ความคิดเห็นที่ 15
เพื่อนผมคนหนึ่งเคยเขียนบทความสั้นๆ เกี่ยวกับการผันเสียงและการลงรูปวรรณยุกต์ไว้
คิดว่าน่าจะมีประโยชน์บ้าง เลยขออนุญาตนำมาให้อ่านด้วยกันครับ
*****************************
มหาอุด ไก่จิกเด็กตายบนปากโอ่ง ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารไร้พรมแดน ทำให้การพูดคุยทางไกลระหว่างกัน ทำท่ายักแย่ยักยันจนจวนเจียนจะทำให้ทุกภาษาเขียนในโลก วิบัติไปภายในเวลาอันใกล้ เพราะการสื่อสารสองทางกับการสื่อสารทางเดียว คือการพบปะพูดคุยหน้าต่อหน้า กับการเขียนจดหมายถามไถ่ข่าวคราว กลับมาลักลั่นกันอยู่ในจอคอมพิวเตอร์ ภาษาไทยเองก็แตกแขนงออกเป็นภาษาแชท (Chat) เช่น วิดวะ (วิศวกรรม), วิดยา (วิทยาศาสตร์), มนุด (มนุษย์), ถาปัด (สถาปัตยกรรม), เปน (เป็น), ใค (ใคร), คับ (ครับ), ก้ (ก็), เด๋ว (เดี๋ยว) เป็นต้น ใครจะว่าเป็นวิวัฒนาการทางภาษา หรือ เป็นการแสดงว่าภาษายังมีชีวิตก็ตาม เราก็ควรจำกัดมันไว้ เฉพาะแต่ในที่ของมัน ด้วยการพิมพ์คำคุยกันทางหน้าจอนั้น อาศัยความสะดวกรวดเร็วและแก้ไขความเข้าใจกันได้ทันที แต่ในส่วนของภาษาเขียน เราต้องระมัดระวัง อย่านำความเคยชินจากการคุยออนไลน์ มาใช้ในการผลิตงานประพันธ์ ปัญหาสำคัญอีกอย่างที่พบบ่อยๆ สำหรับนักอยากเขียน คือการผันเสียงพลาดและการใส่รูปวรรณยุกต์ผิด ทั้งที่จริงเรื่องนี้มีการเรียนการสอนมาตั้งแต่ชั้นประถม เพียงแต่อาจเป็นจุดผ่านจุดเล็กๆ ที่ครูอาจารย์เห็นว่าสอนง่าย เพราะมีแค่ห้าเสียงสี่รูป คือ เสียงสามัญ (ไม่มีรูป), เสียงเอก (อ่), เสียงโท (อ้), เสียงตรี (อ๊) และเสียงจัตวา (อ๋) จนละเลยที่จะเน้นย้ำเรื่องหัวใจของการผันเสียง และการลงรูปวรรณยุกต์ จนปัจจุบันแทบจะยอมรับกันว่าคำเหล่านี้ เช่น ค๊ะ มั๊ย ว๊าย วุ๊ย นั้นถูกต้องตามหลักภาษา ยิ่งคำเหล่านี้จำเป็นต้องใช้ในบทสนทนาของตัวละครทั้งนั้น ยิ่งต้องตรวจสอบเทียบเคียงเสียงให้ถ้วนถี่ อาการสักแต่ว่าเขียนนั้นไม่ใช่หลักของนักเขียนที่ดี ตรงนี้มีหลัก หมดสิทธิ์ผิดพลาด ง่ายมากคือ อันว่าพยัญชนะไทยทั้ง 44 ตัวนั้น มีตัวที่ผันได้ครบห้าเสียง พร้อมลงวรรณยุกต์ได้ครบสี่รูปคือ หมู่อักษรกลางของไตรยางค์ ได้แก่ ก, จ, ด (ฎ), ต (ฏ), บ, ป, อ, (หลักจำคือ ไก่จิกเด็กตายบนปากโอ่ง) นอกนั้นลงรูปวรรณยุกต์ได้แค่สองรูปคือ ไม้เอก กับ ไม้โท ส่วนการผันเสียงไล่ตามวรรณยุกต์นี้ มีหมวดอักษรดังกล่าว ที่แจกรูปเสียงได้ครบ เช่น กา ก่า ก้า ก๊า ก๋า, จา จ่า จ้า จ๊า จ่า ส่วนอักษรสูงกับอักษรต่ำนั้น หากจะผันเสียงให้ครบห้าเสียง ต้องนำอักษรสูงและอักษรต่ำมาประกอบกัน โดยอักษรสูงคือ ผ ฝ ถ(ฐ) ข (ฃ) ส(ศ ษ) ห ฉ ผันเสียงคู่กับ อักษรต่ำคู่ คือ พ ค ฟ ท ซ ช ฮ เช่น พา ผ่า พ่า-ผ้า พ้า ผา, คัน ขั่น คั่น-ขั้น คั้น ขัน, ซุม สุ่ม ซุ่ม-สุ้ม ซุ้ม สุม เป็นต้น ตรงนี้ที่เขียนผิดบ่อยคือคำคู่กลาง เช่น ค่า-ข้า, คั่น-ขั้น, ซุ่ม-สุ้ม เวลาเขียนต้องดูความหมายให้ถ้วนถี่ ต้องตรวจกับพจนานุกรมหากไม่มั่นใจ หมู่อักษรที่เหลือ คือ อักษรต่ำเดี่ยว ง ญ น ย ณ ร ว ม ฬ ล เวลาจะผันให้ครบห้าเสียง ต้องให้ ห. หีบ มาช่วยเป็นอักษรนำ เวลาผันเสียงเอกกับเสียงจัตวา เช่น งา หง่า ง่า ง้า หงา, มี หมี่ มี่ มี้ หมี, นู หนู่ นู่ นู้ หนู, เป็นต้น (มีสี่คำเท่านั้นที่เวลาผันต้องใช้ อ. อ่าง นำ นั่นคือ อย่า อยู่ อย่าง อยาก (หย่า-หยู่-หย่าง-หยาก) คาถามหาอุดป้องกันการผิดพลาด ของการผันเสียงและลงรูปวรรณยุกต์ผิด จึงเป็นหลักจำง่ายๆ ว่า ไก่จิกเด็กตายบนปากโอ่ง นั้นผันวรรณยุกต์ได้ครบห้าเสียงเขียนได้ครบทุกรูป
โดย เพียงคำ
*****************************
หวังว่าจะมีประโยชน์บ้างนะครับ
จากคุณ :
SONG982
- [
1 ส.ค. 48 02:45:17
]
|
|
|