นายกฯ ควงกยอ.-กยน.ออกรายการชี้แจงแผนบริหารน้ำ ยันเดือนม.ค.คลอดแผนโชว์ผู้นำต่างชาติเยือนไทยต้นปีหน้าในการประชุมซีอีโอ ฟอรัม “วีรพงษ์”เสนอร่างกฎหมายกู้เงินเข้าครม.อังคารนี้พร้อมตั้งกองทุน 3.5แสนล้าน
ธปท.จี้รัฐบาลเร่งประกาศแผน ระบุเป็นโอกาสดีช่วยฟื้นความเชื่อมั่น
ผู้ สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (24 ธ.ค.) รายการ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์ พบประชาชน” ทางสถานีวิทยุ โทรทัศน์แห่งประเทศไทย ประจำสัปดาห์นี้ ได้ปรับรูปแบบเป็นการสนทนา ระหว่าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ร่วมกับทีมงานที่เกี่ยวกับแผนการฟื้นฟูประเทศหลังน้ำท่วม ประกอบด้วย นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟู และสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) นายกิจจา ผลภาษี อนุกรรมการวางระบบบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน, นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา ประธานคณะอนุกรรมการด้านการวางแผนและกำหนดมาตรการแก้ปัญหาระยะสั้น กล่าวถึงความคืบหน้าในการดำเนินการแก้ไขวิกฤติน้ำของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ เพื่อวางระบบการบริหารจัดการน้ำ (กยน.)
การ ชี้แจงในครั้งนี้ยังไม่มีรายละเอียดของแผนออกมา นอกจากแนวทางการทำงาน กว้างๆ แต่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งมั่นใจว่าทุกอย่างจะเสร็จภายในเดือน ม.ค.2555
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ย้ำว่าแผนการฟื้นฟูประเทศของคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหาร จัดการน้ำ (กยน.) และคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) จะเสร็จทันภายในเดือน ม.ค.2555 แน่นอน ทำให้สามารถดำเนินการวางจุดทางน้ำไหลหรือฟลัดเวย์เพื่อแก้น้ำท่วม
“ยัง ทำให้นานาชาติ ที่มีแผนจะเดินทางเยือนในปีหน้า ทั้ง จีน เกาหลี ญี่ปุ่น รวมถึง สหรัฐและยุโรป มั่นใจในแนวทางการป้องกันและแก้ปัญหาของไทย” นายกรัฐมนตรีกล่าว
น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าว อีกว่า การแต่งตั้ง กยน.และ กยอ.มีจุดมุ่งหวัง เพื่อที่จะพลิกวิกฤติน้ำท่วมใหญ่ครั้งประวัติศาสตร์ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ให้เป็นโอกาสรื้อระบบการบริหารจัดการน้ำ และการป้องกันน้ำท่วมใหม่ทั้งหมด เพื่อที่จะไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีกในอนาคต
“การ บริหารจัดการน้ำครั้งนี้ ต้องทำให้ในหน้าฝนปีหน้า ไม่เกิดน้ำท่วมอีก หรือ ทำให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด ซึ่งเป็นแผนระยะสั้น รวมถึง แผนระยะยาว ที่จะไม่ทำให้เกิดความเสียหายรุนแรง เหมือนกับครั้งนี้อีก รวมถึง ต้องดูแลไม่ให้ประชาชน ขาดแคลนน้ำในหน้าแล้งที่จะมาถึงนี้ด้วย”
นาย วีรพงษ์กล่าวว่า วงเงินที่จะใช้ในการลงทุนฟื้นฟูประเทศ ประมาณ 3.5 แสนล้านบาทเพื่อใช้บริหารจัดการน้ำแบบยั่งยืน โดยตั้งกองทุนแบบเดียวกับไทยเข้มแข็ง แต่อาจไม่เหมือนกันเพราะวัตถุประสงค์คนละเรื่อง
นาย วีรพงษ์ กล่าวด้วยว่า วงเงินงบประมาณจะเสนอให้นายกฯ นำเข้า ครม.วันอังคาร (27 ธ.ค.) นี้ เพื่อให้กฤษฎีกายกร่างกฎหมายต่างๆ ในเรื่องการเงินของประเทศ
“ปัจจุบัน หนี้สาธารณะกว่าครึ่งไม่ใช่หนี้รัฐบาลเป็นหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ที่มาแบกไว้ ขณะนี้ ธปท.ก็มีฐานะมั่นคง ทุนสำรองมากมาย ก็ควรจะรับหนี้กลับคืนไป เมื่อรับกลับคืนไป ก็จะเหลือหนี้สาธารณะประมาณ 10% ของจีดีพี จากปัจจุบัน 40% กว่า”
“ปีติพงศ์” มั่นใจรับมือน้ำท่วมได้
นาย ปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา กล่าวว่า การดำเนินการในฝ่าย กยน. พบปัญหา 3 ส่วนที่จะต้องให้ความสำคัญ พร้อมทั้งเตรียมการปรับปรุงในการบริหารจัดการน้ำในอนาคต คือ 1.ความไม่พร้อมด้านวิศวกรรม การปรับปรุง ซ่อมแซมกลไกต่างๆ 2.ระบบเตือนภัยมีปัญหา ซึ่งประชาชนไม่รู้ข้อมูลอย่างชัดเจน และถูกต้องอย่างแท้จริง และ 3.ในช่วงของภัยและการเผชิญภัย ซึ่งในระบบพลเรือนยังอ่อนแอ อาทิ เมื่อเกิดเหตุสามารถระดมพลเพื่อจัดการได้อย่างทันท่วงที โดย 3 ข้อนี้ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องดำเนินการปรับปรุงเพื่อรองรับการเกิดน้ำ ท่วมในอนาคต
“3 กลุ่มดังกล่าวเป็นเรื่องที่ต้องจัดการบริหารอย่างดี ต้องเริ่มตั้งแต่เขื่อน หรือต้นน้ำว่า มีปริมาณเท่าไร ไหลผ่านทางไหน และการบริหารจัดการอย่างถูกต้อง กลยุทธ์ในการจัดการน้ำ ประมาณการที่ดี สิ่งเหล่านี้จึงต้องทำควบคู่กันไป มั่นใจหากทุกอย่างพร้อมก็จะสามารถบริหารน้ำรองรับปัญหาที่จะเกิดขึ้นได้ใน อนาคต”
เปิดเวทีซีอีโอฟอรัมแจงต่างชาติ17ม.ค.55
ด้าน นางอรรชกา สีบุญเรือง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)กล่าวถึงการสร้างความเชื่อมั่นต่อการลงทุน ว่าจะใช้งานบีโอไอแฟร์ 2011 เป็นงานแรกในการฟื้นความเชื่อมั่น โดยจัดเวทีประชุมซีอีโอฟอรัมขึ้นในวันที่17ม.ค.2555
ใน การประชุมซีอีโอฟอรัม ครั้งนี้คาดว่าจะมีระดับซีอีโอจากต่างประเทศเข้าร่วมประมาณ 50 รายซึ่งบริษัทขนาดใหญ่ ส่วนที่เหลือก็จะเป็นซีอีโอต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยและซีอีโอบริษัทไทย เข้าร่วม
นางอรรชกา กล่าวว่าในการประชุมซีอีโอฟอรัมจะเป็นเวทีที่นายกฯ นายวีรพงษ์ และผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องชี้แจงแผนบริการจัดการน้ำที่ยั่งยืนของไทยให้ต่าง ชาติรับทราบ เชื่อว่าแผนที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่จะสร้างความเชื่อมั่นต่อการลงทุนได้
“หวังว่าเมื่อถึงตอนนั้นรัฐบาลคงมีแผนการป้องกันน้ำท่วมที่ชัดเจน และมีแผนปฏิบัติการที่ต้องสามารถตอบข้อข้องใจนักลงทุนต่างชาติได้”
ธปท.ชี้นักลงทุนอยากรู้รายละเอียดแผน
ขณะ ที่ นายทรงธรรม ปิ่นโต ผู้อำนวยการ สำนักเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า จากการลงพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยเพื่อรับฟัง ความเห็นจากผู้ประกอบการในภาคส่วนต่างๆ ใช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต้องการความชัดเจนเกี่ยวกับแผนยุทธศาสตร์ด้านการ บริหารจัดการน้ำของรัฐบาลว่าจะมีแผนจัดการใดที่สามารถป้องกันไม่ให้เกิด ปัญหาน้ำท่วมใหญ่เหมือนในช่วงที่ผ่านมาได้อีก
นอก จากนี้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เริ่มมองว่า ความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ ถือเป็นความเสี่ยงอันดับต้นๆ ที่รัฐบาลควรให้ความสำคัญแนะหาแนวทางในการป้องกันจัดการ ดังนั้น ปีหน้าจึงถือเป็นโอกาสทองของรัฐบาลที่จะโชว์ศักยภาพในการบริหารจัดการ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุน เพราะถ้ายังไม่สามารถดึงความเชื่อมั่นจากนักลงทุนกลับมาได้ ก็มีโอกาสที่บางธุรกิจจะเลือกย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่น
“เท่า ที่เราลงพื้นที่ดู ผู้ประกอบการ เป็นห่วงเรื่องแผนการบริหารจัดการจริงๆ เพราะไม่อย่างนั้นแล้วมันไปไม่ได้ เขาไม่กล้าลงทุนอะไรมาก ดังนั้นสิ่งที่สำคัญสุด คือ ต้องทำให้เขามั่นใจในประเทศของเราให้ได้ ซึ่งเขารอดูอยู่ ส่วนเรื่องอื่นๆ อย่างนโยบายการเงินหรือดอกเบี้ยนั้น เขาบอกว่าความจำเป็นจริงๆ มันน้อย สิ่งที่เขาต้องการมากสุด คือ ความมั่นใจว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้อีก” นายทรงธรรมกล่าว
เชื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ปีหน้า
สำหรับ การฟื้นตัวจากปัญหาอุทกภัยนั้น เขากล่าวว่า เศรษฐกิจไทยถือว่ามีพื้นฐานที่ดี มีความสามารถในการฟื้นตัวกลับมาได้ในปีหน้า โดยมีปัจจัยหนุนจากการลงทุน กำลังซื้อในประเทศที่อยู่ในเกณฑ์ดีและความต้องการสินค้าที่ค้างจากช่วง อุทกภัย
นอกจากนี้จากประสบการณ์ในหลาย ประเทศ สะท้อนว่าการฟื้นตัวจากภัยพิบัติมักใช้เวลาไม่นาน เนื่องจากผลกระทบต่ออุปทานมีเพียงชั่วคราว การฟื้นฟูซ่อมแซมช่วยให้อุปสงค์เร่งตัวขึ้น อย่างไรก็ตามในเรื่องการฟื้นตัวจะเร็วหรือช้านั้น คงต้องขึ้นกับการบริหารจัดการของภาครัฐและการดำเนินงานของภาคเอกชนด้วย หากมีการประสานงานที่ชัดเจนและวางแผนให้สอดคล้องก็จะเสริมให้ฟื้นตัวได้เร็ว ขึ้น
“การฟื้นตัวก็ถือเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งจะเร็วหรือช้าคงต้องขึ้นกับการบริหารจัดการของภาครัฐ ส่วนการบริหารจัดการของทางฝั่งเอกชนเพื่อสู่กับภัยเศรษฐกิจนั้น อันนี้ไม่น่าห่วง แต่ที่ห่วงคือ การบริหารจัดการของรัฐเพื่อสู้ภัยธรรมชาติ ถ้าเราติดตามดูดีๆจะเห็นว่าเริ่มมีการตั้งคำถามถึงปีหน้าในแผนงานของภาครัฐ แล้ว ว่าจะมีแผนที่บูรณาการสร้างความชัดเจนและเชื่อมั่นได้หรือไม่มีขั้นตอนอย่าง ไร ใช้งบประมาณเท่าไรในการแก้ปัญหา”
คาดบริโภค-ท่องเที่ยวฟื้นใน 2 เดือน
นาย ทรงธรรมกล่าวว่า จากประสบการณ์การฟื้นตัวจากปัญหาภัยพิบัติในหลายประเทศ พบว่าส่วนใหญ่ใช้เวลาในการฟื้นตัวไม่นานนัก โดยกรณีของออสเตรเลีย ที่ประสบปัญหา อุทกภัยในรัฐควีนแลนด์ตั้งแต่เดือน ธ.ค.2553 ถึง ม.ค.2554 ส่งผลให้จีดีพีในไตรมาสแรกของปี 2554 ลดลง 2.8% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า แต่ภายหลังการฟื้นฟูก็ส่งผลให้ไตรมาส 2 กลับมาขยายตัว 5.6% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า
ส่วน กรณีของญี่ปุ่นที่ประสบปัญหาสึนามิและการระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ นับตั้งแต่เดือน มี.ค.2554 ส่งผลให้จีดีพีไตรมาส 1 และ 2 ของปี หดตัวลดลง 6.6% และ 2% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าตามลำดับ แต่การเร่งฟื้นฟูส่งผลให้ไตรมาส 3 กลับมาขยายตัว 5.6% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า
สำหรับการ ฟื้นตัวของภาคการผลิตไทยนั้น คาดว่าการผลิตจะทยอยกลับมาและสนับสนุนการส่งออกได้ภายใน 1-6 เดือน การบริโภคภาคเอกชนและการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบมาก ในระยะสั้น แต่คาดว่าจะฟื้นตัวได้เร็วภายใน 1-2 เดือน
ส่วน ภาคการลงทุนภาคเอกชนจะเพิ่มขึ้นจากการฟื้นฟูความเสียหายในระยะสั้น การย้ายฐานการผลิตไปต่างประเทศไม่น่าจะมีมากนัก แต่การลงทุนใหม่ยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม ขณะที่การใช้จ่ายและมาตรการภาครัฐ จะมีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือฟื้นฟู ภาวะการเงินโดยรวมที่ยังผ่อนคลาย จะสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจ