อนุโมทนากับทุกๆท่านด้วยนะครับ
______________________________________________________
#5 คุณยิ้มก็กล่าวได้ถูกนะครับ แม้พระพุทธองค์ก็ได้ตรัสแก่พระวักกลิว่า
"ผู้ใดแล เห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าย่อมเห็นเรา"
ในความสงสัยในส่วนของ พระวรกายของพระผู้มีพระภาค ที่เกิดแก่คุณสไมล์นั้น
จะเป็นวิจิกิจฉาหรือไม่ผมขอยกไว้ก่อน แต่คุณสไมล์สามารถพิจารณาด้วยสติด้วยตนเองได้
ว่าในขณะนั้น จิตผ่องใสหรือไม่ผ่องใส จิตเป็นกุศลหรือไม่เป็นกุศล จิตหนักหรือเบา ฯลฯ
- ศรัทธาเชื่อที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา ย่อมทำให้เกิดความเชื่ออย่างผิดๆได้
- ปัญญาที่ไม่ประกอบด้วยศรัทธา ย่อมทำให้เกิดความเคลือบแคลงลบหลู่ดูหมิ่น
- เมื่อศรัทธาและปัญญาเสมอกัน จึงจะเกิดความเลื่อมใสที่ถูกต้อง
อนึ่ง ในความสงสัยเรื่องมหาปุริสลักษณะของพระผู้มีภาคเจ้านั้น ก็สามารถละได้ ด้วย สุตะ คือการฟังการศึกษา
ลักษณะแต่ละประการที่เกิดในพระวรกายนั้น ก็ล้วนแต่มีเหตุปัจจัย คือกุศลกรรม
ที่ทรงได้บำเพ็ญมาอย่างยาวนานนับได้ ๔ อสงไขยกำไรแสนกัปป์
"[๑๖๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ภพก่อน
กำเนิดก่อน เป็นหัวหน้าของพหุชนในธรรมทั้งหลายฝ่ายกุศล
เป็นประธานของพหุชนด้วยกายสุจริต ด้วยวจีสุจริต ด้วยมโนสุจริต
ในการบำเพ็ญทาน ในการสมาทานศีล ในการรักษาอุโบสถ
ในความปฏิบัติดีในมารดา ในความปฏิบัติดีในบิดา
ในความปฏิบัติดีในสมณะ ในความปฏิบัติดีในพราหมณ์
ในความเคารพต่อเชฏฐชนในสกุล และในธรรมเป็นอธิกุศลอื่นๆ
ตถาคตย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก
เพราะกรรมนั้น อันตนทำ สั่งสม พอกพูน ไพบูลย์ ฯลฯ
ครั้นจุติจากสวรรค์นั้นแล้ว มาสู่ความเป็นอย่างนี้
ย่อมได้เฉพาะซึ่งมหาปุริสลักษณะนี้
คือมีพระเศียรได้ปริมณฑลดุจดังว่าประดับด้วยอุณหิ่ส"
- เมื่อคุณสไมล์ ได้ศึกษาพระมหาปุริสลักษณะ ๓๒ และอนุพยัญชนะ ๘๐
พร้อมทั้งเหตุปัจจัย คือ กุศลกรรมต่างๆที่ทรงได้ทำมา ก็ย่อมละความสงสัย
ในเรื่องเหล่านี้ได้ แม้ความเลื่อมใสศรัทธานั้น ก็เป็นไปอย่างถูกต้อง
____________________________________________
#6 ตอบคุณวงกลมนะครับ
สัมปยุตต หมายความว่าการประกอบกันที่พร้อมด้วยลักษณะ ๔ ประการ คือ
- เอกุปฺปาท เกิดพร้อมกับจิต
- เอกนิโรธ ดับพร้อมกับจิต
- เอกาลมฺพณ มีอารมณ์เดียวกับจิต
- เอกวตฺถุก อาศัยวัตถุเดียวกับจิต
ธรรมที่ประกอบกันพร้อม ด้วยลักษณะ ๔ ประการที่กล่าวนี้ ก็มีแต่จิตกับเจตสิกเท่านั้น นอกจากนี้ไม่มีอีกเลย
ตัวอย่าง เช่น โมหมูลจิต ดวงที่ ๑ - วิจิกิจฉาสัมปยุต
- สัมปยุต (ประกอบด้วย)
- วิจิกิจฉา (สงสัย) มีองค์ธรรมคือ วิจิกิจฉาเจตสิก
วิจิกิจฉาเจตสิกนี้เป็น ธรรมที่สัมปยุต กับโมหมูลจิต ดวงที่ ๑ คือ
เกิดพร้อมกัน-ดับพร้อมกัน-มีอารมณ์เดียวกัน-อาศัยวัตถุเดียวกัน กับจิต
(เรื่องเจตสิกจะได้ศึกษากันอีกทีใน ปริเฉทที่ ๒
ส่วนเรื่อง อารมณ์ และวัตถุ จะอยู่ในปริเฉทที่ ๓ นะครับ)
ส่วน ธรรมอย่างอื่น เช่น รูปกับรูป หรือ
จิตเจตสิกที่เป็นคนละกาลคนละขณะกัน เป็นต้น จะเป็นสัมปยุตกันไม่ได้เลย
____________________________________________
#7 สาธุนะครับคุณต่อฯ
แก้ไขเมื่อ 05 มี.ค. 55 19:47:40
แก้ไขเมื่อ 05 มี.ค. 55 19:46:53