อ่าน Link (ตามที่คุณเฉลิมศักดิ์1 กรุณาให้มา)http://abhidhamonline.org/kammathana.htm เรื่อง กรรมฐานคืออะไร อ่านแล้วจึงเข้าใจว่าทำไมคนพุทธส่วนหนึ่ง (รวมทั้ง จขกท ด้วย) จึงคิดว่าการทำทาน รักษาศีล อยู่ในพุทธธรรมก็น่าจะเพียงพอแล้ว ไม่จำเป็นต้องมีเรื่องภพภูมิ สวรรค์
จนถึงบัดนี้ก็ยังไม่เข้าใจภัยของการเวียนว่ายตายเกิด ที่ปฏิบัติอยู่น่าจะมาจากเหตุผลความศรัทธาจากการปลูกฝัง จากศรัทธา 4 คือ เชื่อในเรื่องกรรมหรือการกระทำ เชื่อในผลของกรรม เชื่อในความเป็นเจ้าของกรรมที่ตนกระทำ เชื่อในการตรัสรู้ของพระพุทธองค์
ขออนุญาตคัดลอกบางส่วนมาดังนี้
การฝึกกรรมฐานเป็นกิจกรรมสำคัญทางพุทธศาสนาเกิดขึ้นเพื่อเป็นพื้นฐานรับรองเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด แม้จะมีจุดมุ่งหมายสูงสุดอยู่ที่การบรรลุคุณวิเศษคือ มรรค ผล นิพพาน แต่ถ้าจิตยังพัฒนาไม่ผ่านขั้นตอนการยอมรับการเวียนว่ายตายเกิดอันยาวนานของตนเองหรือยังมีความสงสัยในเรื่องภพชาติแล้ว ขบวนการถอนรากถอนโคนกิเสส ตัณหา อาสวะและอนุสัยต่างๆ ในจิตใจอย่างจริงจังจะยังไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน ภัยของภพชาตินั้นมาจากความจำเจวนเวียนที่ชีวิตต้องอยู่กับความสุขบ้าง ความทุกข์บ้าง
การเห็นภัยจึงมีความสำคัญทำให้ผู้เห็นภัยดังกล่าวยอมเปลี่ยนวิถีชีวิตจากที่เคยวนเวียนเป็นไปเนื่้องด้วยกิเลสตัณหาสู่วิถีชีวิตที่มีสติสัมปชัญญะ ดำเนินชีวิตไปตามมรรคผลได้อย่างมั่นคง
การทำทาน รักษาศีล ไม่ช่วยให้เกิดความกลัวภัยได้ คนที่จะน้อมเข้ามาในการปฏิบัติกรรมฐานต้องเห็นภัยในวัฏฏสงสารก่อนจึงจะมองหาการปฏิบัติ แต่การปฏิบัติบางอย่างอาจทำให้เกิดความสุขมากมาย ซึ่งไม่ช่วยให้เห็นภัยของวัฏฏะ
การพิสูจน์การเวียนว่ายตายเกิดนั้นไม่ใช่เป็นเพียงการทำให้จิตสงบแล้วพาไปดูนรกสวรรค์หรือจินตนาการถึงพระนิพพาน...
การยอมรับว่ามีนรกสวรรค์มีประโยชน์ในแง่ของการสร้างศรัทธา ที่จะทำความดีละเว้นความชั่วเพื่อความสุขของชีวิตในภพนี้และภพหน้า แต่ไม่สามารถเปลี่ยนความเชื่อและทิฏฐิที่เป็นอนุสัยนอนเนื่องอยู่ในขันธสันดานได้ จึงมีความปรารถนาการเกิดอยู่เสมอไป ไม่รู้สึกว่าสังสารวัฏฏ์เป็นภัยต่อชีวิตตนเองได้อย่างไร
การเผชิญกับความเกิดดับ (ตาย) อย่างซ้ำซากเฉพาะหน้าจำต้องอาศัยความเข้าใจและการปฏิบัติบำเพ็ญเพียรทางจิตขั้นเอกอุจึงจะยอมรับภัยของชีวิตได้ ซึ่งมีวิธีการอยู่ 2 วิธี 1. สมถกรรมฐาน 2. วิปัสสนากรรมฐาน
หากเข้าใจจุดมุ่งหมายและสามารถปฏิบัติกรรมฐานธรรมไปตามแบบที่พระพุทธองค์วางไว้จนเกิดผลในระดับหนึ่งแล้ว ประสบการณ์ทางศาสนาดังกล่าวจะเป็นตัวกระตุ้นความเลื่อมในศรัทธาอย่างแท้จริงให้เกิดขึ้น...
ด้วยความเคารพ