ความคิดเห็นที่ 12
สังศิตโชว์ผลศึกษาชินคอร์ปอาจคอรัปชั่นอย่างถูกกฎหมาย
30 มกราคม 2549 นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ผู้อำนวยศูนย์วิจัยธรรมาภิบาล มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม นำเสนอผลการศึกษาการขายหุ้นของกลุ่มชินคอร์ป เรื่อง "73,000 ล้าน : นวัตกรรมใหม่ของการคอร์รัปชัน" โดยระบุว่า ขณะนี้รูปแบบของการคอร์รัปชันซับซ้อนมากขึ้น และอาจจะถูกต้องตามกฎหมายอย่างไรก็ตาม เขาแสดงความเห็นว่า การไม่คอร์รัปชันไม่เพียงจะต้องทำถูกต้องตามกฎหมาย แต่ต้องถูกต้องตามหลักจริยธรรม คุณธรรมด้วย
ทั้งนี้นายสังศิตได้แจกแจงผลการศึกษาว่า กำไรมโหฬารของบริษัท ชินคอร์ป เกิดขึ้นด้วยเหตุผล 4-5 ประการคือ ได้สัมปทานผูกขาดจากรัฐ เช่น เอไอเอส ได้สัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นรายแรกของไทย ได้รับการยกเว้นภาษีรายได้จากบีโอไอ เป็นจำนวนเงินกว่า 16,000 ล้านบาท ได้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากเอ็กซิมแบงก์ โครงการไอพีสตาร์ในพม่า ไอทีวีได้ลดสัมปทานจาก 25,200 ล้านบาท เหลือเพียง 150 ล้านบาทต่อปี หรือ 3,000 ล้านบาท ตลอดอายุสัมปทาน และให้เปลี่ยนผังรายการโดยลดรายการข่าว แต่ให้เพิ่มรายการด้านบันเทิง ซึ่งทำให้รัฐสูญเสียรายได้ไม่น้อยกว่า 40,000 50,000 ล้านบาท ตลอดอายุสัมปทาน เหตุดังกล่าวทำให้ธุรกิจของกลุ่มชินจึงมีกำไรจากการผูกขาดและสามารถมีผลกำไรเกินกว่าปกติ
เขายังแสดงตัวเลขการเติบโตของบริษัชินคอร์ปด้วยว่า เมื่อเทียบผลกำไรที่บริษัท ชินคอร์ป ได้รับระหว่างปี 2541 - 2547 บริษัท ชินคอร์ป เอไอเอส และชินแซท มีกำไรสุทธิรวม 111,877 ล้านบาท โดยก่อนที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ผู้ก่อตั้งชินคอร์ปจะเป็นนายกฯ 3 บริษัทดังกล่าวมีกำไรสุทธิเพียง 26,221 ล้านบาท แต่เมื่อเป็นนายกฯแล้ว ตั้งแต่ปี 2544 - 2547 ทั้ง 3 บริษัทกลับมีกำไรสุทธิ 85,656 ล้านบาท สูงกว่าช่วงที่ไม่ได้เป็นนายกฯถึง 59,435 ล้านบาท หรือคิดเป็นกำไรสูงขึ้น 226.7% โดยเอไอเอสเป็นธุรกิจที่ให้ผลกำไรมากที่สุด
อย่างไรก็ตามเขาเห็นว่า เหตุที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องการขายหุ้นของบริษัท ชินคอร์ป ทั้งหมดมีเหตุผลทางธุรกิจ คือ 1.การแข่งขันธุรกิจมือถือยุค 2G ได้สิ้นสุดลงแล้ว กำลังเข้าสู่ยุค 3G ที่ต้องใช้เงินลงทุนมหาศาลเกือบ 1 แสนล้านบาท ยากที่บริษัทเอกชนจะลงทุนต่อได้ด้วยตัวเอง เหมือนอย่างดีแทคก็ต้องขายให้เทเลนอร์ ซึ่งเป็นของรัฐบาลนอร์เวย์ กรณีดังกล่าวถือว่ารัฐบาลผิดพลาดที่นำนโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจมาใช้ เพราะทำให้ต่างชาติสามารถเข้ามาถือหุ้นในธุรกิจที่ถือว่าใช้ทรัพยากรของประเทศไทย เช่น โทรคมนาคม
2.หุ้นเอไอเอสนับแต่ปี 2545 - 2548 มีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นที่ต้องการของตลาด และเมื่อมองผลกำไรตั้งแต่ปี 2541 - 2548 มีกำไรสุทธิรวมเท่ากับ 66,384 ล้านบาท ซึ่งเทมาเส็ก มีธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม คือ สิงเทล อยู่ในสิงคโปร์ ถ้าได้เอไอเอสไป จะทำให้สิงเทลกลายเป็นบรรษัทขนาดยักษ์ในภูมิภาค และสามารถไปเพิ่มค่าการตลาดของตนได้
ที่ เทมาเส็ก ต้องซื้อชินคอร์ปเหตุผลสำคัญประการเดียว คือ ชินคอร์ปไม่ต้องการจ่ายภาษีให้แก่รัฐ เพราะว่าชินคอร์ปถือหุ้นอยู่ในเอไอเอส 42.86% หรือ 1,263 ล้านหุ้น หากเทมาเส็กซื้อหุ้นเอไอเอสในราคา 104 บาท จะเป็นเงิน 1.3 แสนล้านบาท รายได้ที่เกิดขึ้นของเอไอเอสจะกลับไปที่ชินคอร์ป ซึ่งต้องเสียภาษีรายได้นิติบุคคล 30% และภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 7% เป็นเงินราว 40,000 ล้านบาท และต้องเสียภาษีบุคคลธรรมดาอีก 15% เป็นเงินราว 20,000 ล้านบาท รวมเป็นจำนวนเงินสูงถึง 60,000 ล้านบาท เพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีดังกล่าว เทมาเส็กได้ซื้อหุ้นชินคอร์ปในราคาหุ้นละ 49.25 บาท เป็นจำนวนเงิน 7.33 หมื่นล้านบาท โดยอ้างว่าเป็นการซื้อขายของบุคคลธรรมดา จึงได้รับการยกเว้นภาษีบุคคลธรรมดาด้วย ซึ่งมีแต่นักธุรกิจที่เชี่ยวชาญการหลีกเลี่ยงภาษีถึงจะทำได้ นายสังศิต กล่าว
นายสังศิต กล่าวอีกว่า การคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นอาจเรียกได้ว่าคลาสสิกที่สุดเท่าที่เคยมีมา เพราะเป็นนวัตกรรมใหม่ของการคอร์รัปชัน แต่ก็นำมาสู่ปัญหาความขัดแย้งระหว่างสาธารณชนกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ในประเด็นคุณธรรม จริยธรรม กฎหมาย สิทธิเสรีภาพของประชาชน และความมั่นคงของประเทศอย่างน้อยที่สุด 5 กรณี คือ
1.นายกฯรู้ดีว่าการขายให้กับเทมาเส็กทำให้ชินคอร์ปกลายเป็นบริษัทของต่างชาติไป เพราะบริษัทที่เข้ามาถือหุ้นร่วม แม้จะมีคนไทยบริหาร แต่ก็เป็นที่รู้กันดีว่าบริษัทเหล่านั้นเป็นนอมินีของเทมาเส็ก ทำให้หุ้นต่างชาติในเอไอเอส จะมีอยู่ราว 97.95% โดยเป็นของเทมาเส็กราว 65% ในทางปฏิบัติ เอไอเอสจึงกลายเป็นนิติบุคคลของต่างชาติไปเรียบร้อยแล้ว
2.การแก้ไข พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 2) โดยให้ขยายเพดานต่างชาติถือหุ้นได้จาก 25% เป็น 49% เมื่อวันที่ 21 ม.ค.และเทมาเส็กเข้าซื้อหุ้นชินคอร์ปจำนวน 38.6% ในวันที่ 23 ม.ค.น่าจะเป็นปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ทำให้เชื่อได้ยากว่า พ.ต.ท.ทักษิณ จะไม่รับรู้กับการขายหุ้นดังกล่าวของครอบครัว
3.อาจขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 40 ที่กำหนดว่า คลื่นความถี่ทุกประเภทเป็นสมบัติสาธารณะ การใช้ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุด ซึ่งการขายหุ้นเท่ากับเป็นการโอนทรัพยากรของแผ่นดินไปเป็นของต่างชาติ
4.การขายหุ้นมีการวางแผนกับ รมว.คลัง กรมสรรพากร และผู้เชี่ยวชาญด้านภาษี เพื่อหาช่องทางเพื่อเลี่ยงภาษีการซื้อขายที่เกิดขึ้นในวันเดียว สังคมไม่เชื่อว่าไม่มีการเตรียมการมาก่อน
5.ทำให้นายกฯซึ่งเป็นบุคคลสาธารณะขาดความน่าเชื่อถือ เพราะผู้เกี่ยวข้องต่างพูดสวนทางกัน อีกทั้งนายกฯเคยชี้แจงว่า ไม่ได้ถือหุ้นบริษัท แอมเพิล ริช แล้ว แต่เมื่อปรากฏว่าบริษัทดังกล่าวขายหุ้นชินคอร์ปในราคา 1 บาท ให้บุตรทั้ง 2 คนของนายกฯ จะถือว่าเป็นการซุกหุ้นของนายกฯภาค 2 หรือไม่ และอาจเป็นการฟอกเงินที่ผิดกฎหมายด้วย
พฤติกรรมดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการคอร์รัปชันอย่างซับซ้อนมาก เพราะมีการใช้ทั้งกลไกของกฎหมาย ผู้เชี่ยวชาญเรื่องภาษี กรมสรรพากร ตลาดหลักทรัพย์ บริษัทจดทะเบียนที่เกาะบริติช เวอร์จิน เทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยการร่วมมือกับทุนต่างชาติ บริษัทนอมินีของต่างชาติ สถาบันการเงิน และมีการใช้อำนาจทางการเมืองไปพร้อมๆ กัน พฤติกรรมดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ตัดสินใจปัญหานี้ในฐานะพ่อค้านักธุรกิจ ไม่ใช่ฐานะนายกฯของประเทศไทย ในฐานะบุคคลสาธารณะ พฤติกรรมดังกล่าวไม่สามารถเป็นแบบอย่างของผู้ที่ทรงไว้ซึ่งคุณธรรมและจริยธรรมในระดับสูงของระบบการเมืองและของสังคมไทยได้อีกต่อไป ผมอยากให้ พ.ต.ท.ทักษิณ น้อมนำเอาแบบอย่างของพระเจ้าอยู่หัว ที่เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งทศพิธราชธรรมมาใส่ไว้ในสมองในหัวใจบ้าง โดยเฉพาะธรรมะว่าด้วยความซื่อสัตย์ ซื่อตรงต่อประเทศของตัวเอง นายสังศิต กล่าว
จากคุณ :
อ่านขาด
- [
31 ม.ค. 49 22:14:50
]
|
|
|