เรื่องของฉัน 34

    ตอนที่ 34

    ด้านหน้าที่การงาน ฉันก็ก้าวหน้าไปอีกขั้นหนึ่งโดยหลังจากย้ายครัวไปอยู่อุดรได้ไม่ถึงปีก็ได้รับการเลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็น Supervisor General Banking ตำแหน่งซุปเปอร์ไว้สเซอร์หรือที่คนไทยเรียกกันย่อ ๆ ว่า "ซุป" นี้ถือได้ว่าเป็นตำแหน่งใหญ่เพราะมีคนไทยเพียงสองหรือสามคนที่ได้เป็น “ซุป” นอกนั้นเป็นซุปฝรั่งทั้งสิ้น เทียบกับยศทางทหารตำแหน่ง “ซุป” น่าจะถือเป็นยศสูงที่สุดในทหารชั้นประทวน ถัดไปจากนี้ก็จะถือเป็นชั้นสัญญาบัตรหรืออ๊อฟฟิสเซอร์ซึ่งทั้งธนาคารในขณะนั้นมีอยู่เพียงสองคนคือ มร.บราเวนเดอร์ กับ มร.เบลค พอ มร.บราเวนเดอร์กลับนิวยอรค์ไป จึงเหลือ มร.เบลค ที่เป็นอ๊อฟฟิสเซอร์อยู่เพียงคนเดียว นอกนั้นทั้งฝรั่งทั้งไทยล้วนเป็นชั้นประทวนทั้งสิ้น

    ที่มากับตำแหน่งและเงินเดือนที่เพิ่มสูงขึ้นก็คือความรับผิดชอบ ฉันได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ลงนามในเอกสารและตราสารทุกประเภทในนามของธนาคารได้แต่เพียงผู้เดียวโดยไม่จำกัดวงเงินหรือที่เรียกกันว่า “ออทอไรซ์ดไซนเนอร์ คล้าสไฟฟ์” นอกจากนั้นยังต้องรับผิดชอบการจัดสรรเงินของสาขาเพิ่มจากงานประจำที่มีอยู่เดิมอีกด้วย หัวใจของงานธนาคารคือเงิน เหมือนกับหัวใจของปั๊มน้ำมันคือน้ำมัน ผู้จัดการสาขาเรียกชื่อตำแหน่งหน้าที่ว่า “บร้านซ ซุปเปอร์ไว้สเซอร์และแค๊ชซุปเปอร์ไว้สเซอร์ คือซุปที่รับผิดชอบจัดการเงินสดจะต้องวางแผนเบิกและจัดหาเงินสดสำรองไว้ให้เพียงพอกับการใช้บริการลูกค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันเงินเพย์เด เงินไทยเบิกได้จากคลังจังหวัดซึ่งอยู่ที่เดียวกับศาลากลางจังหวัด เงินดอลล่าร์เบิกจากไฟแนนซ์อ๊อฟฟิส ภายในแคมพ์นั่นเอง

    ขั้นตอนการเบิกและขนส่งเงินระหว่างสถานที่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภายในหรือภายนอกแคมพ์นั้นถือเป็นเรื่องใหญ่ โดยเฉลี่ยการขนเงินแต่ละเที่ยวถ้าเป็นเงินบาทจะมีมูลค่าไม่เกินสองล้านบาทหรือ 20 ก้อน “ก้อน” เป็นศัพท์ที่ใช้เรียกมัดเงินซึ่งมีมูลค่าหนึ่งแสนบาท ในตอนนั้นเป็นแบงค์ร้อย 10 มัด มัดละ 100 ฉบับคิดเป็นเงิน 1 หมื่นบาท เงินสิบมัดถือเป็นหนึ่งก้อนมัดด้วยเชือกขาวประทับตราครั่งแสดงว่าเป็นเงินที่มาจากคลังจังหวัด ดังนั้นเงินสิบก้อนมีมูลค่าเท่ากับ 1 ล้านบาท

    สำหรับเงินดอลล่าร์ ถือเป็นระเบียบว่าภายในแคมพ์จะให้ใช้ธนบัตรหรือแบงค์หมุนเวียนที่มีมูลค่าสูงสุดเป็นธนบัตร 20 ดอลล่าร์เท่านั้น ธนบัตรที่ใหญ่กว่า 20 เช่นแบงค์ 50 หรือ แบงค์ 100 จะถูกเก็บรวบรวมคืนให้ไฟแนนซ์อ๊อฟฟิสทั้งหมด เงินดอลล่าร์จะมัดเป็นก้อนเหมือนกันเรียกว่า "แรป" (Wrap)แบงค์ 20 แรปหนึ่งมี 100 ฉบับมีมูลค่าเท่ากับ 2,000 เหรียญ นอกจากนั้นก็จะเป็นแบงค์ 10 แรปละหนึ่งพัน แบงค์ 5 แรปละห้าร้อย และ แบงค์ 1 ดอลล่าร์ แรปละร้อย ส่วนเหรียญนั้นเก็บรวบรวมใส่ไว้เป็นหลอด ๆ หลอดละห้าสิบอันตามค่าของเงิน (ดีนอมิเนชั่น) เช่นเหรียญเพ็นนีที่มีค่า 1 เซนต์ หนึ่งหลอดจะมีค่าเท่ากับ 50 เซนต์เป็นต้น ที่ไม่ครบใส่หลอดก็ใส่กล่องแยกไว้ตามมูลค่าเรียกว่า “ลู้ซคอยส์”

    การขนส่งเงินระหว่างคลังจังหวัดกับธนาคาร จะกำหนดให้มีเส้นทางที่ใช้ในการเดินทางเฉพาะขาที่มีเงินอยู่ในรถไว้อย่างน้อย 3 เส้นทาง และจะต้องนัดหมายกันให้เรียบร้องระหว่าง เซ็คเคียวริตี้การ์ด กับเจ้าหน้าที่ของธนาคาร ว่าจะใช้เส้นทางใดก่อนการเดินทาง หากเงินที่ขนมีมูลค่าไม่เกิน 1 ล้านบาทจะใช้รถจิ๊บของ เซ็คเคียวริตี้การ์ด เพียง 1 คัน คุ้มกันรถธนาคารที่เป็นรถตู้และต้องเป็นรถตู้ที่ไม่มีเครื่องหมายใด ๆ ทั้งสิ้น เซ็คเคียวริตี้การ์ดจะนั่งมากับรถธนาคารหนึ่งคน บนรถคุ้มกันจะมีเซ็คเคียวริตี้การ์ดอาวุธครบมืออย่างน้อยสองคน นอกจากปืนพกยูเอสอาร์มี่ที่เอวแล้ว ก็มีปืนลูกซองชอร์ตกันปราบจราจลกับเอ็มสิบหกอีกอย่างละหนึ่งกระบอก รถคุ้มกันจะวิ่งตามหลังเสมอรถตู้ขนเงินเสมอ หากเงินที่ขนมามีมูลค่ามากกว่า 1 ล้านบาท จะต้องใช้ รถจิ๊บของ เซ็คเคียวริตี้การ์ด สองคัน วิ่งนำหน้าหนึ่งคันและตามหลังหนึ่งคัน

    ระบบรักษาความปลอดภัยในแคมพ์นี้เข้มงวดนัก เซ็คเคียวริตี้การ์ด ซึ่งมีทั้งที่เป็นฝรั่งและนิโกรคัดเลือกเอาเฉพาะที่ตัวใหญ่ราวกับยักษ์ ที่เป็นฝรั่งยังไม่น่ากลัวเท่าไหร่ แต่ถ้าเป็นนิโกรแล้วจะดูน่ากลัวมาก ทั้งใหญ่ทั้งดำมืดไปหมด ส่วนใหญ่ทหารเซ็คเคียวริตี้การ์ดหรือถ้าเรียกเป็นแบบไทยก็น่าจะเป็นสารวัตรทหาร (ส.ห.) จะมียศแค่แอร์แมนสองบั้ง แต่เวลาหน้าสิ่วหน้าขวานแอร์แมนเหล่านี้จะสามารถออกคำสั่งให้ทหารทุกยศชั้นแม้แต่นายพันหรือนายพลนอนลงกับพื้นก็ได้ คำสั่งที่พวกนี้ใช้จะสั้นหนักแน่นและได้ใจความชัดเจนเช่น “ฟรี๊ซซซซ” ตามด้วย “ออนเดอะฟลอร์” ฉันเห็นครั้งหนึ่งเมื่อเทลเลอร์ชื่อสำคัญซึ่งมีชื่อเล่นเป็นฝรั่งว่า “ไอ้แซม” เอาเท้าไปเตะกล่องอะลามเข้า พอรู้ตัวอีกทีเซ็คเคียวริตี้การ์ดถือปืนลูกซองวิ่งเข้ามาเต็มแบงค์ไปหมดตะโกนเสียงลั่นว่า “ฟรี๊ซ ๆ ๆ” ตามด้วย “เอฟเวอรี่บอดี้ ออนเดอะฟลอร์” ขณะนั้นมีนายทหารยศพันตรี ดอกทองที่ปกเสื้อยังใหม่เอี่ยมอยู่เลย เข้าใจว่าเป็นทหารหมอเพิ่งถูกส่งมาใหม่ยืนแถวอยู่สองสามคนนอกนั้นเป็นทหารยศต่าง ๆ เต็มแบ๊งค์ ทุกคนหมอบลงกับพื้นอย่างรวดเร็วหัวหูแข้งขาก่ายกันไปหมดไม่รู้ว่าตรงไหนหัวตรงไหนหาง คงมีแต่พนักงานคนไทยเท่านั้นที่ยืนงงกันหมด พอรู้ว่าอะไรเป็นอะไร ทั้งไทยและฝรั่งก็หัวร่อกันครืน แต่พวกเซ็คเคียวริตี้การ์ดไม่ยอมขำไปด้วย กว่าจะเคลียร์กันได้แทบแย่

    เพื่อความเข้าใจและให้เห็นภาพเกี่ยวกับระบบสัญญาเตือนภัยในธนาคารได้ชัดเจนยิ่งขึ้นจึงขออธิบายพอเป็นสังเขปไว้ดังนี้ ระบบอะลามหรือระบบสัญญาณเตือนภัยของธนาคารมีตัวสวิชเป็นกล่องเหล็กยาวประมาณ 1 ฟุต ติดตั้งไว้บริเวณใต้เค้าเตอร์รับจ่ายเงิน พนักงานจะสามารถใช้เท้าสอดเข้าไปด้านใต้กล่องนี้แล้วกระดกปลายเท้าขึ้นดันกระเดื่องสวิชให้สัญญาณเตือนภัยไปดังขึ้นที่ศูนย์รักษาความปลอดภัยของแคมพ์ได้โดยที่ไม่มีเสียผิดปกติใด ๆ ในธนาคารเลย เหตุที่ต้องเอาสวิชอะลามไปติดตั้งไว้ด้านล่างและออกแบบให้ใช้เท้าเขี่ยก็เพราะในการปล้นธนาคารโจรมักสั่งให้พนักงานทุกคนยกมือไว้เหนือหัวเสมอ ทำให้ไม่สะดวกที่จะใช้มือกดอะลาม แต่พนักงานจะสามารถใช้เท้าสอดเข้าไปใต้เค้าเตอร์กดอลามได้โดยโจรไม่สังเกต ข้อเสียก็คือ งานเทลเลอร์เป็นงานที่ต้องผลุดลุกผลุดนั่งอยู่แทบทั้งวัน จึงมีโอกาสที่เท้าจะไปเตะกล่องอะลามเข้าโดยไม่ได้ตั้งใจ แต่ก็ยากมากที่อะลามจะดังเพราะจะให้ดังต้องตั้งใจจริง ๆ เหมือนกับปืนพกยูเอสอาร์มี่ที่หากจะยิงนอกจากจะต้องปลดเซฟแล้วยังต้องบีบด้ามปืนให้แน่นแสดงว่าจะยิงแน่ ๆ จึงจะยิงออก ไอ้แซมมายอมรับเอาในภายหลังว่าที่จริงวันนั้นมันตั้งใจเตะอะลามเพราะหมั่นไส้ มร.ฮีลีย์ ที่มาต่อว่ามันเรื่องมาทำงานสาย

    ระเบียบของธนาคารฝรั่งกรณีถูกปล้นที่น่าสนใจ ผู้คนส่วนใหญ่อาจไม่ทราบคือ หากมีการปล้น ห้ามมิให้พนักงานขัดขืนต่อสู้กับโจรเป็นอันขาด โจรอยากได้อะไรให้ยกให้มันไปให้หมด พนักงานไม่ต้องร่วมรับผิดชอบชดใช้ใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะฝรั่งถือมากว่าชีวิตเป็นสิ่งที่มีค่าซึ่งต้องสงวนไว้มากที่สุด สิ่งอื่นเสียไปไม่เป็นไร หาใหม่ สร้างใหม่มาทดแทนได้ แต่ชีวิตคนนั้นเสียไปแล้วเสียไปเลย นอกจากนั้น คนที่ต้องการเป็นฮีโร่หากไม่เก่งจริงพลาดพลั้งขึ้นมา นอกจากฮีโร่จะเจ็บหรือตายแล้ว คนอื่น ๆ ที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่อาจพาลถูกลูกหลงเจ็บตายไปด้วย

    หากถูกปล้น มีสองสิ่งที่เทลเลอร์ต้องทำคือพยายามใช้เท้าเตะกล่องอะลามและที่ต้องไม่ลืมเป็นอันขาดคือต้องเอา “ดีคอยมันนี่” ใส่รวมไปในถุงเงินให้โจรไปด้วย ดีคอยมันนี่คือเงินล่อเป้าหรือเงินเหยื่อที่มีการจดบันทึกหมายเลขไว้แล้วทุกฉบับ เป็นแบงค์กลางเก่ากลางใหม่และมัดรวมกันไว้ครบจำนวนเต็มแร็ป เงินดีคอยที่เป็นดอลล่าร์จะใช้แบงค์ฉบับละห้าดอลล่าร์ แต่ถ้าเป็นเงินไทยจะใช้แบงค์ร้อย วัตถุประสงค์ของดีคอยคือหวังว่าโจรจะนำเงินนั้นออกมาใช้จ่าย เมื่อคนร้ายเอาเงินที่ปล้นไปออกใช้ ก็จะสามารถตรวจสอบได้กับหมายเลขที่จดบันทึกไว้ หากพบว่าตรงกันก็จะเป็นแนวทางให้สืบจับคนร้ายได้ต่อไป

    ต่อมาในภายหลัง ดีคอยมันนี่มีพัฒนาการมากขึ้น กล่าวคือที่แร็ปจะมีกลไก เมื่อใดก็ตามที่แร็ปถูกฉีกออกจากกัน กลไกจะพ่นสารเคมีเป็นสีน้ำเงิน สีแดง หรือ สีเหลืองออกมา สีเคมีนี้เมื่อติดผิวหนังหรือเสื้อผ้าแล้วจะล้างไม่ออก เวลาเดินไปไหนก็จะเป็นที่สังเกตเห็นได้โดยง่าย

    ในฐานะที่ฉันเป็นซุป จึงได้รับมอบหมายให้ถือรหัสประตูห้องโวล์ทด้วย ห้องโวล์ทหรือศัพท์ภาษาไทยเรียกกันแปลก ๆ ว่า “ห้องมั่นคง” เข้าใจว่าแปลเอาตรง ๆ จากคำภาษาอังกฤษว่า สตรองรูม ในอังกฤษนิยมที่จะเรียกห้องมั่นคงว่า สตรองรูม ส่วนในอเมริกาเรียกว่า โวลท์ ห้องโวลท์ในธนาคารคือห้องที่ใช้เก็บเงินสด ตราสารทางการเงินเช็นเช็คเดินทาง ดร๊าฟท์และมันนี่ออร์เดอร์ รวมตลอดไปจนถึงเอกสารสำคัญต่าง ๆ ประตูโวล์ทซึ่งเป็นเหล็กแข็งแรงกันได้ทั้งไฟและสว่านจะปิดหรือเปิดได้ต้องมีเจ้าหน้าที่ของธนาคารร่วมกันดำเนินการสองคนเสมอ คนหนึ่งซึ่งเป็นหัวหน้าเทลเลอร์จะถือกุญแจล๊อกรหัส ไม่เปิดกุญแจนี้ก็จะหมุนรหัสไม่ได้ อีกคนหนึ่งคือ ซุป ซึ่งจะเป็นคนถือรหัส รหัสโวล์ทนี้จะเปลี่ยนทุกหกเดือน หรือทันทีที่มีผู้ถือรหัสคนหนึ่งคนใดพ้นจากหน้าที่ไป ผู้ถือรหัสคือผู้เปลี่ยนรหัส เมื่อเปลี่ยนแล้วต้องบันทึกรหัสที่เปลี่ยนใหม่ลงแบบฟอร์มบันทึกรหัสใส่ซองเฉพาะลงนามประจำต่อแล้วจึงปิดผนึกซองซึ่งเป็นกาวในตัว ปิดแล้วปิดเลยเปิดอีกไม่ได้นอกจากฉีกในที่ซึ่งกำหนดไว้ให้ ซองบันทึกรหัสนี้จะถูกส่งไปเก็บรักษาไว้ที่ฝ่ายตรวจสอบภายในที่กรุงเทพเพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉิน ตามระเบียบ นอกจากรหัสในซองบันทึกรหัสแล้ว ห้ามมิให้จดรหัสไว้ในที่อื่นใดอีก ผู้ถือรหัสจะต้องจำรหัสให้ได้ขึ้นใจสถานเดียวเท่านั้น

    รหัสโวลท์เป็นชุดของตัวเลขประกอบกันตั้งแต่สามถึงห้าชุดแล้วแต่ขนาดหรือความสำคัญของโวลท์ แป้นรหัสจะเป็นแป้นกลมมีตัวเลขตั้งแต่ 0 ถึง 100 อยู่รอบ ๆ รหัสโวลท์จะกำหนดเป็นตัวเลขใดก็ได้จาก 0 – 100 ทั้งนี้ต้องกำหนดให้เป็นตัวเลขที่เป็นเศษห้ามมิให้กำหนดตัวเลขที่เพิ่มทวีขึ้นทีละห้าหรือสิบเพื่อให้ยากแก่การคาดเดา ยกตัวอย่างเช่น 12 (R-5)-24 (L-4)-66 (R-3)-58 (L-2) 90 (r/l) หมายความว่าหลังจากไขกุญแจล๊อกรหัสแล้ว ผู้เปิดจะต้องหมุนแป้นรหัสไปทางขวามือให้ผ่านเลข 12 อย่างน้อยห้ารอบในรอบที่ห้าหรือรอบที่เท่าไหร่ก็แล้วแต่ที่มากกว่าห้ารอบต้องหยุดที่เลข 12 จากนั้นก็หมุนแป้นรหัสกลับไปทางซ้ายให้ผ่านเลข 24 สี่รอบ คราวนี้ต้องระวังให้ดีเพราะพอครบรอบที่สี่ต้องหยุดที่เลข 24 พอดี แล้วหมุนกลับไปทางขวาให้ผ่านเลข 66 อีก 3 รอบพอครบรอบที่สามต้องหยุดที่เลข 66 พอดี ที่นี้ก็หมุนกลับทางซ้ายให้ผ่านเลข 58 อีก 2 รอบพอครบรอบที่สองต้องหยุดที่เลข 58 ให้พอดี แล้วหมุนกลับทางขวาพอถึงเลข 90 ปุ่มรหัสจะล๊อกหมุนต่อไปไม่ได้เสียงตัวล๊อกตกดังแคร๊ง แสดงว่าหมุนรหัสถูกต้องเปิดประตูได้ หากทำขั้นตอนหนึ่งขั้นตอนใดผิดจะต้องเริ่มใหม่ตั้งแต่ต้นทุกครั้ง

    (มีต่ออีกหน่อย..ข้างล่างน่ะ)

    จากคุณ : แมงกระพรุน - [5 ก.ค. 45 02:25:49 A:203.107.150.32 X:]