อนุโมทนาสาธุกับทุกๆท่านนะครับ
#3 คำถามของคุณ ฮิมาวาริซซัง เป็นคำถามที่ดีนะครับ
อธิบายได้ว่า
จิต เจตสิก รูป ทั้ง ๓ นี้ มีสามัญลักษณะ ทั้ง ๓ ประการ
คือ อนิจจลักษณะ ทุกขลักษณะ อนัตตลักษณะ ทั้งสามนี้รวมกันเรียกว่า "ไตรลักษณ์"
ส่วน พระนิพพานนั้น มีสามัญลักษณะเพียงประการเดียว คือ "อนัตตลักษณะ" เท่านั้น
# 4 ตอบคุณแมวเก้าแต้ม
ที่กระทู้นี้คงจะออกใบประกาศ ฯ ให้ไม่ได้นะครับ
ผมให้ลิ้ง "ปริญญาสูตร" ไปแทนก่อนละกันนะครับ :)
ว่าแต่เดี๋ยวถ้าตามอ่านจนถึงซักตอนที่ 200 เดี๋ยวอาจจะแนะนำให้ไปลง
สนามสอบพระอภิธรรม ที่อภิธรรมโชติกวิทยาลัยดู ดีไหมครับ :)
# 6 ขอบคุณครับ คุณ เม่า_พอเพียง
# 7 ตอบคุณเอิงเอย นะครับ
- คำว่า วิเสสลักษณะนี้ เป็นตัวสภาวะของปรมัตถธรรม
ซึ่งถ้าเราพูดถึงหลักปริยัติแล้วอาจจะดูว่า ยาก เพราะมีรายละเอียดเยอะ
เมื่อเทียบกับ สามัญญลักษณะ แล้ว
สามัญญลักษณะ ก็ดูเหมือนว่าจะง่ายกว่า เพราะจำได้ง่ายๆคือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
- แต่ในทางปฏิบัตินั้น ในการเจริญกรรมฐาน วิเสสลักษณะ หรือ สภาวะลักษณะนี้ ถือว่าเป็นขั้นต้น
ส่วนการประจักษ์ สามัญลักษณะ หรือไตรลักษณ์ จัดเป็นขั้นสูง เป็นของที่ยากกว่า
สำหรับวิเสสลักษณะ นั้น
แม้ผู้ปฏิบัติจะไม่อาจสาธยาย หรือบรรยาย วิเสสลักษณะนั้น แต่ผู้ปฏิบัติย่อมประจักษ์แจ้งแก่ใจตนเองได้
จะยกตัวอย่างกรณีที่เห็นได้ชัดที่สุดนะครับ คือ "วาโยธาตุ"
วาโยธาตุ นั้น มีวิเสสลักษณะ คือ
- มีความเคร่งตึง เป็นลักษณะ
- มีการไหว เป็นกิจ
- มีการเคลื่อนย้าย เป็นผล
- มีธาตุทั้ ๓ ที่เหลือ เป็นเหตุใกล้
จะเห็นได้ว่า ผู้ปฏิบัติสามารถประจักษ์ สภาวะของวาโยได้ด้วยตนเอง ตัวอย่างเช่น เมื่อ
คู้แขนเข้า, เหยียดแขนออก หรือในขณะที่เดิน
เมื่อมีสติกำหนดรู้ก็ย่อมประจักษ์ถึง ความเคร่งตึง-ไหว-เคลื่อนย้าย ได้ในขณะนั้น
นี่คือการเห็นวิเสสลักษณะในการปฏิบัติ จัดเป็นความเข้าใจเบื้องต้นในส่วนของ นามรูปปริเฉทญาณ
- ส่วนสามัญลักษณะ คือไตรลักษณ์นั้นถือว่า เป็นส่วนที่ลึกซึ้ง คือจะต้องเกิด วิปัสสนาญาณ ๙
และเป็นวิชากรรมฐานขั้นสูงของพุทธศาสนา ต้องสั่งสมเหตุปัจจัยไว้มาก ทั้ง ศีล สุตะ ภาวนา ฯลฯ
แม้ใน อภิธัมมัตถสังคหะ ที่ผมได้นำมาอธิบายทางกระทู้นี้
ในส่วนของ สามัญลักษณะ ก็จะได้อธิบายรายละเอียดกันอีกที ในปริเฉท(หรือบท)ที่ ๙
ส่วนตอนนี้ เรากำลังอยู่ใน ปริเฉทที่ ๑ เรื่อง จิต กันอยู่
ดังนั้น คำถามที่ถามนี้ถือว่า เลย บทเรียนขณะนี้ออกไปถึง ๘ บท เลยนะครับ :)
#8 คุณโขตาน ได้ให้ความเห็นถึง คนที่เรียนปริยัติแต่โดยกิเลสต่างๆครอบงำ เช่น การเรียนปริยัติแบบงูพิษ
ซึ่ง การเรียนปริยัติอาจจะแบ่งออกได้ ๓ อย่าง ดังในลิ้งนี้
- การเรียนแบบงูพิษ มีการข่มกัน หรือเป็นไปด้วยอำนาจกิเลสนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ดี
- ส่วนการเรียนปริยัติ หรือเรียนพระอภิธรรมที่ดีนั้น คือ การเรียนเพื่อให้เป็นไปเพื่อความขัดเกลากิเลส
ดังที่ได้แสดงไว้ว่า
"ปริยัติอันบุคคลเรียนดีแล้ว คือจำนงอยู่ซึ่งความบริบูรณ์แห่งคุณมีสีลขันธ์เป็นต้นนั่นแลเรียนแล้ว
ไม่เรียนเพราะเหตุมีความโต้แย้งเป็นต้น, ปริยัตินี้ ชื่อว่าปริยัติมีประโยชน์ที่จะออกจากวัฏฏะ
ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายตรัสไว้ว่า
ธรรมเหล่านั้นอันกุลบุตรเหล่านั้นเรียนดีแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขสิ้นกาลนาน"
-------------------------------------------------
- อนึ่ง การฟังธรรม การศึกษาเล่าเรียนพระอภิธรรมนั้น ย่อมเป็นปัจจัยแก่การเจริญสติปัฏฐาน
สมถะ-วิปัสสนากรรมฐาน ให้มีความเจริญก้าวหน้า และนอกนั้นยังจะเป็นปัจจัยให้ถึงอริยมรรค ด้วย
ดังที่แสดงใน สังคีติสูตร ว่า
[๒๔๐] องค์ของการบรรลุโสดา ๔ อย่าง
๑. สัปปุริสสังเสวะ [การคบสัตบุรุษ]
๒. สัทธัมมัสสวนะ [การฟังพระสัทธรรม]
๓. โยนิโสมนสิการ [การกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย]
๔. ธัมมานุธัมมปฏิปัตติ [การปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม]
- และ การสั่งสมสุตะ นี้เอง ย่อมเป็นปัจจัย เป็นลำดับ ให้เกิดการปฏิบัติที่แตกฉานต่อไปในอนาคต
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็การตั้งอยู่ ในอรหัตตผล ย่อมมีได้ด้วยการศึกษาโดยลำดับ
ด้วยการทำโดยลำดับ ด้วยความปฏิบัติโดยลำดับอย่างไร?
ดูกรภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรในธรรมวินัยนี้ เกิดศรัทธาแล้วย่อมเข้าไปใกล้
เมื่อเข้าไปใกล้ย่อมนั่งใกล้ เมื่อนั่งใกล้ย่อมเงี่ยโสตลง
เมื่อเงี่ยโสตลงแล้วย่อมฟังธรรม ครั้นฟังธรรมย่อมทรงธรรมไว้
ย่อมพิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงไว้แล้ว เมื่อพิจารณาเนื้อความอยู่
ธรรมทั้งหลายย่อมทนได้ซึ่งความพินิจ
เมื่อธรรมทนความพินิจได้อยู่ ฉันทะย่อมเกิด เมื่อเกิดฉันทะแล้ว ย่อมอุตสาหะ
ครั้นอุตสาหะแล้ว ย่อมไตร่ตรอง ครั้นไตร่ตรองแล้ว ย่อมตั้งความเพียร
เมื่อมีตนส่งไปแล้ว ย่อมทำให้แจ้งชัดซึ่งบรมสัจจะด้วยกาย
และย่อมแทงตลอดเห็นแจ้งบรมสัจจะนั้นด้วยปัญญา.