ตอบคำถาม คุณ ning #5 นะครับ
ข้อ 1. ติเหตุกกุศล และทวิเหตุกกุศล ย่อมให้ผลที่แตกต่างกัน
และหากจะเข้าใจถึงเรื่องนี้ ก็จำเป็นต้องทราบถึง เจตนาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในกุศลกรรมนั้นด้วย
บุพพเจตนา - ความตั้งใจก่อนกระทำ
มุญจเจตนา - ความตั้งใจในขณะกระทำ
อปรเจตนา - ความตั้งใจในเมื่อได้กระทำเสร็จแล้วใหม่ ๆ และ
อปราปรเจตนา - ความตั้งใจในเมื่อกระทำเสร็จแล้วไปนาน ๆ
การทำ กุศลกรรมใดก็ตาม หากเจตนาต่างๆ ทั้งก่อนทำ ขณะทำ และหลังทำ มีเจตนาที่ดีทุกระยะ
กุศลนั้นก็จัดเป็น "อุกกัฏฐะ" คือ เป็นอย่างอุกฤษณ์เป็นอย่างยิ่ง
ถ้าเจตนานั้นหย่อนไปบ้าง ก็เป็น "โอมกะ"
สำหรับคำถามเรื่องของการให้ผล จากกุศลกรรมต่างๆเหล่านี้ จะขอตอบ
โดยยก คาถาที่ ๒๒ ๒๓ ๒๔ จาก อภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉทที่ ๕
มาแสดงไว้ดังนี้คือ
__________________________________________________________
๒๒. ตตฺถาปิ ติเหตุกมฺกุกฏฐํ กุสลํ ติเหตุกํ ปฏิสนฺธิ ทตฺวา ปวตฺเต โสฬส วิปากานิ วิปจฺจติ ฯ
ในกามาวจรกุศลกรรมทั้ง ๘ นั้น กุศลกรรมชนิดที่เป็นติเหตุกะและอุกกัฏฐะนั้น
ย่อมให้ผลปฏิสนธิที่เป็นชนิดติเหตุ แล้วทำให้วิปากจิต ๑๖ เกิดเป็นผลในปวัตติกาล
๒๓. ติเหตุกโมมกํ ทฺวิเหตุกมุกฺกฏฐญฺจ กุสลํ ทฺวิเหตุกํ ปฏิสนฺธึ ทตฺวา ปวตฺเตติเหตุกรหิตานิ
ทวาทส วิปากานิ วิปจฺจติ ฯ
กุศลกรรมที่เป็นติเหตุกโอมกะ และที่เป็นทวิเหตุกอุกกัฏฐะทั้ง ๒ นี้ ย่อมให้ผลปฏิสนธิที่เป็นชนิดทวิเหตุ
แล้วทำให้วิปากจิต ๑๒ เว้นมหาวิบากญาณสัมปยุตตจิต ๔ เกิดเป็นผลในปวัตติกาล
๒๔. ทฺวิเหตุกโมมกํ ปน กุสลํ อเหตุกเมว ปฏิสนธิ เทติ ปวตฺเต จ อเหตุกวิปากาเนว วิปจฺจติ ฯ
ส่วนกุศลกรรมที่เป็นทวิเหตุกโอมกะ ย่อมให้ผลปฏิสนธิที่เป็นชนิดอเหตุกกุศลวิบากนั้นเอง
แล้วทำให้อเหตุกกุศลวิบาก ๘ เท่านั้นเกิดเป็นผลในปวัตติกาล
__________________________________________________________
จาก คาถานี้ มีคำอธิบายโดยละเอียด ในมหาิอภิธัมมัตถสังคหะฎีกา ซึ่งผมจะวางไว้ให้ใน บล๊อกนี้นะครับ
__________________________________________________________
จากที่ คุณ ning ได้ถามว่า ผลของ ติเหตุกกุศลกรรมนี้เกี่ยวข้องกับ มรรค ผล หรือไม่
ก็ขอตอบไว้อย่างหนึ่งว่า ในฐานะของผู้ที่ยังต้องสร้างสมบุญบารมี ยังต้องท่องเที่ยวไปอยู่ในสังสารวัฏฏนี้
เมื่อหมั่นทำ ติเหตุกกุศลกรรมไว้ คือ ประกอบด้วย ปัญญา เช่น มีปัญญารู้ในผลแห่งบาปบุญว่ามีจริง
หรือ ปัญญากำหนดรู้รูปนามขันธ์ ๕ หรือไตรลักษณ์ ตามจริงนั้น เมื่อกรรมเหล่านี้จะให้ผล
ในปฏิสนธิกาล ก็ย่อมทำให้ผู้นั้นเกิดในสุคติภูมิ และเป็นผู้ปฏิสนธิเกิดด้วย ติเหตุกวิบากจิต
คือ อโลภเหตุ อโทสเหตุ อโมหเหตุ เมื่อผู้นั้นปฏิสนธิมาด้วยไตรเหตุเช่นนี้ ก็ย่อมเป็นผู้มีฐานะ
ที่จะทำความเพียรให้เกิด ฌาน วิปัสสนา มรรค และผลในชาตินั้นๆได้
ดังที่พระพุทธชินเจ้าทรงตรัสตอบเทวดาองค์หนึ่งว่า
"นรชน ผู้มีปัญญา เป็นภิกขุ มีความเพียร มีปัญญาเครื่องบริหาร ตั้งตนไว้ในศีลแล้ว
ทำสมาธิจิตและปัญญาให้เจริญอยู่ เธอจะพึงถางรกชัฏอันนี้เสียได้"
พระพุทธดำรัสนี้ พระพุทธโฆษาจารย์ ได้ให้อรรถธิบายไว้ในวิสุทธิมรรค ความว่า
คำว่า ตั้งตนไว้ในศีลแล้ว คือ ตั้งอยู่ในศีลแล้ว ในข้อนี้มีอรรถาธิบายว่าโยคีบุคคลผู้บำเพ็ญศีลให้บริบูรณ์เท่านั้น
จึงเรียกได้ว่า ผู้ตั้งอยู่ในศีล ณ ที่นี้ เพราะฉะนั้นที่ว่าตั้งอยู่ในศีล ก็เพราะบำเพ็ญศีลให้บริบูรณ์
คำว่า นรชน ได้แก่สัตว์
คำว่า มีปัญญา คือมีปัญญาในติเหตุกปฏิสนธิอันเกิดแต่กรรม.....
_____________________________________________________
2.ในระหว่างทำกุศล เมื่อเกิดความโลภแทรกขึ้นในขณะนั้น ก็เรียกได้ว่า
มุญจเจตนา คือเจตนาในขณะำกระทำเกิดขึ้นไม่ดีไม่สมบูรณ์
กุศลกรรมที่เกิดขึ้นก็ย่อมเป็น "โอมกะ" คือหย่อนลงมา (ไม่เป็น อุกัฏฐะ คือ เจตนาเต็มที่สมบูรณ์)
การส่งผลของ กุศลที่เป็น โอมกะนั้น
ก็ได้แสดงไว้ในข้อ 1 แล้ว ในคาถาที่ ๒๓ และ ๒๔
ถ้าเป็น ติเหตุกะ โอมกะ (คือมีปัญญาประกอบในขณะทำความดี แ่ต่เจตนาไม่สมบูรณ์ มีโลภะแทรก)
- เมื่อให้ผลในปฏิสนธิกาล ก็ย่อมให้ปฏิสนธิเกิดในสุคติด้วย ทวิเหตุกจิต
- เมื่อให้ผลในปวัตติกาล(ในระหว่างมีชีวิตอยู่) ก็จะให้ วิบากได้ ๑๒ เว้น มหาวิบากจิตญาณสัมปยุตต
ถ้าเป็นกุศล ทวิเหตุกะ โอมกะ
- เมื่อให้ผลในปฏิสนธิกาล ก็ย่อมให้ปฏิสนธิเกิดในสุคติด้วย อเหตุกกุศลวิบากจิต
- เมื่อให้ผลในปวัตติกาล ก็ทำให้อเหตุกกุศลวิบาก ๘ เท่านั้นเกิดขึ้น
ความประณีตความสมบูรณ์ในการให้ผลของกุศลกรรม ก็ลดหลั่นกันลงไปตาม
เหตุ ๓ และเจตนาต่างๆในเวลาก่อนทำขณะทำหลังทำ นั่นเอง
(คำถามและคำตอบ ส่วนนี้ ถือว่าอยู่ในส่วนของปริเฉทที่ ๕ นะครับ แต่ว่าเมื่อมีคำถามจึงได้นำมาแสดง
หากท่านผู้อ่านพบว่ามีศัพท์ต่างๆที่ยังไม่คุ้นอยู่หลายคำ ก็ยังไม่ต้องกังวล เพราะเดี๋ยวเมื่อถึงปริเฉทที่ ๕
ก็จะได้มีการสนทนาในเรื่องเหล่านี้ โดยละเอียดกันอีกทีนะครับ)