คุณระนาดให้ข้ิอคิดใน #41 ได้น่าสนใจนะครับ
เรื่อง กรณีบิดามองไม่เห็น พระยสกุลบุตร
เข้าใจว่าเป็นเรื่องของ อิทธิวิทธะ คือ พระพุทธองค์ทรงใช้ ฤทธิ์ ที่เรียกว่า ติโรภาพ
ทำให้เกิดสิ่งกำบังขึ้นด้วยฤทธิ์นั้น จึงเป็นเหตุให้บิดามองไม่เห็นพระยสกุลบุตร
ในปฏิสัมภิทามรรค และวิสุทธิมรรคได้แสดงเรื่องนี้ไว้ดังนี้คือ
____________________________________________________
[๖๘๕] ฤทธิ์ที่อธิษฐานเป็นไฉน ฯ
ภิกษุในศาสนานี้ ย่อมแสดงฤทธิ์ได้เป็นอันมาก คือ คนเดียวเป็น
หลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ ทำให้ปรากฏก็ได้ ให้หายไปก็ได้....
คำว่า ทำให้หายไปก็ได้
คือ ที่อันอะไรๆ เปิดไว้ ทำให้เป็นที่ปิดบังมิดชิดก็ได้ ฯ........
บทว่า ติโรภาวํ ทำให้หายไป คือทำให้อยู่ในระหว่าง
ชื่อว่า ปิหิตํ ปิดบังเพราะเครื่องกั้นนั้นปิด ชื่อว่า ปฏิกุชฺชิตํ มิดชิดเพราะปิดที่ที่ปิดบังไว้นั้นเอง.
____________________________________________________
ก็แหละ พระโยคีผู้ต้องการทำติโรภาพ ย่อมทำที่สว่างให้มืด หรือทำที่ไม่กำบังให้เป็นที่กำบัง ทำที่เป็นทางมิให้เป็นทาง ทำอย่างไร ?
คือพระโยคีนี้ต้องการทำตนหรือผู้อื่นแม้ไม่มีอะไรบังหรือยืนอยู่ใกล้ ๆ กัน ก็มองไม่เห็นได้ โดยออกจากฌาน
ที่เป็นบาทแล้วรำพึงอยู่ว่า ที่สว่างนี้จงเป็นที่มืดเถิด หรือว่าที่ไม่กำบังนี้จงกลายเป็นที่กำบัง หรือว่าที่เป็นช่องทางนี้
จงเป็นที่ที่คนมองไม่เห็นเถิด แล้วทำบริกรรมอธิฐานตามเนื้อความที่ได้กล่าวแล้วนั้นแหละพร้อมกับจิตที่อธิษฐานนั้น
ก็จะกลายเป็นเหมือนอย่างที่อธิษฐานทุกประการโดยฉับพลัน ชนเหล่าอื่นแม้ยืนอยู่ใกล้ก็แลไม่เห็น
ถึงตัวเองไม่ต้องการจะเห็นก็ไม่เห็นแล
ถามว่า ก็ปาฏิหาริย์นี้ใครเคยทำมา ?
ตอบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์ทรงเคยทำมา จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงทำยสกุลบุตรผู้ซึ่งนั่งในที่ใกล้แท้ ๆ มิให้บิดาพบเห็นได้
____________________________________________________
ส่วนเรื่อง เทพสังหรณ์ ในคู่มือ ปริเฉทที่ ๔ ท่านก็ได้มีกล่าวถึงไว้ดังนี้ คือ
(ดูข้อ ๑๒)
____________________________________________________
.....อารมณ์ต่าง ๆ ที่มาสู่มโนทวารวิถีนั้น มีมาได้เป็น ๒ ทางด้วยกัน คือ
รับ อารมณ์ต่อจากปัญจทวารวิถีนั้นทางหนึ่ง อารมณ์มาปรากฏทางใจโดยตรงโดยเฉพาะ อีกทางหนึ่ง
อารมณ์ที่มาปรากฏทางใจโดยตรงโดยเฉพาะนั้น ตาม ปรมัตถทีปนีฎีกา แสดง ไว้ว่า มีเหตุ ๑๔ ประการ....
๑. ด้วยอำนาจที่เคยเห็น เคยพบ อารมณ์ทั้ง ๖ มาแล้ว (ทิฏฺฐโต)
๒. อารมณ์ทั้ง ๖ ที่กำลังปรากฏอยู่นั้น เหมือน ๆ กันกับที่เคยได้พบเคยเห็น มาแล้ว (ทิฏฺฐสมฺพนฺธโต)
๓. ด้วยอำนาจที่ได้เคยฟัง เคยเรียนมาแล้ว หรือขณะที่กำลังฟัง กำลังเรียน กำลังอ่านข้อความอยู่ (สุตโต)
๔. อารมณ์ทั้ง ๖ ที่กำลังปรากฏอยู่นั้นเหมือน ๆ กับที่เคยได้ฟัง เคยเรียน เคยอ่านมาแล้ว (สุตสมฺพนฺธโต)
๕. ด้วยอำนาจแห่งความ เชื่อในคำพูดของผู้อื่น (สทฺธาย)
๖. ด้วยอำนาจแห่งความ พอใจของตน (รุจิยา)
๗. ด้วยอำนาจแห่งความ นึกคิด โดยอาศัย เรื่องราว คำพูด เหตุผล (อาการปริวิตกฺเกน)
๘. ด้วยอำนาจแห่งการพิจารณาอารมณ์ต่าง ๆ ด้วยปัญญา และด้วยลัทธิของ ตน แล้วตัดสินลงไป (ทิฏฺฐินิชฺฌานขนฺติยา)
๙. ด้วยอำนาจแห่ง กรรมต่าง ๆ (นานากมฺมพเลน)
๑๐. ด้วยอำนาจแห่ง อิทธิฤทธิต่าง ๆ (นานาอิทฺธิพเลน)
๑๑. ด้วยอำนาจแห่ง ธาตุในร่างกาย มีน้ำดี เสมหะ น้ำเหลือง โลหิต ลม เหล่านี้ วิปริตไป (ธาตุกฺโขภวเสน)
๑๒. ด้วยอำนาจแห่ง เทวดามาดลใจ (เทวโตปสํหารวเสน)
๑๓. ด้วยอำนาจแห่ง การรู้ไปตามสมควรแก่ มัคคญาณ ผลญาณ (อนุโพธว เสน)
๑๔. ด้วยอำนาจแห่ง การรู้แจ้งในอริยสัจจ ๔ (ปฏิเวธวเสน)
____________________________________________________
จากข้อที่ ๑๒ นี้ก็ได้แสดงถึงเรื่อง เทพสังหรณ์ คือเทวดามาดลใจ ให้นึกคิด ให้ฝัน ถึงเรื่องนั้นๆ
ซึ่ง ในแง่ที่กล่าวว่า มีผู้อื่นมาดลใจ ให้เิกิดอารมณ์คิดนึกในเรื่องนั้นๆ ก็ถูก
แต่ในแง่ ความเป็นไปของวิถีจิตนั้น ในคู่มือ ที่ท่านแสดงไว้ว่า จิตไหวตัวหน่วงเอา อารมณ์นั้น ๆ มาเอง
ผมเห็นว่า ก็น่าจะกล่าวไว้ถูกดีแล้ว
คือท่านแสดงให้เห็นว่า ในกรณีของมโนทวารวิถีนี้ จิตเกิดขึ้นก่อนแล้วหน่วงเอาอารมณ์นั้นมา (แม้จะมีเทวดาดลใจ)
ไม่ต้องมีการกระทบของอารมณ์และภวังคจิตก่อน เหมือนอย่างในกรณีของปัญจทวารวิถี
ดังความว่า
.....มโนทวารวิถี (กล่าวตามนัยแห่งพระอภิธัมมัตถสังคหะของพระอนุรุทธาจารย์ โดยเฉพาะ) ไม่มีอตีตภวังค
เพราะอารมณ์ที่ปรากฏทางมโนทวารวิถีนี้ ไม่ได้กระทบ ภวังคจิตก่อนเหมือนกับปัญจทวารวิถี หากแต่จิต
เกิดขึ้นก่อนแล้วจึงรับอารมณ์นั้น หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ทางปัญจทวารวิถีนั้น อารมณ์เป็นปัจจัยมากระทบ
มากระตุ้น เตือนจิต ให้จิตไหวตัวขึ้นรับอารมณ์ ส่วนทางมโนทวารวิถีนั้น จิตไหวตัวหน่วงเอา อารมณ์นั้น ๆ มาเอง....
________________________________________________________________________
________________________________________________________________________
________________________________________________________________________
ส่วน คำถามของคุณเอิงเอย #39 จะขอตอบเพิ่มเติมดังนี้นะครับ
จาก วิถีจิต คือ [ ตี น ท ป วิ สัม สัน วุ ช ช ช ช ช ช ช ต ต ภ ภ ] นั้น
ในส่วนของ ป วิ สัม นั้น
ป และ สัม นี้จัดเป็น มโนธาตุ
เมื่อ วิ เช่น จักขุวิญญาณจิต ทำหน้าที่ ทัสสนกิจ คือ การเห็นแล้ว
จิตที่เหลือในวิถี นอกจาก จักขุวิญญาณแล้ว จะไม่ได้ทำหน้าที่เห็นเลย
แต่จะมีกิจการงานของตนต่างๆ คือ
สัม คือ สัมปฏิจฉันนะจิต ก็ทำหน้าที่รับส่งต่ออารมณ์
สัน คือ สันตีรณจิต ก็ทำหน้าที่พิจารณาหรือไต่สวนอารมณ์
ในส่วนของ สัม และ สัน นั้น
สัมปฏิจฉันนะ เป็นเพียงการรับอารมณ์ต่อจากจักขุวิญญาณจิต แล้วส่งให้สันตีรณ จึงมีเพียง อุเบกขาเวทนา เกิดขึ้นเท่านั้น
ส่วน สันตีรณ นั้นเป็นการพิจารณาหรือไต่สวนอารมณ์ ก่อนจะส่งต่อให้โวฏฐัพพนะทำการตัดสิน
เมื่อมี อติอิฏฐารมณ์มาปรากฏ คือ อารมรณ์ที่ดียิ่ง สันตีรณ ก็ย่อมประกอบด้วย โสมนัสได้
ข้อนี้อุปมาเหมือน กรณีบุรุษ นอนหลับใต้ต้นมะม่วง ที่แสดงไว้ใน #27
สัมปฏิจฉันนะ อุปมาดุจ การหยิบผลมะม่วง
สันตีรณะ อุปมาดุจ การลูบคลำผลมะม่วง
___________________
เพื่อให้เข้าใจได้ชัดเจนขึ้น ก็จะขอนำ ข้ออุปมาเพิ่มเติมดังที่แสดงใน อัฏฐสาลินีอรรถกถา มาประกอบไว้ด้วยดังนี้นะครับ
จิตเปรียบด้วยเด็กชาวบ้าน
คำว่า เด็กชาวบ้าน คือ พวกเด็กชาวบ้านเป็นอันมากย่อมเล่นฝุ่นที่ระหว่างทาง
บรรดาพวกเด็กเหล่านั้น กหาปณะกระทบมือของเด็กคนหนึ่ง
เด็กคนนั้นพูดว่า นั่นอะไรกระทบมือของเรา ดังนี้.
ลำดับนั้น เด็กคนหนึ่งจึงพูดว่า นั่นสีขาว ดังนี้. อีกคนหนึ่งก็ถือไว้มั่นคงพร้อมกับฝุ่น
คนอื่นพูดว่านั่นสี่เหลี่ยมหนา คนอื่นอีกพูดว่า นั่นกหาปณะ
ลำดับนั้น พวกเขาจึงนำเหรียญกหาปณะนั้นมาให้มารดา มารดาก็นำไปใช้ในการงาน.
ในข้อนั้น ความเป็นไปของภวังคจิต พึงเห็นเหมือนเวลาที่พวกเด็กมากด้วยกันนั่งเล่นในระหว่างทาง.
เวลาที่ประสาทถูกอารมณ์กระทบแล้วเหมือนเวลาที่กหาปณะกระทบมือ.
เวลาที่กิริยามโนธาตุยังภวังค์ให้เปลี่ยนไปรับอารมณ์นั้นเหมือนเวลาที่เด็กคนหนึ่งพูดว่า นั่นอะไร. [ปัญจทวาราวัชชนจิต]
เวลาที่จักขุวิญญาณทำทัสสนกิจเหมือนเวลาที่เด็กคนหนึ่งพูดว่า นั่นสีขาว. [จักขุวิญญาณจิต]
เวลาที่วิบากมโนธาตุทำหน้าที่รับอารมณ์ เหมือนเวลาที่เด็กคนหนึ่งถือกหาปณะพร้อมกับฝุ่นไว้มั่น. [สัมปฏิจฉนะ]
เวลาที่วิบากมโนวิญญาณธาตุทำกิจพิจารณาอารมณ์ เหมือนเวลาที่เด็กคนหนึ่งพูดว่า นั่นสี่เหลี่ยมหนา. [สันตีรณะ]
เวลาที่กิริยามโนวิญญาณธาตุทำหน้าที่กำหนดอารมณ์ เหมือนเวลาที่เด็กคนหนึ่งพูดว่า นั่นกหาปณะ [โวฏฐัพพนจิต]
การที่ชวนจิตเสวยรสอารมณ์ พึงทราบเหมือนเวลาที่มารดานำกหาปณะไปใช้ในการงานฉะนั้น.
___________________
ซึ่งจากอุปมานี้
ท่านก็เปรียบ สัมปฏิจฉันนะ (วิบากมโนธาตุ) อุปมาดัง เด็กคนหนึ่งถือกหาปณะพร้อมกับฝุ่น
และเปรียบ สันตีรณจิต (วิบากมโนวิญญาณธาตุ) อุปมาดัง เวลาที่เด็กคนหนึ่งพูดว่า นั่นสี่เหลี่ยมหนา
สรุปสั้นๆ ตามที่ผมเข้าใจก็คือว่า
สันตีรณจิตเป็นการพิจารณาอารมณ์ ต่างกับสัมปฏิฉันนะ ที่เป็นแค่การรับอารมณ์จากปัญจวิญญาณ
ดังนั้น สันตีรณจึงเกิดพร้อมกับ โสมนัส ก็ได้ เมื่อมีอารมณ์ที่ดียิ่งมาปรากฏ