Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com


    ชีวิตชายแดนปาดังเบซาร์ - ประวัติท้องถิ่น

    ปาดังเบซาร์ แต่เดิมเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ
    อยู่ระหว่างตรงชายแดนระหว่างไทยกับมาเลเซีย(มาเลย์)
    มีคนไทยและคนจีนอาศัยอยู่ในจุดนี้
    เป็นบริเวณพื้นที่ทับซ้อนไม่ชัดเจนว่าเป็น
    พื้นที่ของประเทศไทยหรือมาเลเซีย
    (ตอนนั้นยังไม่ปักปันหลักเขตประเทศเหมือนปัจจุบัน)
    ปาดัง แปลว่า พื้นที่ราบ  เบซาร์ แปลว่า กว้างใหญ่

    หมู่บ้านปาดังเบซาร์ ฝั่งไทย เดิมสังกัดตำบลทุ่งหมอ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา
    ต่อมามีการแยกหมู่บ้านในตำบลทุ่งหมอออกมาส่วนหนึ่ง
    แล้วให้หมู่บ้านส่วนที่แยกออกมาอีกตำบลหนึ่ง
    ตั้งชื่อตำบลใหม่แห่งนี้ว่าตำบลปาดังเบซาร์
    ทำให้น่าจะเป็นตำบลเดียวในโลก ที่ชื่อเหมือนกันและสะกดเป็นภาษาอังกฤษ
    PADANG BESAR เหมือนกันทั้งสองประเทศ
    ทำให้เอกสารราชการต้องระบุให้ชัดว่าฝั่งไทย หรือ ฝั่งมาเลย์
    (เว้นแต่จะระบุอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา เข้าไปในเอกสารราชการ)

    ส่วนของมาเลย์จะเป็นอำเภอ KANGAR (กะงะ) รัฐปะลิศ (PERLIS)
    เวลาจะขึ้นเรือเฟอรรี่ไปเกาะลังกาวี
    (ที่มีตำนานพระนางเลือดขาว  หาดทรายสีดำ เมืองต้องคำสาปเจ็ดชั่วโคตร
    ซึ่งนายกมหาเดร์ ได้ให้คนไทยที่สืบเชื้อสายพระนางเลือดขาวที่ภูเก็ต
    ไปแก้อาถรรพ์ที่ต้องคำสาปเจ็ดชั่วโคตร
    จนตกเป็นข่าวไปทั่วโลก และได้ PR ทั่วโลก คุ้มค่าจริง ๆ
    เพราะเป็นข่าวชาวบ้านแปลก ๆ ที่คนสนใจอยู่แล้ว
    ตอนนี้ผู้หญิงไทยที่เป็นลูกหลานพระนางเลือดขาว เรียนอยู่ที่ KL
    (กัวลาลัมเปอร์ ไม่ใช่ KL ควนลัง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา)
    โดยได้รับการส่งให้เรียนจนจบปริญญาเอกด้วยทุนรัฐบาล

    หมู่บ้านปาดังเบซาร์ มีชื่อเสียงมากในช่วงประมาณปี 2510 เป็นต้นมา
    เพราะเป็นจุดพักสินค้าชายแดน (เป็นคำสุภาพกว่า สินค้าหนีภาษี หรือ ของเถื่อน)
    รถไฟสายหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ทั้งขบวนรถโดยสาร
    และรถขนส่งสินค้า จะพักรอที่สถานีแห่งนี่
    ก่อนวิ่งเข้าปัตเตอร์เวอร์ธ (ส่วนหนึ่งของรัฐปีนัง)
    ที่มีท่าเทียบเรือสินค้าขนาดใหญ่อยู่ที่นั่น
    ช่วงนั้นที่ปีนัง  ก็มีศูนย์การค้าสินค้าต่างประเทศขนาดใหญ่
    มีการขายเหล้า บุหรี่ สินค้าต่างประเทศ ถูกกว่าเมืองไทยมากทีเดียว
    ของจีนแดง ชาวบ้านเรียกกันอย่างนั้น (ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน)
    ก็มีศูนย์การค้าตั้งขายสินค้าประเภทของกิน ของที่ระลึก และเบ็ดเตล็ด
    ที่มีราคาถูกมากเหมือนปัจจุบัน จึงเป็นของแปลกใหม่สำหรับคนไทย และนักท่องเที่ยว
    ที่อยากจะมาซื้อสินค้าต่างชาติราคาถูก มีคุณภาพ/ไร้คุณภาพกันมากในช่วงหนึ่ง
    ดังนั้นสินค้าชายแดนจากปีนัง  ก็จะมาพักรอจุดพักสินค้าที่ปาดังเบซาร์
    ก่อนจะนำส่งสินค้าขายในหาดใหญ่  หรือ กรุงเทพฯ  ต่อไป

    ส่วนสินค้าจากไทยที่ขายให้กับมาเลย์  ที่หลัก ๆ คือ ข้าวสาร น้ำตาล
    เพราะราคาข้าวสารที่ไทยถูกกว่ามาเลย์มากกว่า 5 เท่าขึ้นไปในช่วงนั้น
    ทำให้มีการลักลอบขายข้าวให้ประเทศมาเลย์มากในช่วงนั้น
    เนื่องจากมาเลย์ในขณะนั้น การเกษตรไม่ดี  ปลูกข้าวไม่พอกินในประเทศ
    เพราะระบบชลประทาน น้ำที่ใช้ปลูกข้าวมีปัญหามาก
    จึงต้องสั่งซื้อข้าวสารจากไทยเป็นหลัก
    ต่อมามีการพัฒนาพื้นที่ราบลุ่มรัฐไทรบุรี กลันตัน มีการขุดคูคลองมากขึ้น
    ทำให้พัฒนาระบบเกษตรกรรมดีขึ้นมาก
    จนรัฐเหล่านี้สามารถปลูกข้าวเลี้ยงคนมาเลย์ได้ทั้งประเทศ
    ข้าวสารในมาเลย์จึงไม่ต้องนำเข้าจากไทยอีกเลย
    เว้นแต่ข้าวเกรดพรีเมี่ยม ข้าวหอมมะลิ หรือข้าวอื่น ๆ

    มีข้อสำคัญอยู่อีกอย่าง ชาวนา ที่ปลูกข้าวเก่งมากในมาเลย์
    ส่วนมากคือ คนสยาม หรือคนไทยที่ตกค้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5
    แม้ว่าจะมีการประกาศให้คนไทยที่อยู่ในมาเลย์
    มารายงานตัวทีชายแดนไทยมาเลย์
    ว่าต้องการอยู่ในไทย หรือยืนยันว่าเป็นคนไทย
    หรือเป็นคนมาเลย์ หรือต้องการอยู่ในมาเลย์ต่อไป
    ที่ชายแดนไทยมีกำหนดวันแน่นอนจนกระทั่งเลยวัน
    ที่กำหนดเส้นตายไปแล้วก็ตามแต่
    แต่ส่วนมากไม่ทราบข่าวสารเลยหรือไม่สนใจ
    เพราะบางคนมีหลักแหล่งที่ดินทำมาหากินหรือครอบครัวอยู่ที่นั่นนานมามากแล้ว
    เลยไม่สนใจจะย้ายกลับมาเริ่มต้นใหม่ในไทยอีก
    ดังนั้นในบางหมู่บ้านมาเลย์จะมีชื่อแบบไทย ๆ ว่า
    บ้านควนขนุน บ้านต้นพยอม บ้านสัก เป็นต้น
    และตามข้างทางจะเห็นวัดไทยปะปนอยู่ตามหมู่บ้านมาก
    ในห้ารัฐเดิมของไทยในมาเลย์

    สมัยหนึ่ง รัฐบาลมหาเดร์
    ไม่รู้ว่าใครเป็นคนต้นคิดอะไรขึ้นมา
    ออกกฎหมายให้สิทธิพวกภูมิปุตรา (คนพื้นเมืองดั้งเดิมของมาเลย์)
    เฉพาะคนมลายูที่นับถือศาสนาอิสลาม รวมทั้งพวกเงาะป่า
    หรือชนเผ่าที่ยืนยันได้ว่าเป็นคนพื้นเมืองดั้งเดิม
    แต่ทั้งนี้ไม่รวมคนสยามที่นับถือพุทธศาสนาเลย
    โดยให้สิทธิพิเศษมากมายกับคนภูมิปุตรา จนถึงปัจจุบัน
    เช่น โควต้าเข้าโรงเรียนมหาวิทยาลัย ทุนทำมาหากิน
    การเข้าถือหุ้นธุรกิจที่คนจีน อินเดีย ทำธุรกิจ ก็ได้หุ้นส่วนหนึ่ง
    เพื่อการเรียนรู้และพัฒนาการเป็นผู้ประกอบการส่วนหนึ่ง
    การถือครอง/กรรมสิทธิ์ในที่ดินต่าง ๆ มีสิทธิ์มากกว่า
    คนเชื้อชาติอื่นที่มาภายหลัง เช่น จีน ทมิฬ พม่า
    เพราะประเทศอังกฤษนำเข้ามาใช้แรงงาน เช่น
    สร้างทางรถไฟ  ทำเหมืองแร่ ปลูกไร่ชาที่แคเมอร์รอนไฮแลนด์
    มาทำงานเป็นยาม ทหารรับจ้าง ตำรวจรับจ้าง เป็นต้น
    คนพวกนี้จึงไม่ใช่พวกภูมิปุตรา

    การออกกฎหมายครั้งนั้น  
    มีผลทำให้คนสยามบางส่วนรู้สึกว่าถูกข่มแหงรังแก
    และไม่เป็นธรรมมีการเรียกร้องสิทธิต่างให้เท่าเทียม
    กับคนภูมิปุตรา เพราะถือว่าได้ครอบครองมาก่อน
    นานกว่าเป็นร้อย ๆ ปี ก่อนพวกที่อังกฤษนำเข้ามาใช้แรงงาน
    จึงมีการแห่เข้ามา/เตรียมกลับมาอยู่ที่ประเทศไทย
    โดยมารายงานตัวว่าเป็นคนไทยที่ตกค้างอยู่ที่มาเลย์
    ที่อำเภอสายบุรี  รุ่นพี่ที่เป็นนายอำเภอเล่าว่า
    วันเป็นหมื่น ๆ คน (คนไทยที่โกตาบารูและที่อื่น ๆ)
    บางคนเอกสารหลักฐานแทบไม่มีเลย  
    เพราะอ้างว่าเกิดสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา
    ผลคือทำให้มาเลย์ตื่นตะหนกตกใจมากเช่นกัน
    เพราะเรื่องห้ารัฐเดิมของไทย ไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู ปะลิศ ปีนัง
    เป็นเรื่องค้างคาใจกันอยู่มานานส่วนหนึ่งแล้ว
    กอปรกับคนสยามเดิมในมาเลย์ก็ประมาณว่า
    มีอยู่เกือบสองล้านกว่าคนเช่นกัน
    (ตอนนี้ส่วนใหญ่จะใช้ภาษาไทยในชีวิตประจำวันน้อยลงมาก  
    แต่ยังรักษาธรรมเนียมประเพณีเช่น วัดวาอาราม
    การทำบุญ หรือการบวชพระภิกษุ อยู่อย่างเหนียวแน่นในบางหมู่บ้าน/ชุมชน)

    พอเรื่องนี้เกิดขึ้นกลายเป็นปัญหาระหว่างรัฐ  
    สุดท้ายจบแบบไทย ๆ คือ
    ไทยก็ไม่อยากพูดถึงคิดถึง (ช้ำใจเปล่า ที่เสียดินแดน)
    มาเลย์ก็ไม่อยากพูดถึง คิดถึง (เพราะอาจถูกเรียกร้องดินแดนคืน)
    หรือเป็นเรื่องที่มีการพิพาทกันยืดยาวอีกระหว่างประเทศ
    เลยให้สิทธิกับคนสยามตอนนี้เทียบเท่าคนภูมิปุตรา

    แก้ไขเมื่อ 03 มิ.ย. 52 16:26:02

    จากคุณ : ravio - [ 2 มิ.ย. 52 12:55:20 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com