะถอยห่างจากไปทันตา สิ่งนี้อาตมภาพฝึกมาจนกระทั่งว่าทุกวันนี้สามารถจัดการความโกรธได้ในระดับ ที่เรียกว่าน่าพอใจทีเดียว ก่อนหน้านั้นอาตมภาพเคยเป็นคนโกรธง่าย ฉุนเฉียว ใครพูดอะไรไม่ถูกหูจะทะลุกลางปล้อง แต่ครั้งหนึ่งหลังจากที่อาตมภาพผ่านการอบรมวิปัสสนากรรมฐานเข้มเรียบร้อย แล้ว นับแต่นั้นมาจนถึงทุกวันนี้เป็นเวลากว่าสิบปี อาตมภาพสามารถพลิกตัวเองไปเป็นอีกคนหนึ่งได้อย่างสบาย สามารถทนต่อความโกรธของคนอื่น ทนต่อความโง่ของคนอื่น ทนต่อความฉลาดของคนอื่น โดยไม่มีอาการตีโพยตีพายหรือทะลุกลางปล้องอีก สามารถฟังคำวิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างสงบเยือกเย็นและสังเกตุดูปฏิกริยาของตัว เองได้อย่างสงบ เพราะทุกครั้งที่ความโกรธเกิดขึ้น แทนที่จะรอรวมตัวเป็นหนึ่งเดียวกันกับความโกรธ เราเป็นฝ่ายเห็นความโกรธเสียก่อน วิธีปฏิบัติอย่างนี้อาตมภาพตั้งชื่อว่า "ปฏิบัติอย่างเห็นมันก่อน" เพราะถ้าเราไม่เห็นมันก่อนเราก็จะเสร็จมันก่อนนั่นคือ "ถ้าใจเราโกรธปุ๊บ เอาสติไปดูใจ ความโกรธก็หายไป เพราะใจของเรานั้นรับอารมณ์ได้ทีละเรื่อง สติอยู่ตรงไหนความโกรธก็หายไป ณ ตรงนั้น นี้เป็นวิธีปฏิบัติที่ลัดสั้นที่สุด ทำที่นี่ เดี๋ยวนี้ได้ผลทันที" ไม่มีขั้นตอนอะไรมากมาย แต่สำหรับคนทั่วไปซึ่งไม่เคยฝึกดูใจมานั้น อาตมภาพขอแนะนำว่าทันทีที่คุณโกรธ 1. ควรพาตัวเองออกจากสภาพแวดล้อมที่โกรธนั้นให้เร็วที่สุด
2. งดการพูดทุกถ้อยกระทงความ เพราะถ้าคุณพูด สิ่งที่ไม่ควรพูดจะหลุดออกจากปาก
3. งดการตัดสินใจทันที คนที่ตัดสินใจในนาทีที่มีความโกรธครอบงำกลุ้มรุมหัวใจนั้น การตัดสินใจจะด้อยประสิทธิภาพและเต็มไปด้วยอคติ
4. พาตัวเองเดินไปล้างหน้าล้างตาในห้องน้ำเพื่อเรียกสติ
5. ควรหาอะไรสักอย่างหนึ่งมาทำเพื่อเป็นการถ่ายเทพลังความโกรธให้ไปอยู่ที่เนื้องาน
6. หางานอดิเรกมาทำ เพราะงานอดิเรกนั้นมักจะเป็นงานที่เรารัก พออยู่กับงานที่เรารัก จิตใจก็เริ่มแช่มชื่นเบิกบานฟื้นคืนกลับมาเป็นจิตใจที่มีประสิทธิภาพแล้ว
7. ขั้นตอนสุดท้าย ฝึกเจริญสติที่เรียกกันว่า "เมตตาพรหมวิหาร" คือ ฝึกตื่นรู้ดูใจไปพร้อมๆ กันนั้นก็ฝึกมองคนที่เราโกรธ ว่าเขาก็เป็นเพื่อนมนุษย์เช่นเดียวกับเรา ปลูกฝังเมตตาภาวนาอยู่เสมอพร้อมๆ กับที่ฝึกตื่นรู้ดูใจ
หากทำได้ถึงขั้นที่ 7 แล้ว ความทุกข์จากความโกรธจะไม่มาแผ้วพานเราอีกเลย และทุกครั้งที่ความโกรธมาเยือนเราก็สามารถพลิกความโกรธเป็นเมตตาได้ตลอดไป การที่คนยังไม่สามารถละความโกรธออกได้ เพราะคิดว่าตัวเองไม่ได้รับความยุติธรรม จึงพยายามเรียกร้องหาความยุติธรรมให้ตัวเอง เมื่อพยายามเรียกร้องหาความยุติธรรมให้ตัวเองก็ไม่สามารถปล่อยวางความโกรธ ได้ กลายเป็นว่าในขณะที่เขากำลังหาความยุติธรรมให้ตัวเองนั้น เขาได้สร้างความอยุติธรรมให้ใจของตัวเองเรียบร้อยแล้ว เห็นไหม นั่นแหละจึงเป็นรากฐานของการผูกโกรธ คือเราคิดว่าเราไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงไปโกรธตอบ เพื่อให้คนนั้นได้รับผลแห่งการกระทำที่สาสมที่สุด แท้ที่จริงคนสองจำพวกนี้ไม่มีใครเป็นฝ่ายชนะ เป็นคนแพ้ทั้งคู่ ฝ่ายหนึ่งโกรธคนอื่นหรือกระตุ้นให้คนอื่นโกรธก็แพ้ที่ไม่สามารถควบคุมตัวเอง ได้ ฝ่ายหนึ่งไปโกรธตอบ ด้วยอาการที่อยากเรียกร้องความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นกับตัวเอง ก็แพ้ใจตัวเอง ทั้งฝ่ายที่กระตุ้นให้โกรธและฝ่ายที่โกรธ สุดท้ายทั้งคู่ก็แพ้อย่างราบคาบให้แก่กิเลสที่ชื่อความโกรธเหมือนกัน
อ่านต่อ/เครดิตจากบล็อกนี้ค่ะ
http://www.oknation.net/blog/print.php?id=525561