CafeTech-ExchangePantip MarketChatPantownBlogGangGameRoom


    จะส่งออกด้วยเทอม FOB หรือ CIF

    จะส่งออกด้วยเทอม FOB หรือ CIF
    คอลัมน์ คลื่นความคิด  สกล หาญสุทธิวารินทร์  มติชนรายวัน วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2548 ปีที่ 28 ฉบับที่ 9958

    ช่วงนี้มีข่าวว่าทางราชการที่เกี่ยวกับการส่งออกจะพยายามให้การส่งออกสินค้าของไทยที่เคยส่งออกในเทอม FOB หันมาส่งออกในเทอม CIF ให้มากขึ้น โดยให้เหตุผลว่าผลประโยชน์ เช่น ค่าระวางเรือ เบี้ยประกันภัย จะตกอยู่ในประเทศไทย

    คำว่า FOB และ CIF เป็นถ้อยคำเฉพาะทางการค้า เป็นส่วนหนึ่งของ INCOTERMS ที่สภาหอการค้านานาชาติ (International Chamber of Commerce : ICC) ซึ่งหอการค้าหรือสภาหอการค้าของประเทศต่างๆ เกือบทั่วโลก รวมทั้งไทยเป็นสมาชิกได้จัดทำขึ้น เพื่อกำหนดความหมายของคำเฉพาะทางการค้าขึ้นไว้ในสัญญาซื้อขายระหว่างประเทศ เพื่อให้เป็นที่เข้าใจกันระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ในเรื่องหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้ซื้อผู้ขายและความเสี่ยงภัยในสินค้า โดยไม่ต้องพรรณนาให้ยืดยาวในสัญญาซื้อขายว่าผู้ซื้อต้องมีหน้าที่อย่างนั้น ผู้ขายต้องมีหน้าที่อย่างนี้ รวมทั้งเรื่องการรับมอบสินค้าว่ารับมอบไปเมื่อใด INCOTERMS ไม่ใช่กฎหมายและไม่ใช่ความตกลงระหว่างประเทศ แต่เป็นคำเฉพาะทางการค้าที่เป็นที่ยอมรับกันกว้างขวางทั่วโลกมีผลผูกพันคู่สัญญาโดยปริยาย ถึงแม้จะไม่มีข้อความระบุไว้โดยชัดแจ้งว่าให้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาซื้อขายก็ตาม

    INCOTERMS ฉบับแรกจัดทำและพิมพ์ขึ้นในปี ค.ศ.1936 มีการปรับปรุงแก้ไขในปี ค.ศ.1980 สำหรับฉบับล่าสุดปัจจุบันคือฉบับปี ค.ศ.2000 ก่อนฉบับล่าสุดคือฉบับปี ค.ศ.1990 กำหนดคำเฉพาะทางการค้าไว้ 13 คำ จากเดิมที่กำหนดไว้ 14 คำ โดยยกเลิก 2 คำ คำแรกคือ FOR/FOT (Free on Rail, Free on Truck) และคำที่สองที่ยกเลิกคือ FOB Airport มาใช้คำ FCA (Free Carrier) แทน

    INCOTERMS ฉบับปัจจุบัน ค.ศ.2000 แบ่งเป็นกลุ่ม คือ กลุ่ม E กลุ่ม F กลุ่ม C และกลุ่ม D เรียงตามลำดับความรับผิดชอบของผู้ขาย และผู้ซื้อ ในการจัดส่งสินค้าจากต้นทางไปปลายทาง จากผู้ขายมีหน้าที่น้อยที่สุดและผู้ซื้อมีหน้าที่มากที่สุดไปตามลำดับ จนกระทั่งผู้ขายมีหน้าที่มากที่สุด และผู้ซื้อมีหน้าที่น้อยที่สุด ดังนี้

    E EXW Ex Works

    F FCA Free Carrier

    FAS Free Alongside Ship

    FOB Free On Board

    C CFR Cost and Freight

    CIF Cost, Insurance and Freight

    CPT Carriage Paid To

    CIP Carriage and Insurance Paid To

    D DAF Delivered At Frontier

    DES Delivered Ex Ship

    DEQ Delivered Duty Unpaid

    DDU Delivered Duty Unpaid

    DDP Delivered Duty Paid

    เนื่องจากการส่งออกของไทยมีประเด็นว่าจะส่งออกด้วยเทอม FOB หรือ CIF ดี จึงขอนำรายละเอียดหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้ซื้อผู้ขายความเสี่ยงภัยในสินค้าระหว่างเทอม FOB และ CIF เฉพาะประเด็นที่สำคัญมาสรุปให้ทราบ ดังนี้

    1.การส่งออกในเทอม FOB

    การส่งออกเทอม FOB จะตามด้วยชื่อเมืองท่าที่ส่งออก เช่น FOB กรุงเทพฯ

    1.1 หน้าที่ของผู้ซื้อ เป็นหน้าที่ของผู้ซื้อต้องจัดหาเรือมารับสินค้าที่ท่ากรุงเทพฯ จะเช่าเหมาทั้งลำ  หรือจองระวางเรือ เท่าที่จำเป็นต้องบรรทุกสินค้า ก็แล้วแต่ปริมาณสินค้ามากน้อยเพียงใด โดยผู้ซื้อเป็นผู้รับผิดชอบค่าเช่าเรือหรือค่าระวางเรือ ผู้ซื้อที่ชาตินิยมก็จะเช่าเรือ หรือจองระวางเรือที่ผู้ประกอบกิจการ ในประเทศของผู้ซื้อเป็นเจ้าของ เพื่อให้ผลประโยชน์ในเรื่องค่าเช่าเรือ ค่าระวางเรือ ตกอยู่ในประเทศของผู้ซื้อ หรือถ้ามีกิจการเดินเรือของตนเองหรือในเครือ ก็จะใช้เรือของกิจการในเครือ

    การลำเลียงสินค้าขึ้นเรือใหญ่ เมื่อสินค้าพ้นกราบเรือก็ถือว่าผู้ซื้อได้รับมอบสินค้านั้นแล้ว การจ่ายค่าสินค้า มีผลเมื่อมีการรับมอบสินค้า เมื่อรับมอบสินค้าแล้วความเสี่ยงภัย และค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น ตกเป็นหน้าที่ของผู้ซื้อ ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงภัยขณะขนส่งสินค้าไปยังเมืองปลายทาง ผู้ซื้อจะเป็นผู้ทำประกันภัย หากเป็นผู้ซื้อที่ชาตินิยมก็จะทำประกันภัยกับกิจการประกันภัยในประเทศของตน

    1.2 หน้าที่ของผู้ขาย

    ในเทอม FOB ผู้ขายมีหน้าที่ลำเลียงสินค้าไปส่งขึ้นบรรทุกเรือใหญ่ ณ ท่าเรือที่กำหนดในกรณีนี้เป็น FOB กรุงเทพฯ ก็ส่งมอบที่ท่ากรุงเทพฯ โดยผู้ขายมีหน้าที่รับผิดชอบเฉพาะค่าลำเลียงสินค้าบรรทุกขึ้นเรือใหญ่เมื่อพ้นกราบเรือ ไม่ต้องรับผิดชอบจัดหาเรือใหญ่ ไม่ต้องรับผิดชอบความเสี่ยงภัยของสินค้าขณะขนส่งจากท่ากรุงเทพฯถึงเมืองท่าปลายทาง

    2. การส่งออกในเทอม CIF

    การซื้อขายในเทอม CIF จะระบุเมืองท่าปลายทาง เช่น CIF รอดเตอร์ดัม เป็นสัญญาซื้อขายที่กำหนดราคาขาย โดยรวมค่าระวางเรือค่าขนส่งสินค้าและค่าเบี้ยประกันภัยจนถึงเมืองปลายทางกล่าวคือ ผู้ขายมีหน้าที่ต้องจัดหาเรือ หรือจองระวางเรือเพื่อขนส่งสินค้าไปยังเมืองปลายทาง ต้องรับผิดชอบค่าเช่าเรือและค่าระวางเรือดังกล่าว และต้องรับผิดชอบต่อความเสี่ยงภัยของสินค้า จนกว่าสินค้านั้นจะขนลงพ้นจากกราบเรือใหญ่ ณ เมืองท่าปลายทางคือรอดเตอร์ดัม เพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงภัยผู้ขายถึงต้องจัดทำประกันภัยระหว่างการขนส่งสินค้า จนถึงเมืองท่ารอดเตอร์ดัม ในกรณีเช่นนี้ ผู้ขายจะเป็นผู้จัดหาเรือ เช่าระวางเรือ และจัดทำสัญญาประกันภัย ซึ่งหากเช่าเรือหรือจองระวางเรือไทย ทำประกันภัยกับบริษัทประกันภัยที่ประกอบกิจการในประเทศไทย ผลประโยชน์จากค่าระวางเรือและเบี้ยประกันภัยก็จะตกอยู่กับบริษัทในประเทศไทย

    ถ้าเป็นไปตามทฤษฎีแล้ว การส่งออกในเทอม CIF จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยแน่นอน แต่ในความเป็นจริงแล้วการส่งออกขึ้นอยู่กับการเจรจาและอำนาจการต่อรอง ตลอดจนความพร้อมของผู้ส่งออกไทย รวมทั้งความพร้อมของเรือไทยว่ามีความพร้อมหรือไม่ด้วย มองอีกแง่มุมหนึ่งการส่งออกในเทอม FOB ก็เป็นความสะดวกสบายของผู้ส่งออกในอีกแบบหนึ่ง ไม่ต้องออกแรงจัดหาเรือ จัดทำประกันภัย เมื่อส่งสินค้าพ้นกราบเรือใหญ่เรียบร้อยแล้วก็หมดหน้าที่ แต่ถ้าพิจารณาจากผลประโยชน์โดยรวมการส่งออกในเทอม CIF ผลประโยชน์จะตกเป็นของประเทศที่ส่งออกมากขึ้น

    อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ช่วงนี้จะส่งออกไปเทอมไหนก็ได้ไม่ว่ากัน ขอให้ผลักดันให้ออกให้มากๆ ให้ได้ตามเป้า หรือเกินเป้าก็ยิ่งดี โดยไม่ต้องเกี่ยงว่าเป็น FOB หรือ CIF เพื่อช่วยให้กระทรวงเศรษฐการ หรือกระทรวงพาณิชย์ ที่ทำหน้าที่มาอย่างดีเป็นเวลากว่า 85 ปี และอุตส่าห์ย้ายพระรูปปั้นของเสนาบดีพระองค์แรกของกระทรวงพาณิชย์ จากปากคลองตลาดมาประดิษฐานที่ทำการแห่งใหม่ที่สนามบินน้ำ เพื่อดูแลเป็นกำลังใจในการมาปฏิบัติงานของเหล่าข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ ไม่ถูกยุบรวมหรือถูกยุบเลย

    http://www.nidambe11.net/ekonomiz/2005q2/article2005june15p4.htm

     
     

    จากคุณ : OnceInTheBlueMoon - [ 17 มิ.ย. 48 01:23:04 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป