สวัสดีปีใหม่ทุกท่านครับ
ถึงแม้จะเป็นเพียงวันที่มีสมมุติในโลกนี้ มีรุ่งและค่ำเหมือนเช่นเคย
แต่ก็ขอให้มีสุขภาพพลานามัยที่ดี ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน
มีทรัพย์สามารถทำบุญได้โดยไม่ขาด ให้ได้พบแต่กัลยาณมิตร
คนชั่วคนพาลขอให้อยู่ห่างไกลอย่าให้ได้พบเห็นหรือได้ยิน
ขอให้ทุกท่านมีสติปัญญาดี เฉียบแหลม สามารถแก้ไขอุปสรรคปัญหาต่างๆ ได้
การงานใดๆ ที่ประกอบด้วยกุศลจิตก็ขอให้สมความปราถนาทุกประการ
เหตุปัจจัยที่ทำให้คำอวยพรประสบผลสำเร็จได้นั้น คือศีล
ขอให้ตั้งมั่นอยู่ในศีลในธรรมทุกๆ ท่านนะครับ ขอให้ธรรมรักษาและคุ้มครองตลอดไป สาธุ ^^
-------------------------------------------------------------------------------------------------
เมื่อสามวันที่ผ่านมาไม่ได้เข้ามาดูกระทู้ ปรากฎว่ามีความเห็นเพิ่มขึ้นมากมายเลย ^^"
ผมได้ไปปฏิบัติธรรมที่วัดมาครับ บุญกุศลใดๆ ที่เกิดขึ้นได้แก่ ทาน ศีล สมาธิ และปัญญา
นับตั้งแต่การให้ทาน การใส่บาตร การถวายมหาสังฆทาน บูชาพระบรมสารีริกธาตุ
การร่วมถวายปัจจัยเพื่อสร้างพระไตรปิฎกสำหรับนำไปประดิษฐานที่ประเทศอินเดีย
การสวดมนต์ การรักษาศีลแปด ศีลอุโบศถ การเจริญสมาธิวิปัสสนา
และการฟังพระธรรมเทศนา รวมถึงการฟังการถามตอบปัญหาธรรม
ก็ขอให้ทุกๆ ท่านได้รับส่วนบุญกุศลเท่าๆ กับที่ผมได้รับด้วยเถิด สาธุๆๆ ^^
(แต่ไม่ได้สวดมนต์ข้ามคืนด้วยบทสวดพุทธคุณ หนึ่งร้อยแปดจบเหมือนบางแห่ง
หลวงพ่อเจ้าอาวาสเทศน์ให้ฟังว่า ถ้าสวดคร่อมปากสักหมื่นรอบก็ไม่มีประโยชน์
ถ้าไม่เข้าใจความหมายในบทสวดนั้น และไม่ได้น้อมใจไประลึกถึงพุทธคุณอย่างแท้จริง)
-------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอตอบคำถามคุณจูนนะครับ
การปลงนั้นมีหลายแบบ เช่น คู่สามีภรรยาที่แรกๆ รักกัน
แต่พออยู่กันนานๆ สามีออกพติกรรมทราม เช่น กินเหล้าบ้าง ไถเงินบ้าง ซ้อมเมียบ้าง..
จนภรรยาเกิดความคิดว่าเบื่อโลก เพราะอยู่กับผัวเลว สู้ว่าลาตายพ้นๆ ไปจะดีกว่า ซึ่งปลงแบบนี้ก็ไม่ถูกต้อง
หรือจนฝ่ายภรรยาต้องเข้าหาวัดเป็นที่พึ่ง และฟังธรรม
ไปๆ มาๆ ภรรยาก็คิดไปบ้างว่า ผัวแบบนี้ไม่เอาแล้ว ช่างมัน จะกลับไปเลิกกับมัน
การปลงแบบนี้ก็ไม่ถูกต้อง แบบนี้เป็นการปลงด้วยโลกียะปัญญา
ปลงด้วยอารมณ์ที่ว่า ช่างหัวมัน ไม่ใส่ใจ ไม่อยากรับรู้ ไม่อยากเห็น เป็นต้น
หรือเกิดจากการปฏิบัติธรรม ติดอยู่ในสมาธิ อยู่ในรูปนาม ติดอยู่ในฌาน
เมื่อออกจากสมาธิอย่างไม่ถูกวิธี จึงทำให้หลงอยู่ในสภาวะเดิม
ต้องเข้าใจก่อนว่าอารมณ์ของฌานนั้น จะปล่อยวาง จะเบื่อไม่อยากทำอะไร
เพราะจิตเป็นอุเบกขา ส่วนมากเกิดจากการปฏิบัติตามหลักสมถะกรรมฐาน นี้ก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง
แต่ที่สุดของสมถะกรรมฐานคือเมื่อละจากโลกนี้ ถ้ามีฌานเป็นอารมณ์ จะบังเกิดในพรหมโลก
นี้ก็เป็นการปลง ปล่องวางอีกแบบหนึ่ง คือปล่อยวางด้วยอุเบกขา
ซึ่งจะทำให้ดูเบื่อหน่าย ไม่อยากทำอะไร แม้กระทั่งการกินข้าว (เพราะมีฌานเป็นอารมณ์อยู่)
หรือบางท่านปฏิบัติธรรมแล้วรู้สึกว่าจิตสงบ เวลาทำอะไรก็ดูเชื่องช้า ดูเซื่องๆ
เหมือนว่าขาดความกระตือรือร้น นั่นก็อาจเพราะเขาติดอยู่ในความสงบสุข
แต่การเจริญวิปัสสนาที่แท้จริงคือให้มีสติรู้กับสภาพความเป็นจริงและตามทันในปัจจุบัน
ในความจริงการปฏิบัติธรรมไม่ได้ทำให้ขาดความกระตือรืนร้นในชีวิตเลยครับ
เหมือนที่คุณซอด้วงกล่าว คือทำให้กระตืนรือร้นมากขึ้นด้วยซ้ำ
ซึ่งข้อนี้ยืนยันได้จาก โพธิปักขิยธรรม คือธรรมที่เป็นปัจจัยในการตรัสรู้ ดังนั้นภิกษุผู้ปฏิบัติจึงต้องอาศัยความเพียร จึงจะสามารถล่วงพ้นวัฏสงสารได้
แต่ในฐานะพุทธบริษัท อุบาสก อุบาสิกา ผู้ครองอยู่ในเพศฆราวาสแล้ว..
ก็ยังมีหน้าที่ทางโลกให้ประกอบกิจอยู่
พระพุทธองค์ทรงแนะให้แต่ละบุคคลปฏิบัติตามหน้าที่
อนุญาตให้สามารถบริโภคกามสุขได้อยู่ ซึ่งเป็นการแสวงหาโดยสุจริต
ดังนั้น ก็สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุขโดยทำตามหน้าที่ ที่ตนมี
อย่างที่คุณซอด้วงอธิบายถึงการปฏิบัติตนตามหน้าที่ที่มีครับ ^^
และอย่างที่คุณซอด้วงกล่าวอีกว่า อุปสรรคทางโลกนั้นเป็นส่วนในการเสริมกิเลส
ที่ผมกล่าวว่าทุกสรรพสิ่งควรละ และทำให้เกิดอาการอยากละทิ้งทุกสิ่งทุกอย่าง
เพราะผมมองว่าเพศฆราวาสมันคับแคบเกิน ถ้าประสงค์จะบรรลุธรรมในชาตินี้
การที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศเพศพรหมจรรย์ เพราะเป็นหนทางที่ทำให้หลุดพ้นกิเลสได้ไว
เว้นแต่ว่าถ้ายังไม่สามารถละกามคุณได้ ถ้ามีเหตุปัจจัยมากพอก็ยังสามารถบรรลุถึงสกทาคามีได้อยู่
ส่วนอนาคามี จะไม่ยินดีในการครองเรือนแล้ว
แต่ถ้ามีคู่ครองอยู่ก่อน ก็จะสละคู่ให้ผู้อื่น หรือไม่ก็อยู่ร่วมกันฉันท์เพื่อน
ส่วนผมทุกวันนี้ก็ยังทำงานมากกว่าวันละแปดชั่วโมงอยู่
ก็ยังพอจะแสดงได้ว่า ผมไม่ได้หมดอาลัยตายอยากในชีวิตจนขาดความกระตือรือร้น
แต่สิ่งที่ผมพิจารณาแล้วสามารถเชื่อได้ด้วยใจตนเองคือ..
ชีวิตคนเราล้วนเกิดมาแล้วนับล้านๆ ครั้ง
พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า ไม่มีพื้นที่ใดในโลกที่เว้นว่างจากกระดูก
ถ้ามีผู้ที่สามารถรวบรวมน้ำตาที่เราร้องไห้ได้ในแต่ละชาติ
เมื่อรวมกันทุกชาติที่เคยเกิด ก็จะมีมากกว่าน้ำในมหาสมุทรเสียอีก
ดังนี้แล้ว ผมจึงคิดว่าจะมีประโยชน์อะไรในการแสดงหาสิ่งที่ไร้แก่นสาร
สิ้นชาตินี้ไป สิ่งที่แสวงหามาก็สูญสิ้น แล้วจะเหลืออะไรนอกจากบุญและบาป
ถึงกระนั้น การทำบุญเพื่อให้ชาติถัดไปมีโภคทรัพย์ หรือมีอะไรต่อมิอะไรอีกหลายอย่าง
ก็ยังคงไร้ประโยชน์ เพราะแม้มีไปก็คงติดในวัฏสงสาร ต่อให้เป็นเทวดาหรือพรหมก็ตาม
สู้ว่าละ แล้วหันปฏิบัติธรรมน่าจะดีกว่า เพราะอริยทรัพย์ที่เกิดจากการปฏิบัติธรรมนั้น
จะคงติดตามไปทุกภพทุกชาติ จนกว่าจะเข้าสู่นิพพาน
เพียงการบวชนั้น เป็นการเร่งทำให้ไวขึ้นเท่านั้นเอง
ความยึดมั่นในตัวตนนั้น...
ก็ยังคงมีมานะ คือความยึดมั่นในตัวตน เช่นยึดว่าตนคือพระอนาคามี
ดังนั้น การศึกษาอะไรเพิ่มเติมแล้วจะทำให้เกิดความยึดมั่นก็ไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับปุถุชน
แต่ถ้ามี ความอ่อนน้อมถ่อมตน ข้อที่ว่ายึดมั่นถือมั่นในตัวตนก็จะลดลงได้
ข้อนี้พระพุทธเจ้าจึงให้ภิกษุผู้อ่อนพรรษา ต้องแสดงความนอบน้อมกับภิกษุผู้แก่พรรษา
แม้ภิกษุผู้อ่อนพรรษาจะมีอายุมากกว่าก็ตาม
แต่ก็อย่างที่คุณซอด้วงกล่าวอีกนั่นแหละครับว่า ความมั่นใจกับอัตตาเป็นคนละประเด็นกัน
ถ้าจะมั่นใจว่าสิ่งที่ตนคิดหรือพูดนั้นถูกต้อง แต่คนอื่นผิด
อันนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับปัญญาในการพิจารณาอย่างแยบคาย
สำหรับผู้มีปัญญาแล้ว ถ้ามีคนว่าเราผิดเราก็คงต้องน้อมรับมาพิจารณาตน
แม้พระพุทธเจ้ายังทรงเปิดโอกาสให้ภิกษุติเตียนเลย
(แต่พระพุทธเจ้าทรงบริสุทธิ์บริบูรณ์ทุกอย่าง จึงไม่มีอะไรให้ติเตียนแม้แต่น้อย)
การใช้ชีวิตทางโลกร่วมกับทางธรรมนั้น ก็ให้ตั้งตนอยู่ในความไม่ประมาท
ให้ละเว้นความชั่ว หมั่นทำความดี ทำจิตใจให้ผ่องใส
มีการให้ทานอย่างสม่ำเสมอ การรักษาศีล การศึกษาพระธรรมคำสอน รวมทั้งการเจริญภาวนาตามสติกำลัง
และนำหลักธรรมคำสอนมาใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ได้ทรงสอนไว้
ทั้งอาชีพที่้ทรงห้าม เนื้อสัตว์ที่ห้ามทาน เหตุปัจจัยของความมั่งมี ความทุกข์ของคนจน
แม้กระทั่งความมั่นใจและความองอาจ คือ
"ผู้มีศีล ถึงพร้อมด้วยศีล จะเข้าสู่บริษัทหรือสมาคมใดๆ จะเป็นขัตติยบริษัทก็ตาม
พราหมณบริษัทก็ตาม คฤหบดีบริษัทก็ตาม สมณบริษัทก็ตาม ย่อมเป็นผู้องอาจ ไม่เคอะเขินเข้าไป"
ทั้งการขจัดความกลัว การเลือกคบบัณฑิต และมงคลชีวิต 38 ประการเป็นต้น
ถ้าสามารถครองเพศฆราวาสได้ดังนี้แล้ว เมื่อถึงจุดหนึ่งที่เหตุปัจจัยพร้อม ก็สามารถบรรลุธรรมได้
ถ้ามีเป้าหมายในทางโลก ก็พึ่งแสวงหาโดยสุจริต
ถ้ามีเป้าหมายในทางธรรม ก็ควรละวิถีชีวิตทางโลก
แต่ถ้าต้องการอยู่ในทางโลกและทางธรรม ก็ปฏิบัติตามที่กล่าวมาข้างต้นครับ
-------------------------------------------------------------------------------------------------
น้อยคนนักที่จะสามารถว่ายทวนกระแสน้ำแห่งวัฏสงสารได้
สัพเพ สังขารา อะนิจจาติ ยะทา ปัญญายะ ปัสสะติ
เมื่อใดบุคคลเห็นด้วยปัญญาว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง
อะถะ นิพพินทะติ ทุกเข เอสะ มัคโค วิสุทธิยา
เมื่อนั้นย่อมเหนื่อยหน่ายในสิ่งที่เป็นทุกข์ ที่ตนหลง
นั่นแหละ เป็นทางแห่งพระนิพพาน อันเป็นธรรมหมดจด
สัพเพ สังขารา ทุกขาติ ยะทา ปัญญายะ ปัสสะติ,
เมื่อใดบุคคลเห็นด้วยปัญญาว่า สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์
อะถะ นิพพินทะติ ทุกเข เอสะ มัคโค วิสุทธิยา
เมื่อนั้นย่อมเหนื่อยหน่ายในสิ่งที่เป็นทุกข์ ที่ตนหลง
นั่นแหละ เป็นทางแห่งพระนิพพาน อันเป็นธรรมหมดจด
สัพเพ ธัมมา อะนัตตาติ ยะทา ปัญญายะ ปัสสะติ
เมื่อใด บุคคลเห็นด้วยปัญญาว่า ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา
อะถะ นิพพินทะติ ทุกเข เอสะ มัคโค วิสุทธิยา
เมื่อนั้นย่อมเหนื่อยหน่ายในสิ่งที่เป็นทุกข์ ที่ตนหลง
นั่นแหละ เป็นทางแห่งพระนิพพาน อันเป็นธรรมหมดจด
อัปปะกา เต มะนุสเสสุ เย ชะนา ปาระคามิโน
ในหมู่มนุษย์ทั้งหลาย, ผู้ที่ถึงฝั่งแห่งพระนิพพานมีน้อยนัก
อะถายัง อิตะรา ปะชา ตีระเมวานาวะติ
หมู่มนุษย์นอกนั้น ย่อมวิ่งเลาะอยู่ตามฝั่งในนี่เอง
เย จะโข สัมมะทักขาตา ธัมเม ธัมมานุวัตติโน
ก็ชนเหล่าใดประพฤติสมควรแก่ธรรม ในธรรมที่ตรัสไว้ชอบแล้ว
เต ชะนาปา ระเมสสันติ มัจจุเธยยัง สุทุตตะรัง
ชนเหล่านั้นจักถึงฝั่งแห่งพระนิพพาน ข้ามพ้นบ่วงแห่งมัจจุที่ข้ามได้ยากนัก
กัณหัง ธัมมัง วิปปะหายะ สุกกัง ภาเวถะ ปัณฑิโต
จงเป็นบัณฑิตละธรรมดำเสีย แล้วเจริญธรรมขาว
โอกา อะโนกะมาคัมมะ วิเวเก ยัตถะ ทูระมัง
จงมาถึงที่ไม่มีน้ำ จากที่มีน้ำ จงละกามเสีย, เป็นผู้ไม่มีความกังวล
ตัตราภิระติมิจเฉยยะ หิตวา กาเม อะกิญจะโน
จงยินดีเฉพาะต่อพระนิพพานอันเป็นที่สงัดซึ่งสัตว์ยินดีได้โดยยาก
-------------------------------------------------------------------------------------------------
แก่นของพุทธศาสนาคืออริยสัจสี่ และเป้าหมายสูงสุดก็คือพระนิพพาน
พระพุทธเจ้าทรงตรัสสอนว่า..
ทุกข์..ให้กำหนดรู้
สมุทัย..ควรละ
นิโรธ..ควรทำให้แจ้ง
มรรค..ควรเพียรปฏิบัติ
การเกิด การมี การเป็น การครอบครอง การแสวงหา ล้วนเป็นทุกข์ทั้งสิ้น
แล้วจะทำไฉนให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ ถ้าไม่ใช่เพื่อการละ
ดังนั้น ถ้าจะทำนิโรธให้แจ้ง ก็ควรกำหนดรู้ ควรเพียรปฏิบัติตามมรรคมีองค์แปด
และควรละสมุทัย นั่นคือกิเลส ซึ่งมีอยู่ในชีวิตประจำวันตามอายตนะทั้งหก
การทำงานหาเลี้ยงชีพ ถ้าไม่ประกอบด้วยกุศลกรรมเลย
แม้จะรวยเป็นแสนล้าน ก็มีโอกาสที่จะมีอบายเป็นเบื้องหน้า
ถ้าทำงานหาเลี้ยงชีพบ้าง ทำบุญกุศลบ้างตามกำลัง
ก็มีโอกาสเกิดในสุคติภูมิ ตามแต่กำลังบุญที่สะสมมา
แต่ถ้าเป็นคนไม่มีทรัพย์ ไม่มีฐานะ แต่ประกอบกุศลผลบุญจนถึงที่สุด
ก็มีโอกาสที่ชาตินี้จะเป็นชาติสุดท้าย
พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า แม้จะมีบารมีอย่างอ่อน ถ้าเพียรปฏิบัติก็ไม่เกิน ๗ ปี
ซึ่งการที่เราได้เกิดเป็นมนุษย์นั้น ก็การันตีได้แล้วว่า อย่างน้อยเรามีบารมีอย่างอ่อน
และถ้าเพียรปฏิบัติแล้วบรรลุแค่โสดาบัน เผอิญถึงฆาตก่อน ก็เกิดใหม่อีกไม่เกิน 7 ชาติ
แล้วจะเชื่อไหมล่ะครับว่า เราเองก็สามารถทำได้ ไม่ว่าหญิงหรือชาย
ก็หวังว่าข้อคิดเห็นของผมนั้น จะพอช่วยคลายความสงสัยได้บ้างนะครับ ^^"
คุณแกะกระโดดข้ามรั้วได้มีโอกาสไปตระเวนไหว้พระมา..
แม้จะเหนื่อยก็สุขใจ ก็แสดงว่าบุญเกิดแล้วครับ เพราะความสุขคือผลของบุญ
ก็ขอให้คุณแกะกระโดดข้ามรั้วมีกำลังสติที่เข้มแข็งขึ้น สามารถควมคุมจิตได้ดียิ่งๆขึ้นไปนะครับ ^^
ปล. ในความเป็นจริง ผมก็ไม่รู้จะว่าสิ่งที่คาดการณ์ไว้นั้นจะสมปราถนาหรือไม่
วันนี้ยังมีศรัทธาอยู่ก็อาจจะพอกล่าวได้ แต่อะไรๆ ก็ไม่เที่ยง
วันข้างหน้าก็เป็นสิ่งไม่แน่นอน ไม่รู้ว่าตัวเองจะเสื่อมศรัทธาเมื่อไหร่ ก็อย่าเพิ่งเชื่อเป็นตุเป็นตะนะครับ ^^"