"ยา"รักษาอาการบาดเจ็บ

    "ยา"รักษาอาการบาดเจ็บ จากคอลัมน์ หมอสนาม นสพ. มติชน โดย น.พ.ธีรวัฒน์ กุลทนันทน์ และคณะ

    แฟนประจำหลายท่านได้สอบถามความรู้เกี่ยวกับเรื่อง "ยา" ที่ใช้รักษาเมื่อเกิดอาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา

    ผมขอตอบคำถามดังนี้ครับ

    ยาแก้ปวด ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาต้านการอักเสบ ยาลดบวม อาการปวดพบได้เป็นประจำในนักกีฬา เช่น ปวดเมื่อย ปวดกล้ามเนื้อจากการอ่อนล้าหรือจากการเกร็งตัว ปวดจากการกระแทก เป็นต้น ยาที่ใช้มีทั้งชนิดรับประทาน ชนิดทา และชนิดฉีด ซึ่งชนิดฉีดนี้เรามักไม่ใช้ในการบาดเจ็บจากการกีฬาที่เกิดขึ้น(นอกจากแพทย์เท่านั้น) ดังนั้น ในที่นี้จะขอกล่าวเฉพาะยาชนิดรับประทาน เช่น

    1.ยาแก้ปวด ที่คุ้นหูและใช้กันบ่อยๆ มีดังนี้

    -พาราเซตามอล(Paracetamol) ใช้ลดอาการปวดและลดไข้ด้วย ในยา 1 เม็ด จะมี 500 มิลลิกรัม ใช้ครั้งละ 2 เม็ด รับประทานทุก 4-6 ชั่วโมง ยานี้ระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหารน้อย ในเด็กให้ลดขนาดลงตามส่วน

    -แอสไพริน(Aspirin) ใช้ลดอาการปวดและลดไข้ด้วย ในยา 1 เม็ด มี 300 มิลลิกรัม ใช้ครั้งละ 2 เม็ด รับประทานทุก 4-6 ชั่วโมง ยานี้ระคายเคืองต่อกระเพาะมากกว่า ในเด็กก็ให้ลดขนาดลงตามส่วนเช่นกัน

    นอกจากนี้ยังมียาแก้ปวดที่ออกฤทธิ์มากกว่า 2 ตัวที่กล่าวมาแล้ว แต่ต้องให้แพทย์สั่งเท่านั้น ยาแก้ปวดชนิดฉีดไม่ควรใช้ มีหลักสำคัญสำหรับการใช้ยาแก้ปวดว่า ถ้าได้รับประทานยาแก้ปวดแล้ว อาการปวดไม่ลดลง ต้องรีบส่งพบแพทย์ทันที เพราะแสดงว่ามีอันตรายรุนแรงเกิดขึ้นแล้ว(ปกติยาแก้ปวดจะออกฤทธิ์ภายในครึ่งชั่วโมง)

    2.ยาคลายกล้ามเนื้อ(muscle relaxant)

    ช่วยคลายกล้ามเนื้อที่มีการหดเกร็ง ใช้ร่วมกับยาแก้ปวด ยานี้จะออกฤทธิ์ช้าและทำให้ง่วงซึมและมึนงงได้ ดังนั้น การใช้ต้องระมัดระวังมาก เพราะถ้าไม่จำเป็นแล้วจะทำให้นักกีฬาที่จะทำการแข่งขันมีประสิทธิภาพลดลง เนื่องจากอ่อนเพลียและมึนงง ยาที่ใช้กันบ่อยๆ และพอรู้จักกันดังตัวอย่างต่อไปนี้

    โรแบ็กซิน(Robaxin) ไมโดคาล์ม(Mydocalm) ไมโอเมททอล (Myomethol) นอร์เจสิค(Norgesic) มัสคอล(Muscol) และอะแล็กแซน(Alaxan) ซึ่งตัวหลังสุดนี้มียาต้านการอักเสบรวมอยู่ด้วย ขนาดที่ให้ครั้งละ 1-2 เม็ด วันละ 4 ครั้ง เช้า-กลางวัน-เย็น-ก่อนนอน สำหรับอะแล็กแซนนั้นให้ได้ไม่ควรเกินวันละ 4 เม็ด อาจจะให้ครั้ง 1 เม็ด วันละ 4 ครั้ง หรือครั้งละ 2 เม็ด เช้า-เย็น ก็ได้ ยาเหล่านี้ให้รับประทานหลังอาหาร

    3.ยาต้านการอักเสบ (anti-inflammatory drug)

    การบาดเจ็บทุกชนิดมีการอักเสบเกิดขึ้นทั้งสิ้น ดังนั้น การให้ยาชนิดนี้ทำให้เกิดการอักเสบน้อยหรือการอักเสบลดลง ทำให้หายเร็วขึ้น นักกีฬาสามารถกลับไปเล่นกีฬาได้เร็ว จึงนำมาใช้มากในแง่บาดเจ็บเกี่ยวกับการกีฬา แต่เนื่องจากเป็นตัวยาอันตราย ดังนั้น จึงต้องใช้โดยแพทย์เท่านั้น อันตรายของยาชนิดนี้มีต่อระบบทางเดินอาหาร ทำให้กระเพาะอาหารเป็นแผลได้ และยังมีผลต่อระบบการผลิตเลือดในร่างกาย ทำให้ซีดหรือร่างกายขาดเลือดได้ ดังนั้น ไม่จำเป็นจริงๆ หรือผู้ที่ไม่มีความรู้ความชำนาญ(แม้แต่แพทย์เอง)ไม่ควรใช้เด็ดขาด ตัวอย่างยาที่เราพบเห็นกันอยู่บ่อยๆ เช่น โวลทาเรน(Voltaren) บรูเฟน(Brufen) เฟลดีน(Feldene) ซินเฟลกซ์(Synflex) เซอร์แกม(Surgem) ไซโนพาล(Cinopal) นาโพรซีน(Naprosyn) อินโดซิด(Indocid) โอรูเวล(Oruvail) ทิลโคทิล(Tilcotil) โพรลิกแซน(Prolixan) ฯลฯ นอกจากนี้ยากลุ่มนี้ยังมีราคาแพงมากในปัจจุบันด้วย

    4.ยาลดบวม

    ใช้กับเนื้อเยื่อที่ได้รับความชอกช้ำ จะทำให้มีเลือดออกอยู่ภายใต้ผิวหนัง ทำให้เกิดอาการบวมขึ้น การให้ยาลดบวมจะทำให้เนื้อเยื่อที่ได้รับบาดเจ็บนั้นยุบเร็วขึ้น ยาลดบวมนี้ยังช่วยในแง่การต้านการอักเสบบางส่วนด้วย ตัวอย่างเช่น เรพพาริล(Reparil) แดนเซน(Danzen) และไคโมรอล(Chymorol) ให้ครั้งละ 2 เม็ด วันละ 3 ครั้ง เช้า-กลางวัน-เย็น ประมาณ 3-5 วัน หรือเมื่ออาการบวมหายไป

    ชนิดทา นวด

    -ยาทา นวดแก้ปวด จะมีตัวยาแก้ปวดกลุ่มแอสไพรินอยู่ และทำให้ผิวหนังร้อน(เนื่องจากผสมเมนทอลและการบูร) จึงห้ามทาหรือนวดบริเวณผิวหนังที่บาง ตัวยาสามารถซึมผ่านผิวหนังได้ดี เนื่องจากความร้อนนี่เองจึงห้ามใช้ในรายที่ได้รับบาดเจ็บมาใหม่ๆ เพราะความร้อนจะทำให้หลอดเลือดใต้ผิวหนังขยายตัว เลือดจะยิ่งออกมากขึ้น อาการบวมจะเพิ่มมากยิ่งขึ้น ตัวอย่างยาพวกนี้ ได้แก่ ยาหม่อง น้ำมันระกำ พวกบาล์มต่างๆ

    -ยาทา นวด ต้านการอักเสบ ยาพวกนี้มีตัวยาต้านการอักเสบอยู่ด้วย ใช้ได้ดีในรายที่มีการอักเสบของกระดูก เอ็น ข้อต่อ และกล้ามเนื้อที่มีการอักเสบอยู่จากสาเหตุใดๆ ก็ตาม ยาพวกนี้จะไม่ทำให้ผิวหนังร้อน บางครั้งเย็น มีกลิ่นหอม แล้วแต่การปรุงแต่ง อาจมีลักษณะเป็นครีมหรือเป็นเจลก็ได้ การใช้ยาชนิดนี้ต้องระวังการแพ้ยาในนักกีฬาบางคนได้ ยาทากลุ่มนี้ราคายังแพงมากอยู่ในปัจจุบัน ตัวอย่างยาพวกนี้ ได้แก่ ไนฟลูริลครีม(Nifluril) โวลทาเรน อีมัลเจล(Voltaren emulgel) เฟลดีน เจล(Feldene gel) บิวตาโลนครีม(Butalone cream) เป็นต้น นอกจากนี้ยังมียาทาที่ประกอบด้วยยาต้านการอักเสบที่สกัดมาจากฮอร์โมนจากต่อมหมวกไต เช่น โมบิแลท(Mobilat) เป็นต้น

    -ยาลดบวม ถึงแม้จะช่วยลดบวมได้แต่ก็ไม่ควรใช้ในระยะแรก เพราะการปฐมพยาบาลบาดเจ็บจากการกีฬาที่มีการบวมในระยะแรกที่ดีที่สุด คือ การประคบเย็นหรือประคบน้ำแข็ง การใช้ยาประเภทนี้ควรใช้หลังจาก 24 ชั่วโมงผ่านไปแล้ว ยาประเภทนี้สามารถซึมแทรกผิวหนังและละลายเลือดที่มาแทรกที่ผิวหนัง ทำให้ลดอาการบวมได้ดี และลดการอักเสบได้บ้าง ตัวอย่างยา เช่น เรพพาริล เจล(Reparil gel) ฮิรูดอยด์(Hirudoid)

    หวังว่าคงพอรู้จักและการใช้ยานะครับ

    ถ้ามีปัญหาหรือข้อสงสัยใดๆ เกี่ยวกับอาการบาดเจ็บจากการกีฬา กรุณาส่งคำถามไปที่สาขาเวชศาสตร์การกีฬา ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์ฯ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล หรือ Email address sisportsmed@hotmail.com สวัสดีครับ

    จากคุณ : Kindaichi - [ 17 ก.ย. 46 10:33:27 ]