Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
คำถามคำตอบ ว่าด้วยเรื่องภิกษุณีสงฆ์ในประเทศไทย ติดต่อทีมงาน

เป็นข้อเขียนในรายงานเรื่องภิกษุณีสงฆ์ ที่พระคุณเจ้าที่คุ้นเคยกัน ท่านทำส่งอาจารย์มหาวิทยาลัย แล้วผมได้มีส่วนในการช่วยพิมพ์ เห็นว่ามีประโยชน์ก็เลยขออนุญาตนำเอามาเผยแพร่ให้เป็นข้อศึกษา

 

-----------------------------------

คำถามคำตอบ ว่าด้วยเรื่องการบวชภิกษุณีสงฆ์ในประเทศไทย

๑. ปัญหาเรื่องการบวชภิกษุณี


๑) ถาม : ประเทศไทยเคยมีภิกษุณีสงฆ์มาก่อนหรือไม่

ตอบ : ไม่เคยปรากฏว่า ในประเทศไทยมีภิกษุณีสงฆ์มาก่อน

๒) ถาม : ผู้จะเป็นภิกษุณี จะได้รับการบวชโดยวิธีการอย่างไรบ้าง

ตอบ : โดยการบรรพชาเป็นสามเณรี ซึ่งอุปัชฌาย์คือ ภิกษุณี เรียกว่า ปวัตตินี เมื่อบรรพชาเป็นสามเณรีแล้ว ต้องประพฤติสิกขาบท ๖ ข้อ ตลอด ๒ ปี เรียกว่านางสิกขมานา ในระหว่าง ๒ ปี นั้น หากประพฤติล่วงละเมิดสิกขาบทข้อใดข้อหนึ่งไป  ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่   ต่อเมื่อถือสิกขาบทครบ ๒ ปีแล้ว จึงจะมีสิทธิได้บวชเป็นภิกษุณี  โดยต้องบวชในสงฆ์ สองฝ่าย  บวชในฝ่ายภิกษุณีสงฆ์ให้เรียบร้อยบริบูรณ์แล้ว สวดถามอันตรายิกธรรมเสร็จแล้ว สวดญัตติจตุตถกรรมวาจาเสร็จแล้ว  จึงจะมาบวชในฝ่ายภิกษุอีกครั้งหนึ่ง เป็นขั้นตอนการรับเข้าหมู่สงฆ์

๓) ถาม : ถ้าหากไม่บวชในสงฆ์สองฝ่าย จะบวชในสงฆ์ฝ่ายเดียว เช่น มีพระภิกษุเป็นผู้บวชให้ ได้หรือไม่

ตอบ : ไม่ได้  การบวชภิกษุณีต้องบวชในสงฆ์สองฝ่ายเท่านั้น ถ้าหากไม่มีภิกษุณีสงฆ์ พระภิกษุจะบวชสตรีเป็นสามเณรี และเป็นภิกษุณีไม่ได้  ถึงบวชก็ไม่เป็นภิกษุณี

๔) ถาม : ในครั้งพุทธกาล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตให้พระภิกษุทั้งหลาย บวชนางสากิยานี ๕๐๐ ให้เป็นภิกษุณี  ก็เท่ากับได้รับการบวชจากฝ่ายพระภิกษุสงฆ์ฝ่ายเดียว  และพระผู้มีพระภาคเจ้ายังไม่ได้ทรงยกเลิกการอนุญาตเรื่องนี้  ในเมื่อขณะนี้ในประเทศไทยไม่มีภิกษุณีสงฆ์ ก็น่าจะให้พระภิกษุบวชให้สตรีแทนก็ได้ ตามพุทธานุญาตเดิม

ตอบ : ทำเช่นนั้นไม่ได้  พุทธานุญาตที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตให้พระภิกษุบวชสตรีเป็นภิกษุณีนั้น เป็นพุทธานุญาตในขณะนั้นเท่านั้น  ต่อเมื่อมีภิกษุณีสงฆ์แล้ว  พระองค์ก็ทรงให้บวชในสงฆ์สองฝ่าย  ถ้าหากว่าพุทธานุญาตดังกล่าวนั้นยังไม่ยกเลิก ก็แสดงว่าในภายหลังจะต้องมีภิกษุณีสงฆ์สองประเภท คือบวชเฉพาะในฝ่ายพระภิกษุฝ่ายเดียว กับแบบที่บวชในสงฆ์สองฝ่าย  สตรีบางท่านอาจถือว่าเมื่อก่อนนี้ มีสตรีบวชเป็นภิกษุณีได้โดยรับการบวชจากพระภิกษุฝ่ายเดียว ดังนั้นฉันก็จะไม่ขอบวชในสงฆ์สองฝ่าย แต่จะขอบวชในฝ่ายภิกษุสงฆ์ฝ่ายเดียวเท่านั้น  สังฆมณฑลมิยุ่งกันใหญ่หรือ  ดังนั้นพุทธานุญาตที่ให้พระภิกษุสงฆ์บวชสตรีเป็นภิกษุณีได้เอง จึงยกเลิกไปโดยปริยาย เมื่อมีภิกษุณีสงฆ์เกิดขึ้นแล้ว

 

๒. ปัญหาเรื่องสิทธิสตรี

๕) ถาม : สตรีไม่มีสิทธิบวชเป็นภิกษุณีหรือ?

ตอบ : สตรีทุกคนมีสิทธิบวชเป็นภิกษุณี

๖) ถาม : ถ้าสตรีมีสิทธิบวชเป็นภิกษุณี ก็ต้องบวชได้สิ ทำไมพระสงฆ์ไทยจึงไม่บวชให้

 ตอบ :  สตรีทุกคนมีสิทธิบวชเป็นภิกษุณี แต่พระสงฆ์ไทย ไม่มีสิทธิบวชให้สตรีเป็นภิกษุณี เพราะไม่มีพุทธานุญาตไว้เช่นนั้น

๗) ถาม : การที่คณะสงฆ์ไทยไม่ยอมบวชสตรีเป็นภิกษุณี เท่ากับกีดกันสิทธิสตรีใช่หรือไม่

ตอบ : คณะสงฆ์ไทยไม่ได้กีดกันสิทธิของใคร และไม่มีสิทธิจะทำเช่นนั้น  แต่คณะสงฆ์ไทยท่านยอมรับโดยดุษณีว่า ท่านไม่มีสิทธิจะไปบวชให้ใครเป็นภิกษุณี  ดังนั้น สตรีทุกคน หรือ สตรีทั่วโลก มีสิทธิบวชเป็นภิกษุณี แต่ปัญหาคือ  ใครจะมีสิทธิในการบวชให้สตรีเป็นภิกษุณี

๘) ถาม : มีคำกล่าวว่า คณะสงฆ์ไทยไม่สามารถบวชภิกษุณีได้ เพราะมีพระบัญชาของสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ ห้ามเอาไว้ นี่เป็นการกีดกันสิทธิสตรีหรือไม่

ตอบ : พระบัญชาของสมเด็จพระสังฆราชเจ้าดังกล่าว เป็นการประกาศห้ามพระภิกษุบวชสตรีเป็นภิกษุณี ไมได้ห้ามสตรีไปบวชเป็นภิกษุณี

๙) ถาม : พระบัญชาของสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ ออกก่อนรัฐธรรมนูญปี ๒๔๗๕  รัฐธรรมนูญให้สิทธิบุรุษและสตรีเท่าเทียมกัน ในเมื่อรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายใหญ่กว่า ก็ควรยกเลิกพระบัญชาฯ จะได้ให้พระภิกษุบวชสตรีเป็นภิกษุณีและสามเณรีได้

ตอบ : แท้จริงพระบัญชาของสมเด็จพระสังฆราชเจ้า ฯ ควรถือว่ายกเลิกโดยปริยาย นับตั้งแต่พระองค์สิ้นพระชนม์ไปแล้ว แต่ถึงแม้พระบัญชาจะมีผลอยู่ก็ตาม   แล้วจะพยายามยกเลิกพระบัญชา  ก็ไม่ได้หมายความว่าพระภิกษุจะบวชสตรีเป็นภิกษุณีได้ทันที

๑๐) ถาม :  พระบัญชาของสมเด็จพระสังฆราชเจ้า ฯ ห้ามพระภิกษุบวชสตรีเป็นภิกษุณีและสามเณรี เมื่อยกเลิกแล้ว พระภิกษุก็สามารถบวชสตรีเป็นภิกษุณีได้

ตอบ : พระบัญชา ฯ แม้ว่าจะออกโดยพระอำนาจในฐานะที่พระองค์ทรงเป็นพระสังฆราช แต่เนื้อหาในพระบัญชา เป็นการอ้างอิงตามพระวินัย คือ พระภิกษุไม่มีสิทธิบวชให้สตรีเป็นภิกษุณี  ดังนั้น ถึงจะยกเลิกพระบัญชาไปแล้ว พระภิกษุก็ไม่มีทางบวชให้สตรีเป็นภิกษุณีได้อยู่ดี  เพราะยังมีพระวินัยอยู่   ถ้าหากจะทำให้พระภิกษุบวชสตรีเป็นภิกษุณีได้  ก็ไม่ใช่เพียงแต่ยกเลิกพระบัญชา แต่ต้องยกเลิกพระวินัย ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าบัญญัติเอาไว้  ซึ่งใครมีสิทธิจะทำเช่นนั้นได้ ใครมีสิทธิจะไปยกเลิกพระวินัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าบัญญัติไว้ได้

 

๓. ปัญหาเรื่องการยกเลิกสิกขาบทเพื่อบวชภิกษุณี

๑๑) ถาม : เรื่องการบวชภิกษุณีและสามเณรีเป็นเรื่องของพระวินัยใช่หรือไม่

ตอบ : การบวชภิกษุณีและสามเณรีเป็นเรื่องของพระวินัย

๑๒) ถาม : พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีพุทธานุญาตไว้ว่า เมื่อกาลเวลาล่วงไปแล้ว สงฆ์จำนงอยู่ จะเพิกถอนสิกขาบทเล็กน้อยเสียบ้างก็ได้

ตอบ :  มีพระพุทธานุญาตไว้เช่นนั้นจริง

๑๓) ถาม : ถ้าเป็นอย่างนี้ ก็ควรยกเลิกพระวินัยในเรื่องการบวชภิกษุณีสงฆ์ เพราะเป็นเรื่องสิกขาบทเล็กน้อยเท่านั้น

ตอบ :  คำว่า สิกขาบทเล็กน้อย หมายถึงสิกขาบทในพระปาติโมกข์ หรือข้อปฏิบัติของพระภิกษุสงฆ์ เช่น สิกขาบท ๒๒๗ ข้อ เป็นต้น  ไม่ได้ทรงมีพุทธานุญาตไปถึงพระวินัยทั้งหมดทั้งปวงที่ทรงบัญญัติ ดังนั้น การใช้ข้ออ้างจากพุทธานุญาตว่าให้เพิกถอนสิกขาบทเล็กน้อย มาใช้กับเรื่องพระวินัยในส่วนอื่นนั้นทำไม่ได้

 

๔. ปัญหาเรื่องประโยชน์ในการบวชภิกษุณี

๑๔) ถาม : สตรีมีสิทธิในการปฏิบัติธรรมและการบรรลุธรรมเทียบเท่ากับบุรุษ ดังนั้น สตรีจึงควรมีสิทธิบวชเป็นภิกษุณี

ตอบ : สตรีทุกคนมีสิทธิบวชเป็นภิกษุณี แต่ปัญหาคือจะหาใครมามีสิทธิบวชให้ใครเป็นภิกษุณี

๑๕) ถาม : ถ้าหากว่าประเทศไทยมีภิกษุณีสงฆ์ ก็จะทำให้ช่วยลดปัญหาทางสังคมลงไปได้มาก เช่นปัญหาเรื่องโสเภณี การขายตัว เป็นต้น

ตอบ : ครั้งพุทธกาลมีภิกษุณี แต่ก็ยังมีโสเภณีอยู่ด้วยเหมือนกัน  แสดงว่า ภิกษุณี กับโสเภณี เป็นคนละเรื่องกัน  การอ้างว่าจะต้องมีภิกษุณี เพื่อให้ปัญหาโสเภณีลดน้อยลง จึงไม่ใช่เรื่องที่สมเหตุสมผลแต่อย่างใด

อนึ่ง การที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตให้มีพระภิกษุณีสงฆ์ พระองค์ก็ทรงอนุญาตเพราะความที่สตรีมีความตั้งใจในการปฏิบัติธรรม มีความมั่นคงแน่นอนว่าจะสามารถประพฤติพรหมจรรย์ได้  และทรงเห็นความเด็ดเดี่ยวของพระนางปชาบดีโคตมี และนางสากิยานี ๕๐๐  จึงทรงอนุญาตให้มีภิกษุณีสงฆ์  ถ้าหากว่าพระนางปชาบดีโคตรมียกข้ออ้างทำนองเดียวกันกับผู้ถาม เช่นว่า ถ้าหากมีภิกษุณี ปัญหาโสเภณีและปัญหาสังคมจะลดน้อยลง พระผู้มีพระภาคเจ้าจะทรงอนุญาตให้หรือ

๑๖)  ถาม : พระภิกษุเดี๋ยวนี้มีความประพฤติไม่เรียบร้อย ถ้าสตรีได้บวชเป็นภิกษุณี น่าจะมีความประพฤติเรียบร้อยกว่า

ตอบ : ปัญหาของพระภิกษุสงฆ์นั้นมีอยู่แน่นอน  แต่ก็เป็นเรื่องของพระภิกษุสงฆ์ที่จะต้องแก้ไขกันเอง การที่สตรีจะได้เป็นภิกษุณี หรือไม่ได้เป็นภิกษุณี หรือพระภิกษุสงฆ์จะสามารถบวชให้สตรีเป็นภิกษุณีได้  ก็ไม่ได้เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกันกับปัญหาการประพฤติตัวของพระภิกษุ

๑๗) ถาม : สตรีไม่มีสิทธิปฏิบัติธรรม และไม่มีสิทธิบวชเหมือนบุรุษเลยหรือ

ตอบ : สตรีทุกคนมีสิทธิปฏิบัติธรรม และมีสิทธิบวชเหมือนบุรุษ แต่ปัญหาคือ ใครมีสิทธิบวชให้สตรี

 

๕. ปัญหาเรื่องการมีภิกษุณีในประเทศไทย

๑๘)  ถาม : ไม่มีทางที่จะมีภิกษุณีสงฆ์ในประเทศไทยเลยใช่หรือไม่

 ตอบ : ภิกษุณีสงฆ์สามารถมีได้ในประเทศไทย

๑๙)  ถาม : แล้วทำไมคณะสงฆ์ไทยจึงไม่อนุญาตให้มีการบวชภิกษุณี

ตอบ : คณะสงฆ์ไทยไม่เคย ไม่อนุญาต ให้มีการบวชภิกษุณี ใครจะไปบวชเป็นภิกษุณีมาจากประเทศไหนก็ทำได้ทั้งนั้น  คณะสงฆ์ไทยไม่มีสิทธิไปห้ามแต่อย่างใด  เมื่อไปบวชมาแล้ว จะมาตั้งสำนัก ตั้งวัด ตั้งสถานที่สอนธรรม ปฏิบัติธรรม ก็มีสิทธิอย่างเต็มที่ ไม่มีใครห้ามเลย  คณะสงฆ์ไทยเพียงแต่บอกว่า ตัวท่านเองนั้น ไม่มีสิทธิจะบวชให้ใครเป็นภิกษุณี

 

๖. ปัญหาเรื่องกฏหมายรับรองสถานภาพภิกษุณี

๒๐) ถาม : ผู้ที่ไปบวชเป็นภิกษุณีมาจากประเทศอื่น อาจเป็นเถรวาท หรือมหายาน มีสิทธิอยู่ในประเทศไทย สามารถสอนธรรม ตั้งสำนักปฏิบัติธรรม ดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างเต็มที่ใช่หรือไม่

 ตอบ : สตรีที่ไปบวชเป็นภิกษุณีมาจากประเทศไหนๆ  หรือจากคณะไหน ๆ ก็ตาม มีสิทธิเต็มที่ในการดำเนินการได้ทุกอย่างในประเทศไทย

๒๑) ถาม : ถ้าเช่นนั้นก็น่าจะมีกฎหมายรับรองสถานภาพของภิกษุณีเหล่านั้น

ตอบ : เรื่องกฎหมายเป็นเรื่องของทางบ้านเมือง ไม่ใช่เรื่องคณะสงฆ์ไทยแต่อย่างใด  ผู้ที่ต้องการจะมีสิทธิทางกฏหมาย หรือสิทธิอื่นใดก็แล้วแต่ เช่นการได้รับความคุ้มครองจากรัฐ การได้รับการสนับสนุนจากรัฐ หรือสิทธิอื่นใดก็ตาม ก็เป็นเรื่องของทางรัฐเอง ไม่เกี่ยวอะไรกับคณะสงฆ์ คณะสงฆ์ไทยไม่มีสิทธิจะไปนำเสนออะไรอย่างนั้นได้ เพราะคณะสงฆ์เองก็อยู่ในฐานะการได้รับการอุปถัมภ์จากรัฐเช่นเดียวกัน จึงไม่สามารถจะไปช่วยเรื่องสิทธิกฏหมายอะไรให้ใครได้ ดังนั้น ถ้าหากท่านผู้ต้องการจะได้สิทธิต่าง ๆ จากรัฐ ก็คงต้องเรียกร้องกันเอง แต่คงต้องถามท่านผู้ต้องการสิทธิเหล่านั้นของภิกษุณีว่า ท่านต้องการสิทธิเหล่านั้นเพื่ออะไร และที่สำคัญ การที่ท่านบวชมานั้น ท่านบวชมาเพื่อจุดประสงค์อะไรกันแน่

 

๗. ปัญหาเรื่องนิกายกับการบวช

๒๒)  ถาม : การบวชภิกษุณีต้องทำโดยสงฆ์สองฝ่ายใช่หรือไม่

ตอบ : การบวชภิกษุณีต้องทำโดยสงฆ์สองฝ่าย

๒๓) ถาม :  ถ้าเช่นนั้นก็ใช้วิธีง่าย ๆ คือให้มีพระภิกษุสงฆ์ไทย เป็นเถรวาท รวมกับภิกษุณีสงฆ์มหายาน หรือภิกษุณีสงฆ์ศรีลังกา มาบวชให้สตรีเป็นภิกษุณีได้สิ ถือว่าครบสงฆ์สองฝ่ายแล้ว

ตอบ : ทำเช่นนั้นไม่ได้ เพราะเป็นนานาสังวาสต่อกัน  ถึงจะบวชขึ้นมา สตรีนั้นก็ไม่เป็นภิกษุณี สังฆกรรมเสียเปล่า

๒๔) ถาม :  ทำไมจะต้องไปยึดติดเรื่องนิกาย  ในสมัยพุทธกาลก็ไม่เห็นมีเรื่องนิกาย

ตอบ : สมัยพุทธกาลไม่มีเรื่องนิกาย แต่มีเรื่องนานาสังวาส  และในสมัยนี้ มันก็มีเรื่องนิกาย และมีทั้งเรื่องนานาสังวาสขึ้นมาแล้ว  จึงไม่สามารถบวชสตรีเป็นภิกษุณี โดยสงฆ์คนละนิกาย ซึ่งเป็นนานาสังวาสต่อกันได้

๒๕) ถาม : ถ้าเช่นนั้นก็หมายความว่า คณะสงฆ์ไทยยังคงยึดติดเรื่องนิกายอยู่

ตอบ : ถ้าหากจะไม่มีเรื่องนิกายเลย  สุภาพสตรีที่จะบวชเป็นภิกษุณี ก็ไปบวชที่ไหนก็ได้ ในเมื่อถือว่าไม่มีนิกายอะไร ครั้งพุทธกาลก็ไม่มีนิกาย ดังนั้นจะไปบวชที่ไหนก็เหมือนกันสิ ก็ไม่มีนิกายไม่ใช่หรือ ทำไมจะต้องยึดติดกับการให้คณะสงฆ์ไทยต้องบวชให้สตรีเป็นภิกษุณี ทั้ง ๆ ที่ท่านไม่มีสิทธิในการบวชให้

 

๘. ปัญหาเรื่องทางออกของสตรีกับการปฏิบัติธรรม

๒๖) ถาม : คณะสงฆ์ไทยควรเปิดใจกว้างมากกว่านี้ ควรให้สตรีบวชเป็นภิกษุณีได้

ตอบ : คณะสงฆ์ไทยไม่เคยปิดกั้นแต่อย่างใด แต่คณะสงฆ์ไทยท่านยอมรับสถานภาพของท่านเองว่า ท่านไม่มีสิทธิจะไปบวชให้ใครเป็นภิกษุณี เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องสิทธิของผู้จะบวช แต่เป็นสิทธิของผู้ให้บวช

๒๗) ถาม : ถ้าอย่างนั้นจะมีทางออกให้สตรีที่อยากเป็นภิกษุณี หรืออยากประพฤติปฏิบัติธรรมแบบหลีกเร้นอย่างบุรุษได้อย่างไร

ตอบ : ทางออกนั้นแท้จริงมีมากมายอยู่แล้ว คือ สตรีจะไปบวชเป็นภิกษุณีในต่างประเทศก็ได้ แล้วมาอยู่ มาเผยแผ่ ตั้งสำนักสอนธรรมปฏิบัติธรรม ในเมืองไทยก็ได้ ไม่เคยมีใครห้าม  หรือสตรีจะไปบวชเป็นแม่ชี ในวัดที่มีการสอนธรรมปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง ก็ทำได้  หรือไม่ก็จัดตั้งรูปแบบนักบวชสตรีแบบใหม่ขึ้นมาเลยก็ได้

๒๘)  ถาม : ทีแรกบอกว่าพระวินัยยกเลิกไม่ได้ แล้วทำไมจึงบอกว่าจะจัดตั้งรูปแบบนักบวชสตรีขึ้นมาใหม่ก็ได้

ตอบ : ไม่ได้ยกเลิกพระวินัย และไม่ได้ตั้งพระวินัยขึ้นมาใหม่ แต่เป็นการตั้งรูปแบบนักบวชขึ้นมาอีกแบบหนึ่ง โดยอาจนำเอาพระวินัยบางข้อมาฝึกหัดปฏิบัติตนเองก็ได้   การตั้งรูปแบบนักบวชนี้ เราไม่ได้เพิ่มเข้าไปใหม่ในพระธรรมวินัย  แต่เป็นรูปแบบเพื่อให้สตรีได้มีความสบายใจ โดยการให้มีวิถีชีวิตการปฏิบัติธรรมที่ดีขึ้น  รูปแบบการบวชแบบใหม่นี้ อาจจะนำแบบลักษณะเดียวกับในครั้งพุทธกาลมาใช้ก็ได้ เรียกกันว่า “นักบวชผู้ออกบวชอุทิศพระพุทธเจ้า” เช่นปุกกุสาติกุลบุตร หรือปิปผลิมาณพ ซึ่งต่อมาคือพระมหากัสสปะ, พระมหากัปปินะ พระนางอโนชาเถรีเป็นต้น  ก็เคยอยู่ในฐานะเป็นผู้ออกบวชอุทิศพระพุทธเจ้ามาก่อน ก่อนที่จะได้บวชในพระวินัย

แก้ไขเมื่อ 31 ต.ค. 55 11:17:39

จากคุณ : chohokun
เขียนเมื่อ : 31 ต.ค. 55 11:15:13




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com